เมื่อโลกหลังความตายของชีวิตสามารถ ‘จำลอง’ ขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีแว่น VR (Virtual Reality)

ถ้าคุณพลาดการ ‘บอกลา’ ‘คนที่คุณรัก’ ในห้วงสุดท้ายของชีวิต จะดีแค่ไหนถ้าคุณได้โอกาสนั้นกลับมา…
จะรู้สึกอย่างไรหากคุณสามารถกลับไปคุยกับคนที่คุณ ‘คิดถึง’ ซึ่งเขาจากโลกใบนี้ไปแล้ว….
และคุณคิดเห็นอย่างไรหากโลกหลังความตายของชีวิตสามารถ ‘จำลอง’ ขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี….

ในปัจจุบัน ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องความก้าวล้ำนำหน้าด้านเทคโนโลยี ที่ไปไกลจนเราคาดไม่ถึง ไปไกลจนกระทั่งสามารถทำให้เราสื่อสารกับคนที่จากลาโลกนี้ไปแล้ว โดยการนำเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) ที่ใช้สำหรับ ‘ความบันเทิง’ มาสร้างเป็นตัวตนเสมือนจริงของ ‘คนที่จากไป’ เพื่อจะได้มีโอกาสร่ำลาคนที่รัก ‘เป็นครั้งสุดท้าย’

Nick Stavrou และ Steve Koutsouliotas นักออกแบบและวิศวกรชาวออสเตรเลีย ที่ทั้งคู่ต่างสูญเสียคนสำคัญของชีวิตไปอย่างไม่มีวันกลับ ทั้งสองคนจึงเสนอความคิดที่จะสร้าง ’โลกจำลอง’ ที่สามารถพูดคุยและโต้ตอบกับผู้ที่จากไปแล้วได้ โดยนำเสนอผลงานครั้งแรกในงาน Oculus’ Mobile VR Jam ที่จัดขึ้น ในปี 2015 โดยทั้งคู่พัฒนาโปรแกรมจำลองลักษณะนิสัยและหน้าตาคนที่พวกเขาคิดถึงด้วยเทคโนโลยีการออกแบบ 3 มิติ (3D) และปรากฏร่างกายอย่างสมบูรณ์ผ่าน แว่นเสมือนจริง VR พวกเขาเรียกโครงการนี้ว่า ‘เอลิเซียม’ (Elysium) หรือที่พวกเขาอธิบายว่าเป็น ‘โลกเบื้องหลังของคนที่จากไป’

“เราตั้งใจจะสร้างโอกาสที่หาได้ยากที่สุดคือ การได้พูดคุยกันครั้งสุดท้ายกับคนที่กำลังจะจากไป ถ้าคุณเป็นคนที่เคยผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น แปลว่าคุณเป็นคนที่โชคดีมาก แต่คนส่วนใหญ่ที่สูญเสียคนรัก ไม่เคยมีช่วงเวลาเหล่านั้นเลย นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาเยียวยาจิตใจ เพื่อช่วยเหลือคนที่ยังคงอยู่ในห้วงเวลาของการสูญเสียคนที่รักไป ให้สามารถปล่อยวางและก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้”

พวกเขาบอกว่าโครงการนี้ไม่ใช่การจำลองร่างกายขึ้นมาเพื่อเป็นชีวิตที่ 2 ให้กับผู้ที่จากไป แต่พวกเขาตั้งใจสร้างสถานที่สุดวิเศษที่ทุกคนสามารถ ‘พูดคุย’ หรือ ‘ระลึก’ ถึงผู้เสียชีวิต และตั้งใจให้เป็นสถานที่จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกโศกเศร้าที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป แต่ความคิดทั้งหมดนี้ก็กลายเป็นไอเดียที่ไม่ได้เดินหน้าต่อจนสุดทาง เพราะระหว่างการทำทั้งคู่มีความคิดที่เปลี่ยนไปในเรื่องของการรับมือกับ ‘ความโศกเศร้า’ จากการเสียบุคคลอันเป็นที่รัก แม้ว่าสิ่งที่สองคนเพื่อนรักพยายามปลุกปั้นขึ้น อาจยังไม่ได้เห็นผลลัพธ์ แต่ความคิดของพวกเขาก็ได้รับการต่อยอดและนำไปสู่การพัฒนาต่อให้เป็นความจริง

เมื่อต้นปี 2563 ช่องสถานีข่าว MBC ในเกาหลีใต้ นำเสนอเรื่องราวของ จาง จีซุง (Jang Ji-sung) คุณแม่ที่ต้องสูญเสียลูกน้อยในวัย 7 ขวบจากโรคร้าย ได้มีโอกาสกลับมาพูดคุยและโต้ตอบกับลูกของเธอได้อีกครั้ง ผ่านเทคโนโลยีแว่นเสมือนจริง VR ซึ่งบริษัทในเกาหลีใต้ได้นำความคิด VR ไปต่อยอด จนสามารถจำลองสร้างหนูน้อยวัย 7 ปี ให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งในโลกเสมือนจริง ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาและการแสดงอารมณ์บนใบหน้าที่นำมาจากรูปถ่าย คลิปเสียง และความทรงจำของคนในครอบครัว

เมื่อ จาง จี ซุง เข้าไปในโลกเสมือน และพบกับลูกสาววัย 7 ขวบ ที่มาปรากฏต่อหน้าเธออีกครั้ง ลูกสาวของเธอทักทายพร้อมกับส่งเสียงหัวเราะและเรียกเธอด้วยคำว่า ‘แม่เป็นยังไงบ้าง คิดถึงหนูบ้างไหม’ เธอเองก็เรียกหาลูกด้วยเสียงสั่นเครือพร้อมกับน้ำตาที่หลั่งออกมา บ่งบอกว่าเธอคิดถึงลูกสาวคนนี้มากแค่ไหน เธอนั่งคุยกับลูกสาวในสถานที่จำลองมาจากสวนหลังบ้านของครอบครัว ซึ่งกำลังจัดงานวันเกิดครบรอบปีที่ 7 ของลูกสาวที่ครอบครัวนี้ไม่ได้จัดขึ้น เธอและลูกได้เป่าเทียนวันเกิดร่วมกัน วินาทีเหล่านั้นกลายเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าต่อครอบครัวของเธอมาก จนน้ำตาแห่งความปลื้มปลิ่มไหลรินออกมาสะท้อนหัวอกคนเป็นพ่อและลูกๆ อีก 2 คน ที่เหลือของครอบครัวนี้

ลูกสาวที่จากไปของเธอได้แสดงความรู้สึกต่างๆ ออกมามากมายระหว่างการสนทนา และคำอธิษฐานของหนูน้อยวัย 7 ขวบ คืออยากให้คุณพ่อรักษาสุขภาพและเลิกสูบบุหรี่ และไม่อยากให้พี่น้อง 2 คนที่เหลือทะเลาะกัน และ ในช่วงสุดท้ายที่ต้องร่ำลากันอย่างตลอดกาล จาง จีซุง พาลูกน้อยของเธอเข้านอน และเดินพากันไป ลูกน้อยได้หันมาหาจาก จี ซุง แล้วพูดกับเธอว่า “แม่ทำหน้าตาเศร้าทำไมคะ แม่อย่าร้องไห้นะ ”และเธอก็ตอบไปด้วยความรู้สึกรักและคิดถึง เท่าที่คนเป็นแม่จะให้กับลูกคนหนึ่งได้ “แม่ขอโทษนะที่แม่ไม่สามารถก้าวข้ามมันไป แม่รู้ว่าแม่ยึดติดกับหนูมากจริงๆ แต่แม่รักลูกมาก วันนี้แม่พร้อมจะปล่อยลูกไปและเดินหน้าต่อเพื่อครอบครัว” ลูกน้อยจึงตอบกลับว่า “ตอนนี้ถึงเวลานอนของหนูแล้ว ลาก่อนนะคะ หนูรักแม่ค่ะ” และน้ำตาของทุกคนก็ไหลรินออกมาด้วยความปลื้มปิติ และนี่คือโอกาสที่เทคโนโลยี VR ได้หยิบยื่นช่วงเวลาอันสุดแสนพิเศษ ให้เธอได้บอกลากับลูกสาวเป็นครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงบนโลกออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่กล่าวถึงผลเสียของการพบเจอกับคนที่เรารัก ซึ่งจากไปในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว หรือแม้แต่การเข้าไปยุ่งกับความเศร้าที่เกิดจากการสูญเสียคนที่รักไป การใช้เทคโนโลยีเช่นนี้อาจเป็นดาบสองคม ซึ่งหากผู้ที่เข้าไปได้บอกลาครั้งสุดท้ายและพร้อมจะปล่อยมือจากความสูญเสียได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่หากทำไม่ได้ อาจทำให้โลกจำลองกลายเป็นโลกแห่งความจริงสำหรับพวกเขา และไม่ตั้งใจจะออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีก หนีไปอยู่ในโลกเสมือนจริงเพื่อเจอกับคนที่จากไป

ข้อถกเถียงนี้ ตรงกับสิ่งที่สองนักออกแบบและวิศวกร ที่เปลี่ยนความคิดหลังจากเดินหน้าโปรเจค ‘เอลิเซียม’ ไปได้ไม่นานและจำเป็นต้องหยุดโครงการนี้อย่างกะทันหัน พวกเขาคิดว่าช่องว่างของความเศร้าจากการสูญเสียบุคคลสำคัญไปนั้นไม่มีวันถูกเติมเต็มด้วยสิ่งจำลอง พวกเขากล่าวว่า อาจคิดผิดที่คิดว่าสามารถใช้เทคโนโลยีและสิ่งเหล่านี้เติมเต็มช่องว่างตรงนั้นได้

แล้วคุณล่ะ อยากให้ ‘คนที่คุณรัก’ และ ‘คิดถึง’ ที่จากไป ได้กลับมานั่งสบตา พูดคุยและโต้ตอบกันอีกครั้งในโลกเสมือนจริง หรือจะเก็บพวกเขาเอาไว้ในความทรงจำดีๆ ที่ชวนให้คิดถึงไปตลอดกาล

ป้ายกำกับ:,

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ