จากภาวะหมดไฟในวัย 50 สู่ชีวิตความสนุกใหม่ในชีวิต คุยกับ ลุงรุ่งโรจน์ วิริยะชน ช่างทำเฟอร์นิเจอร์จากร้าน ‘This is A Chair’

“ตอนอายุ 20 โลกของเราเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน ได้รู้จักผู้คนมากมาย

ตอนอายุ 30 เราก็ยังมุ่งมั่นตามหาความสำเร็จที่มั่นคงขึ้น เพื่อครอบครัว

ตอนอายุ 40 เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราอยู่ไปเพื่ออะไร งานที่ทำอยู่ตอนนี้มันไม่สร้างความสุขให้เราเลย

พอเข้าอายุ 50 เราไม่มีความสุขกับชีวิตเลย มันเหนื่อย รู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจ ตอนนั้นแหละที่รู้สึกว่า เรากำลังเผชิญกับ… วิกฤตวัยกลางคน

มนุษย์ต่างวัยพาไปพูดคุยกับ ‘รุ่งโรจน์ วิริยะชน’ ช่างทำเฟอร์นิเจอร์จากร้าน ‘This is A Chair’ กับภาวะหมดไฟในวัย 52 ปี เมื่องาน เงิน ครอบครัว หรือความมั่นคงในชีวิตที่เคยมี ไม่สามารถเติมเต็มชีวิตเขาได้อีกต่อไป เขาหมดแรงและหมดกำลังใจที่จะตื่นไปทำงาน และปล่อยชีวิตแต่ละวันไปกับการดูทีวีมาราธอน

แต่ก่อนที่อาการของภาวะหมดไฟนี้จะรุนแรงจนลงเอยด้วยการเป็น โรคซึมเศร้า’ รุ่งโรจน์ลงมือตามหาสิ่งที่ชอบครั้งใหม่ จนพบกับงานไม้ที่สามารถทำให้ชีวิตของเขากลับมามีชีวา ความหลงใหลใหม่ในชีวิตที่กลายมาเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ที่มีชื่อว่า ‘This is A Chair’ อาชีพที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตในวัย 58 ได้อย่างมั่นคงทั้งทางกายและทางใจ ”

Midlife Crisis วิกฤตวัยกลางคน ที่เกิดขึ้นในวัย 50 ปี อย่างไม่รู้ตัว

“งานเก่าที่เราทำมานานกว่า 30 ปี งานที่เราเคยสนุก งานที่เราเคยตื่นเต้นกับมันมาก วันนี้กลับกลายเป็นงานที่เรารู้สึกเหนื่อย อยากจะหนีไปจากมัน ไม่อยากตื่นมาทำทั้งๆ ที่งานนั้นไม่ได้ยากเกินความสามารถของเราเลย มันเป็นความรู้สึกที่เราไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลอะไรได้เลย อยู่ๆ ก็รู้สึกท้อแท้ขึ้นมาซะอย่างนั้น ผมตื่นไปทำงานด้วยความรู้สึกอยากกลับบ้านทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มงานด้วยซ้ำ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ความรู้สึกประเดี๋ยวประด๋าวด้วยนะ แต่ผมเผชิญกับมันนานถึง 2 ปี”

“แต่ก่อนผมมีเป้าหมายว่าอยากทำงานที่มีเงินเดือนสูงๆ มีตำแหน่งใหญ่โต แต่มาวันนี้ผมกลับถามตัวเองว่า จริงๆ แล้วนั่นคือเป้าหมายของเราจริงๆ หรือมันเป็นเป้าหมายของใคร อาการผมเริ่มหนักขึ้น ผมเริ่มไม่ไปทำงาน ฝากงานให้คนอื่นดูแล ใช้ชีวิตด้วยการถือรีโมทแล้วนั่งอยู่หน้าทีวี ใช้เงินไปกับการซื้อแพคเกจหนังหรือรายการทีวีที่แพงที่สุดเท่าที่มี แล้วนอนดูมันอย่างมาราธอน วนไปอย่างนั้น 2-3 ปี ถามว่าตอนนั้นมันมีความสุขไหม พอมองย้อนกลับไปผมตอบได้เลยว่า มันเป็นความสุขที่ตื้นเขิน และไม่จีรังที่สุด”

ภาคต่อของ ภาวะหมดไฟ คือโรคซึมเศร้า ที่เราไม่อยากเป็น

“มันเกิดอะไรขึ้นกับเรา ทำไมเราถึงไปต่อทางไหนไม่ได้เลย ไม่ว่าจะออกไปทำกิจกรรมอะไรผมก็ไม่มีความรู้สึกตื่นเต้น หรืออยากทำเลย มันเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่าเราจะนั่งอยู่อย่างนี้จนตายไปจริงๆ หรือ นั่นทำให้ผมเริ่มไปปรึกษานักบำบัด และนักจิตวิทยา เขาให้ผมลองทำแบบทดสอบและผลที่ออกมาคือผมมีภาวะวิกฤตวัยกลางคน และด้วยอาการที่กดทับมานานร่วม 3 ปี ทำให้ผมมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ตอนนั้นแค่ได้ยินว่าโรคซึมเศร้าผมก็กลัวแล้ว เราจะตายจากโลกนี้ด้วยจิตใจที่เต็มไปด้วยความทุกข์จริงๆ หรือ นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมมองหาว่าจริงๆ แล้วชีวิตที่เหลืออยู่ของผม ผมอยากอยู่อย่างไร”

“นักจิตวิทยาให้คำปรึกษากับผมว่า ลองหาอะไรที่ผมชอบแล้วลองลงมือทำมันจริงๆ สักครั้งดูไหม อะไรที่ผมทำแล้วจะหลงใหล อยู่กับมันได้แบบที่ลืมเวลาไปเลย ตอนนั้นผมอยากจะหลุดพ้นจากความรู้สึกกดทับเหล่านี้ ผมเลยกลับมาตั้งสติกับตัวเองว่าผมที่อะไรที่ชอบ และสามารถทำได้บ้าง”

“ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ได้คิดออกภายใน 1-2 วัน แน่ๆ ผมเริ่มทดลองหาอะไรทำไปเรื่อยๆ อยู่เป็นปี จนมีโอกาสไปช่วยงานเกี่ยวกับการปรับปรุงรีสอร์ท จากงานนั้นทำให้ผมได้รู้จักกับงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ พอทำรีสอร์ทไปเรื่อยๆ ผมเริ่มเห็นว่าแต่ละห้องพักมันมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเก้าอี้ตัวเดิมไม่สามารถใช้ได้กับทุกห้อง ต้องคอยมองหาเก้าอี้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาที่แมทช์กันได้ ซึ่งหาอย่างไรก็จะเจอแต่แบบซ้ำๆ มันเลยเกิดเป็นคำถามกวนใจผมตลอดหลายเดือนว่า… แล้วถ้าเราทำเอง มันจะออกมาเป็นอย่างไร มันจะดีไหม เมื่อคำถามนั้นวนอยู่ในใจตลอด ผมเลยไม่รอช้าที่จะทดลองทำมันจริงๆ”

ช่างไม้สมัครเล่น ในวัย 52 ปี

“ผมเริ่มต้นหาข้อมูลว่าในละแวกใกล้เคียงมีใครที่มีความรู้เรื่องงานไม้อยู่บ้าง เพื่อจะไปร่ำเรียนกับเขา แต่น่าเสียดายที่ไม่มีที่ไหนเปิดสอนเลย มีแค่ช่างที่รับทำเท่านั้น ผมจึงเปลี่ยนแผนลองทำแบบเก้าอี้เพื่อเอาไปให้ช่างทำ ตอนนั้นแหละก็ไปขลุกตัวอยู่กับเขาเลย เริ่มจากให้เขาดูแบบเรา ให้เขาวิจารณ์ว่าแบบเราเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นแบบที่ช่างส่ายหัวด้วยความงงว่ามันคืออะไร ช่างเขาก็ช่วยปรับให้มันเข้ารูปเข้ารอย จนออกมาเป็นแบบที่สามารถทำจริงได้”

“หลังจากที่เขาเริ่มทำ ผมก็ไปอยู่ช่วยเขาหยิบจับไม้ให้ทุกวัน ตลอด 2 เดือน ไปหยิบเครื่องมือให้เขา ช่วยจับ ช่วยเช็กความละเอียด จนได้รู้ว่าการนำภาพในหัวออกมาทำมันต้องทำอย่างไร เริ่มต้นจากอะไร ช่วงเวลานั้นผมได้รู้จักเครื่องมือช่างทุกชนิด รู้จักเทคนิคที่ช่างเขาเรียกใช้กันเป็นภาษาเขาจริงๆ ภาพในหัวผมมันเริ่มชัดขึ้นมาถึงการทำงานเป็นช่างไม้”

“งานไม้เป็นงานคนละแบบกับประสบการณ์ที่ผมสั่งสมมาเลย ผมไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย ตอนที่ผมเริ่มต้นเรียนรู้ผมก็อายุปาเข้าไป 52 ปีแล้ว การเป็นช่างฝีมือนั้นต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนานเป็นสิบๆปี ซึ่งผมรู้ตัวดีว่าผมทำได้ไม่ดีเท่าพวกเขาแน่ๆ นั่นคือความรู้สึกต่อมาที่ทำให้ผมเกือบล้มเลิกความตั้งใจครั้งนี้ไป”

มีทางเลือกแค่สองทาง ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’

“ก่อนที่จะไปต่อ ผมถามตัวเองว่าจะทำมันได้ไหม ผมจะทำออกมาได้ดีจริงๆ หรือ ซึ่งทางเลือกนั้นมีแค่ ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’ ซึ่งถ้าผมเลือกที่จะไม่ทำ ผมได้กลับไปนอนดูทีวีอย่างเดิมแน่ๆ ดังนั้นผมจึงเดินหน้าเต็มที่กับงานไม้อย่างไม่มีข้อแม้”

“ผมเริ่มเรียนรู้งานช่างด้วยตัวเองอย่างบ้าคลั่ง (หัวเราะ) ผมขลุกตัวเองอยู่กับการทำเฟอร์นิเจอร์ทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ก่อนนอนก็มีแต่ความคิดว่าพรุ่งนี้จะตื่นมาทำต่อให้เสร็จ นอกจากงานไม้พอทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นต้องเรียนรู้ทั้งงานหนัง งานสี เหล็ก มันเป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดตรงไหน เวลาทุกวันหมดไปอย่างรวดเร็วโดยไม่มีเวลาได้เปิดโทรทัศน์ด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าเราค้นพบสิ่งที่จะทำให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างไม่รู้ตัวเลย”

‘This is A Chair’ แบรนด์เก้าอี้ไม้ ของชายวัย 58 ปี

“ก่อนที่จะเริ่มทำเฟอร์นิเจอร์ขาย ผมประเมินผลงานของตัวเองแล้วรู้เลยว่าเรามีจุดอ่อนเพียบ ในขณะที่จุดแข็งเราหายากมาก ผมมีแต่ความชอบเป็นทุน และทำมันอย่างเต็มที่ แค่นี้เพียงพอจะทำเป็นอาชีพได้ไหม จะมีลูกค้ามาสั่งทำกับเราหรือไม่ คิดอยู่แบบนั้นจนสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง แต่พอกลับมาตั้งสติ ผมพยายามที่จะไม่เชื่อเหตุผลของสมองต่างๆ ที่มันผุดขึ้นมา แต่ผมใช้ใจแทน แน่นอนว่างานออกแบบมันคือการทำตามความต้องการของลูกค้าให้ได้ แต่ในความหมายลึกลงไปกว่านั้นคือลูกค้าต้องชอบงานเราก่อน

“ทุกคนต่างมีความชอบที่ไม่เหมือนกัน มันอาจจะมีคนบางกลุ่มบนโลกนี้ที่ถูกใจงานของเราอยู่ก็ได้ อย่าเพิ่งล้มเลิกเพียงเพราะเราไม่มั่นใจเลย ตั้งแต่นั้นผมก็เริ่มเผยแพร่งานไม้ของตัวเองในโลกออนไลน์ เอาสินค้าไปออกงาน และก็เป็นอย่างที่ใจคิด มันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบและสนใจงานของผม จนตอนนี้มันได้กลายเป็นอาชีพหลักของผมไปอย่างไม่รู้ตัว ทุกๆ วันจะมีคนทักเข้ามาชื่นชม มาเลือกซื้อผลงานของผม ส่งแบบมาให้ทำ มันเกินความตั้งใจผมไปมากๆ จากอาชีพที่ไม่กล้าฝันว่าตัวเองจะสู้ใครได้ กลายเป็นพื้นที่ที่เรามั่นใจและมีความสุขที่จะตื่นมาทำมัน”

“ผมไม่เสียใจกับเวลาที่เสียไปในช่วงชีวิตนั้นเลย มันคงเป็นบทเรียนอะไรบางอย่างที่ช่วยผลักดันให้ผมได้เป็นผมที่มีความสุขอย่างทุกวันนี้ ผมภูมิใจมากที่ตัวเองสู้ชีวิตจนผ่านวันเวลาเหล่านั้นมาได้สำเร็จ ไม่ละทิ้งตัวเองแล้วปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านั้นทำร้ายตัวเรา แต่เลือกที่จะพาตัวเองออกมาจากความทุกข์นั้น จนมีวันที่เห็นคุณค่าของชีวิตขึ้นมาได้อีกครั้ง”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ