‘ครู Gen Y’ ของลูกศิษย์วัยเกษียณ แห่งวงประสานเสียงหญิงทับทิมสยาม ที่พาลูกศิษย์คว้ารางวัลระดับโลก

เดว์ – ธนาวุฒิ ศรีวัฒนะ วัย 30 ปี เป็นผู้ก่อตั้ง ผู้ฝึกสอน พร้อมควบตำแหน่งวาทยกรของวงประสานเสียงหญิง “ทับทิมสยาม” วงประสานเสียงที่เพิ่งไปคว้ารางวัลเหรียญทองประเภท Senior Choir Category จากงานประกวดร้องเพลงประสานเสียงระดับนานาชาติ “The 4th World Virtual Choir Festival” ที่ประเทศอินโดนิเซีย เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ความสำเร็จครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของไทย ที่วงประสานเสียงผู้สูงอายุสามารถได้รับเหรียญทองและชนะเลิศอันดับหนึ่งในการแข่งขันระดับนานาชาติ แต่คุณครูเจนวายคนนี้ยังได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การทำงานร่วมกับลูกศิษย์ต่างวัย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเจนเบบี้บูมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ และ ‘ความแตกต่างระหว่างวัย’ ไม่ใช่อุปสรรคที่มาขัดขวางความสำเร็จ

ความหมายของคำว่า “ครู”

“ผมได้มีโอกาสเรียนการขับร้องและดนตรีคลาสสิคกับอาจารย์อายุ นามเทพ ที่มหาวิทยาลัยพายัพ อาจารย์เป็นคนชาติพันธุ์ ที่อพยพครอบครัวมาอยู่ที่ประเทศไทย อาจารย์เป็นคนที่รักเสียงดนตรี และทำทุกอย่างเพื่อลูกศิษย์ มีคำพูดหนึ่งที่อาจารย์พูดให้ผมฟังอยู่เสมอ ว่า ‘การที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตนั้น ไม่ใช่เรื่องของชื่อเสียง เงินทอง หรือเกียรติยศ แต่เป็นการสร้างคนบนถนนสายดนตรีให้เพิ่มมากขึ้น’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็นำคำสอนของอาจารย์มาใช้อยู่เสมอ และถือว่านี่คือความหมายของคำว่าครูของผม

“ครูไม่ได้เป็นเพียง ‘อาชีพ’ แต่คนเป็นครูต้องมีใจที่อยากจะมอบความรู้ ประสบการณ์ และทักษะการใช้ชีวิตที่ดีให้กับใครสักคน สำหรับผมนั่นก็คือความหมายของคำว่า ‘ครู’ ลูกศิษย์ที่มาเรียนร้องเพลงกับผม ในห้องอาจจะเป็นศิษย์แต่นอกห้องเขาก็คือครูคนหนึ่งของผม เพราะทุกคนล้วนเคยผ่านประสบการณ์ชีวิตในเรื่องต่างๆ มามากกว่าผม บางเรื่องผมยังต้องไปปรึกษาพวกเขาเลย เราจึงเป็นครูซึ่งกันและกัน”

จุดเริ่มต้นการเป็น ‘ครูเจนวาย’ ของลูกศิษย์เจนเอ็กซ์ และเบบี้บูม

“ผมเป็นคนชอบสอน และมีครูอายุ เป็นไอดอล จึงอยากสร้างคนในเส้นทางดนตรี พร้อมกับความปรารถนาที่ทำให้ดนตรีสามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย จนได้มีโอกาสจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการห้องเรียนดนตรีเพื่อผู้สูงอายุ เมื่อเราเข้าไปในห้องเรียน เราเห็นศักยภาพในตัวผู้สูงอายุ เราเลยคิดว่าสามารถตั้งวงประสานเสียงได้ และเมื่อลองทำก็ตั้งใจว่าจะทำให้วงไปคว้ารางวัลให้ได้ เพราะผมเชื่อมั่นในความสามารถของลูกศิษย์ของผมทุกคน ผมเห็นมาตลอดว่ายิ่งเขาได้เรียนรู้ ได้ลงมือทำ ได้ร้องประสานเสียง ทุกคนเหมือนกลับไปเป็นเด็กที่กระตือรือร้นอีกครั้ง ผมเลยเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีวันหมดอายุ และอายุไม่ใช่อุปสรรค”

การทำงานร่วมกันของ ‘ครู’ และ ‘ลูกศิษย์’ ต่างวัย

“แน่นอนว่าอาจจะมีบ้างที่ความต่างระหว่างวัย ทำให้ไม่เข้าใจกัน เพราะสมาชิกในวงที่มีอายุมากที่สุดคือ 73 ปี และน้อยที่สุด 52 ปี แต่ละคนต่างก็มีประสบการณ์ชีวิต มีอดีตการทำงานที่เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในองค์กรกันมาก่อน บางคนมีหัวโขน ในขณะที่ผมอายุแค่ 30 ปี ถือว่าเป็นรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ถึงแม้อายุเราจะแตกต่างกันมาก แต่เวลาเข้าห้องเรียนเราก็จะบอกเสมอว่า ในห้องเรียน พวกเราคือครูกับนักเรียน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอายุ ซึ่งทุกคนก็เข้าใจดีและยอมรับ แต่เมื่อออกจากห้องเรียนผมก็ให้ความเคารพนักเรียนของผมทุกคนเหมือนกับเป็นญาติผู้ใหญ่ในครอบครัว

“ทำงานกับสูงวัยต้องมีความอดทน เราอาจเป็นเด็กทำอะไรรวดเร็วแต่เมื่อมาทำหน้าที่ตรงนี้ก็ต้องปรับตัว เราสามารถลดช่องว่างระหว่างวัยได้ด้วยความเข้าใจระหว่างกัน เมื่อปัญหาเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือ ‘การฟังซึ่งกันและกัน’ ให้แต่ละคนได้ออกความเห็น และหามติเอกฉันท์จากทุกคน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เราต้องฟังเพื่อรู้ว่าอีกคนต้องการอะไร ฟังเพื่อเข้าใจว่าอะไรคือหัวใจของบทสนทนา และจึงจะประมวลความคิดหาทางออกที่ดีที่สุด แต่หากเป็นปัญหาหน้าเวทีระหว่างการแสดง ที่ต้องการการตัดสินใจแบบฉับพลัน เราในฐานะวาทยกร จะเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งถึงตอนนั้น คนในวงแม้ว่าจะอายุมากกว่าเราก็ต้องฟังเรา เราต้องเชื่อใจกันและกัน”

เข้าใจและรับฟังเสียงของลูกศิษย์

“ก่อนหน้านี้ที่ไปแข่งขันระดับนานาชาติ ด้วยความที่ผมเป็นวาทยกรของวง ผมก็อยากให้วงได้รางวัล จึงเลือกเพลงซึ้งๆ ยากๆ ภาษาต่างชาติที่เรารู้ว่ากรรมการเขาอยากฟัง แต่ปรากฏว่าเราไม่ได้รางวัลเลย เหตุผลเพราะเป็นความต้องการของผมคนเดียว ผมเลยมาขอโทษลูกศิษย์ในวงและปรับปรุงใหม่ หลังจากนั้นเราเลือกเพลงด้วยกัน เลือกเพลงที่ไม่ใช่เลือกจากความไพเราะ น่าฟัง ทันสมัยอย่างเดียว แต่เราเลือกจากหัวใจของสมาชิกทุกคนในวง เราจึงเลือกเพลงภาษาไทยไปแข่งขัน เพราะทุกคนรู้สึกและเข้าใจในเนื้อเพลง ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วงเราประสบความสำเร็จ

“หลังจากไปแข่งขันและคว้ารางวัลในเวทีระดับโลก สิ่งที่กรรมการเขาบอกเราคือ เขาเห็นความเข้าใจในเพลงและการสื่ออารมณ์ที่ทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของเพลง แม้ว่ากรรมการจะไม่สามารถฟังภาษาไทยรู้เรื่องแต่เขาเข้าใจอารมณ์ของเพลงได้ ผมภูมิใจในลูกศิษย์ของผมทุกคน เรารู้ว่าวงของเรามีจำกัด คืออาจฝึกซ้อมไม่ได้นาน สุขภาพร่างกายก็เป็นไปตามวัย แต่จุดเด่นคือทุกคนตั้งใจทำหน้าที่ของตนเอง มีเป้าหมายร่วมกันไม่ว่าจะอายุเท่าไร เมื่อเรียนไปก็สามารถพัฒนาความสามารถของตนเองได้อาจจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับทักษะ แต่ทุกคนทำได้ การเรียนรู้จึงไม่เกี่ยวกับอายุขัย ผู้สูงวัยแต่ละคนที่เข้ามาฝึกจะเห็นเลยว่าจากคนสูงอายุกลายเป็นเด็กที่กระตือรือร้นด้านการเรียนในพริบตา”

ผมดีใจที่ทำให้ลูกศิษย์ได้เดินตามความฝันของพวกเขา

“ผมต้องขอบคุณทุกคนมากๆ และผมดีใจที่ผมได้ทำในสิ่งที่พวกเขาฝันไว้ได้สำเร็จ บางคนอยากขึ้นเวทีเป็นนักร้องมาตลอดทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถทำได้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่เมื่อเกษียณจึงได้เดินมาตามหาความฝันและทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ได้เป็นนักร้องที่คว้ารางวัลระดับนานาชาติในวัย 70 กว่า อันนี้คือสิ่งที่ผมดีใจมาก”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ