‘ส่องแสงตะวันฉาย’ นามปากกาของนักเขียนนิยายที่เริ่มความฝันใหม่ในวัย 52 ปี

คุณจะทำอย่างไรหากคุณต้องกลายเป็นคนตกงานตอนอายุ 52 ปี ทั้งๆ ที่มีวุฒิปริญญาโทจากเมืองนอกถึง 2 ใบ

ถ้าคุณมีตัวเลือกดังต่อไปนี้

หนึ่ง หางานใหม่ที่เหมาะกับระดับการศึกษาของตัวเอง

สอง หางานที่ลดระดับลงมาจากเดิม เพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานให้กว้างขึ้น

สาม ลงทุนทำกิจการอะไรสักอย่างของตัวเอง

หรือ สี่ เริ่มเขียนนิยายเรื่องแรกในชีวิต

อโณทัย ตั้งทรงสุวรรณ์ เจ้าของนามปากกา ส่องแสงตะวันฉาย’  เลือกข้อสุดท้าย

จากรายได้เรือนแสน สู่เงินเดือนเท่ากับศูนย์

ก่อนจะอยู่ในสถานะตกงาน อโณทัยเคยเป็นผู้จัดการในบริษัทไอทีแห่งหนึ่ง

เงินเดือนของเธอในขณะนั้นประมาณ 70,000 กว่าบาท และเมื่อนับรวมกับธุรกิจร้านอาหารที่ทำ ตัวเลขรายได้ยืนพื้นตกอยู่ที่เดือนละ 100,000 บาทเป็นอย่างน้อย

ชีวิตของอโณทัยดูเหมือนเป็นชีวิตที่มั่นคง มีบ้าน มีเงินเก็บ มีรายได้ มีหน้าที่การงานที่ดี แต่แล้วในวันที่พ่อของเธอ

ล้มป่วยลงจากโรคหลอดเลือดในสมองแตกจนเป็นอัมพฤกษ์  ในฐานะลูกสาวคนโต เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงาน รวมถึงขายต่อร้านอาหารของตัวเอง เพื่อเอาเวลาทั้งหมดมาดูแลพ่อ

“การลาออกครั้งนั้นเป็นการตัดสินใจที่เราไม่ลังเลเลย ถ้าให้ย้อนเวลากลับไปใหม่ ก็จะตัดสินใจแบบเดิมแน่นอน

มีคนรู้จักบอกนะว่าเราโง่หรือเปล่าที่ทำอย่างนี้ เราก็บอกว่า ไม่โง่หรอก ชีวิตพ่อเรา เราต้องเป็นคนดูแล

“ถึงแม้ตอนนี้พ่อจะจากไปแล้ว แต่เราไม่เคยรู้สึกเสียใจเลย เพราะได้ดูแลเขาอย่างดีที่สุดเหมือนกับตอนเด็กๆ ที่เขาเลี้ยงและดูแลเรามาอย่างดี”

ตลอด 3 ปีของการดูแลพ่อจนถึงวาระสุดท้าย ในช่วงเวลาดังกล่าวเธอใช้เงินเก็บที่พอมีอยู่รวมกับเงินกงสีของครอบครัวในการหล่อเลี้ยงชีวิต อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่เพราะไม่มีรายได้ประจำทุกเดือนเหมือนก่อน

ทำให้ตัวเลขในบัญชีมีแต่ลดลง

หลังการจากไปของพ่อ อโณทัยเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในชีวิตด้วยการสมัครงานตามองค์กรต่างๆ ด้วยวุฒิการศึกษาปริญญาโท 2 ใบ ใบแรกเป็นปริญญาโทด้านการบริหารจากมหาวิทยาลัยแอตแลนตา ส่วนใบที่ 2 เป็นด้านจิตวิทยาเด็กและครอบครัวจากมหาวิทยาลัยแอละแบมา การเรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของเธออยู่ในขั้นดีเยี่ยม และเมื่อบวกกับประสบการณ์ในการทำงานที่สะสมมายาวนาน ทั้งหมดนี้ทำให้เธอน่าจะหางานได้ไม่ยาก

ทว่าในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น อโณทัยต้องกลายเป็นคนตกงานในวัย 52 ปี

“เวลาไปสมัครงาน พอเขาเห็นโปรไฟล์เรา เขากลับไม่รับ เขาบอกว่าโปรไฟล์เราสูงเกินไป เขาอยากได้นะ แต่สู้ราคา

ไม่ไหว เมื่อโปรไฟล์เป็นปัญหา ต่อมาเราเลยลองไม่ใช้วุฒิปริญญาโทในการสมัครงาน ทั้งที่เราจบปริญญาโทมา 2 ใบ สุดท้ายกลายเป็นว่า ไม่มีที่ไหนรับอยู่ดี คราวนี้เขาให้เหตุผลว่าเราอายุมากเกินไป เลยวัยที่จะรับเข้าทำงาน”

การตกงานในวัย 52 ย่อมไม่เหมือนกับการตกงานในวัย 25 ที่บานประตูแห่งโอกาสยังคงเปิดกว้าง โอกาสในชีวิตทำงานของอโณทัยเริ่มเหลือน้อยลง สวนทางกับตัวเลขของอายุที่เริ่มมากขึ้น

หรือที่สุดแล้วจะไม่มีการนับหนึ่งใหม่เกิดขึ้นในชีวิต

บทที่ 1 ของชีวิตนักเขียน

ในขณะที่การเริ่มต้นใหม่ในองค์กรดูท่าจะเป็นหมัน ก็มีคนรู้จักแนะนำจากให้อโณทัยลองทำสิ่งใหม่ๆ ดู ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอเองก็ไม่เคยคิดจะทำมาก่อน

เพื่อนเขาเห็นว่าเราชอบอ่านนิยาย ก็เลยทักว่า ทำไมไม่ลองเขียนนิยายดู เราก็เลยคิดว่าไหนๆ ก็ไม่มีอะไรทำอยู่แล้ว ลองดูก็ไม่เสียหาย เราเลยเข้าไปใน Pantip แล้วก็ลองเขียน ปรากฏว่าเขียนออกมาได้ไหลลื่น ไม่ติดขัด จากวันนั้นถึงวันนี้เกือบ 10 ปีแล้ว เราก็ยังเขียนอยู่เรื่อยๆ

หัวใจสลายที่ปลายฟ้า คือนิยายเรื่องแรกที่อโณทัยเขียนเสร็จ โดยเป็นเรื่องของหญิงสาวซึ่งเรียนอยู่ที่อเมริกาแล้วได้พบกับชายหนุ่มคนไทยที่นั่น ตอนแรกทั้งคู่ไม่ชอบหน้ากันเท่าไรนัก แต่ท้ายที่สุดกลับลงเอยด้วยความรักที่อบอุ่นละมุนละไม

นักเขียนนิยายวัย 61 บอกว่าพล็อตเรื่องของเธอสร้างขึ้นมาจาก 3 สิ่ง คือ อย่างแรกคือจินตนาการ สองคือประสบการณ์ในชีวิตบางส่วน และสุดท้ายมาจากการศึกษาด้วยการอ่าน ฟัง เห็น และสัมผัส เมื่อบวกทั้ง 3 สิ่งนี้กับอารมณ์ภายในที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ ความสุขในการเขียนก็เกิดขึ้น

เวลาที่เราค้นพบหรือมีอารมณ์ในการถ่ายทอดความรู้สึกออกมา เมื่อนั้นเราจะมีความสุขในการเขียน แล้วความสวยงามของคำต่างๆ จะออกมาเลย ยกตัวอย่างเช่น เราจะเขียนว่าพระอาทิตย์ขึ้น ก็จะกลายเป็นคำว่า ดวงตะวันถักทอแสงเรืองรองอยู่บนแนวขอบฟ้า’ แทน ความสุขเหล่านี้ไม่ได้แค่ทำให้เรารักการเขียนหนังสือและอยากจะทำงานต่อไปเท่านั้น แต่ยังทำให้เราไม่เดินออกนอกเส้นทาง เวลาที่เจอกับความผิดหวัง หรือคำดูถูก”

การเริ่มต้นเป็นนักเขียนในช่วงสูงวัยของอโณทัยไม่ได้เริ่มต้นด้วยเสียงชื่นชมเท่านั้น แม้มีนักอ่านใน Pantip บางคนที่ชื่นชอบงานเขียนของเธอ แต่ก็มีไม่น้อยที่วิพากษ์วิจารณ์แทบจะทุกตัวอักษร มิหนำซ้ำครอบครัวยังไม่เห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่เธอทำ คำพูดมากมายถาโถมเข้ามาทำให้เจ็บปวด จนจิตใจที่เคยเป็นสุขเริ่มเหี่ยวเฉาและดิ่งจมอยู่กับความทุกข์

“ช่วงแรกที่เขียนนิยาย เราโดนเยอะมาก บางคนบอกว่าเขียนอะไร อ่านไม่เห็นรู้เรื่องเลย บางคนถึงขนาดที่ว่าจับผิดเราทุกบรรทัด แล้วก็บอกว่าทำไมบรรทัดนี้ไม่เขียนอย่างนั้น ทำไมบรรทัดนั้นไม่เขียนอย่างนี้ เหมือนกับว่าเราเขียนไม่ถูกใจเขาเลยสักบรรทัดเดียว

“นอกจากคนนอกแล้ว ยังโดนคำพูดเสียดแทงใจจากคนที่บ้าน อย่างเวลาเขาเห็นเรากำลังพิมพ์งานอยู่ เขาถามว่าทำอะไร พอเราบอกว่าเขียนนิยาย เขาก็ปรายตามองแล้วก็บอกว่า เขียนไปเถอะเจ๊ ขนาด Harry Potter 14 ปีเขายังรอได้เลย หรือแม้แต่แม่เราเอง เวลาที่เขาเห็นเราแก้งาน แม่ก็ถามว่า นี่แกทำอะไรอยู่เหรอ

“ในมุมของแม่และคนที่บ้านมันเหมือนเราทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ไม่เห็นจะได้เงิน ไม่เห็นจะประสบความสำเร็จ ยิ่งเรามาเริ่มต้นเอาตอนอายุ 52 เขาก็คิดว่ากว่ามันจะเวิร์ก กว่าจะดัง กว่าจะได้เงินได้ทอง ถึงวันนั้นเราคงตายไปก่อนแล้ว”

คำพูดของคนนอกเมื่อฟังตอนเช้าถึงตอนเย็นก็ยังพอลืมไปได้บ้าง แต่สำหรับคำพูดจากคนในครอบครัวแล้วเป็นเหมือนหนามที่ทิ่มแทงใจให้เจ็บปวดอยู่เรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายกว่าจะรับมือและผ่านเรื่องนี้ไปได้ อโณทัยก็ต้องใช้ธรรมะเข้าช่วย

การไปอบรมและปฏิบัติธรรม รวมทั้งศึกษาธรรมะเองควบคู่ไปด้วย ทำให้อโณทัยเข้าใจว่า ที่เธอรู้จักเจ็บปวดหรือท้อแท้นั้นเป็นเพราะเธอไม่ได้อยู่กับปัจจุบันและเอาความทุกข์ไปปรุงแต่งเพิ่ม ทำให้ใจทุกข์ยิ่งกว่าเดิม

“บางทีเขาว่าเราเมื่อวานหรือผ่านไป 4 – 5 วันแล้ว แต่กลายเป็นว่าเรายังเก็บคำที่เขาว่ามาคิดต่อ หรือปรุงแต่ง

ความทุกข์เพิ่มเข้าไป ทั้งๆ ที่คนพูดเขาไม่ได้รู้สึกอะไรหรืออาจจะลืมไปแล้ว

“แต่ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันและหาอะไรทำ อย่างเช่น เล่นดนตรี หรือวาดภาพ แล้วโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ในขณะนั้น ความรู้สึกเจ็บปวดจากคำพูดที่ทิ่มแทงเราก็จะค่อยๆ หายไป อีกวิธีก็คือ พยายามมองโลกในแง่บวกไปเลย คิดเสียว่าการที่เขาว่าหรือด่าเรานั่นแสดงว่าเขากำลังสนใจเราอยู่ เพราะถ้าเขาไม่สนใจเรา เขาก็จะไม่มาเจาะจงจับผิดเราได้แทบทุกตัวอักษรขนาดนี้หรอก”

แม้จะเจอกับศึกคำพูดทั้งจากคนใกล้ตัวและคนไกลตัว แต่เมื่อปรับความคิดได้และค้นพบวิธีรับมือก็ทำให้อโณทัยยังคงทำงานเขียนที่เธอรักต่อไปได้

บทที่ ‘ใช่’ ของชีวิตที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ

ปัจจุบันในวัย 61 ปี อโณทัยยังคงเขียนหนังสืออยู่เรื่อยๆ โดยนอกจากเขียนนิยายแล้ว เธอยังเขียนเรื่องยาว เรื่องสั้น รวมทั้งกลอนแปด และโคลงสี่สุภาพ

“ตอนนี้มีงานเขียนที่เก็บเอาไว้เป็นเรื่องยาว 14 เรื่อง เรื่องสั้นอีก 4 เรื่อง แล้วก็มีโคลงและกลอนต่างๆ อยู่ใน Pantip อีก 300 กว่าชิ้น

“การเขียนหนังสือคือความสุขในชีวิตของเรา และแม้ว่าตอนนี้เราจะมีรายได้น้อยกว่าตอนที่ทำงานประจำ แต่ก็รู้สึกว่าชีวิตมีความสุขกว่าเดิมมาก”

หลังจากเขียนนิยายลงใน Pantip ไปได้ 3 – 4 ปี อโณทัยลองส่งผลงานที่เธอเขียนเอาไว้ไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อรวมเล่มออกมาเป็นพ็อกเกตบุ๊ก แต่ก็ไม่มีสำนักพิมพ์ใดตอบรับเลย

“เราส่งงานไปให้ทางสำนักพิมพ์พิจารณา ทุกครั้งถูกตีกลับหมด ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนเลยที่สนใจรวมเล่มให้ แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจหรือผิดหวังอะไรนะ คิดว่าไม่พิมพ์ก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็ยังมีความสุขที่ได้เขียน แล้วเราก็ยังเขียนได้เรื่อยๆ

ส่วนเรื่องการกินอยู่ เงินเก็บของเราก็ยังพอมีเหลือ นอกเหนือจากนั้นก็ยังมีเงินจากกงสีที่บ้านที่ได้อยู่ทุกเดือน ซึ่งเราใช้เงินประหยัดอยู่แล้ว เลยไม่ได้เดือดร้อนอะไร”

ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง ความสำเร็จในการเป็นนักเขียนนิยายของอโณทัยก็เช่นกัน

ภายหลังจากที่ส่งต้นฉบับไปให้สำนักพิมพ์หลายแห่ง วันหนึ่งโทรศัพท์ของเธอก็ดังขึ้น เป็นสายจากสำนักพิมพ์ทอปัดในเครือซีเอ็ดที่ติดต่อมาเพราะสนใจตีพิมพ์ผลงานของเธอออกมาเป็นหนังสือเล่ม

เรานัดกินข้าวกันกับเพื่อนเก่า พอเพื่อนรู้ว่าเราเขียนนิยายอยู่ก็เลยบอกว่าเอามาให้อ่านบ้าง เราก็ปรินต์ต้นฉบับมาแล้วแจกให้อ่านกัน ทุกคนก็ทยอยเอากลับไปอ่าน ไม่รู้เหมือนกันว่าอยู่ๆ ต้นฉบับของเราไปอยู่ในมือบรรณาธิการสำนักพิมพ์นี้ได้อย่างไร

ตอนได้ยินเขาบอกว่าอยากจะตีพิมพ์งานเราออกมาเป็นพ็อกเกตบุ๊ก เราฟังแล้วดีใจ เพราะในฐานะคนเขียนหนังสือ เราเองก็รอวันนี้ วันที่ผลงานของเราจะได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม

ที่สำคัญ หนังสือเล่มมันเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นการช่วยตอบคำถามให้กับทุกคนที่สงสัยมาตลอดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ จำได้ว่าวันที่เราเอาหนังสือเล่มแรกของเราไปให้คนที่บ้าน ทุกคนงง แต่ในขณะเดียวกันก็ตื่นเต้นกันมากๆ และยินดีกับเราด้วย

ภูผาซ่อนเมฆ ผลงานพ็อกเกตบุ๊กเล่มแรกของอโณทัยตีพิมพ์ในปี 2560 ก่อนที่ในปี 2561 และ 2562 หอมกรุ่นกลิ่นกาแฟบนยอดดอย และ เหลี่ยมกรกฎ จะคลอดจากสำนักพิมพ์ออกมาตามลำดับ ขณะที่ปลายปีนี้น่าจะเป็นคิวของ ราตรีสีอำพัน ที่กำลังจะกลายเป็นพ็อกเกตบุ๊กเล่มที่ 4 ของเธอ

จากคนตกงานที่ไม่รู้ว่าชีวิตจะเดินต่อไปทางไหนดี มาวันนี้ อโณทัยในวัยต้น 60 กลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขจากการได้ทำในสิ่งที่รัก

แม้จะมีหนังสือเป็นของตัวเองแล้ว แต่ทุกวันนี้อโณทัยยังไม่หยุดความฝันไว้แค่นี้

“เรายังฝันอยากให้นิยายที่เราเขียนได้รับการนำไปสร้างเป็นละคร”

นักเขียนวัยเกษียณพูดกลั้วรอยยิ้ม แน่นอนว่าหากสิ่งที่วาดหวังไว้เป็นจริงขึ้นมาได้ หัวใจของเธอคงจะพองโต เพราะสำหรับอโณทัยแล้ว ความฝันไม่ใช่เรื่องของอายุ แต่คือเรื่องของการได้ทำสิ่งที่รักและมีความสุขอย่างแท้จริง

“ทุกวันนี้มีคนสูงอายุอีกมากที่ไม่กล้าแม้แต่จะฝัน รู้สึกว่าอายุขนาดนี้แล้วจะฝันไปทำไม จะทำไปทำไม อยู่บ้านเฉยๆ เลี้ยงหลานไปวันๆ ดีกว่า แต่จริงๆ แล้วความฝันมันเริ่มเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นวัยรุ่นหรืออายุ 20 – 30 เท่านั้นที่จะมีความฝัน อายุเท่าไหร่ก็มีความฝันได้ ขอแค่ค้นหาสิ่งที่คุณรักและมีความสุขกับมันให้เจอก็แล้วกัน

“ถ้าคิดว่าเจอแล้ว คุณต้องถามใจตัวเองดูว่าคุณรักและมีความสุขกับมันไหม เพราะถ้าคำตอบคือใช่ คุณก็จะอยู่กับมันไปได้เรื่อยๆ โดยไม่เบื่อ เราว่าเท่านี้ชีวิตของคุณประสบความสำเร็จแล้วนะ

เพราะความสำเร็จมันเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่คุณได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักแล้ว

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ