“ธนาคารเวลา” สร้างสังคมแห่งการเกื้อกูลกัน ในยุคสังคมสูงวัย

เงินหลัก 100, 1,000, 10,000 หรือ 100,000 บาท หรือมากกว่านั้น ก็ไม่ใช่จำนวนเงินที่ธนาคารแห่งนี้ต้องการ แต่สำหรับธนาคารแห่งนี้สิ่งที่มีค่าและรับฝาก-ถอนก็คือ “เวลา”

มนุษย์ต่างวัย พาไปทำความรู้จักกับ “ธนาคารเวลา” ที่มีเป้าหมายคือการรับฝาก “เวลา” และให้ผลตอบแทนเป็น “เวลา” โดยทุกชั่วโมงของการทำงานอาสาไม่ว่าจะมีลักษณะกิจกรรมแบบใดก็ตาม เมื่อเราช่วยผู้อื่น 1 ชั่วโมง = 1 เครดิตเวลา (คะแนน) ซึ่งเครดิตนี้สามารถสะสมเพื่อไปขอแลกความช่วยเหลือจากผู้อื่นได้เช่นกัน

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่แนวคิดธนาคารเวลาเริ่มต้นมา เกือบ 50 ปี แล้ว ในประเทศญี่ปุ่นโดยกลุ่มแม่บ้านจากเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นที่เห็นว่าสภาพสังคมหลังสงครามในตอนนั้นทำให้เกิดความยาก จนสร้างความยากลำบากเป็นวงกว้าง . ทำให้เกิดแนวคิดว่า ชุมชนควรจะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ผู้คนมาดูแลซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องสภาพจิตใจและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่ต้องเผชิญผลกระทบและความยากลำบากหลังภาวะสงคราม

จากนั้นแนวคิดธนาคารเวลาก็แพร่กระจายไปอีกหลายประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นโมเดลในการดูแลผู้สูงอายุ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฮ่องกง จีน สำหรับประเทศไทย การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบแนวคิด “ธนาคารเวลา” จึงถูกนำมาทดลองใช้เป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางสังคมที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งใจว่าจะเป็นโมเดลสำหรับการขับเคลื่อนให้ชุมชนและผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือ พึ่งพากันได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

“ธนาคารเวลา เริ่มมาจากการที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามหาเครื่องมือบางอย่างมาช่วยรองรับสังคมสูงวัย โดยหลักการของธนาคารเวลาก็คือ ธนาคารเวลานี้ไม่ได้รับฝากเงินแต่รับฝากเวลาเป็นหน่วยชั่วโมง สมาชิกที่อยากจะฝากเวลาไว้กับธนาคารก็ต้องไปทำงานช่วยเหลือผู้อื่นในละแวกบ้าน และเมื่อวันหนึ่งต้องการเบิกถอนเวลาออกมาใช้ ก็จะ.ได้รับในรูปของความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกธนาคารเวลา

“โมเดลแบบนี้จึงเป็นการแลกเปลี่ยนกันด้วยความช่วยเหลือระหว่างคนในชุมชนทำให้เกิดการสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนในชุมชนเดียวกัน” ตวงพร ปิตินานนท์ ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนธนาคารเวลาและพัฒนาพื้นที่สาธารณะรองรับสังคมสูงวัยในเขตเมือง รับผิดชอบดูแลธนาคารเวลาเขตสัมพันธ์วงศ์ เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของธนาคารเวลา

“สำหรับเขตสัมพันธ์วงศ์ได้ดำเนินกิจกรรมนี้เข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว เพราะในพื้นที่นี้มีอัตราส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดใน กทม. ปัจจุบันเรามีสมาชิกอยู่ 60 คน ซึ่งมีคนหลากหลายวัยตั้งแต่วัยทำงานไปจนถึงเกษียณ สมาชิกที่อายุน้อยที่สุดจะอายุประมาณ 30 ปี ส่วนสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มจะเป็นคุณลุงคุณป้าวัยใกล้เกษียณตั้งแต่ 55 ปี ไปถึงสูงสุดคืออายุ 70 ปี เพราะจะเป็นกลุ่มคนที่ยังมีเวลาว่าง มีพื้นฐานเป็นคนชอบทำงานอาสา เมื่อมีธนาคารเวลาเข้ามาจึงตอบโจทย์ในการหากิจกรรมทำในวัยเกษียณมากขึ้น

“โดยเป้าหมายของธนาคารเวลาคือ การทำให้ชุมชนและเครือข่ายเข้มแข็งพอที่จะดูแลช่วยเหลือกันเองได้ ซึ่งจะไม่ได้ช่วยกันแบบจิตอาสาที่ผู้รับจะรู้สึกด้อยกว่าผู้ให้ แต่จะใช้กุศโลบายในการนำประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ มาแลกเปลี่ยนกัน จะทำให้ทั้งผู้รับและผู้ให้เท่าเทียมกัน เพราะในอนาคตผู้ให้อาจจะเป็นผู้รับในบางเรื่อง หรือผู้รับอาจจะสามารถเป็นผู้ให้กลับคืนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นธนาคารเวลา จึงเป็นการนำความสามารถของแต่ละคนมาแลกเปลี่ยนกัน หรือมาช่วยเหลือกันแทนการใช้เงิน”

ธนาคารที่บริหารเวลา ไม่ใช่บริหารเงิน

“สำหรับหลักการในการทำงานของธนาคารเวลา คือ ธนาคารจะมีการจัดทีมผู้จัดการ ซึ่งเป็นคนในชุมชน ทำหน้าที่ดำเนินการ ดูแลภาพรวม และจับคู่สมาชิกระหว่างผู้ให้และผู้รับ ซึ่งจะมีการซักประวัติ สอบถามความสามารถหรือความชำนาญ

“จากนั้นจะออกสมุดบัญชีเหมือนบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อให้สมาชิกได้สะสมเวลา ไม่ว่าจะมีลักษณะกิจกรรมบริการแบบไหนก็ตาม จะมีค่าที่เท่ากันเสมอ เวลา 1 ชั่วโมง = 1 เครดิตเวลา (คะแนน) โดยรูปแบบกิจกรรมที่สะสมจะเป็นอะไรก็ได้ตามความสามารถของตนที่ได้ไปช่วยเหลือคนในชุมชน เครดิตคะแนนนี้สามารถมาแลกความช่วยเหลือกลับไปเป็นการตอบแทนได้เช่นกัน”

“ปกติแม่เจี๊ยบจะมีอาชีพทำเบาะไหว้เจ้า ซึ่งเป็นเจ้าแรก เจ้าเดียว และเจ้าสุดท้ายในตลาดน้อย พอเวลาเหลือจากทำเบาะก็มักจะหากิจกรรมต่างๆทำ ไม่ว่าจะเป็นหาเรียนโยคะ ทำขนม หรือแม้กระทั่งทำงานจิตอาสา พอทางชุมชนได้มีการจัดกิจกรรมธนาคารเวลาขึ้น จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นกลุ่มแรกๆ อย่างไม่ลังเล”

แม่เจี๊ยบ วิมล เหลืองอรุณ อายุ 59 ปี เล่าถึงเหตุผลที่เธอเข้ามาเป็นส่วนสมาชิกของธนาคารเวลา

สำหรับแม่เจี๊ยบความถนัดก็คือการสอนโยคะ เพราะมีทักษะอยู่บ้าง จึงได้อาสาสอนโยคคะฟรี เพื่อเก็บเครดิตเวลา ทำให้เพื่อนๆ ที่มีทั้งอายุน้อยกว่าและมากกว่า พากันมาเป็นลูกศิษย์แม่เจี๊ยบ ทุกการสอน 1 ชั่วโมง แม่เจี๊ยบจะได้คะแนนสะสมเป็นเครดิตเวลา คือ 1 ชั่วโมง และนำเวลาที่สะสมไว้ไปขอแลกความช่วยเหลือเมื่อต้องการได้

“ตอนนี้แม่ยังมีแรงก็ยังไม่จำเป็นต้องถอนเครดิตมาใช้ แต่หากวันใดที่อายุมากขึ้นต้องการความช่วยเหลือ เราก็สามารถติดต่อธนาคารเวลาเพื่อจัดหาสมาชิกในกลุ่มช่วยเหลือเราได้ ไม่ว่าจะเป็นพาไปโรงพยาบาล ช่วยซื้อของ โดยที่ไม่ต้องเสียเงินค่าจ้าง เพียงแค่ใช้เครดิตเวลาของเรา ไปแลกความช่วยเหลือของเขา เขาก็จะได้รับเครดิตเวลากลับไปเพื่อใช้ได้เช่นเดียวกัน

การแลกเปลี่ยนแบบนี้จะทำให้เราไม่ลำบากใจเวลาไปขอความช่วยเหลือจากใคร ถ้าเวลาที่สะสมไว้   เราไม่ได้ใช้ก็สามารถบริจาคกลับให้ธนาคารเวลาได้ ธนาคารเวลาก็จะนำเครดิตตรงนี้เพื่อขอความช่วยเหลือในงานส่วนรวมของชุมชน”

“แม่ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของธนาคารเวลาเขตสัมพันธวงศ์ ปกติแม่เป็นแม่ค้าขายผลไม้ช่วงเช้าต้องขายของ แต่พอช่วงบ่ายก็จะมีเวลาว่าง ซึ่งเราเคยเป็นช่างเสริมสวยมาก่อน พอมีธนาคารเวลาก็เป็นจังหวะในการได้รื้อความสามารถเดิมที่เคยมีมาทำประโยชน์ให้ชุมชน”

แม่ทองจันทร์ ไวสาหลง อดีตช่างตัดผมวัย 59 ปี เล่าถึงที่มาของการมาเป็นสมาชิกธนาคารเวลา

“ทุกครั้งที่แม่มาตัดผมแม่ก็จะได้เครดิตเวลาสะสมไปด้วย ข้อสำคัญของระบบธนาคารเวลานอกจากจะทำให้เราได้ช่วยเหลือกันแบบไม่ลำบากใจ ก็ยังทำให้ได้ค้นเจอความสามารถหรือนำเอาความสามารถเก่าๆ มาใช้ รวมถึงได้รู้ด้วยว่าแต่ละคนทำอะไรได้”

“ในขณะที่ แม่สมศรี ศิริเกียรติกำจร อายุ 61 ปี ที่วันนี้มารับบทนางแบบในการตัดผม ก็บอกว่า ปกติเธอเป็นแม่บ้าน ไม่ได้ทำงานหรือมีความสามารถพิเศษอะไร การสะสมเครดิตของเธอจึงช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่จะทำได้ เช่นไปจ่ายตลาดให้ หรือเอาของบริจาคไปให้ผู้ป่วยโควิดในชุมชน

“พอเราได้เครดิตสะสมเราก็เอาไปแลกความช่วยเหลือได้ เช่นของแม่จะติดต่อธนาคารให้หาคนพาไปซื้อของ พอเราอายุมากขึ้นการขึ้นรถสาธารณะก็ลำบาก ยิ่งในยุคโควิดการเดินทางด้วยรถสาธารณะก็เป็นสิ่งที่น่ากลัว และที่สำคัญคือการไปไหนมาไหนคนเดียวอาจจะไม่ปลอดภัย เพราะเราอาจจะไปเป็นลมหน้ามืดเมื่อไรก็ได้ พอมีคนจากธนาคารเวลาซึ่งเป็นสมาชิกเหมือนกันไปเป็นเพื่อน เรารู้จักเขา เขารู้จักเรา ก็สบายใจหายห่วง ที่สำคัญคือเราก็ไม่ต้องเอาเงินไปจ่ายแต่เราตอบแทนกันด้วยเวลา มันก็ทำให้สบายใจกว่าการไปขอให้เขาช่วย ขอบ่อยๆ เราก็เกรงใจเขานะ แต่พอมีธนาคารเวลา เวลาเราขอ เราได้รับความช่วยเหลือ เขาเองก็ได้เครดิตเช่นกัน มันเท่าเทียมกัน”

แม่จุ๊ จุภาภรณ์ กังวานภูมิ อายุ 67 เป็นที่ปรึกษาพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านเล็บเท้า ที่ศูนย์ผู้ป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ แม้อายุจะเลยเลข 6 แต่เธอยังคงทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลฯ และใช้เวลาว่างทำงานอาสาทำเล็กเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุฟรี เพื่อสะสมเวลาไว้ในธนาคาร

“แม่ก็เป็นสมาชิกของธนาคารเวลาโดยแม่ก็ใช้ความสามารถของแม่โดยการทำเล็บเพื่อสุขภาพให้กับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งถ้าต้องไปโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งก็เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท การที่แม่เป็นสมาชิกตรงนี้แม่ก็สามารถช่วยเหลือคนแก่ที่ไม่มีเงินในชุมชน หรือคนที่เขาลำบากได้ด้วย ช่วยให้เขาก็ไม่ต้องเสียเงินส่วนแม่ก็จะได้รับผลตอบแทนเป็นเครดิตเวลากลับคืนมา”

ด้วยความที่แม่จุ๊ ไม่เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์ เครดิตเวลาที่เธอฝากไว้จึงใช้สำหรับการนำไปแลกกับจิตอาสาคนอื่นๆ ที่ถนัดทำงานทางด้านนี้เป็นการตอบแทน

“พอแม่มีเครดิตเวลาจากการตัดเล็บสุขภาพ แม่ก็จะติดต่อธนาคารเวลาเพื่อหาคนที่เก่งกว่ามาช่วยแม่พิมพ์รายงานส่งโรงพยาบาล เป็นการเอาเวลามาแลกกัน เพราะถ้าให้แม่ทำเองก็ไม่รู้จะเสร็จหรือไม่ เพราะกว่าจะพิมพ์ได้แต่ละตัว สำหรับคนรุ่นแม่แล้วก็เป็นเรื่องยาก ไม่เร็วเหมือนเด็กสมัยนี้ ที่สำคัญคือเราก็ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนกัน เราไม่ต้องไปจ้างให้ใครมาพิมพ์ แต่เราเอาเวลาที่เราทำไปแลกมา แม้ไม่เงินก็ยังแลกเปลี่ยนกันได้”

พอพูดถึงธนาคารเวลาคนมักจะเข้าใจว่า สมาชิกของธนาคารส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ แต่ตวงพร ปิตินานนท์ ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนธนาคารเวลาและพัฒนาพื้นที่สาธารณะรองรับสังคมสูงวัยในเขตเมืองฯ บอกว่า นั่นเป็นความเข้าใจผิด

“สิ่งที่สำคัญเลยก็คือถึงแม้ธนาคารเวลาจ ะถูกออกแบบมาสำหรับการขับเคลื่อนสังคมสูงวัย หากจะให้ประสบความสำเร็จสมาชิกไม่ควรมีแค่ผู้สูงอายุแต่ต้องมีคนหลากหลายวัยอยู่ร่วมกัน การที่มีสมาชิกหลากหลายวัย ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ในการที่จะช่วยเหลือกันย่อมต่างกันออกไป เช่น คนรุ่นเก่าอาจจะมีความชำนาญในวิชาชีพบางอย่าง เช่น ทำอาหารได้ แต่ไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี มาผสานกับคนรุ่นใหม่บางคนอาจจะไม่ถนัดในการทำอาหารเลย แต่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ก็สามารถนำมาช่วยเหลือกันได้ ยิ่งมีคนต่างวัยรวมกันมากเท่าไร ธนาคารเวลาก็จะเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจที่ธนาคารเวลาต้องไปให้ถึง

“สิ่งที่ยากที่สุดของการทำงานคือการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ด้วยความที่สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการช่วยเหลืออยู่แล้ว การที่จะช่วยเหลือใครเพื่อสะสมเป็นคะแนน จึงถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็นและเข้าใจยาก อีกทั้งคนรุ่นใหม่เองก็ไม่ได้มองเห็นประโยชน์ตรงนี้มากพอ สมาชิกจึงมีแค่ผู้สูงอายุเป็นหลัก และขาดคนที่เข้ามาจัดการระบบอย่างจริงจังทำให้การเติบโตของธนาคารเวลาในประเทศไทยเป็นไปได้ช้า ต่างจากหลายๆ ประเทศที่คนให้ความสนใจและสะสมคะแนนกันอย่างจริงจัง

“สำหรับเขตสัมพันธวงศ์ 1 ปี เราสามารถสร้างสมาชิกได้ 60 คน ถือว่าไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับจำนวนชาวบ้านในพื้นที่ แต่เราก็พยายามผลักดันโดยได้รับความช่วยเหลือในการทำงานจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คอยให้ความรู้และชี้แนะในการดำเนินงาน

“ในตอนนี้แม้อาจจะเรียกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จมากเท่าไรนัก แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีเพราะสามารถทำให้ชาวบ้านจากเดิมที่ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับธนาคารเวลาเปิดใจและเข้าเป็นสมาชิกมากขึ้น ภารกิจที่ท้าทายต่อไปที่ทำให้ธนาคารเวลาดำเนินสามารถขยายกลุ่มสมาชิกและพื้นที่การใช้ธนาคารเวลาให้เป็นจริงมากขึ้น เพื่อให้สามารถเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยได้อย่างแท้จริง”

การขับเคลื่อน รองรับสถานการณ์สังคมสูงอายุ ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญ โดยธนาคารเวลา นับเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่ สสส. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการ นำร่อง ยกระดับสังคมสูงวัย เพื่อให้ชุมชนได้จัดการดูแลกันเองได้อย่างมั่นคง โดยจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือตั้งแต่การจัดระบบ การดูแลให้ความรู้ต่างๆ เพื่อให้ภาคีได้ปรับใช้กับชุมชนที่ดูแล

ขอบคุณข้อมูลจาก : ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนธนาคารเวลาและพัฒนาพื้นที่สาธารณะรองรับสังคมสูงวัยในเขตเมือง, สมาชิกธนาคารเวลาเขตสัมพันธวงศ์

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.thaitimebank.net

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ