Stories of a Generation – with Pope Francis: ความรัก ความฝัน การต่อสู้ และการงาน ของมนุษย์วัยเกิน 70 ปีทั่วโลก

“สำหรับพ่อเนี่ย สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับมนุษยชาติคือ การที่คนหนุ่มสาวพูดคุยกับคนชรา” โป๊ปฟรานซิสเริ่มต้นให้สัมภาษณ์กับมินิซีรีส์สารคดีสร้างแรงบันดาลใจจาก Netflix ที่ชื่อว่า Stories of a Generation – with Pope Francis

เพราะการพูดคุย นับเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะคอยเชื่อมโยงความคิดสู่ความคิดระหว่างคนแต่ละเจเนอเรชัน

เรื่องนี้สร้างจากหนังสือของโป๊ปฟรานซิส เรื่อง แชริงเดอะวิสดอมออฟไทม์ (Sharing the Wisdom of Time) ซึ่ง บรรจุเรื่องราวของคนวัยปู่ย่าตายายทั่วโลกวัยมากกว่า 70 ปี ในม้วนฟิล์มกล้องถ่ายภาพยนตร์จากผู้สร้างหนังรุ่นใหม่วัยไม่เกิน 30 ปี เพื่อให้คนวัยหนุ่มสาวได้มีโอกาสใกล้ชิด ทำงาน จนกระทั่งพูดคุยกับคนสูงวัยด้วยตนเอง และบันทึกออกมาเป็นซีรีส์สารคดีทั้งหมด 4 ตอน (EP)

ประสบการณ์ เรื่องราว และความรู้สึกในชีวิตของมนุษย์สูงวัยเหล่านี้ถูกเล่าไปตามธีม ได้แก่ ความรัก (Love) ความฝัน (Dream) การต่อสู้ (Struggles) และการงาน (Work) ที่พิเศษก็คือ ในทุกตอนจะดำเนินเรื่องด้วยโป๊ปฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก องค์ที่ 266 ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ข้อคิด และคำคม ชวนให้ผู้ชมอย่างเราได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งโดยที่ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันที่สูงวัย พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในวัยเดียวกันอีกด้วย

1 – ความรักคืออะไร

นิยามความรักในมุมมองของวัยรุ่นมักจำกัดอยู่เพียงความรักแบบหนุ่มสาว แต่ในตอนแรกนี้จะชวนให้ทุกคนได้มารู้จักกับความรักในมุมมองอื่นๆ จากประสบการณ์ตรงของคุณปู่คุณย่าที่เปิดโลกให้เราพบรูปแบบความรักที่หลากหลาย ไร้ข้อจำกัด ช่วยเติมเต็มความรู้สึกในใจให้พองฟูตลอดทุกตอน

เรื่องราวของคุณยายเอสเตลา บาร์สน์ ดี คาร์ลอตโต (Estela Barnes Di Carlotto) วัย 90 ปีเศษๆ ประธานกลุ่มแม่แห่งจตุรัสมาโช เมืองบัวโนสไอเรสที่ต่อสู้กับเผด็จการทหารมาค่อนชีวิต ทวงคืนความยุติธรรมให้แก่หนุ่มสาวที่ออกไปต่อสู้เพื่อความถูกต้องและถูกจับไปโดยไร้เหตุผล ลูกสาวเธอคือหนึ่งในผู้ที่ถูกจับไปและตายในคุก โดยทิ้งหลานชายผู้หายสาบสูญเอาไว้ ด้วยความรักของเอสเตลา เธอทุ่มเทช่วงสุดท้ายของชีวิตเพื่อตามหาหลานชาย

วีโต ฟิโอริโน (Vito Fiorino) คนทำไอศกรีมวัย 72 ปี จากเกาะแลมเพดูซา อิตาลี ซึ่งช่วยชีวิตคนได้มากถึง 47 คนจากโศกนาฏกรรมการอพยพที่เลวร้ายที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เหตุการณ์เรืออับปางในครั้งนั้นทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไป และได้นิยามความรักว่า คือการคืนชีวิตให้แก่ผู้คน จากที่ไม่เคยแสดงความรักกับครอบครัว วีโต้ในวัยเกษียณก็ได้รู้จักแสดงความรักกับเด็กๆ ที่เขาช่วยชีวิตไว้ เหมือนที่โป๊ปฟรานซิสบอกว่า “การกำเนิดลูกไม่ได้ทำให้คุณเป็นพ่อคน ในทางชีววิทยาหนะใช่ แต่การเป็นพ่อที่แท้จริงหมายถึงการถ่ายทอดความเป็นตัวคุณแก่ลูก”

คาร์ลอส โซลีส (Carlos Solis) จักษุแพทย์วัย 84 ปี และภรรยาคริสตินา โซลีส (Cristina Solis) วัย 78 ชีวิตแต่งงานกว่า 55 ปีของทั้งคู่มอบลูกหลานให้เต็มบ้าน หลังจากที่ลูกหลานออกไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง ปัจจุบันสองตายายอาศัยเพียงลำพัง และเริ่มเติมความรักของชีวิตคู่ด้วยการเต้นแทงโก้ แม้ว่าตอนแรกฝ่ายชายไม่อยากเรียนเต้น แต่สุดท้ายเขาก็ยอมตามใจภรรยา เริ่มเรียนคู่กันในวัย 60 กว่า จนกลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความรักของทั้งคู่ในวันที่ต้องดูแลซึ่งกันและกัน

ความรักไม่ได้จำกัดอยู่แค่ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น เจน กูดดอลล์ (Jane Goodall) นักสัตววิทยาชาวอังกฤษ ได้มอบความรักทั้งชีวิตให้กับสัตว์ เธอใช้หัวใจในการเรียนรู้พฤติกรรมสัตว์อย่างชิมแปนซีแบบที่การศึกษาสายวิทยาศาสตร์ไม่ทำกัน เจนสามารถถ่ายทอดออกมาชนิดที่สามารถเปลี่ยนวิธีคิดของนักวิทยาศาสตร์ได้ “ถ้าเราทุกคนเรียนรู้ที่จะรักและเคารพกัน โลกนี้จะต่างไปจากเดิมมาก” เธอคือผู้ที่ทำให้ทั้งโลกได้รู้จักลิงชิมแปนซีมากขึ้นนั่นเอง และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ว่าความรักคือสิ่งที่หล่อหลอมจิตใจมนุษย์ โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ

2 – ความฝันกับคนสูงวัย

“ ถ้าคนแก่ไม่มีความฝัน ไม่ก้าวไปข้างหน้าก็จะกลายเป็นหิน เราถึงต้องส่งเสริมให้คนแก่มีความฝัน ซึ่งคนที่จะส่งเสริมฝันของคนแก่ได้ก็คือคนหนุ่มสาว” ในตอนนี้จะเล่าความฝันในโลกของผู้สูงวัย ที่คอยเตือนว่าการมีความฝันนั้นสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง แล้วทำไมสิ่งนี้จึงจำเป็นกับทุกช่วงวัยของชีวิต

คำปราศรัยอันโด่งดังของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง นักเคลื่อนไหวผิวสี ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองได้กล่าวไว้ว่า “ลูกของอดีตทาสและอดีตนายทาส จะนั่งล้อมวงคุยกันได้อย่างเสมอภาค” ส่งมาถึงเบ็ตตี คิลบี ฟิชเชอร์ บัลด์วิน (Betty Kilby Fisher Baldwin) คุณป้าผิวสีวัย 76 ปี ที่สืบเชื้อสายจากการเป็นทาสในบ้านของคนผิวขาว เธอได้รับจดหมายจากเพื่อนผิวขาวที่อยู่ในตระกูลนายทาสของเธอ “บางที เราในฐานะลูกสาวอาจทำให้ฝันนั้นเป็นจริงได้” เบ็ตตี้เป็นผู้ที่ทำให้โรงเรียนในเวอร์จิเนียเลิกแบ่งแยกสีผิวเป็นครั้งแรก จากที่เคยเก็บงำอดีตอัน

ขมขื่นเอาไว้ เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียเกียรติ แต่หลังจากที่ได้พบ พร้อมพูดคุยกับทายาทนายทาสอย่างเปิดใจและเท่าเทียม เธอก็สามารถเล่าและส่งต่อประวัติของตระกูลให้หลานสาวฟังได้อย่างภาคภูมิ เพราะสุดท้ายหลานสาวจะช่วยสานฝันนี้ได้ต่อไปสู่คนรุ่นหลัง

บาติกลวดลายแบบไนจีเรียน ชื่อของเธอก็คือ นิเก โอกุนดาเย (Nike Okundaye) อายุ 70 ปี สำหรับเธอการงานทำให้เธอมีอิสระ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือ เสรีภาพ นิเกเริ่มทอผ้าเป็นตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ เธอรู้จักกระบวนการทำฝ้ายอย่างละเอียด รวมถึงเทคนิคอาดิเร (Adire) ผ้าย้อมครามแบบชาวไนจีเรียแต่เด็กๆ นิเกทำงานเพื่อให้โลกรู้จักวิถีชีวิต ความเชื่อ และผู้คนของไนจีเรียมากขึ้นจากผืนผ้าของเธอ

อดีตนักกีฬาระดับแชมป์ของสเปนอย่างคุณยายมงต์เซร์ราต์ เมโช (Montserrat Mecho) วัย 88 ปีกระโดดร่มมาแล้วกว่า 900 ครั้ง ชื่อของเธอถูกบันทึกอยู่ในหนังสือผู้หญิงแห่งชาวกาตาลันแห่งศตวรรษที่ 20 ในหมวดนักกีฬา เธอสอนลูกชายให้เล่นกีฬาแทบทุกชนิด แต่สำหรับกีฬาโดดร่มแล้วกลับเป็นลูกชายที่เป็นผู้สอนเธอ เพราะเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันมานาน แต่ไม่เคยได้ทำ หลังจากลูกชายจากไปเธอก็อุทิศการโดดร่มทุกครั้งให้แก่เขา “อีดัวร์โด แม่อยู่นี่ จับมือแม่ไว้นะ”

“ความฝันของผมคืออยากทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น” เดวิด ซี โลว์ (David C . Lowe) นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ วัย 75 ปี เดวิดเฝ้าดูความเสื่อมโทรมของสภาพชั้นบรรยากาศมานานกว่า 50 ปี จากการเก็บตัวอย่างอากาศในแถบละติจูดกลางของซีกโลกใต้เพื่อหาค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ การประท้วงเพื่อเรียกร้องเรื่องสภาพภูมิอากาศของเยาวชนทำให้เขาเห็นแสงสว่าง และจุดแรงบันดาลใจในตัวเขาขึ้นมา เขาฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเป็นศูนย์ในปี 2050 เพราะฝันนี้เดวิดและนักวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คนคงไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เพียงลำพัง

ครอบครัวเล็กๆ ของดานิโล เมนา เฮอร์นานเดซ (Danilo Mena Hernandez) ชาวปูริสกาลีนาแห่งคอสตาริกาวัย 76 ปี ที่มีชีวิตเพื่อลูกชายพิการทางสายตา ทั้งสองฝันอยากไปชายหาด เพราะพวกเขาไม่เคยเห็นทะเล แม้จะเป็นสิ่งที่เรียบง่าย แต่สิ่งนี้ช่วยเติมเต็มชีวิต และสร้างความสุขมหาศาลให้กับทั้งครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็นฝันแบบไหน ฝันเพื่ออะไร หรือฝันเพื่อใคร ทุกคนจำเป็นต้องมีฝัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม “คนที่ไม่รู้จักฝัน จะขาดความสุนทรีย์ ความมีชีวิตชีวา รอยยิ้ม และประกายในแววตา ผู้ใหญ่ที่มีความฝันจะพาเราเดินหน้าไปสุดขอบฟ้าแบบที่เราจินตนาการไม่ถึง” อย่างที่โป๊ปฟรานซิสกล่าวไว้ในตอนต้น และฝันบางอย่างจะสานต่อได้ก็ต่อเมื่อเราหว่านเมล็ดพันธุ์ทิ้งไว้ให้กับคนรุ่นหลัง

3 – ต่อสู้ไปเพื่ออะไร

เรื่องราวของการต่อสู้ในชีวิตของเหล่าคุณตาคุณยายที่บอกให้รู้ว่า “เราไม่มีวันแก่ที่จะสู้เพื่อสิ่งที่เรายึดมั่น สู้เพื่อสิ่งที่เรายอมเสี่ยงชีวิต ถ้าเรามีหัวใจที่เปิดกว้างและอ่อนโยน” ไม่ว่าจะต่อสู้กับอำนาจรัฐ ธรรมชาติ สงคราม หรือสิทธิมนุษยชน พวกเขาเหล่านั้นต่างก็มีเป้าหมาย รู้ว่าตัวเองต่อสู้ไปเพื่ออะไร และเรื่องราวเหล่านี้ก็พร้อมเป็นแรงใจให้กับคนทุกวัยให้สู้ต่อไป

โอมาร์ บัดชา (Omar Badcha) ช่างภาพสารคดีวัย 75 ปี หนึ่งในนักต่อสู้ขบวนการใต้ดินโค่นรัฐบาล เพื่อให้แอฟริกาใต้เป็นหนึ่งเดียวโดยไม่มีการแบ่งแยกสีผิว วันหนึ่ง สเตมบิโซ นุซูซา เด็กชายร่วมอุดมการณ์เข้ามาทำงานในห้องมืดเพื่อล้างฟิล์มกับเขาทุกวันจนเกิดผูกพันสนิทสนมกัน แต่แล้วสเตมบิโซออกไปเดินขบวนประท้วงและไม่หวนกลับมา ก่อนไปเขาขอร้องให้โอมาร์ถ่ายภาพเขาเก็บไว้และฝากส่งภาพให้ครอบครัวหากเกิดอะไรขึ้นกับเขา สุดท้ายโอมาร์ก็เพิ่งได้มีโอกาสทำตามสัญญานั้นเมื่อเขาแก่ตัวลง และนี่เป็นอีกสิ่งที่เขาทำได้เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของแอฟริกาใต้ให้คนรุ่นต่อไปฟัง

เฟลิเป โพมาร์ (Felipe Pomar) นักโต้คลื่นชาวเปรูวัย 77 ปี ผู้ชนะคนแรกของการแข่งขันโต้คลื่นชิงแชมป์โลก เพื่อพิสูจน์ตัวเอง เขาผ่านการต่อสู้กับทะเล ความกลัว และจิตใจอยู่หลายครั้ง ครั้งหนึ่งที่เกิดแผ่นดินไหวในเมืองที่เขาอยู่ เฟลิเปตัดสินใจพากระดานโต้คลื่นสู้กับคลื่นยักษ์สูงกว่า 10 เมตรที่เรียกว่า สึนามิ สำหรับเฟลิเปในวัยหนุ่ม เขาคิดว่านั่นเป็นโอกาสที่จะได้โต้คลื่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่ทันคิดว่าทะเลไม่มีความรู้สึกและไม่รักเขาเหมือนอย่างที่เขารักมัน เพราะนั่นคือความเป็นจริงของธรรมชาติ ความโหดร้ายของคลื่นยักษ์คร่าชีวิตไปหลายศพและเกือบพรากชีวิตไปจากเขาเช่นกันหากเขาฝืนโต้คลื่นยักษ์ต่อไป

จีแซล อัสซูอาด ซับบาจห์ (Gisèle Assouad Sabbagh) คุณยายผู้อพยพชาวซีเรียวัย 87 ปีที่หนีสงครามมาอยู่เมืองหลวงของเลบานอน สุดท้ายเบรุตที่เธอรักก็ถูกทำลายทิ้งด้วยระเบิดสงครามเป็นครั้งที่สอง เหลือเพียงซากปรักหักพังและความรู้สึกในใจของจีแซล เธอเห็นผู้คนที่ได้รับผลกระทบและเศร้าไปกับพวกเขา แต่นั่นคือชีวิตที่เกิดขึ้น และสำหรับเธอชีวิตคือการต่อสู้ดิ้นรนอยู่เรื่อยๆ แม้จีแซลจะทรมานใจเพราะไม่สามารถกลับไปหาอดีตที่จากมาได้อีก และสู้ต่อไปเพื่อชีวิตวันข้างหน้า แต่เธอก็ไม่ลืมความสวยงามของช่วงชีวิต ความผูกพันกับผู้คนที่เธอรัก และบ้านเกิดที่แสนอบอุ่น

อุสตรา เบร์ธา ฟลอเรซ โลเปซ (Austra Bertha Flores Lopez) อดีตนักการเมืองแห่งเมืองลาเสเปอรันซา ประเทศฮอนดูรัสวัย 88 ปี ที่เชื่อว่าผู้มีอำนาจต้องดิ้นรนปกป้องผู้อ่อนแอ สายตาอันแน่วแน่ของคุณยายบอกชัดว่า เธอจะไม่ยอมแพ้ในการทวงคืนความยุติธรรมให้แก่เบร์ติตา ลูกสาวคนเล็ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวพื้นเมืองของเธอที่ถูกลอบสังหารอย่างไม่เป็นธรรม เบร์ติตาต่อสู้กับอำนาจทางเศรษฐกิจ และคนเป็นแม่อย่างอุสตราก็ไม่ยอมที่จะปล่อยให้การต่อสู้ของลูกสูญเปล่าด้วยการประกาศว่า จะไม่ยอมตายเพื่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับความยุติธรรม

4 – คุณค่าของการทำงาน

“การงานคือสิ่งที่ทำให้เรามีคุณค่า เมื่อไม่มีงาน ก็ไม่มีศักดิ์ศรี” มาถึงตอนสุดท้ายของซีรีส์เรื่องนี้กันแล้วที่ว่าด้วยหัวข้อเรื่อง “การงาน” เรื่องราวของผู้คนหลากอาชีพ ทั้งดีไซเนอร์ ช่างทำรองเท้า หมอตำแย นักสร้างหนัง และเชฟ ที่จะมาช่วยตอบคำถามว่าเราทำงานกันไปทำไม

ศิลปินชื่อดังระดับโลกที่ตัดเย็บชุดทุกชุดที่เธอสวมใส่เอง นักออกแบบสิ่งทอเจ้าของผลงานผ้า

หมอตำแยที่ไม่เคยเรียนทำคลอดจากสำนักไหน แต่เรียนรู้จากในฝัน และเริ่มลงมือทำจริง นาตาเลีย เอเชเวร์เรีย ฟอนเตวิลยา (Natalia Echeverria Fuentevilla) วัย 72 ปี แห่งเม็กซิกโกค่อย ๆ คลำท้องอย่างชำนาญ เธอทำคลอดให้หญิงท้องแก่ โดยที่เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์แทบไม่พร้อมเลยสักนิด แต่ประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการทำคลอดมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ครั้ง ก็พาให้เธอกลายเป็นหมอตำแยมือดีในเมืองเล็กๆ อย่างซาน มาเตโอ เดล มาร์ ซึ่งทำให้ทารกลืมตาดูโลกมานับไม่ถ้วน

“ผมคิดว่าทุกคนจำเป็นต้องทำงาน เหมือนมด หรือผึ้ง ที่พวกมันทำงานตลอดชีวิต” ตรินห์ น็อก (Trinh Ngoc) ช่างทำรองเท้าฝีมือดีชาวเวียดนามในเมืองโฮจิมินห์วัย 90 ปีกล่าว สมัยหนุ่มๆ เขาเคยเปิดร้านทำรองเท้าที่กรุงพนมเปญและรองรับลูกค้าต่างชาติทั่วทุกสารทิศ การได้มีโอกาสตัดรองเท้าให้กษัตริย์กัมพูชานโรดม สีหนุคือหนึ่งในความสำเร็จในชีวิตของตรินห์ แต่เมื่อเกิดรัฐประหารที่พรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากเขาทำให้ต้องอพยพกลับประเทศ ในที่สุดเขาตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเปิดร้านรองเท้าในวัยเกษียณ เพราะลึกๆ ในใจตรินห์รู้ตัวเองดีว่าเขารักงานตัดรองเท้ามากแค่ไหน

มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) นักสร้างภาพยนตร์ชื่อดังวัย 79 ปี ชีวิตในวัยเด็กของเขาขลุกอยู่กับโรงหนังและโบสถ์เสียส่วนใหญ่ ก่อนจะมาเป็นผู้สร้างหนังเขาเคยอยากทำอาชีพนักบวช แต่การได้พบกับคุณพ่อฟรานซิส พรินซิเป (Francis Principe) เปลี่ยนเส้นทางการเป็นนักบวชของมาร์ตินไป บาทหลวงพูดถึงประเด็นสำคัญของ “โล่รางวัล” ในงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 25 ที่ทำให้มาร์ตินตัดสินใจเลือกเดินทางสายภาพยนตร์ “อย่าไขว่คว้าคุณค่าผิดๆ เพราะงานสร้างสรรค์คือ พรและของขวัญในตัวเอง ผลงานที่เราทำถือเป็นรางวัลแล้ว” คือคำจากบาทหลวงที่มาร์ติดยึดมั่น หมกมุ่น และทุ่มเทที่จะทำอาชีพนี้ต่อไปโดยไม่คำนึงว่าจะคว้ารางวัลหรือไม่ก็ตาม

เชฟชาวยิวจากร้านยูคาลิปตัสในกรุงเยรูซาเลมอย่าง โมเช บาซง (Moshe Basson) วัย 70 ปี ถอดสูตรอาหารจากคัมภีร์ไบเบิล แม้จะเหลือเชื่อ แต่ที่ร้านเสิร์ฟอาหารในยุคสมัยของพระเยซูจริงๆ พรสวรรค์ของโมเชทำให้เขารังสรรค์เมนูอาหารได้น่าสนใจ แต่เขากลับบอกว่าการทำอาหารไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นความทรงจำ เทคนิคอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจหลงลืม แต่ไม่ใช่กับโมเชก็คือ การดมและสูดกลิ่นวัตถุดิบ และสุดท้ายก็คือความเชื่อนี่เองที่ช่วยให้เขาดำรงอาชีพเชฟได้อย่างไม่มีใครเหมือน

“เราทำงานเพื่อบางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะเพื่อองค์กร เพื่อโลก เพื่อครอบครัว หรือเพื่อตัวเอง” แต่ไม่ว่าจะอาชีพไหนต่างก็ต้องมีหัวใจที่รักในงานของตัวเอง พร้อมทั้งสามารถรวมจินตนาการ มุมมอง และความแน่วแน่ในการทำงาน พร้อมหาทางที่จะผสานกันอย่างกลมกลืน ก็ทำให้งานของพวกเขาออกดอกออกผลมาจนทุกวันนี้

และนี่คือเรื่องราว มุมมอง และประสบการณ์ชีวิตของคนสูงวัยอายุกว่า 70 ปี หลากหลายมิติสำคัญในชีวิตทั้งเรื่อง ความรัก ความฝัน การต่อสู้ และการงานในมินิซีรีส์เรื่องนี้ Stories of a Generation – with Pope Francis ที่จะช่วยขยับความห่างของช่วงวัยให้ใกล้กันกว่าเดิมผ่านการพูดคุย พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไรก็ตาม

ภาพจาก www.netflix.com

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ