เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว ไปกับ วรรณา จารุสมบูรณ์ แนวคิดชุมชนกรุณา สังคมจะดีกว่าได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ

เมื่อระบบการศึกษาอาจกำลังครอบงำให้เราเชื่อว่าการแพทย์สมัยใหม่คือทางเลือกที่ดีที่สุดของการรักษา มีเพียงผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่มีความรู้และสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ 

จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้บ้านเราจะผลิตบุคลากรทางการแพทย์มามากมายเท่าไร แต่ก็ยังไม่เคยเพียงพอ คนป่วยยังคงล้นโรงพยาบาล ชาวบ้านขาดความรู้ ความเข้าใจในการดูแลตนเอง จนบางคนเลือกที่จะไปพึ่งพาเครื่องรางของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

มนุษย์ต่างวัยพาไปสำรวจโลกของระบบสุขภาพในสายตาของ สุ้ย-วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชนกรุณาและประธานกลุ่ม Peaceful Death อดีตพยาบาลและนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่เชื่อว่าการรักษาอาการเจ็บป่วยไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแต่ในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่การดึงศักยภาพของชุมชนมาใช้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ทางออกที่เป็นไปได้และยั่งยืนภายใต้วิถีของ “ชุมชนกรุณา” 

แนวคิดและวิถีปฏิบัติที่จะช่วยให้พวกเรารู้ว่าประชาชนทุกคนมีพลังอำนาจในการจัดการชีวิต ความเจ็บป่วย และความสูญเสียได้เองโดยไม่ต้องรอการจัดการของรัฐ

ด้วยการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากคนตัวเล็ก ๆ ราวกับผีเสื้อขยับปีกนี้จะช่วยให้สังคมไทยก้าวผ่านวิกฤตในระบบสาธารณสุขและการก้าวสู่สังคมสูงวัยได้อย่างยั่งยืนและจับต้องได้

จากพยาบาลสู่โลกสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

“สมัยเป็นนักศึกษาพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เราชอบการทำกิจกรรม ไปออกค่าย ไปดูวิถีชีวิตชาวบ้านคนธรรมดาในสังคม ความเป็นอยู่ในแต่ละวันของเขามันทำให้เราเห็นถึงปัญหาและข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานได้มากนัก นั่นทำให้เราซึมซับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“หลังเรียนจบ เราต้องใช้ทุนในรพ.รัฐนาน 2 ปี ตอนนั้นเองที่ทำให้เราเห็นปัญหาในระบบสุขภาพอย่างชัดเจนว่ามันไม่ง่ายเลยที่ชาวบ้านคนหนึ่งจะเข้าถึงระบบบริการสุขภาพพื้นฐานได้ 

“บางคนมาจากต่างจังหวัด พอมารพ.ก็ไม่รู้ขั้นตอนว่าต้องไปติดต่อทำอะไร ตรงไหน บางคนต้องเหมารถมาหลายครั้งกว่าจะเจอหมอ หรือแม้กระทั่งคนกทม.เอง จะมาหาหมอครั้งหนึ่งต้องมาแต่เช้าเพื่อรับบัตรคิวแล้วรอไปเรื่อย ๆ จะไปกินข้าวก็กลัวเสียที่นั่ง แค่ลุกออกไปเข้าห้องน้ำก็ไม่มีที่นั่งแล้ว กว่าจะได้เจอหมอ ได้ยา ได้กลับบ้าน มันใช้พลังกาย พลังใจหมดไปแล้วทั้งวัน

“เราเคยพาแม่ไปหาหมอในรพ.ที่เราทำงาน ตอนนั้นแม่เป็นคนไข้ประจำ และเราเป็นพยาบาลที่ทำงานอยู่ที่นั่น เรารู้ระบบพอสมควรว่าต้องไปติดต่อทำอะไร ตรงไหน ยังต้องไปรอรับคิวตั้งแต่หกโมงเช้า กว่าจะได้กลับบ้านก็บ่าย แม่เราบอกว่าเหนื่อย ไม่อยากไปแล้ว เพราะไปแต่ละทีมันทรมานมาก

“คนไข้บางคนมารพ.ตอนอาการหนักมากแล้ว หมอ-พยาบาลมักดุว่าทำไมถึงมาหาหมอเอาป่านนี้ แต่ถ้ามองในมุมชาวบ้าน ถ้าอาการไม่หนักหนาจริง ๆ คงไม่มีใครอยากมาหาหมอ เพราะการมารพ.แต่ละครั้งมันหมายถึงต้นทุนมากมายที่ต้องจ่าย ทั้งเงิน เวลา รวมถึงการต้องใช้กำลังใจมหาศาลในการพาตัวเองมา

“มันเป็นความทุกข์ของคนตัวเล็ก ๆ ที่พยายามเข้าถึงการรักษาให้ดีที่สุด แต่ระบบสุขภาพบ้านเรากลับไม่เกื้อกูลให้เขาเลย นี่จึงกลายเป็นคำถามในใจเรามาตลอดว่าท้ายที่สุดแล้ว ระบบสาธารณสุขบ้านเรากำลังช่วยเหลือคนจากความทุกข์หรือเพิ่มความทุกข์ให้คนกันแน่

“เราเชื่อว่าความรู้ทางการแพทย์อย่างเดียวไม่สามารถคลี่คลายปัญหาหรือความทุกข์ยากของชาวบ้านได้เลย เราอยากรู้ว่ามันจะมีวิธีการ หรือมุมมองอื่นบ้างไหมที่ทำให้เราเข้าใจโลกของเขามากขึ้นจึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโททางสายสังคมศาสตร์”

คุณสุ้ยเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ความรู้ที่ได้ในตอนนั้นเหมือนกับเป็นแว่นตาอันใหม่ที่ทำให้การมองปัญหาด้านสุขภาพและการแพทย์ของเธอเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

“พอเรามาเรียนตรงนี้มันทำให้สายตาเราเปลี่ยนไปเลย มันทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตและเข้าใจโลกทัศน์ของชาวบ้าน เห็นว่าเขามีมุมมอง ความเชื่อเรื่องสุขภาพยังไง และเมื่อถึงคราวเจ็บป่วย เขาตอบสนองต่อสิ่งนั้นอย่างไร เพราะบางครั้ง ความเจ็บป่วยไม่ได้มาจากตัวโรคเพียงอย่างเดียว แต่มาจากสังคม วิถีชีวิต และความบีบคั้นทางเศรษฐกิจ

“ความเข้าใจเหล่านี้ทำให้เรามองผู้ป่วยเป็น ‘คน’  ไม่ได้มองผู้ป่วยเป็น ‘โรค’ เพราะในระบบการแพทย์สมัยใหม่ ผู้ป่วยจะถูกแยกส่วนว่าเป็นโรคนี้ ต้องไปแผนกนั้นและรักษาวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครรู้เลยว่าคนไข้คนนี้เขาเจออะไรมาถึงทำให้เจ็บป่วยแบบนี้

เพราะความเจ็บป่วยของคน ๆ หนึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับหลายมิติ ทั้งความเชื่อ ฐานะ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไปจนถึงการเข้าถึงทรัพยากรและทางเลือกในชีวิต จึงทำให้แต่ละคนมีการตอบสนองต่อความเจ็บป่วยของตัวเองต่างกัน จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นคนไข้ไปรดน้ำมนต์หรือใช้สูตรยาสมุนไพรแทนการไปหาหมอ เพราะนั่นคือองค์ความรู้ เป็นประสบการณ์ที่เขามี และเป็นสิ่งที่เขาสามารถเข้าถึงได้ในช่วงเวลานั้น

เมื่อการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ไม่ช่วยแก้ปัญหา กลับมาดูแลตัวเองด้วยภูมิปัญญาอาจเป็นทางออก

เบื้องหลังความผิดปกติในระบบสุขภาพนี้อาจมาจากปัญหาระดับโครงสร้างที่ไม่ว่าจะผลิตบุคลากรมามากมายสักเท่าไรก็ไม่เพียงพอ การหันกลับมารื้อฟื้นภูมิปัญญาและความรู้เรื่องการดูแลตนเองเบื้องต้นอาจเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยและลดภาระให้กับรพ.

“ในอดีต การเข้าถึงทางการแพทย์เป็นเรื่องยาก ผู้คนจำเป็นต้องดูแลตัวเองผ่านการสังเกต จดจำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านชุดประสบการณ์ที่เจอจนกลายเป็นองค์ความรู้ ภูมิปัญญาพื้นบ้านจึงเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตผู้คนจากความป่วยไข้เรื่อยมา

“จนกระทั่งปัจจุบัน ระบบการศึกษาไทยกำลังครอบงำว่าการแพทย์สมัยใหม่คือคำตอบสุดท้ายที่ถูกต้องที่สุด เรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญหรือคนที่เรียนจบมาโดยตรงเท่านั้น สิ่งนี้ทำให้เราไม่กลับมาเชื่อตัวเองอีกแล้ว ภูมิปัญญาและประสบการณ์ในการดูแลตัวเองของชาวบ้านถูกลดทอนความเชื่อมั่นลง 

“จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าตอนนี้เมื่อคนรุ่นใหม่เกิดการเจ็บป่วยขึ้น พวกเขาจะเลือกไปหาหมอที่รพ.ก่อน ไม่ว่าความเจ็บไข้นั้นจะเล็กหรือใหญ่เพียงใด เนื่องจากกังวลและไม่รู้จะทำอย่างไรกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น

นี่จึงทำให้องค์ความรู้เรื่องการดูแลตัวเองค่อย ๆ หายไป จนเกิดสถานการณ์คนไข้ล้นรพ. หากตอนนี้จะบอกให้คนหันกลับมาดูแลตัวเองก่อน นำภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้เดิมที่มีมาใช้ก็สายเกินไปเสียแล้ว”

ซ้ำร้ายตอนนี้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอและคนไข้ต่างจากในอดีต เมื่อก่อนชาวบ้านมักรู้สึกว่าหมอคือผู้สูงส่งเพราะคือผู้ช่วยชีวิตคน หากต้องรอหมอนานหรือได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีจะไม่ถือสา แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์เปลี่ยนไปแล้ว บุคลากรทางการแพทย์เป็นเพียงผู้ให้บริการ หากคนไข้รู้สึกว่าต้องรอนานหรือได้รับบริการที่ไม่ดีจะรู้สึกผิดหวังและนำมาสู่ความขัดแย้งในที่สุด

“ตอนนี้คนไข้คาดหวังว่าการมารพ.แต่ละครั้งต้องได้รับบริการที่น่าพอใจ ทั้งเรื่องเวลาและการปฏิบัติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรามีหมอและพยาบาลในสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ ด้วยความเร่งรีบและกดดัน การให้บริการจึงสวนทางกับความต้องการเกิดเป็นความขัดแย้ง มีการส่งจดหมายร้องเรียนหรือถึงขั้นฟ้องร้องในที่สุด”

จากสถานการณ์จะเห็นได้ว่าการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์อาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะไม่เพียงแต่ค่านิยมคนที่รุ่นใหม่ที่เมื่อป่วยไข้จะเลือกมาหาหมอก่อนการดูแลตัวเองแล้ว แต่ยังรวมถึงสถานการณ์ของโรคที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

“ในอดีต คนเราเป็นโรคที่รักษาไม่ยาก เช่น โรคระบาด โรคติดเชื้อ แต่ปัจจุบัน คนมักเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ เช่น เบาหวาน ความดัน หรือออฟฟิศซินโดรม หากคนไม่กลับมาดูแลและรับผิดชอบพฤติกรรมตัวเอง จำนวนผู้ป่วยก็จะมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อให้มีบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเท่าไรก็ไม่เพียงพอ”

เมื่อสังคมไทยแก่ชรา – อยู่กันอย่างไรในวันที่คนแก่ล้นเมือง

ในอนาคต บ้านเราจะมีทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยเยอะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นแปลว่าคนหนุ่มสาวจะมีภาระมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อก่อนแต่ละบ้านจะมีลูกหลานหลายคน ยามพ่อแม่ป่วยไข้จะมีคนดูแลเสมอ ในขณะที่ปัจจุบันคนมีลูกน้อยลงและออกไปทำงานนอกบ้านกันหมด ประกอบกับสภาพสังคมเศรษฐกิจที่บีบคั้น การมีคนป่วยหรือผู้สูงอายุในบ้านกลายเป็นปัญหารุมเร้าทั้งทางกาย ทางใจ และทางเงิน 

“ทุกวันนี้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ยามเกิดความป่วยไข้หรือสูญเสียในบ้าน ลูกหลานที่มีเพียงไม่กี่คนต้องกลายเป็นผู้่แบกรับภาระหนัก และไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีศักยภาพดูแลตัวเองได้ 

“เราจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ไม่ใ่ช่เรื่องของบ้านใดบ้านหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม ไม่ทิ้งใครให้เผชิญกับปัญหานี้เพียงลำพัง การแก้ปัญหาที่เกิดจากระบบโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนเช่นนี้จะเป็นต้องทำทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว ชุมชน หรือสังคม ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้องคาพยพเดียวกัน”

หลายสิ่งที่เราควรเริ่มตระหนักและเตรียมตัวเสียแต่วันนี้สามารถทำได้ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และนโยบายจากภาครัฐ โดยในระดับบุคคล สิ่งหนึ่งที่จะช่วยวิกฤตนี้ได้คือ ‘การวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้า’ (Advance Care Planning) เพื่อแสดงเจตจำนงของผู้ป่วยในการรักษาหรือยื้อชีวิต

“เราได้ยินผู้สูงอายุจำนวนมากบอกว่า สิ่งที่ไม่อยากเห็นที่สุดคือในวันที่ตัวเองป่วยแล้วต้องให้ลูกหลานมาดูแล ไม่ได้อยากมีชีวิตยืนยาวโดยที่เป็นภาระใคร การวางแผนดูแลสุขภาพล่วงหน้าจึงจำเป็น เพราะจะทำให้เขาไม่ต้องถูกยื้อชีวิตวาระสุดท้าย และได้ทำตามเจตจำนงค์ของของตัวเองอย่างแท้จริง

สิ่งนี้จะช่วยให้ความป่วยไข้ของเขาไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร และไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคมมากเกินไป”

ส่วนในระดับท้องถิ่น ควรดึงศักยภาพและทรัพยากรของชุมชนออกมา

ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องรอการแก้ปัญหาจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว และท้ายที่สุด รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และนำไปสู่การวางแผนนโยบายเชิงสาธารณะ

รู้จัก “ชุมชนกรุณา” แนวคิดแบบผีเสื้อขยับปีก

ที่เชื่อว่าสังคมจะน่าอยู่มากขึ้น เพียงแค่ใครสักคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

เพราะปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นตอนนี้พัวพันไปหมดหลายมิติ แนวทางหนึ่งที่ภาคประชาชนสามารถทำได้ทันทีคือการหันกลับมาดูแลกันและกันโดยใช้ศักยภาพของชุมชนที่มีอยู่ และปฏิบัติการหนึ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้คือ “ชุมชนกรุณา”

“ชุมชนกรุณา” เป็นการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน อินเดีย และในประเทศแถบยุโรป เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทั่วโลกที่ผู้คนต่างมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพังมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือคนหนุ่มสาว

การจัดการความเจ็บป่วยและความสูญเสียในครอบครัวจึงเป็นสิ่งทำได้ยากขึ้น อีกทั้งรัฐก็ไม่สามารถจัดการดูแลได้ทั้งหมด ประชาชนจำเป็นต้องลุกขึ้นมาจัดการด้วยตัวเองแต่จะผ่านไปได้ดียิ่งกว่าหากได้รับความเกื้อกูลจากชุมชนที่เข้มแข็ง

การสร้างชุมชนกรุณาจึงเป็นมิติหนึ่งของการเสริมพลังของประชาชน ที่ทำให้ตระหนักว่าทุกคนมีพลังอำนาจในการจัดการชีวิต ความเจ็บป่วย ความสูญเสียได้เอง และยังช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

“ตอนนั้นเราเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดนี้ ยิ่งเราเคยทำงานเป็นพยาบาลจึงเข้าใจเรื่องความเจ็บป่วยและการสูญเสียเป็นอย่างดีจึงเห็นโอกาสที่จะนำสิ่งนี้มาพลิกฟื้นชุมชนให้ลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง เราเลยกลายเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่ลุกขึ้นมาปักหมุดเรื่องนี้ว่าเราทุกคนมาทำสิ่งนี้ไปด้วยกันเถอะ”

หากมองย้อนกลับไปสังคมไทยในอดีต เรามีความเป็นชุมชนกรุณาอยู่แล้วเป็นพื้นฐาน ต่างจากปัจจุบันที่ความสัมพันธ์เปลี่ยนไป ทุกคนต่างดิ้นรนและมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น หากมีใครสักคนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก การร้องขอความช่วยเหลือ หรือการยื่นมือเข้าช่วยเหลือใครบางคนอาจกลายเป็นเรื่องยากลำบากไปเสียแล้ว

 “เมื่อ 50 ปีก่อน การไปรพ.แต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย บางหมู่บ้านมีรถยนต์แค่คันเดียว เมื่อมีใครป่วย คนในชุมชนจะไม่ทอดทิ้งกัน ความช่วยเหลือของเพื่อนบ้านเกิดขึ้นตั้งแต่เป็นคนขับรถไปส่งรพ.จนกระทั่งเป็นแม่ครัวในงานศพ นี่คือวิถีปกติของคนไทยในอดีตที่ชุมชนเกื้อกูลกัน แต่ตอนนี้ การจะไหว้วานเพื่อนบ้านสักคนให้พาแม่ไปหาหมอไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราควรรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันแบบเดิมขึ้นมาให้เข้ากับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป

 “ช่วงโควิด-19 เราเห็นบทเรียนมากมายว่าหากชุมชนไหนที่มีระบบความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น มักจะจัดการกับวิกฤตได้ดีและสุดท้ายก็รอดทั้งชุมชน นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ประเทศไทยไม่เกิดความสูญเสียมากมายเหมือนในต่างประเทศ นั่นเพราะบ้านเขาไม่ได้มีสายสัมพันธ์ (bonding) ที่แข็งแรงฝังรากลึกเหมือนอย่างคนไทย”

ในชุมชนต่างจังหวัด การตั้งบ้านเรือนใกล้กันทำให้ผู้คนมีบริบทเชื่อมโยงกันได้ง่ายผ่านการไปงานบุญ งานศพ หรือการมีอสม.ยิ่งช่วยทำให้ระบบการดูแลกันของคนในชุมชนเข้มแข็ง จึงทำให้เกิดชุมชนกรุณาได้อย่างไม่ยากเกินไปนัก ในขณะที่การสร้างชุมชนกรุณาในสังคมเมืองอาจต้องปรับให้อยู่ในรูปแบบที่ต่างออกไป

“ปฏิบัติการชุมชนกรุณาไม่ใช่แค่การดูแลกันในยามเจ็บป่วยหรือใกล้ตาย แต่มันควรเป็นชีวิตประจำวัน สำหรับในสังคมคนเมือง อาจเริ่มจากความสัมพันธ์ระบบเล็ก ๆ เช่น การรวมกลุ่มทำเรื่องที่สนใจ เช่น กลุ่มวิ่ง กลุ่มวาดรูป กลุ่มทำอาหาร หรือสิ่งใดก็ได้ที่ทำให้คนในชุมชนเชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นชุมชนได้ และเมื่อวันหนึ่งที่มีวิกฤต ความเข้มแข็งนี้จะช่วยให้แต่ละคนผ่านปัญหาไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

“ในออสเตรเลีย ผู้สูงอายุออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันเยอะมาก เพราะการใช้ชีวิตที่นั่นมันง่าย ทุกจุดมีป้ายบอกว่าลิฟต์หรือทางลาดสำหรับรถเข็นอยู่ตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นคนแก่หรือแม่ลูกอ่อนก็ออกมาเที่ยวหรือมาทำธุระนอกบ้านได้ด้วยตัวเอง นี่คือการออกแบบสาธารณูปโภคที่ให้ผู้สูงอายุออกมามีชีวิตเป็นของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลาน ต่างจากบ้านเราที่ไม่มีลูกหลานคนไหนอยากให้พ่อแม่ออกจากบ้านนัก เพราะเมืองไม่ปลอดภัย สุดท้ายแล้วท่านก็เบื่อ เหงา และรู้สึกไร้คุณค่าในที่สุด

 “หรือที่สิงคโปร์ จะมีศูนย์สำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ตอนเช้าจะมีรถมารับเพื่อไปที่ศูนย์ ระหว่างวันจะมีกิจกรรมให้ทำมากมาย ทั้งออกกำลังกาย ทำอาหาร ร้องเพลง พร้อมอาหารว่างและอาหารกลางวัน พอตกเย็นก็ไปส่งกลับบ้าน ทั้งหมดนี้มีการเก็บค่าใช้จ่ายแค่ 100 ดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น หากใครมีโรคประจำตัวก็มีการดูแลพิเศษต่างหาก แบบนี้ลูกหลานก็สบายใจ ผู้สูงวัยก็มีเพื่อน มีสังคม”

และยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าการให้ผู้สูงอายุที่ผ่านการอบรมเรื่องการรับฟัง มาปฏิบัติงานในสถานดูแล โดยทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังและพูดคุยทั้งกับเจ้าหน้าที่และผู้สูงอายุที่อยู่ในนั้นทำให้ผู้รับบริการลดความเครียดลงและรู้สึกผ่อนคลาย

“โมเดลนี้ก็สามารถสร้างเป็นอาชีพได้ ทำให้มีทางเลือกใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก มันช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วยไม่ให้เปลี่ยวเหงาและช่วยลดความเครียดของผู้ดูแลผ่านการรับฟัง บ้านเราควรเริ่มออกแบบระบบลักษณะนี้มากขึ้น หรือสนับสนุนธุรกิจใหม่ ๆ มากกว่าคิดเรื่องการให้เงินสงเคราะห์คนชรา

 “ท้ายที่สุด เราคิดว่าในอนาคตจะมีกลุ่มหนึ่งที่เป็นปัญหามาก คือกลุ่มผู้ป่วยสมองเสื่อม (Dementia) ที่ตอนนี้เริ่มเกิดในคนที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ เราต้องออกแบบว่าจะดูแลและอยู่ร่วมกับคนกลุ่มนี้อย่างไร โดยไม่มองว่าเขาเป็นคนบ้าและกีดกันเขาออกไปจากสังคมเหมือนทุกวันนี้”

จากวันแรกจนถึงวันนี้ ปฏิบัติการชุมชนกรุณา ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี แล้ว เราเริ่มเห็นการสนับสนุนของหน่วยงานท้องถิ่น เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงและเกิดการงอกงามขึ้นในหลายพื้นที่ และนั่นแสดงให้เห็นว่า ชุมชนกรุณา อาจเป็นทางออกหนึ่งให้กับสังคมไทยในอนาคต

“เราเชื่อเสมอว่าชุมชนกรุณาไม่ได้สร้างได้ในชั่วพริบตา แต่มันคือต้นทุนที่ต้องค่อย ๆ สร้างขึ้น เหมือนกับผีเสื้อขยับปีก ขอเพียงแค่มีใครสักคน ลงมือทำอะไรบางอย่าง สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้มันสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และสะเทือนไปถึงดวงดาวได้” คุณสุ้ยกล่าวด้วยรอยยิ้ม

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ