ระเบียบจิวเวลรี่ อายุ 23 กับภารกิจกอบกู้ธุรกิจครอบครัวด้วยการขายจิวเวลรี่ใน TikTok

ระเบียบ โพธิ์ชัย เติบโตมาบนกองเงินกองทองและกองจิวเวลรี่ เธอเป็นลูกสาวของดีไซเนอร์และช่างแกะสลัก ทั้งสองเป็นเจ้าของโรงงานโพธิ์ชัย จิวเวลรี่ ซึ่งเคยมีมูลค่าการส่งออกติด Top Ten ของประเทศ แต่ความเปลี่ยนแปลงคือการออกแบบของธรรมชาติที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อวันหนึ่งลูกค้าย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีน เพราะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า โรงงานผลิตจิวเวลรี่ของพ่อแม่จึงค่อย ๆ ปรับลดขนาดลง จากที่เคยมีคนงานกว่า 850 คน เหลือเพียงหลักสิบ และแบกหนี้กว่า 250 ล้าน

หลังเรียนจบ เธอหาประสบการณ์ด้วยการทำงานที่มีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน จนวันที่แม่เดินมาบอกว่า จะวางมือจากงานที่ทำมาทั้งชีวิต ระเบียบจึงตัดสินใจกลับมากอบกู้ธุรกิจของครอบครัว ในวัย 23 ปี เธอนำความสามารถและความถนัดในแบบคนวัยเธอมาผนวกกับทักษะและความสามารถของคนรุ่นพ่อแม่ ระเบียบสร้างตัวตนของแบรนด์ผ่านช่อง rabeab.official ในช่องทาง TikTok เพื่อบอกเล่าเรื่องราวจิวเวลรี่ที่มีชีวิตและความหมาย และความชำนาญของพ่อกับแม่ในการทำจิวเวลรี่ จนมีผู้ติดตามกว่า 160,000 คน

เกิดมาในเข่งจิวเวลรี่

“ชีวิตในวัยเด็ก ระเบียบไม่มีปัญหาเรื่องเงินเลยค่ะ ตอนเด็ก ๆ เรียนโรงเรียนนานาชาติ ในตอนนั้นก็คิดว่าโตมาก็จะทำงานกับแม่ ไม่เคยคิดเลยว่าสักวันหนึ่งเราจะไม่มีเงิน หรือต้องมากังวลเรื่องเงิน” ระเบียบย้อนความทรงจำในยุครุ่งเรืองของโรงงานโพธิ์ชัย จิวเวลรี่ ภายใต้การบริหารงานของพ่อแม่

โรงงานโพธิ์ชัย จิวเวลรี่ เคยมีออร์เดอร์ประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อเดือน มีมูลค่าการส่งออกติดอันดับ Top Ten มีคนงาน 850 คน ในความทรงจำของเด็กหญิงระเบียบ “คนงานของโรงงานเราเดินทั้งซอยเลย”

คุณแม่วรนันท์ในวัย 54 ปี เล่าย้อนถึงรอยต่อระหว่างยุครุ่งเรืองและโรยราของโรงงานจิวเวลรี่ให้ฟังว่า หลังจากที่โรงงานในประเทศจีนเริ่มตีตลาด ก็ทำให้ลูกค้าจากอเมริกา ซึ่งเคยเป็นลูกค้าหลักของโรงงานโพธิ์ชัย จิวเวลรี่ ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีน ลูกค้าใหม่ของโรงงานโพธิ์ชัย จิวเวลรี่คือลูกค้าจากอินเดียและตุรกี แต่ยอดสั่งซื้อก็ไม่ได้มากเหมือนลูกค้าอเมริกา ที่ในตอนนั้นได้โบกมือลาไปยังฐานการผลิตทีมีต้นทุนต่ำอย่างประเทศจีน

“ตอนนั้นแม่มีคนงาน 850 คน ลดลงมาเหลือ 500 จนกระทั่งเหลือ 250 เพราะตลาดที่เราหันมาทำให้อินเดียกับตุรกี ไม่ได้เยอะเหมือนอเมริกาที่ย้ายไปจีน ช่วงนั้นระเบียบเข้ามหาวิทยาลัย เข้าจุฬาฯ ได้ เราก็ดีใจ แต่เราเริ่มติดหนี้แล้ว ทุกอย่างเริ่มลดขนาดลง จนกระทั่งเราต้องเปลี่ยนความคิดใหม่มาเป็นปัจจุบันว่า ทำยังไงถึงจะอยู่ได้ ทำยังไงถึงจะเดินต่อได้” คุณแม่วรนันท์ บอก

การเป็นหนี้กว่า 250 ล้านบาท สร้างผลกระทบทั้งทางจิตใจและความเป็นอยู่ให้แก่ระเบียบพอสมควร

“ตอนนั้นระเบียบเข้ามหาวิทยาลัยพอดี ก็ต้องไปขอทุนเรียน หารายได้เสริม ทำงานพาร์ตไทม์ แม่แบกหนี้ที่ทำจิวเวลรี่ เราไม่คิดว่าจะมาอยู่จุดนี้ จุดที่ทุกคนเข้ามาด่าแม่ มันมีเรื่องการปรับลดจำนวนคนงานและการผลิต เราจำเป็นต้องลดจำนวนคนงาน เพราะเราไปไม่ไหวจริง ๆ ก็มีคำด่าเข้ามาสารพัด”

พ่อแม่ของระเบียบแยกทางกัน ความโดดเดี่ยวของทั้งสองได้ส่งผ่านตัวกลางอย่างระเบียบ ทำให้ความเศร้าของคนหนึ่งสั่นสะเทือนไปยังอีกคนหนึ่ง

“ระเบียบต้องบอกก่อนว่าพ่อกับแม่ต่างคนต่างแยกกันอยู่ แม่อยู่คนเดียว เวลาที่เราไปหาแม่ แม่ก็จะคุยถึงปัญหาให้เราฟัง แล้วแม่ก็ร้องไห้ เราไม่เคยเห็นแม่ร้องไห้เลย แม่ร้องไห้ให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เราก็ไปคุยให้พ่อฟัง พ่อก็ร้องไห้ เราไม่เคยเห็นพ่อร้องไห้ มันคงหนักมาก เราเคยไปอ่านแช็ตที่พี่พนักงานอินบ็อกซ์เข้ามาด่าแม่ เราเคยไปศาล ฟังเจ้าหนี้คุยกับแม่ ซึ่งมีแต่คำแย่ ๆ ก็เลยรับรู้ว่ามันหนักมาก เรารู้สึกแย่ที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีหนี้สินก้อนโต ใกล้ล้มละลาย” ระเบียบเล่า

หลังเรียนจบด้านจิตวิทยา ระเบียบทำงานที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่วันหนึ่งแม่มาบอกกับเธอว่า อาจจะต้องมองหาช่องทางในการหารายได้ทางอื่น เพราะจิวเวลรี่ที่แม่รักไม่สามารถสร้างรายได้ แต่ระเบียบมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่พ่อแม่สร้างมา และไม่อยากให้สูญหาย เธอจึงตัดสินใจกลับมากอบกู้ธุรกิจของครอบครัวและคุณค่าในการงานที่พ่อแม่ของเธอรัก

สร้างตัวตนให้แบรนด์

“คืนหนึ่งแม่มาคุยกับเราว่า แม่อยากจะทำอย่างอื่น จะไม่ทำจิวเวลรี่แล้ว เพราะมันไม่ได้สร้างรายได้ให้กับแม่ ต้องไปหารายได้อย่างอื่น ระเบียบก็เสียดายมาก เสียดายช่างที่อยู่ด้วยกันมานาน เสียดายความสามารถพ่อกับแม่ แม่เป็นดีไซเนอร์ที่เก่ง ส่วนพ่อเป็นช่างแกะสลักที่มีความสามารถมาก พ่อทำได้ทุกอย่าง ระเบียบก็เลยตัดสินใจกลับมาสู้สักตั้ง ลองเป็นครั้งสุดท้าย ลองดูว่าเราจะทำได้ไหม” ระเบียบเล่า

ไม่มีใครเห็นด้วยกับระเบียบ ยกเว้นพ่อแม่ ซึ่งมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ทั้งสามเดินหน้าไปพร้อมกัน

“ระเบียบรู้สึกว่ามันมหัศจรรย์เวลาเห็นพ่อแกะสลักแบบที่แม่ออกแบบมาให้บนกระดาษ มันสวยมากที่พวกเขาทำมันขึ้นมาด้วยมือของพวกเขา มันน่าเสียดายนะถ้าพ่อจะไม่ได้ทำงานนี้ต่อ เพราะไม่ค่อยมีคนแกะขึ้นมือแล้วมีฝีมือดีเหมือนที่พ่อทำ ทำไมระเบียบไม่ทำให้คนได้เห็นในสิ่งที่พ่อแม่ทำล่ะ” ระเบียบเล่า

การผลิตจิวเวลรี่ในรุ่นพ่อแม่ของระเบียบคือ การผลิตในแบบ Mass Production และเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่างประเทศ จุดชี้วัดจึงอยู่ที่ต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ ยิ่งค่าแรงต่ำยอดสั่งซื้อยิ่งสูง ซึ่งเป็นสนามการต่อสู้ที่สู้แล้วเหนื่อย

“ที่ผ่านมาเราเป็นโรงงานที่ผลิตจำนวนมาก ขายงานแมส ซึ่งทำให้เราไม่มีตัวตนเลยค่ะ” ระเบียบวิเคราะห์ ความเสี่ยงเพื่อเริ่มต้นสร้างแบรนด์ใหม่ในยุคที่เธอขึ้นมาเป็นผู้บริหาร

“คนที่มีตัวตนคือคนที่มาซื้อของของเราไปขาย หรือคนที่เราผลิตให้เขามาโดยตลอด เพราะฉะนั้นโรงงานจะอยู่ได้ มันต้องอยู่ได้ที่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาก เขาจึงจะมาจ้างเราผลิต เพราะเขาเอาสินค้าไปขายก็อยากจะได้ต้นทุนที่ควบคุมได้ เราคิดไว้แล้วว่า เราไม่สามารถกลับมาขายแบบแมสได้อีกแล้ว ที่ผ่านมาโรงงานของเราไม่มีตัวตน เราต้องสร้างตัวตน เพราะผลงานของช่างเรามีคุณภาพดี เราต้องบอกเล่าตัวตนและผลงานของเรา ช่างของเรามีประสบการณ์ เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมราคาของเราจึงไม่ใช่ราคาเดียวกับจีน ให้เขาเห็นคุณค่าของงานเรา” ระเบียบเล่าถึงแผนการทำงานในยุคใหม่

rabeab.official จึงถือกำเนิด แบรนด์จิวเวลรี่แห่งนี้มีช่างและศิลปินที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี นั่นก็คือคุณพ่อและคุณแม่ของระเบียบ และมีผู้นำอายุ 23 ที่สื่อสารด้วยภาษาใหม่ในยุคสมัยใหม่

นอกจากผลิตงานรายชิ้นแบบประณีต ระเบียบยังบอกเล่าเรื่องราวของชิ้นงานผ่านโซเชียลมีเดีย

“เราเล่าในแต่ละชิ้นงานเลยว่า มีขั้นตอนอย่างไร จากกระดาษไปจนเป็นเครื่องประดับหนึ่งชิ้น เริ่มสร้างตัวตนในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งใน TIKTOK และอินสตาแกรม”

คอนเทนต์ของระเบียบคือ วิธีการทำจิวเวลรี่ คำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับการสวมใส่เครื่องประดับ เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องประดับ ความรู้เชิงช่างที่คนใส่จิวเวลรี่ไม่เคยรู้มาก่อน เธอก็เอามาเล่าใน TIKTOK

เรื่องเล่าของระเบียบทำให้มีผู้ติดตาม rabeab.official กว่า 160,000 คน แต่ที่สำคัญไปกว่าจำนวนผู้ติดตาม เรื่องเล่าของระเบียบเจียระไนให้ผู้คนมองเห็นคุณค่าของจิวเวลรี่ที่มีความหมายต่อความรู้สึกของผู้ครอบครองและผู้ที่ใช้สองมือทำมันขึ้นมา

“ระเบียบตัดสินใจว่าจะเล่าถึงงานสั่งทำทุกชิ้นลงใน Tiktok เพราะงานสั่งทำทุกชิ้นมีเรื่องราวเฉพาะของคนที่สั่งทำมันขึ้นมา แล้วเราก็เล่าตั้งต้นเลยว่า เขามีเรื่องราวอะไรทำให้ตัดสินใจสั่งทำจิวเวลรี่ชิ้นนี้ขึ้นมา ก็เล่ากระบวนการผลิตตั้งแต่การออกแบบ การที่ให้พ่อขึ้นพิมพ์แกะพิมพ์ ไปจนเสร็จออกมาเป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง”

รอยต่อของคนสองวัย

“สไตล์การทำงานต่างกันมาก เพราะพ่อแม่ทำงานอย่างเดียว ไม่ออกสื่อเลย ผลิตอย่างเดียว และทำงานในปริมาณที่มาก ระเบียบมาปรับการทำงาน เราไม่รับงานจำนวนมากขนาดนั้น” ระเบียบเล่าถึงปัญหาความแตกต่างระหว่างวัยของเธอกับพ่อแม่

การหันมาผลิตเครื่องประดับแบบประณีต ทำให้แม่ของระเบียบมีความสุขที่ได้ใช้เวลาไปกับการออกแบบ เพราะขั้นตอนการผลิตจิวเวลรี่ต้องใช้ความละเอียดในการผลิตตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละรายปัญหาการทำงานเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ปัญหาของ rabeab.official คือปัญหาระหว่างวัยของพ่อแม่กับลูก

“เรื่องการออกแบบจะเป็นเรื่องใหญ่ค่ะ เมื่อก่อนแบบที่พ่อแม่เคยทำกันมามันจะใหญ่และอลังการ แต่ถ้าจะมาขายคนวัยทำงานในยุคนี้ จะขายยากเพราะเขาไม่ใส่กัน พ่อแม่จะติดสไตล์งานอลังการ เราอยากปรับให้งานมินิมอล เพราะไม่มีใครสวมใส่เครื่องประดับใหญ่ ๆ เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราทะเลาะกันบ่อยมากในเรื่องนี้ เราทำงานไปก็ทะเลาะกัน หลังเลิกงานก็กลับมากินข้าวแม่ลูกปกติ” ระเบียบเล่า

ลองมาฟังฝั่งแม่วรนันท์กันบ้าง จากในยุคของแม่ที่ขายจิวเวลรี่กันเป็นเข่ง มาในยุคลูกสาวก็ปรับการทำงานเป็นรายชิ้นและงานประณีต ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่มีความสุขขึ้น ที่ได้ใส่ใจกับงานทุกชิ้น แน่นอน แม่ยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และเธอก็คอยเป็นหางเสือให้กัปตันเรือที่ชื่อระเบียบ

“เมื่อก่อนเราขายกันเป็นเข่ง ๆ การทำงานก็กวาด ๆ เพราะทำกันวันละร้อยกิโล แต่วันนี้มันไม่ใช่ เราต้องเอากล้องมาส่องมาขยายดูรายละเอียดเล็ก ๆ เพราะลูกค้าได้แหวนไปจากเรา ยอมจ่ายในราคาที่ไม่มีเงื่อนไข สินค้าที่ได้รับเขาต้องมีความสุข มันต้องมีคุณภาพคุ้มค่ากับราคาที่เขาจ่ายไป

“เรายอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว ระเบียบก็มีความคิดที่ต่างไปจากคนรุ่นพ่อแม่ ความคิดต่างกัน การนำเสนอต่างกัน เขานำเสนอในสิ่งที่เขามีความรู้แล้วเอาส่วนของพ่อแม่ไปผสมผสาน เราก็ต้องแนะนำเขาว่ามันเป็นแบบนี้นะ เขาก็เอาไปออแกไนซ์และจัดการใหม่ ปรับใหม่ให้ทันสมัยขึ้น เราก็เห็นว่ามันดีนะ โลกมันเปลี่ยนไป เราโชคดีที่ลูกมาสานต่อธุรกิจ เราเป็นหางเสือที่พยุงให้เรือไปได้ เราคอยบอกเขาในสิ่งที่เขาขาด เราค่อย ๆ ปั้นหม้อจากดินที่มันเหลว ๆ ให้ขึ้นรูป เราก็เหมือนคนปั้นหม้อ ปั้นออกมาให้สวย เราให้ข้อมูลเขา เขาก็จะไปจัดการต่อ อันไหนที่เขาทำไม่ได้ เขาจะมาถามเรา” แม่บอกเล่าเรื่องราวในวันที่โลกและลูกเปลี่ยนไปแล้ว

ขยายใจให้กว้าง มองไปข้างหน้า

“ถ้าให้ใช้คำว่าสู้ แม่ไม่ใช้คำนี้ เพราะมันฟังเเล้วเหนื่อย แต่เพราะความรัก แม่รักลูก รักระเบียบ รักคนงานทุกคน เราอยู่กันเหมือนครอบครัว เพราะความรักเราจึงเกื้อกูลกัน เราจึงจะประสบความสำเร็จได้” แม่บอก ซึ่งคล้ายกับที่ระเบียบเล่าให้ทีมงานมนุษย์ต่างวัยฟัง ระเบียบบอกว่า ไม่เคยพูดให้พ่อแม่ฟังว่า เรามาสู้กันเถอะ แต่เธอลงมือทำแทนคำพูด

“ตั้งแต่ที่บ้านเรามีปัญหา เราจะพูดกันบ่อยมากว่า มาสู้กันต่อ ๆ แต่ก็ล้มทุกที ก็เลยไม่อยากพูดคำนี้ แต่เราต้องทำให้เขาเห็นว่าเราพร้อมที่จะสู้ไปกับเขา” ระเบียบเล่า

ในฐานะพ่อ และศิลปินช่างแกะสลักฝีมือดีที่ระเบียบชื่นชมพ่อเสมอมา พ่อของระเบียบบอกว่า งานจิวเวลรี่คือชีวิตของเขา แต่ของขวัญล้ำค่าที่สุดที่พ่อคนหนึ่งได้รับคือการที่ได้เห็นการเติบโตของลูกสาว

“เขาก็ทำหน้าที่ของเขามาตลอด เมื่อก่อนเขาเป็นนักเรียนอนุบาล เขาก็ทำหน้าที่ของเด็กอนุบาลพอประถมเขาก็ทำหน้าที่นักเรียนประถม ไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง พ่ออยู่กับลูกตลอด ไปรับไปส่งตั้งแต่เด็กจนมัธยม เมื่อถึงชั้นมหาวิทยาลัยเขาก็ดูแลตัวเอง ถึงวันนี้เขาก็ทำหน้าที่ของเขา เรามีหน้าที่ให้คำปรึกษา” พ่อเล่า

ในฐานะดีไซเนอร์ที่รักงานจิวเวลรี่และใช้เวลากว่า 30 ปีอยู่กับงานออกแบบ แม่ย่อมดีใจที่วันหนึ่งลูกสาวเดินเข้ามาในโลกที่แม่รักและก้าวเดินให้โลกใบนี้ยังคงหมุนไปข้างหน้า ไม่ว่าสถานการณ์จะหน้าสิ่วหน้าขวานเพียงใด

“ดีใจ เป็นวันที่เรารอคอย ถึงวันหนึ่งที่ระเบียบอยากจะทำ โชคดีที่พ่อของเขาทำได้ทุกอย่างตามที่น้องต้องการ ถ้าเป็นคนอื่นอาจต้องมานับหนึ่งใหม่ แต่เรานับมาถึงร้อยแล้ว เราก็นับต่อไป

“เราทำงานในที่ดินของธนาคาร แต่ถามว่าธนาคารมายึดที่ทำงานของคุณไปหรือยัง ก็ยังไม่ได้ยึด คุณยังมีโอกาสสร้างานและเงินจากสถานที่แห่งนี้ได้อีกมาก” แม่วรนันท์ เล่า

ในวันที่ชีวิตล้มลง แต่ละคนต่างมีวิธีมองและจัดการปัญหาต่างกันไป ถ้าถามแม่วรนันท์ที่มีลูกสาวและอดีตสามี ร่วมกันเดินทางฟันฝ่า เธอบอกว่า ให้ขยายใจให้กว้างออกไป แล้วมองตรงไปที่ปัญหา

“ขยายใจให้กว้าง ขยายใจให้ใหญ่ ในวันที่เรามีหนี้ 250 ล้าน เราจะไม่มามัวกลุ้มใจกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ ในช่วงโควิด-19 ทุกคนก็เป็นเหมือนกันหมด คนไม่เคยล้มก็ล้ม คนที่ล้มอยู่แล้วก็มีภูมิต้านทานแข็งแรงขึ้น ฉะนั้นเราต้องอยู่กับปัจจุบันให้ได้ อยู่กับตัวเองให้ได้ แม่เชื่อว่าโลกออนไลน์ยังมีโอกาสมหาศาล วันหนึ่งถ้าแบรนด์ rabeab.official เติบโตขึ้น แม่เชื่อว่าหนี้สิน 250 ล้านเป็นเรื่องเล็กน้อย แม่คิดแบบนี้”

ในวัย 54 แม่ยังมองไปข้างหน้า ขณะที่ข้าง ๆ มีอดีตสามียืนอยู่เคียงข้างดังเดิมแม้สถานะจะเปลี่ยน แต่ยังรัก ยังมีความรักให้กันแน่นอน ทั้งสองยืนอยู่ด้านหลังหญิงวัย 23 ปีคนหนึ่งที่กำลังสะสมประสบการณ์ เพื่อนำทางครอบครัวและธุรกิจที่เธอเพิ่งเริ่มต้น เธอชื่อระเบียบ

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ