จัดการกับความรู้สึกด้วยวิธีแบบ “10 good things”

ในวันที่อ่อนล้าเราต่างโหยหาสถานที่ ผู้คน กิจกรรม ฯลฯ เพื่อผ่อนพักชาร์จพลังใจและกาย เป็นไปได้ไหมว่าเราทุกคนต่างมีขุมพลังนั้นอยู่ในตัวเรา ขอเพียงแค่เรารู้วิธีสะสมและเข้าถึงพลังนั้นได้ ในทุก ๆ วันใหม่เราก็จะตื่นมาอย่างพร้อมใช้ชีวิตได้อย่างสดชื่น

มนุษย์ต่างวัย FEST 2025 พาเพื่อน ๆ ร่วมเรียนรู้วิธีเติมพลังใจในเวิร์กชอป “ชาร์จแบตฯ ใจ วัย Midlife” โดยพันธมิตรจาก “ธนาคารจิตอาสา” คุณธีระพล เต็มอุดม ผู้อำนวยการธนาคารจิตอาสา และคุณโชติศักดิ์ กิจพรยังพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอบรมธนาคารจิตอาสา

เปิดห้องเรียนมาด้วยการทำความรู้จักกันเบื้องต้น Check – in ความรู้สึกที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในช่วงนี้ และความคาดหวังลึก ๆ ในใจ เพื่อนใหม่หลายคนสะท้อนว่า ช่วงนี้มีความรู้สึกอ่อนล้า เบื่อ หมดแรง.. บ้างแจกแจงเหตุผลว่าอาจเพราะตนเองทำสิ่งที่ค่อนข้างซ้ำเดิม วนเวียนอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิม หรือหลายคนแลกเปลี่ยนว่าอาจด้วยเพราะตอนนี้อยู่ในวัยเกษียณ ความรู้สึกสดชื่น ตื่นเต้น อย่างเช่นหนุ่มสาวหรือแววตาเป็นประกาย ดวงใจพองโต.. อาการแบบนั้นค่อย ๆ หดหายไปจากชีวิต

วิทยากรทั้งสองท่านชวนขบคิดในประเด็นแรกว่า “แล้วแต่ละคนมีวิธีออกจากความรู้สึกเบื่อ ๆ เหนื่อย ๆ หรือดูแลความเครียดในชีวิตนี้อย่างไรกันบ้าง ?.. “พยายามนอนให้หลับ, กินของอร่อย, นั่งสมาธิ, ล้างจาน, อ่านนิยาย, ไปเดินป่า, หางานทำ, ร้องเพลง, ชงชา, ทำสวน…ฯลฯ” สารพัดวิธีที่ทุกคนตอบ เมื่อหมดรอบการแลกเปลี่ยน คุณโชติศักดิ์ก็เปิดประเด็น “เครื่องมือการฟื้นคืน ( Resilience )” ยกตัวช่วยอย่าง “10 good things” ชวนผู้เข้าร่วมบันทึกสิ่งดีงามที่เพิ่งพบเจอในระยะเวลา 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา

10_good_things

การจดบันทึกความรู้สึกดี 10 ข้อ ที่เกิดขึ้นมาในแต่ละวันในช่วงเวลาก่อนนอน.. คุณโชติศักดิ์ เปรียบชีวิตคนเราคือลูกบอล ลูกบอลที่ดีเมื่อเจอวัตถุหรือแรงกระแทกก็มักจะกระเด้งได้สูงหรือมีแรงดีดตัวอยู่มาก ไม่เหี่ยวเฉาหรือฟีบแฟบกองอยู่กับพื้น เช่นเดียวกับชีวิตคนเราเมื่อเจอความเครียด หากเรามีพลังเต็มเปี่ยมอยู่ภายในตัวเอง เราก็จะก้าวข้ามความเครียดหรือปัญหานี้ไปได้ง่ายดาย โดย “10 good things” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยให้เราเติมลมเพิ่มพลังในตัวเรานั่นเอง

“เติมลมให้บอลของเรา หยดน้ำให้ต้นไม้ของเรา”

คุณธีระพล เสริมว่าความรู้สึกดี ๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องมาจากสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แม้เรื่องราวเล็กน้อยทว่ามีคุณค่ากับใจเราหรือก่อความสุขแก่เราก็เป็นอันใช้ได้ อย่างเช่น การได้เม้าท์มอยกับเพื่อนบ้าน, การที่ลูกตอบไลน์, การทักทายขอบคุณจากคนขับแท็กซี่ ฯลฯ สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ถือเป็นอีกพลังที่เข้ามาเติมใจเราได้ ก่อนชวนคิดไปว่าปกติก่อนนอนคนเรามักเลือกคิดแต่เรื่องที่ยังเป็นห่วง กังวล งานที่ยังไม่เสร็จ หรือสิ่งที่รู้สึกว่าอยากแก้ไขปรับปรุงต่อไป ความรู้สึกสะสมเหล่านั้นจะค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นความอ่อนล้าขึ้นมาในตัวเรา

กลับกันหากเราหมั่นคิดถึงความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แม้เล็กน้อยก็ตาม โดยย้ำว่าเมื่อคิดแล้วให้เราลองมือจดบันทึกสั้น ๆ เพื่อซึมซับดื่มด่ำกับความรู้สึกนั้น ความรู้สึกดี ๆ เหล่านี้จะกลายเป็นลมน้อย ๆ ที่ทยอยเติมเต็มลูกบอลของเรา กลายเป็นหยดน้ำเล็กจ้อยที่คอยรดพรมต้นไม้ชีวิตของเราให้งอกงาม และคุณธีระพลย้ำว่าเครื่องมือ “10 good things” ไม่ใช่สิ่งที่มีไว้เพื่อเผชิญปัญหาเฉพาะหน้าในขั้นวิกฤติ ทว่าเป็นเครื่องมือที่มีไว้สะสมทุน คอยเติมพลังให้ใจเราได้เติบโตเข้มแข็งอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ทีมชีวิต

ไปต่อกับการเครื่องมือ “ทีมชีวิต” ที่ชวนเราสำรวจคนสำคัญ หรือ “คนที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว เราไม่ได้โดดเดี่ยวบนโลกใบนี้” คุณโชติศักดิ์ เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการฉายภาพการทำงานเป็นทีมของ ‘ทีมฟุตบอล’ เขาเปรียบเทียบว่าในชีวิตคนเราก็มีทีมเช่นนี้อยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่คอยเคียงข้างชิดใกล้ หรือแม้คนที่อยู่ห่างไกลทว่าก็ต่างคอนสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้เราเดินต่อกับชีวิตได้อย่างไม่รู้สึกโดดเดี่ยวนัก ในเครื่องมือนี้จะช่วยเราหาคนสำคัญในชีวิตจาก 4 ข้อสังเกตด้วยกัน คือ

1. คนที่ช่วยเหลือเรา สนับสนุนในชีวิตประจำวัน เช่น แม่ เพื่อนที่ทำงาน   

2. คนที่เรานึกถึงเวลายากลำบาก เช่น แฟนหรือเพื่อนที่มักนึกถึงเมื่อเจอปัญหา

3. คนที่ทำให้เราสนุกผ่อนคลาย ได้พัก เช่น เพื่อนที่เราอยู่ด้วยแล้วเราสามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่

4. คนที่มีความสำคัญนอกจาก 3 ข้อนี้ เช่น คุณลุงยามที่ทักทายช่วยเหลือเราตลอด

เสียงสะท้อนบางส่วนหลังทุกคนได้ลองค้นหาทีมชีวิตของตนเอง

“หลังทำได้ทบทวน และรู้สึกว่าจริง ๆ แล้วใครกันที่มีความสำคัญกับชีวิตเราในแต่ละวัน..”

“รู้สึกว่าทำไมเรามีทีมแบบนี้น้อยจังเลย อาจเพราะเรามักจะคิดว่าเราต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ เราจึงเหลือคนในชีวิตน้อยลงหรือเปล่า..”

“เมื่อกี้ลืมเขียนชื่อแฟนลงไปเลยค่ะ มันสะท้อนบางอย่าง คิดว่าเราคงต้องกลับไปทำงานกับความสัมพันธ์นี้ต่อแล้ว (หัวเราะ)” ฯลฯ

เมื่อได้รายชื่อสำคัญเหล่านี้ วิทยากรทั้งสองท่านจึงชวนเราสำรวจต่อไปว่า “แล้วตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา เรายังติดต่อกับคนสำคัญเหล่านี้อยู่หรือไม่ ?” หลายคนอมยิ้ม บางคนคิ้วขมวด เหมือนนึกขึ้นได้ว่ากำลังละเลยสิ่งสำคัญไป และคนสำคัญเหล่านั้นก็กำลังจางหายไปจากชีวิต วิทยากรชวนคิดต่อ เมื่อเรารู้แล้วว่าเขาสำคัญ เราก็อย่าปล่อยให้ความเฉยชาละเลยเกิดขึ้นอีกต่อไป ชวนเราทุกคนติดต่อสัมพันธ์กับ #ทีมชีวิต นี้ไว้อย่างต่อเนื่อง เพราะเขาเหล่านั้นเปรียบได้กับทรัพยากรที่เป็นคลังพลังชีวิตของเรา และเช่นเดียวกันตัวเราเองก็อาจเป็นหนึ่งใน “ทีมชีวิต” ที่ช่วยเสริมพลังชีวิตแก่เขาเหล่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้เราต่างคนต่างหายไปจากกันละกันอย่างไม่รู้สึกตัว

“พอเราคิดว่าเราทำอะไรได้ด้วยตัวคนเดียว เราจะมีลมประเภทเดียวอยู่ในลูกบอล แต่ถ้าเรามีทีมชีวิต เราจะมีลมหลายประเภทอยู่ในลูกบอล แม้จะมีอย่างละนิดหน่อย แต่เมื่อรวมกันก็เปี่ยมพลังได้ และเราเองก็อาจเป็นคนในทีมของเขาด้วยเช่นกัน ให้หมั่นรักษากันและกันไว้” คุณโชติศักดิ์กล่าวเสริม

ส่งท้ายห้องเรียนด้วยการขยายเรื่องราวของ “เครื่องมือการฟื้นคืน ( Resilience )” คุณธีระพลเสริมว่าในสิ่งที่มนุษย์เราควรฟื้นคืนรักษานั้นมีด้วยกันหลายมิติ ได้แก่ มิติร่างกาย มิติอารมณ์ มิติความคิด (ดูแลด้วย 10 good thing) มิติสังคมแวดล้อม (ดูแลด้วยทีมชีวิต ) และมิติทางจิตวิญญาณ  ในวันนี้เราได้รู้จักสองเครื่องมือที่จะช่วยเราดูแลสองมิติด้วยกันแล้ว ขอให้เราหมั่นทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่แบตเตอรี่ชีวิตของเราจะยังคงเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ

บรรยากาศห้องเรียนขณะนี้ต่างจากเมื่อช่วงเริ่มต้น ทุกคนมีรอยยิ้มแต่งแต้มใบหน้า บางคนบอกหัวใจเขาแย้มผลิบานมากขึ้นจากการรับฟังเรื่องราวของเพื่อนใหม่ แม้เป็นการนั่งฟังอยู่นิ่ง ๆ ไม่พูดอะไรก็คล้ายว่าเขาเองกำลังรับการเติมพลังใจอยู่ ขณะที่หลายคนก็ตั้งใจว่าเขาจะนำวิธีที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ที่กลับไปใช้และแบ่งปันกับคนสำคัญในชีวิตจริง

ติดตามเรื่องราว “เครื่องมือการฟื้นคืน ( Resilience )” ได้ที่นี่

และเรื่องราวเติมพลังใจดีดีในเพจ “ความสุขประเทศไทย”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ