ทวีศักดิ์ ยศสมศรี คุณลุงวัยเฉียด 70 เจ้าของ ‘สตรองยิม’ ธุรกิจที่สร้างกำไรด้วยการสร้างสุขภาพที่ดีให้ผู้คน

แม้ไม่มีขนาดใหญ่โตโอฬาร หรือมีเครื่องมือออกกำลังกายหรูหราราคาแพงเหมือนฟิตเนสอื่นๆ แต่ตึกแถว 3 ชั้น 2 คูหาบนถนนพรานนกแห่งนี้ คือแลนด์มาร์กสำคัญของคนรักสุขภาพที่อยู่คู่ย่านนี้มาอย่างยาวนาน

‘สตรองยิม’ เปิดให้บริการจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้ว แม้ที่นี่จะเป็นฟิตเนสเล็กๆ ขนาดไม่ใหญ่โต หากแต่เป็นธุรกิจที่ใครคนหนึ่งลงทุนลงแรงสร้างขึ้น เพื่อผลกำไรในการสร้างสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของผู้คนมากกว่าเงินทอง

“สมัยก่อน ฟิตเนสหรือสถานที่ออกกำลังกายยังมีน้อยมาก ถึงมีก็ราคาแพงเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าถึงได้ เพราะส่วนใหญ่อยู่บนห้าง วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสเป็นเจ้าของยิมเอง ผมก็อยากเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ออกกำลังกายและมีสุขภาพที่ดี โดยไม่ต้องเสียเงินในราคาแพง จึงเริ่มต้นกิจการด้วยค่าสมัครสมาชิกที่ 700 บาทเท่านั้น ในขณะที่เจ้าอื่นๆ เขาคิดแพงกว่า 2- 3 เท่า” คุณลุงวัยเฉียด 70 เจ้าของสตรองยิมเล่าย้อนความหลัง

เหตุใดชายสูงวัยคนหนึ่งจึงเดินหน้าเปิดสถานที่ออกกำลังกาย โดยเก็บค่าสมาชิกในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปมากกว่าครึ่ง จนถึงปัจจุบันที่เขายังคงเปิดกิจการอย่างมีความสุข แม้ได้กำไรเพียงน้อยนิด

เราชวนคุณย้อนเวลาไปสู่จุดเริ่มต้นความฝันและจุดหมายชีวิตของ ทวีศักดิ์ ยศสมศรี ในวันที่เขาเป็นเพียงเด็กชายคนหนึ่งที่ถูกหัวโจกรังแกทุกวันที่ไปโรงเรียน

เด็กน้อยโดนรังแก

เด็กชายทวีศักดิ์ ยศสมศรี เป็นลูกคนโตสุดในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 8 คน

พ่อแม่ของเขามีอาชีพทำสวนผลไม้อยู่ในย่านบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยความเป็นพี่คนโต ทวีศักดิ์จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการช่วยงานพ่อแม่ ไล่ตั้งแต่ทำสวนไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต

แม้เด็กชายทวีศักดิ์จะเป็นพี่คนโตและมีร่างกายแข็งแรงพอสมควรจากการช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่เมื่อไปโรงเรียน หนูน้อยหน้าตี๋กลับกลายเป็นลูกไล่ของเพื่อนๆ และมักถูกเด็กที่โตกว่ากลั่นแกล้งเป็นประจำ บางวันแย่งขนมกิน บางวันไถเงิน พอไม่ยอมก็ชกต่อยทำร้ายร่างกาย หลายครั้งที่เขาฮึดสู้ตอบโต้ แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้สู้ไม่ได้อยู่ดี

“การช่วยพ่อแม่ทำงานทำให้ผมแข็งแรงขึ้นก็จริง แต่เรื่องการต่อสู้ป้องกันตัวเองมันเป็นทักษะคนละอย่างกัน และด้วยความที่ผมตัวเล็กผอมบาง แม้จะฮึดสู้ไปปะทะกับเขา แต่เราก็สู้ไม่ได้อยู่ดี

“จำได้ว่าช่วงประถมศึกษาปีที่ 4 หรือ 5 ผมไปโรงเรียนทุกวัน โดนรังแกทุกวัน บางครั้งกำลังกินขนมอยู่ พวกเด็กที่โตกว่าจะเข้ามาบอกว่า ‘ไอ้ตี๋ ส่งขนมมาให้กูกินเดี๋ยวนี้’ ถ้าไม่ทำตามก็โดนเตะ โดนตบ ยิ่งตอบโต้ยิ่งโดนหนักกว่าเดิม บางครั้งถึงขั้นไถเอาเงินไปด้วย ซึ่งทุกครั้งจะลงเอยด้วยการที่ผมสู้ไม่ได้

“พอโดนแบบนี้นานเข้า ผมรู้สึกว่าทนต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องทำอะไรสักอย่าง ตอนนั้นคิดว่าถ้าเราแข็งแรงกว่านี้คงป้องกันตัวเองได้ หรือเขาอาจจะเกรงเราบ้าง พอดีผมเห็นคุณอาข้างบ้านออกกำลังกายทุกวันด้วยการเอาลูกเหล็กมายก คุณอาคนนี้กล้ามใหญ่มาก ใครๆ ก็ยำเกรง ผมเลยไปฝากตัวขอเป็นลูกศิษย์ ขอให้เขาช่วยสอนมวยให้”

เด็กน้อยคุกเข่าอ้อนวอน ขอร้องคุณอาข้างบ้านราวกับพระเอกหนังกำลังภายในขอวิชาจากอาจารย์ อย่างไรก็ตามชายกล้ามใหญ่ตอบกลับมาเพียงแค่ว่า

“เรื่องมวยอั๊วไม่เป็นหรอก รู้แบบมั่วๆ เหมือนกัน แต่อั๊วสามารถทำให้ลื้อแข็งแรงได้”

สิ้นคำว่า ‘ทำให้ลื้อแข็งแรงได้’ เด็กชายทวีศักดิ์ที่แววตาเป็นประกายรีบตอบตกลงทันที เขามาหาคุณอาข้างบ้านทุกวันและทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ชายร่างใหญ่ชี้แนะ เริ่มจากกระโดดเชือก เตะต้นกล้วย ไปจนถึงยกลูกเหล็กในท่าต่างๆ บทเรียนของคุณอามาจากประสบการณ์จริง ที่แม้ไม่ได้อิงตามตำราหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่เด็กน้อยก็รู้สึกได้ว่าตัวเองแข็งแรงขึ้นกว่าเมื่อก่อนราวกับเป็นคนละคน

“สมัยก่อน วิทยาศาสตร์การกีฬาไม่ใช่สิ่งแพร่หลาย เขาสอนจากประสบการณ์และความเข้าใจส่วนตัวทั้งนั้น ทำผิดเขาก็ด่า ทำถูกก็ชม จำได้ว่าเวลาผมทำผิด บางครั้งคุณอาเขกหัวเลยเพื่อให้จำ เมื่อออกกำลังเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดผมก็แข็งแกร่งขึ้นจนสามารถปกป้องตัวเองได้ เพื่อนที่เคยรังแกก็ทำอะไรผมไม่ได้อีกต่อไป เขาสู้กำลังผมไม่ได้ ซัดมาผมก็ซัดกลับโดนอัดเรียบร้อย หลังจากนั้นก็ไม่มีใครแกล้งผมอีก และผมก็ไม่เคยไปเกะกะระรานหรือหาเรื่องใคร”

กว่าจะเป็นมวย

วันหนึ่งขณะกำลังฝึกร่างกายกับคุณอาข้างบ้าน ทวีศักดิ์บังเอิญเห็นนักมวยวิ่งผ่านหน้าบ้าน ด้วยความอยากรู้วิชาศิลปะการต่อสู้เป็นทุนเดิม เขาจึงตรงเข้าไปถามไถ่พูดคุยด้วยทันที

“พี่นักมวยแนะนำว่า ให้ไปที่ค่ายมวยวัดคลองเตย พร้อมเงิน 6 บาท เป็นค่าเรียน เงิน 6 บาทในเวลานั้นถือว่าเยอะมากสำหรับเด็กคนหนึ่ง ผมได้เงินไปโรงเรียนแค่วันละสลึง กว่าจะเก็บเงินได้แต่ละบาทต้องใช้เวลานาน แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้ ตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินเพราะอยากเป็นมวย อยากเรียนหลักการต่อยมวยที่ถูกต้องจริงๆ

หลังเก็บหอมรอมริบจนได้เงินครบตามที่ตั้งใจ ทวีศักดิ์ก็นั่งเรือไปเรียนมวยไทยที่วัดคลองเตยโดยปกปิดไม่ให้พ่อแม่ที่บ้านรู้ ชายวัย 67 เล่าว่า การเรียนมวยในสมัยก่อนไม่ใช่ว่าไปถึงแล้วจะได้เตะกระสอบ ซ้อมเป้า หรือขึ้นเวทีซ้อมเชิงมวยกับนักชกคนอื่นในค่ายได้เลย แต่ต้องผ่านบททดสอบความอดทนด้วยการทำหน้าที่อย่างอื่นเสียก่อน

“เขาให้ผมกวาดลานวัด ตักน้ำ จับเวลา นวดนักมวยเพื่อทดสอบความตั้งใจว่าเราอยากเรียนจริงไหม ไม่ใช่ว่ามาถึงแล้วจะได้เรียนอย่างใจเลย ผมทำอย่างนี้อยู่หลายเดือนจนในที่สุดครูถึงเริ่มสอนวิชาให้

“เริ่มสอนตั้งแต่พื้นฐาน ตั้งแต่วิธีกำหมัดที่ถูกต้อง จากนั้นถึงเริ่มให้เตะกระสอบ เตะเป้า จนผ่านไป 2 ปี ครูจึงเริ่มพาไปเปรียบมวยตามต่างจังหวัด นครสวรรค์ สระบุรี ไปไกลถึงอีสาน ตลอดเวลานี้ผมต้องปิดไม่ให้ที่บ้านรู้เพราะพ่อแม่ไม่อยากให้ชกมวย ช่วงไปซ้อมมวยแรกๆ เขาเห็นผมกลับบ้านเย็นก็นึกว่าไปเกเรเถลไถล ยิ่งพอถามแล้วผมไม่ตอบ เลยโดนตีด้วยกิ่งฝรั่งอยู่ทุกวันหลายเดือนจนพ่อแม่เบื่อที่จะตี จนเลิกตีไปเอง

“จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนแถวบ้านไปดูมวยที่เวทีลุมพินีแล้วเห็นผมเข้า เขาเลยมาบอกที่บ้าน ทำให้พ่อแม่รู้ความจริงว่าที่ผ่านมาผมไปชกมวยตลอด โอ้โฮ กลับมาถึงบ้านนี่โดนตีขาแตกเลย แต่ผมก็ไม่เลิกนะ ยังคงชกต่อไปเรื่อยๆ” ทวีศักดิ์เล่าพร้อมรอยยิ้ม

หนุ่มน้อยชกมวยจนอายุ 18 ก็ตัดสินใจแขวนนวม เนื่องจากมองว่าตนไม่ใช่นักชกที่เก่งและมีฝีมือมากพอจะยึดเป็นอาชีพตลอดไปได้ แม้ว่าจะเคยขึ้นชกในเวทีดังอย่างลุมพินีหรือเวทีมวยสำโรงมาบ้างก็ตามที

แม้ตัดสินใจหันหลังให้กับเวทีผืนผ้าใบ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทวีศักดิ์จะหันหลังให้กับการออกกำลังกาย ชายหนุ่มแค่เปลี่ยนมาเล่นกีฬาอย่างอื่น ไม่ว่าจะอย่างไรเขาก็ยังคงให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดีและร่างกายที่แข็งแรง

เส้นทางสู่สตรองยิม

“หลังเลิกชกมวย จริงๆ ผมสนใจอยากเล่นกล้าม แต่ยิมหรือฟิตเนสในสมัยนั้นยังไม่แพร่หลาย ต้องบอกว่ามีน้อยมาก รวมถึงเทคนิคและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาก็ยังไม่ได้มีมากเหมือนสมัยนี้ อาศัยยกน้ำหนักไป กินอาหารไป รู้อยู่แค่นั้น แต่ไม่รู้ลึกซึ้งว่าแต่ละท่ามีชื่อเรียกว่าอะไร ต้องยกด้วยกระบวนท่าที่ถูกต้องแบบไหน แต่ละท่าควรเล่นกี่นาที ใช้น้ำหนักเท่าไหร่ และออกแล้วจะได้กล้ามเนื้อส่วนไหนบ้าง”

จากหนุ่มน้อยสู่ชายหนุ่ม ชีวิตหลังแต่งงานจนกระทั่งมีลูก ทวีศักดิ์อาศัยออกกำลังกายที่ยิมแถวบ้านซึ่งราคาไม่แพงนัก พร้อมชักชวนลูกชาย กอบกู้ ยศสมศรี ไปออกกำลังกายที่ยิมด้วยกัน

“ลูกชายผมตัวเล็ก เลยให้เขาออกกำลังกายและฝึกมวยไว้ป้องกันตัวตั้งแต่เด็ก พอเขาโตเป็นวัยรุ่นก็เก็บเงินชวนเขาไปยิมด้วยกัน”

สองพ่อลูกออกกำลังกายด้วยการเข้ายิมอยู่หลายปี กระทั่งเริ่มมีความคิดอยากเปิดยิมเป็นของตัวเอง

“ช่วง 15-16 ปีก่อน การออกกำลังกายด้วยการเข้ายิมหรือฟิตเนสยังไม่ได้แพร่หลายอย่างในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะอยู่บนห้างสรรพสินค้าและมีราคาแพง ชาวบ้านชนชั้นกลางที่อยากมีสุขภาพดี อยากออกกำลังกายทางนี้ แต่ไม่มีฐานะ จึงเข้าถึงลำบาก

“จนวันหนึ่งลูกชายและเพื่อนเขามาปรึกษาว่าอยากเปิดยิมของตัวเอง ผมเห็นด้วย จึงตกลงร่วมทำด้วยกัน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องคิดราคาไม่แพง ผมคิดถึงสมัยก่อนที่เราอยากเล่นแต่ไม่มีเงิน ต้องเก็บเงินอยู่นานกว่าจะได้ค่าสมาชิก วันนี้เมื่อผมมีโอกาสเป็นเจ้าของยิมเอง ก็อยากเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ออกกำลังกายและมีสุขภาพที่ดี โดยไม่ต้องเสียเงินในราคาแพง สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย”

หลังหาทุนได้หนึ่งก้อน สถานที่ออกกำลังกายในตึกแถว 3 ชั้น 2 คูหา ย่านพรานนกของทวีศักดิ์และลูกชาย ก็ได้เปิดทำการภายใต้ชื่อ ‘สตรองยิม ’ โดยสองพ่อลูกกำหนดราคาสำหรับสมาชิกเพียง 700 บาทต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าฟิตเนสทั่วไปร่วม 2 -3 เท่าตัว แม้ช่วงแรกจะยังมีอุปกรณ์ไม่มากนัก เนื่องจากมีทุนจำกัด ต่อมาเมื่อมีสมาชิกมากขึ้นจึงค่อยๆ นำทุนไปขยับขยายจนกระทั่งมีอุปกรณ์ครบครันอย่างในปัจจุบัน

“แรกๆ เราลงอุปกรณ์เท่าที่จำเป็นก่อน อย่างดัมเบลคู่เดียวก็สามารถออกกำลังกายได้เกือบทุกท่าแล้ว จากนั้นเมื่อมีคนมาสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น เราก็ค่อยๆ ขยับขยาย เช่น มีคนมาสมัครสมาชิก 10 คน ได้เงินมา 7,000 บาท เราก็แบ่งมาซื้ออุปกรณ์เพิ่ม เพราะไม่ได้มีสายป่านหรือเงินทุนมากพอที่ทำทุกอย่างให้มันสมบูรณ์แบบในทีเดียว

นอกเหนือจากอุปกรณ์ต่างๆ จุดแข็งและจุดขายที่สตรองยิมให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการแนะนำและดูแลลูกค้าที่เข้ามาออกกำลังกายที่สตรองยิม โดยเจ้าของยิมอย่างลุงทวีศักดิ์ผ่านการอบรมการเป็นผู้ฝึกสอนจากสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย

“ก่อนจะมาสอนคนอื่น ผมฝึกฝนเรียนรู้ ทั้งจากผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญจริงๆ รวมทั้งศึกษาค้นคว้าจากตำรา จากนั้นจึงไปสมัครสอบกับสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการการันตีว่าเมื่อคุณมาที่สตรองยิม คุณจะได้เรียนกับคนที่มีความรู้มีมาตรฐานจริง ผ่านการอบรมมาจริง ไม่ใชรู้แบบงูๆ ปลาๆ

“ความรู้คือสิ่งสำคัญมาก ถ้าผมสอนลูกค้าโดยไม่มีความรู้ ให้เขาออกกำลังกายผิดท่าจนเกิดอาการบาดเจ็บ จากที่เขาจะแข็งแรง กลายเป็นเราทำลายสุขภาพของเขาแทน ทุกวันนี้ผมยังหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งจากตำรา และการคุยกับคนรุ่นใหม่ที่บางครั้งเขามีความรู้และเทคนิคใหม่ๆ มาแนะนำเราได้ ผมไม่เคยอายเลยที่จะบอกว่าคนรุ่นใหม่เป็นครูของผม แม้บางคนจะเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานก็ตามที”

เหตุผลที่ชายวัย 67 อย่างคุณลุงทวีศักดิ์ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่าต้องการให้ทุกคนที่มาออกกำลังกายที่ยิมของเขามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงจริงๆ อยากให้ทุกคนสตรอง เมื่อมาที่สตรองยิม

สอนฟรี การันตีผลงาน บริการเป็นกันเอง

ลุงทวีศักดิ์บอกว่า คอนเซปต์ของสตรองยิมนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ คือ สอนฟรี การันตีผลงาน และบริการเป็นกันเอง

“โดยมากเมื่อคุณเข้าฟิตเนส เขาจะสอนคุณฟรีอยู่ประมาณชั่วโมงแรก หรือให้คำแนะนำคุณบ้างพอประมาณ แต่หลังจากนั้นหากคุณต้องการเทรนส่วนตัว คุณต้องจ่ายค่าจ้างเทรนเนอร์ต่างหาก แต่ที่สตรองยิมคุณไม่ต้องเสียอะไรแบบนั้น คุณเสียแค่ค่าสมาชิกรายเดือน เมื่อถึงเวลามาเล่น เราสอนคุณฟรี ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม

“และเราไม่ได้สอนคุณแบบผ่านๆ แต่สอนอย่างเข้มข้น เรียกว่าจากคุณยกไม่เป็นจนคุณทำเป็นทำถูก แต่ในทางกลับกัน การออกกำลังกายต้องใส่ใจและมีวินัย แม้เราสอนไปมากมายเท่าไหร่ แต่ถ้าคุณไม่รับ ไม่ปฏิบัติตาม ก็ยากที่คุณจะทำเป็น”

นอกจากสอนฟรี ลุงทวีศักดิ์ยังรับประกันด้วยว่าทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองปักหมุดไว้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเป้าหมายของลูกค้าสตรองยิมแต่ละคนล้วนแตกต่างกันออกไป

“คำว่าการันตีผลงานของเราไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นแชมป์เพาะกาย ขึ้นเวทีประกวดแข่งขันและได้ถ้วยได้รางวัล ถามว่าที่ยิมเรามีแบบนั้นไหม ก็มี บางคนเราปั้นเขาจนชนะการประกวดได้อันดับ 3 ของโลกและแชมป์ประเทศไทย แต่แบบนั้นมันเป็นอีกระดับ คุณต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต วิถีการกิน เพิ่มกล้ามเนื้อ เพื่อรีดไขมันลงแบบหนักหน่วงเพื่อไปถึงระดับนั้น

“คำว่าการันตีผลงานของเราหมายความว่าคุณตั้งเป้าหมายอะไรไว้ เราจะช่วยทำให้คุณบรรลุเป้าหมายนั้นให้ได้ เช่น คุณต้องการลดน้ำหนัก เราจะออกแบบโปรแกรมให้คุณลดน้ำหนักอย่างมีคุณภาพ พูดง่ายๆ คือคุณสมัครสมาชิก ก้าวเข้ามา ลงมือทำ แล้วก็เอาความสำเร็จกลับไป”

ส่วนเรื่องการให้บริการ เจ้าของยิมวัย 67 บอกว่าเน้นความเป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส หากใครหิว ทางยิมจะแขวนกล้วยเอาไว้ให้กินเติมพลัง ขณะเดียวกันเวลาเทรนก็ยังมีการบีบนวดให้บ้าง รวมทั้งคอยตักเตือนอยู่เสมอในกรณีที่เห็นผู้มาใช้บริการออกกำลังกายผิดท่าผิดทาง

“ผมจะคอยถามผู้มาใช้บริการตลอดว่ากินข้าวหรือยัง หิวไหม ถ้าเขาหิวหรือยังไม่ได้กินข้าวมาก็กินกล้วยก่อนได้ หากเขาออกกำลังกายผิดท่าผมก็จะเตือนทันที ผมจะย้ำเสียงดังฟังชัดเลยว่ามันไม่ถูกต้องแล้วสอนสิ่งที่ถูกต้องให้เขา ผมอยากให้คนที่มาออกกำลังกายกับเราสบายใจ มีความสุข และได้สุขภาพที่ดีกลับไป นี่คือกำไรสูงสุดและเป็นกำไรที่มีความหมายยิ่งกว่าตัวเงิน”

กำไรสูงสุดคือสุขภาพดีสตรองยิมเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันนี้ นับเวลารวมได้ 15 ปีแล้ว

ปัจจุบันค่าสมัครสมาชิกอยู่ที่เดือนละ 1,400 บาท หากเทียบระยะเวลาตั้งแต่วันแรก ก็นับว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมานั้นไม่ได้มากมายอะไรเลย แถมเป็นการค่อยๆ ปรับขึ้นทีละนิด ตามวันเวลาและสภาวะทางเศรษฐกิจ

“เราเพิ่มค่าสมาชิกจากวันแรกแค่ 700 บาท เริ่มต้นที่ราคา 700 ก่อนขยับมาเป็น 800 900 999 จนมาหยุดที่ตัวเลขปัจจุบัน 1,400 บาท ซึ่งนับเป็นราคาที่ถูกมากหากเทียบกับฟิตเนสอื่น”

เจ้าของยิมอย่างลุงทวีศักดิ์ยอมรับว่า ด้วยรายได้ที่เข้ามา ตัวเขาแทบไม่เหลือกำไรเมื่อถึงสิ้นดือน อาศัยจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้ก็พอแล้ว

“ทุกวันนี้ชีวิตผมแทบไม่มีเงินเก็บ แต่ก็คิดว่าอยู่ได้ เพราะไม่มีหนี้สิน และมีต้นทุนที่ดีที่สุดอย่างสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ที่สำคัญผมได้ทำในสิ่งที่รักและมีความสุข นั่นคือการเปิดยิมให้คนมาใช้บริการและได้ทำให้พวกเขามีสุขภาพดีกลับออกไป”

ในวัย 67 ลุงทวีศักดิ์ยังฟิตและแข็งแรงมาก สามารถสอนมวย ยืนจับเป้าให้ลูกค้าหนุ่มๆ เตะต่อยได้ถึง 4-5 ชั่วโมง โดยไม่มีการหยุดพัก ไม่ต้องพูดถึงภาวะโรคแทรกซ้อนใดๆ ที่ไม่ปรากฏเลยแม้จะอายุจะเข้าใกล้วัย 70 แล้วก็ตาม

“สุขภาพคือความสำคัญอันดับแรก มันคือพื้นฐานของความสุขทั้งหมด คุณจะมีความสุขกับอะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณเป็นโรค สุขภาพไม่ดี คุณไม่มีทางมีความสุขได้เต็มที่หรอก ถ้าคุณสุขภาพดี คุณอยากทำอะไรก็ทำได้ อยากจะไปไหน กินอะไร คุณทำได้หมด

“ผมถึงบอกว่ากำไรสูงสุดของการเปิดสตรองยิมไม่ใช่เงิน แต่มันคือการได้ทำให้เราและคนที่มาออกกำลังกายที่นี่มีสุขภาพดี ทุกวันนี้ผมไม่มีเงิน ไม่มีปัจจัยที่จะไปทำบุญที่วัดไหนๆ แต่การได้ทำให้คนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็ทำให้รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจเหมือนได้ทำบุญทุกวันอยู่แล้ว”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ