กระท่อมลุงจรณ์ : ชีวิตสั้น ต้นไม้อายุยืนยาว

กระท่อมลุงจรณ์ ที่อำเภอสามโคก เป็นเหมือนยูโทเปียของคนรักต้นกระบองเพชร ที่นี่เพาะพันธุ์กระบองเพชรมากกว่า 2,000 สายพันธุ์ เปิดให้คนรักกระบองเพชรเข้าไปศึกษาฟรี ถ้าสนใจอยากนำกลับไปเพาะเลี้ยง คนขายก็จะแนะนำและให้กำลังใจ

ป้าพิกุล สังข์สุวรรณ บอกว่า แม้กระท่อมลุงจรณ์จะเป็นเนิร์สเซอรีเจ้าแรกๆ ที่เลี้ยงกระบองเพชรเป็นอาชีพในสังคมไทย แต่ในระบบนิเวศของตลาดต้นกระบองเพชรในปัจจุบันที่ก้าวหน้าและเปี่ยมไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และความสามารถ กระท่อมลุงจรณ์ในวันนี้จึงเป็นเหมือน “โรงเรียนประถมมัธยมที่จะให้คนที่เริ่มต้นใหม่ๆ ได้เลี้ยงต้นไม้ เราต้องให้เขาไปพัฒนาต่อ”

ในวัย 70 ป้าพิกุลตอบคำถามอย่างมีเมตตาและเป็นคำตอบที่แสดงให้เห็นจิตใจของคนที่เฝ้าทะนุถนอมต้นไม้ต้นเล็กๆ ให้เติบโตขึ้นมาอย่างสวยงามและแพร่กระจายออกไปในวงกว้าง

เธอเป็นลูกสาวของลุงจรณ์ ผู้ริเริ่มและก่อตั้งกระท่อมลุงจรณ์ อยู่กับต้นกระบองเพชรมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบจนปัจจุบัน

“ถ้าพูดในเชิงธุรกิจ เราไม่ได้หวือหวา หรืออยากจะก้าวไปให้ไกลกว่านี้ เรามีความสุขที่อยู่ตรงนี้” ป้าพิกุล บอก

เดย์ดรีม แคคตัส (Daydream Cactus) ต้นเดียว ตอนนี้กระจายไปทั่วโลก ราคาก็ลงมาเรื่อยๆ สมัยแรกๆ มันก็แพง พอคนช่วยกันทำมากขึ้น ราคามันก็ลง คนก็เข้าถึงได้มากขึ้น”

“วันนี้เราเลี้ยงมัน สักวันมันจะเลี้ยงเรา”

ป้าพิกุลในวัย 6 ขวบ เป็นเด็กติดพ่อ ไม่ว่าพ่อจะทำอะไร เธอจะขอมีส่วนร่วม และในตอนนั้นลุงจรณ์กำลังสร้างกระท่อม

พ่อของเธอเริ่มต้นเลี้ยงกระบองเพชรในช่วงที่เพิ่งตกงาน โดยวางลู่ทางที่จะทำเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัว แต่กระบองเพชรเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความอดทน ในตอนนั้นสังคมไทยยังมีความรู้เรื่องกระบองเพชรอย่างจำกัด ตลาดยังไม่กว้างขวาง คนขายกับคนซื้อยังไม่ปรากฏตัวชัดเจน

“พ่อทำอะไรก็จะไปทำกับเขา ช่วยพ่อล้างกระถาง เปลี่ยนกระถาง เราเห็นเขาทำมาตลอด ตอนนั้นพ่อถือต้นไม้ต้นหนึ่งเข้าบ้าน มันเป็นต้นไม้ต้นแรกของบ้านเรา ป้าจำได้ว่ามันเป็นต้นไม้เล็กๆ ในกระถางเล็กๆ เป็นต้นไม้ที่มีหนามสีเหลืองๆ มีดอกสีขาว มีฝักสีแดงๆ มันสวยสมบูรณ์มากเลย ก็ถามพ่อว่า นี่มันต้นไม้จริงๆ เหรอค่ะ ทำไมมันสวยแบบนี้”

นี่คือรักแรกพบระหว่างเด็กหญิงวัย 6 ขวบกับต้นกระบองเพชรต้นเล็กจิ๋วสายพันธุ์ Mammillaria prolifera หรือเรียกกันว่า กระดุมทอง

“เป็นความรู้สึกที่ดีมากของเด็ก 6 ขวบที่มีต่อกระบองเพชร เราก็ช่วยพ่อมาเรื่อยๆ จนกิจการของเราพัฒนาขึ้นมา” ป้าพิกุล เล่า

ในตอนนั้นกระท่อมลุงจรณ์ยังไม่ได้แจ้งเกิด ครอบครัวก็อยู่ในช่วงวิกฤต การเพาะเลี้ยงต้นกระบองเพชร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนทั้งเวลาและเงิน

“สมัยนั้นข้าวสารถังละ 30 แต่กระบองเพชรสวยๆ ที่ชื่อ กระบองทอง สมัยนี้ก็เป็นต้นไม้ธรรมดา แต่สมัยนั้นกระบองทองกอหนึ่งราคา 300 บาท พ่อก็ไปซื้อมาเป็นแม่พันธุ์ พ่อจะสอนเราตลอดว่า ต้นไม้ที่เป็นแม่พันธุ์ราคาแพงหน่อยก็ช่างมัน เราต้องลงทุนซื้อมาเลี้ยง”

จุดเริ่มต้นของกระท่อมลุงจรณ์เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อ ทุกคนทำงานสารพัดเพื่อประคองครอบครัว และความฝันร่วมของทุกคนคือการเปิดกระท่อมลุงจรณ์

“สมัยนั้นแม่ก็จะบ่นพ่อ เพราะบ้านเรามีลูกหลายคน พ่อเอาเงินไปซื้อกระบองเพชรเยอะ พ่อจะบอกแม่ว่า ‘อดทนไว้ วันนี้เราเลี้ยงมัน สักวันมันจะเลี้ยงเรา’ คำพูดนี้เป็นวรรคทองในวงการกระบองเพชร อดทนไว้สักวันมันจะเลี้ยงเรา มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ นะ”

ประโยคนี้น่าจะใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่ว่าคุณจะปลูกต้นกระบองเพชร แต่งเพลงแร็ป ทำคอนเทนต์ในยูทูป หรือทำอะไรสักอย่างที่ในตอนนี้มันยังไม่ออกดอกออกผล แต่เรื่องเหล่านี้มีเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

“ในตอนนั้นเรารู้เพียงว่างานนี้จะเป็นงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว เพราะพ่อตั้งใจมาก แล้วบ้านเราก็จนมาก มีอะไรที่ทำเพื่อหาเงินได้ก็ทำ เรากับพี่สาวก็พับกระดาษไปขายคนที่ขายถั่วต้ม เพื่อหาเงินเข้าบ้าน หรือเวลาที่มีต้นไม้เล็กๆ ก็เอาไปขายให้คุณครูที่โรงเรียน” ป้าพิกุล เล่า

และแล้วเวลาก็เป็นพยาน กระท่อมลุงจรณ์ สามารถลงหลักปักฐานในตลาดต้นกระบองเพชร

“พอเราเริ่มเพาะเลี้ยงต้นกระบองเพชรได้หลากหลายและสวยงาม ก็เอาไปฝากขายที่ตลาดต้นไม้ที่ริมคลองหลอด พอขายได้เราเริ่มขยายงานของเรา ทำโรงเรือน ไม่มีที่ก็ไปเช่าที่ทำโรงเรือน ค่อยๆ ทำขึ้นมา ค่อยๆ ติดต่อกับนักเล่นกระบองเพชร จนค่อยๆ มีลูกค้า” ป้าพิกุล เล่า

“ป้ารักและหลงใหลมัน ตอนเรียนหนังสือเราคิดว่าจะทำงานนี้ เราจะช่วยพ่อทำอันนี้แหละ เป็นงานที่เราสามารถเลี้ยงชีพได้ และสนุก การค้าของเราเริ่มเป็นจริง สมัยก่อนเวลาไปเปิดร้านที่สนามหลวง พ่อให้ลูกๆ ข้ามถนนไปกินข้าวก่อน พ่อยังไม่มีเงินกินข้าวนะ ต้องรอขายต้นไม้ให้ได้ก่อนจึงจะได้ไปกิน แล้วก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น แล้วพ่อไม่ได้ทำกระบองเพชรอย่างเดียว ทำลวดแขวนขาย เลี้ยงกล้วยไม้ขาย ไม้ใบก็ทำ อะไรได้เงินเราทำหมด แต่เราไม่เคยทิ้งกระบองเพชร เพราะกระบองเพชรคือเป้าหมายหลักของเรา”

กระท่อมลุงจรณ์ ผ่านกาลเวลายาวนาน พบทั้งความรุ่งโรจน์และอิ่มตัว คงที่และเปลี่ยนแปลง สูญเสียและเริ่มใหม่

งามแพร่พันธุ์

วันนี้ลุงจรณ์ไม่ได้อยู่ในกระท่องหลังนี้อีกแล้ว แต่ต้นกระบองเพชรที่ลุงจรณ์เลี้ยงมันมา ยังคงอยู่

ป้าพิกุล เล่าว่า ตลาดต้นกระบองเพชรในปัจจุบันมีความก้าวหน้ากว่าเมื่อก่อน เพราะคนรุ่นใหม่มีความรู้และความสามารถ

“ในยุคนี้ต้นไม้บางประเภททำราคาได้สูงมาก เช่น ยิมโนด่าง เมืองไทยผลิตยิมโนด่างได้โดยเรียกว่าเป็นมือหนึ่งของโลก สวยมากนะ แปลกและแตกต่างด้วย เพราะเราสามารถสร้างฟอร์มและความงามของมันขึ้นมาด้วยตัวเอง เป็นความงามไม่รู้จบ ซึ่งน่าตื่นเต้น ที่เราสามารถทำให้เกิดความแตกต่างได้ด้วยตัวเราเอง แล้วมันสร้างโอกาส เรากำลังนำยิมโนด่างไปตลาดโลก ซึ่งไม่ได้เลี้ยงยากมาก ตอนนี้ก็มีหลายประเทศเริ่มหันมาเล่นอย่างจริงจัง สมัยนี้คนทำกระบองเพชรเริ่มหันมาจับยิมโนด่าง เพราะมันทำเงินได้” ป้าพิกุลเล่า

กระท่อมลุงจรณ์ ก็อยู่ในกระแสของโลก แต่ก็ยังคงรักษาหลักการแรกเริ่มไว้ นั่นคือความหลากหลายของต้นกระบองเพชร

“กระบองเพชรไม่ใช่สินค้าที่จะปั่นราคาได้ มันต้องมีคุณค่าและความคุ้มค่าในราคาที่เราเสนอ คุณค่าของกระบองเพชรคือ ความสวยงาม และธรรมชาติของกระบองเพชร คือไม่ได้เลี้ยงยากเกินไป แต่ก็ไม่ได้เลี้ยงง่ายนัก มีความเหมาะสมของมันที่จะกระจายไปสู่ผู้คนได้” ป้าพิกุล บอก

การแพร่กระจายเป็นหัวใจของการเติบโตและการมีชีวิต ป้าพิกุลยกตัวอย่างเรื่องนี้ผ่านการใช้เวลากว่า 6 ปีในการเลี้ยง พิงค์ไดมอนด์ โดยเริ่มจากพิงค์ไดมอนด์ 40 ต้น แต่พอต้นไม้เติบโตและสวยงาม มันก็ออกเดินทาง จาก 40 ต้นกลายเป็น 100 ต้น ซึ่งป้าพิกุลชี้ให้เราเห็นความธรรมดาของสิ่งนี้ ผ่านความงามของต้นไม้ที่แพร่กระจายไปในวงกว้าง

“ตอนนี้ใครๆ ก็มีพิงค์ไดมอนด์ใช่ไหมคะ เพราะมันสวย แล้วมันก็ไม่ได้ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป จาก

เหมือนลุงจรณ์ พ่อของป้าพิกุล ในช่วงบุกเบิก ลุงจรณ์ก็ศึกษาและแลกเปลี่ยนกับคนเลี้ยงกระบองเพชรในสังคมวงเล็กๆ แต่วันนี้มีผู้คนมากมายที่มีความรู้ พร้อมที่จะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เพื่อเดินไปข้างหน้าให้ไกลขึ้น

“จริงๆ เราไม่ใช่นักวิชาการ ถ้ามีใครมาขอให้เราเขียนบทความวิชาการ เราเขียนไม่ได้เลยนะ มันมีแต่ความรู้สึก เรารู้ว่าบางสายพันธุ์มันชอบแบบนี้นะ เราควรทำแบบนี้นะ บางสายพันธุ์ทำแบบนี้แล้วไม่ดีนะ มันคือการปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงของเรา ตำราต่างชาติแนะนำแบบหนึ่งเพราะเขาเลี้ยงในอากาศของเขา แต่ในเมืองไทยเราต้องหาจุดที่เหมาะสมของเรา ในสภาพอากาศของเรา เราต้องดูแลต่างจากเขายังไงให้มันไปได้”

ป้าพิกุลบอกว่า คนเลี้ยงกระบองเพชรรุ่นใหม่เก่งกว่าคนรุ่นป้าพิกุล น้ำเสียงของป้าพิกุลเวลาพูดเรื่องนี้ เปี่ยมไปด้วยการยอมรับถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และยินดีกับความเปลี่ยนแปลงนี้

“วัตถุดิบเราก็สามารถสั่งเข้ามาจากต่างประเทศได้ พวกโรงเรือนก็มีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามา คนเลี้ยงกระบองเพชรยุคใหม่เก่งจริงๆ มีความรู้ รสนิยมดี มีสตางค์ เขามีความพร้อมหลายด้าน มีคนหลายวงการเข้ามาเลี้ยง เนิร์สเซอรีในเมืองไทยสวยติดอันดับโลกเยอะมากเลยนะ โลกตะลึงเลยนะว่าเมืองไทยไปถึงขนาดนี้เเล้วเหรอ

“เราเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของคนปลูกต้นกระบองเพชร มีคนเก่งเยอะมาก บางคนเขาเลือกเลี้ยงแบบลงลึกเฉพาะสายพันธุ์ เช่น คนที่ทำแอสโตรไฟตัม (Astrophytum) อย่างเดียวไปเลย แล้วทำออกมาได้ดี แต่เราเน้นความหลากหลาย เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดในแบบที่เราทำค่ะ เรามีความสุข ณ จุดตรงนี้”

น้ำเสียงของป้าพิกุลเปี่ยมไปด้วยความยินดีเวลาพูดถึงการเดินทางของต้นกระบองเพชร

ต้นไม้ใหญ่ในเงาของต้นไม้อีกต้น

จากแรกเริ่มรู้จักกระบองเพชรในวัย 6 ขวบ ตอนนี้ป้าพิกุลอายุ 70 แล้ว และเรียนรู้การมีชีวิตของตนเองผ่านต้นกระบองเพชร

“สมัยก่อนถ้าต้นไม้ที่รักตายเราจะเสียใจมาก คิดถึงมาก อยากได้ต้นไม้ ต้นนั้นต้นนี้ แต่วันนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว มันสวยแต่ก็จะมีต้นที่สวยกว่านี้ มันตายก็มีต้นใหม่ได้ เราสงบมากขึ้น ไม่ได้ดิ้นรนไขว่คว้า ทุกวันนี้เวลาดูต้นไม้ เราจะบอกมันว่า เดี๋ยวฉันก็ตายก่อนพวกเธออีก” ป้าพิกุลหัวเราะให้ชีวิต   ถึงวันหนึ่งคนปลูกต้นไม้ทุกคนบนโลกก็จะตายจากไป แต่ต้นไม้ที่เธอปลูกไว้จะยังคงอยู่

“ต้นไม้คือสมบัติของมวลชน ทุกคนสามารถทำได้”

ปัจจุบันกระท่อมลุงจรณ์ถูกส่งมอบจากป้าพิกุลไปสู่การดูแลของลูกชาย คนรุ่นใหม่ที่ป้าพิกุลมองเห็นความสามารถ

“เรามีลูก เราก็รักและห่วงเขา แต่การที่เขาจะทำอะไรในชีวิต ป้าก็ให้เขาเป็นคนตัดสินใจ เพราะเราบังคับเขาไม่ได้ โดยเฉพาะกับแคคตัสด้วยแล้ว ถ้าไม่มีใจดูแล มันตายอย่างเดียว เราก็คิดแบบนี้มาตลอด ถ้าเขาอยากทำก็จะให้ทำ แต่ถ้าไม่อยากทำ ก็ไม่เป็นไร เราเห็นว่าแคคตัสสวยงาม แต่เราจะไปบังคับให้เขามองเห็นความสวยงามเหมือนเราไม่ได้ แต่ตอนที่เขาเรียนจบ เราถามเขาว่า เขาอยากทำมั้ย คำตอบของเขาคืออยากทำ ป้าก็เลยให้เขาทำ”

หลังจากยกกระท่อมลุงจรณ์ให้ลูกชายดูแลต่อ สิ่งแรกที่ป้าพิกุลทำก็คือการย้ายตัวเองออกมาจากกระท่อมลุงจรณ์ โดยไปเปิดเนิร์สเซอรีต้นกระบองเพชรแห่งใหม่ที่จังหวัดชัยภูมิ

เพราะการจากไปทำให้คนยังอยู่เติบโต

“ถ้าเราอยู่คอยเจ้ากี้เจ้าการ เขาจะไม่พัฒนา เพราะไม่ได้คิดเอง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่ไหนสามารถเติบโตใต้ร่มเงาของต้นไม้ต้นอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเขาทำ เราก็ปล่อยให้เขาทำ เราไปหาที่แห่งใหม่ ซึ่งปรากฏว่าเขาทำได้ดีและไปไกลกว่าที่เราเคยทำมา เขามีความคิดของเขา มีความรู้ของเขา มีแง่มุมของคนรุ่นใหม่ เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ต้องทำได้ดีกว่าคนรุ่นเก่า ซึ่งมันเป็นแบบนั้นจริงๆ

“มันเป็นโลกของเขา มันไม่ใช่โลกของเราแล้ว” ป้าพิกุล บอก

Credits

Author

  • วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

    Authorนักเขียนและผู้ผลิตสารคดีอิสระ หลงใหลความสัมพันธ์ระหว่างเวลา ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ สนใจความแตกต่างของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ