“ชวนรุ่นใหญ่ไปท่องโลก” จากเวที Workshop งานมนุษย์ต่างวัย Talk 2023 “Out of the Box Aging”

ถ้าไม่เที่ยวตอนนี้ จะเที่ยวตอนไหนอีก?

ชวนรุ่นใหญ่เรียนวิชาท่องโลก กับ 2 Speakers บนเวที Workshop : “ชวนรุ่นใหญ่ไปท่องโลก” ในงานมนุษย์ต่างวัย Talk 2023 “Out of the Box Aging” 

จากประสบการณ์ชีวิตในการเป็น Backpacker 

โดย ป้าแป๋ว กาญจนา พันธุเตชะ จากเพจ ป้าแบ็คแพ็ค อดีตข้าราชการเกษียณวัย 69 ปี ที่แบกเป้ท่องโลกด้วยตัวคนเดียวมาแล้วกว่า 40 ประเทศ ผู้มีคติประจำตัวว่า“เพราะใจอิสระ คือ GPS นำทางที่ดีที่สุด”

และประสบการณ์ท่องโลกสำหรับคนเจนฯ ลูก ที่อยากพาพ่อแม่ออกไปใช้ชีวิต กับ ใบเตย-รพิดา อัชชะกิจ จากเพจ เข็นแม่เที่ยว ผู้ขนานนามตัวเองว่าเป็น ‘ลูกเลี้ยงเดี่ยว’ ที่ตั้งใจว่า แม้แม่จะเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่แม่ก็ต้องได้เที่ยว 

สูงวัย+ตัวคนเดียว ก็เที่ยวได้

Out of the Box Travel ใช้ชีวิตซีซัน 2 ไปกับการท่องโลก 

เพราะการออกไปท่องโลกไม่ใช่แค่เรื่องของการได้ไปสัมผัสโลกภายนอกเท่านั้นแต่ในที่นี้หมายถึง การที่เราใช้ชีวิตในช่วงวัยเกษียณ หรือชีวิตซีซัน 2 อย่างมีคุณค่า 

สำหรับ ป้าแป๋ว การลุกขึ้นมาออกเดินทางในช่วงวัยเกษียณยังทำให้ได้เติมใจ ได้ออกกำลังกายระหว่างเที่ยว และฝึกใช้สมองชะลออัลไซเมอร์ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดที่ว่า ตนเองยังมีแรงและการอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่มีประโยชน์

“เรายังรู้สึกว่าแม้จะเกษียณแล้วแต่เรายังไปไหนมาไหนได้ ยังแข็งแรง วันดีคืนดีจะให้มาอยู่บ้านเฉย ๆ มันอยู่ลำบาก เราอยากออกไปเที่ยว อยากไปดูโน่นดูนี่ แรก ๆ ก็เริ่มจากออกไปเที่ยวในเมืองไทยก่อน ด้วยความรู้สึกพาตัวเองไปเที่ยวจริง ๆ ไม่ใช่ไปทำงานเหมือนสมัยก่อน ตอนหลังเริ่มอยากไปเที่ยวต่างประเทศ อยากจะไปยุโรปสัก 2 ครั้งในชีวิต แต่หาเพื่อนไปด้วยไม่ได้ เพราะความประสงค์ไม่ตรงกัน บางคนก็ติดโน่นนั่นนี่ สุดท้ายถ้ามัวแต่รอคนอื่น ในชีวิตนี้คงจะไม่มีโอกาสได้ไปต่างประเทศตามที่ตั้งใจ”

“ใจ” ตนเองเท่านั้นที่นำทาง

ป้าแป๋วใช้เวลาที่มีเข้าห้องสมุด ค้นหาตำราการเดินทางเพื่อมาปรับใช้กับตัวเอง 

“เราไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งเขียนเกี่ยวกับการเดินทางแบบ แบ็คแพ็คเกอร์ ซึ่งคนเขียนเป็นผู้ชาย ก็มานั่งประเมินตัวเอง คิดว่าจะทำได้ไหมอย่างนั้น แล้วลองทำตามดู ตั้งแต่การขอวีซ่า จองตั๋วเครื่องบิน หาข้อมูลที่พัก หลังจากนั้นก็เริ่มลองเดินทางไปต่างประเทศคนเดียว ทริปแรกไปเมียนมาร์ (พม่า) อยากไปที่นี่เพราะอยากเห็นบ้านเมืองเขา อยากรู้ว่าเขาใช้ชีวิตยังไง 

“ก่อนไปเราบอกตัวเองไว้ว่า ไม่ว่าจะเจอความลำบากยังไง เจอที่พักสภาพแบบไหน เราต้องยอมรับให้ได้ เพราะเราอยากไป ต้องทำใจไว้ก่อน”

หลังจากทริปแรกที่เมียนมาร์ (พม่า) ปัจจุบันป้าแป๋วเดินทางมาแล้วกว่า 40 ประเทศ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป อเมริกา สิ่งสำคัญคือการ “เที่ยวแบบปลอดภัย” 

“ก่อนตัดสินใจไปที่ไหนต้องมีการวางแผน เตรียมความพร้อม เราต้องเที่ยวแบบปลอดภัย”

4 ข้อเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง ฉบับ แบ็คแพ็คเกอร์วัยเกษียณ 

ป้าแป๋วแนะนำว่า 

1. เตรียมความพร้อมด้านการเงิน 

อยากเที่ยวตอนเกษียณต้องรู้จักเก็บเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน มีน้อยเก็บน้อย ค่อย ๆ สะสมไว้แบบไม่ต้องถอน เพราะการไปเที่ยวต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเสมอ เช่น ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเดินทางระหว่างเมือง 

“ข้อดีของการเก็บเงินไม่ใช่แค่เพราะจะได้นำออกมาใช้ในช่วงหลังเกษียณ แต่ต้องคิดว่าเราเก็บเงินไว้เผื่อความไม่มั่นคงในอนาคต เมื่อถึงวัยเกษียณแล้วเงินก้อนนั้นยังอยู่ก็เอามาเป็นทุนในการทำสิ่งที่อยากทำ”

2. เตรียมสุขภาพให้พร้อม

สามารถเริ่มต้นดูแลตัวเองได้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว สะสมไว้ให้เหมือนเงินออม สำหรับป้าแป๋ว ดูแลตัวเองด้วยการเต้นแอโรบิคทุกวันหลังเลิกงาน ที่สำคัญคือดูแลการกินควบคู่ไปด้วย เมื่อสุขภาพเราพร้อมก็จะทำให้เราเดินทางได้โดยไม่ต้องกังวล

3. เตรียมข้อมูลการเดินทาง

ยิ่งเที่ยวคนเดียวไม่ผ่านเอเจนซี การเตรียมข้อมูล การวางแผน คือสิ่งจำเป็น ต้องเริ่มเตรียมตั้งแต่ประเทศที่อยากไป วางแผนการเดินทางควบคู่กับศึกษาเส้นทาง วางแผนกิจกรรมที่อยากทำ จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก ทำประกันการเดินทาง สำคัญคือ ดูสถานการณ์ความสงบเพื่อความปลอดภัย 

4. เตรียมใจ 

ต้องกล้าที่จะเดินทาง หลายคนกลัวเรื่องภาษา กลัวอุปสรรค กลัวคนแปลกหน้า แม้แต่ในเมืองไทยเองก็ไม่กล้าไป ดังนั้นเรื่องของใจเป็นเรื่องที่ต้องมีความพร้อม ไม่ว่าจะเจอกับอะไร วัฒนธรรมที่แตกต่าง สถานที่ไม่เอื้ออำนวย ความไม่สะดวกสบาย ต้องยอมรับและปรับตัวให้ได้

“การก้าวผ่านความกลัวคือเรื่องใหญ่ที่สุดของการเดินทาง แต่ถ้าเมื่อไรเราก้าวออกมาได้ คุณจะพบว่าการเที่ยวคนเดียวไม่ได้น่ากลัว ไม่โดดเดี่ยว และไม่เหงาเลย แต่กลับได้ทำให้เรารู้ว่า โลกใบนี้จริงใจกับเราแค่ไหน เอ็นดูเราแค่ไหน และมีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือเราเยอะมาก”

อยากพาพ่อแม่ออกไปใช้ชีวิต แค่ปรับวิธีคิด พ่อแม่ก็ได้เที่ยว 

หลายคนมองว่าเป็นผู้สูงอายุแล้วต้องอยู่กับบ้าน หรือเป็นคนป่วยติดเตียงไม่ควรออกไปไหน แค่ดูแลให้มีความสุขอยู่ในบ้านก็น่าจะพอแล้ว 

สำหรับ ใบเตย ลูกสาวที่ต้องดูแลแม่ป่วยติดเตียง เธอคิดเสมอว่า แม่ไม่ได้รอดตายจากโรคที่ป่วยเพื่อมาเป็นผู้ป่วยนอนติดเตียง แต่แม่ต้องได้ใช้ชีวิตในแบบที่มีความสุขที่สุด นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความตั้งใจ ‘เข็นแม่เที่ยว’ 

“คุณแม่คือผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องเคลื่อนไหวด้วยการใช้วีลแชร์แทนการเดิน โดยมีเตยเป็นคนเข็น ไอเดียที่อยากพาแม่เที่ยวเกิดขึ้นจาก ความทุกข์ จากการที่แม่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง ถึงจะรอดมาได้แต่แม่เหมือนเด็กเกิดใหม่ ที่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ ทุกวันเราต้องพาแม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูร่างกาย 3 เดือนแรกแม่ก็ยังทำอะไรได้ไม่เยอะ 6 เดือนผ่านไปแม่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ จนครบปีแม่ยังนั่งรถเข็นแบบที่ตัวยังไหลลงอยู่เลย 

“ตลอดเวลาของการดูแลแม่ การต่อสู้ของเราไม่มีความสุข แววตาแม่ก็ไม่มีความสุข เตยคิดว่าสิ่งที่ทำให้แม่มีความสุขน่าจะเป็นการที่แม่ได้ออกไปเที่ยวเหมือนตอนที่แม่ยังแข็งแรง เตยเลยบอกกับแม่ว่า แม่ต้องนั่งวีลแชร์ให้ได้ก่อน ถ้าแม่นั่งได้จะพาไปเที่ยว หลังจากวันนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แม่ไม่ดื้อเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการกายภาพ เขาพยายามทำให้เราเห็นว่าเขาทำได้ตามที่เราขอ เราก็ทำตามสัญญา เมื่อแม่นั่งวีลแชร์ได้ ก็เริ่มพาไปเที่ยว

“การพาแม่เที่ยวของเตยเริ่มจากไปที่ใกล้ ๆ แต่ต้องเป็นสถานที่ที่สะดวก เข็นแม่เดินได้สบาย เพราะเตยเชื่อว่า แม่ทุกคนไม่อยากให้ลูกลำบาก ก็เลยเลือกพาไปที่ที่วีลแชร์ไปได้ พอแม่ได้เที่ยวเขาก็แฮปปี้ เริ่มตอบสนองในทางที่ดีขึ้น ทำให้เตยได้เข้าใจว่า การพาแม่ออกมาจากบ้าน มันเป็นอีกหนึ่งมิติในการดูแลแม่ เทียบค่าเที่ยวกับค่ากายภาพแล้วแม่ดีขึ้นมันจ่ายพอกันเลย หลังจากนั้นเราก็ตั้งใจว่าจะบำบัดแม่ที่ป่วยติดเตียงด้วยการเที่ยว”

แค่ปรับวิธีคิดอยากเที่ยวต้องได้เที่ยว – ทริกพาพ่อแม่เที่ยว ฉบับ คนเจนฯ ลูก

สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม ไม่ว่าพ่อแม่จะเป็นผู้สูงอายุ พิการ หรือป่วยติดเตียง 

1. เตรียมพร้อมดูแลสุขภาพพื้นฐาน

“กิจวัตรประจำวันในการดูแลแม่ป่วยต้องทำอะไรบ้างก็ทำสิ่งนั้น เช่น ต้องเช็กความดันฯ กินยาตามที่หมอสั่ง ต้องใส่ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ก็เตรียมไปให้เพียงพอ ใช้วิธีคิดเหมือนเวลาพาแม่ไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม”

2. ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง 

“แม่ของเตยเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดังนั้นเราจะซีเรียสเรื่องการนั่งรถ ทุกครั้งที่ต้องเดินทาง ต้องล็อกที่นั่งให้แม่ดี ๆ ระวังในเรื่องของอุบัติเหตุทั้งที่อาจจะเกิดจากเราหรือความประมาทจากคนอื่น”

3. เตรียมพร้อมรับมือเรื่องฉุกเฉิน

“การเดินทางอาจเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นได้ ยิ่งกับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว มีโอกาสเจ็บป่วยกะทันหัน ต้องศึกษาหาข้อมูลเยอะ ๆ ในทุก ๆ ด้าน ต้องคิดเผื่อมีเหตุฉุกเฉิน อย่างแม่เตยต้องเดินทางด้วยวีลแชร์เท่านั้น เราก็จะดูข้อมูลให้เยอะหน่อยว่า สถานที่ที่เราไป เราสามารถเข็นแม่เที่ยวได้ มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการ มีจุดช่วยเหลือยามฉุกเฉิน”

4. เช็ก ‘ใจ’ พ่อแม่ว่าชอบเที่ยวจริงไหม

“ก่อนพาพ่อแม่เที่ยวต้องเช็กด้วยว่าเขาชอบเที่ยวหรือเปล่า บางคนเขาไม่ได้อยากไปเที่ยวแต่เขาอาจจะอยากทำอะไรอย่างอื่น เช่น ดูแลต้นไม้ อยากมีสัตว์เลี้ยง เราก็เสิร์ฟในสิ่งที่จะทำให้เขามีความสุข ดีกว่าฝืนให้เขาทำในสิ่งที่ไม่ชอบ”

สำหรับเตย การพาแม่ออกไปเดินทางไม่ได้แค่เป็นการไปเที่ยว แต่นี่คืออีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบำบัดกาย บำบัดใจแม่ เรียกว่าใช้การเที่ยวมาทำให้แม่มีกำลังใจในการกายภาพ เพราะสิ่งที่ภูมิใจที่สุดของคนเป็นลูกก็คือแม่อาการดีขึ้น

“การพาแม่เที่ยวไม่ใช่แค่แม่มีอาการดีขึ้น แต่ยังทำให้เตยเปลี่ยนความคิด เพราะเตยได้เจอกับซูเปอร์ฮีโร่ มีคนอยากเข้ามาช่วยเหลือเราตลอดเลย ไม่ว่าเราจะไปเที่ยวที่ไหนไม่เคยกลัวเลยว่าจะลำบาก เตยอยากจะบอกทุกคนว่า อย่ากลัวเลยค่ะ การเที่ยวมีข้อดีอีกเยอะ ถ้าเราไม่ลองออกมาเที่ยวเราก็อาจจะไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่เรากลัว บางทีมันแค่เกิดจากใจเราเองที่กลัว” 

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครอยากเป็นสายเที่ยวแบบแบ็คแพ็คอย่างป้าแป๋ว หรือลูกหลานที่กำลังดูแลพ่อแม่สูงวัย ถ้าอยากพาออกมาท่องโลกก็ลุยเลย!!

บางทีภูเขามันอาจจะสวยกว่าตอนที่เราเคยเห็นก็ได้นะ…

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ