เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่สร้างความ Toxic ต่อคนรอบตัว คุยกับ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน

ในยุคที่ความต่างของ “วัย” เป็นปัญหาใหญ่ของการสื่อสาร แนวคิดบวกในการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างวัยจึงสำคัญ . มนุษย์ต่างวัย Talk คุยกับ “เฮียวิทย์” หรือ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เรื่อง “การสร้าง Prime Time ให้ชีวิตด้วยแนวคิดบวก” และการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ตั้งใจจะไม่สร้างความ Toxic ต่อคนรอบตัว

“คนทุกคนไม่แคร์หรอกครับว่าวัยไหน เขาแคร์ว่านิสัยเราเป็นยังไง ผมทำงานกับเด็ก เขาถามผมว่า เฮียครับทำไมเวลาเราทำสคริปต์ต้องผิดไม่ได้ ทำไมผู้ใหญ่เขาใส่ใจเรื่องการเขียนชื่อผิดชื่อถูกกันมากนะครับ ?

ถ้าเราตอบแบบผู้ใหญ่โบราณก็อาจโพล่งออกไปเลยว่า “เขียนแค่นี้ยังผิดอีกเหรอ เอาสมองไปไว้ไหน !” ผมก็คิดถึงตอนที่เป็นเด็ก เราชอบไหมครับ ?

ซึ่งผมเองก็เคยถามคำถามนี้กับคนหลายคน ผู้ใหญ่ท่านก็บอกว่าวิทย์การเขียนผิดน่ะ ถ้าคุณจำแล้วคุณยังจำได้ไม่แม่นยำ แล้วสิ่งที่คุณวิเคราะห์เขาจะเชื่อคุณไหมล่ะครับ ผมก็อธิบายให้เด็กเขาฟังแบบนี้ มันเป็นการบอกว่าเรามีความแม่นยำขนาดไหน เป็นการบอกคุณภาพของเรา เราผิดได้แต่ความน่าเชื่อถือของเรามันจะถูกกัดกร่อนไปเรื่อย ๆ”

“ผมเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือ บางครั้งผู้ใหญ่ใช้วิธีแบบเดิม เด็กทำพลาด เราก็ด่าทอโดยที่ไม่บอกเหตุผลว่าทำไม ใช่ไหมครับ ? ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่อง Generation ผมมองเป็นเรื่องบุคลิก เวลาเราอายุมากขึ้น เราจะเห็นเรื่องง่าย ๆ ที่เด็กพลาด ถ้าสวมหมวกแบบคนอายุมากนะเราจะคิดว่า “มึงพลาดได้ไงวะ” แต่ถามว่าตอนเราเป็นเด็ก เราเคยพลาดไหม ก็เคย แล้วจะไปด่าเด็กมันทำไม ทำอย่างนั้นเราก็ไม่แฟร์กับเขา เราก็ทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ที่เราเกลียดนั่นแหละ เราต้องถอยกลับมา เพราะเวลาเราอายุมาก เราจะเห็นงานบางอย่างเป็นเรื่องง่ายมาก แต่เด็กเขาไม่ได้ง่ายเหมือนที่เราเห็นครับ”

“บางอย่างผมไม่รู้ ผมก็ถามน้อง เฮ้ย คำว่า ‘อัลกอริทึม’ แปลว่าอะไรนะ ? เวลาที่เขาวัดว่าคนนี้มียอดวิวสูงในนั้นมันมีตั้งหลายแพลตฟอร์ม Youtube, Spotify, Apple podcast เขาวัดจากแพลตฟอร์มไหนหรือเขารวมกันนะ ? อะไรที่ผมไม่รู้ น้องมันก็อธิบายให้ผมฟัง เราก็เปิดโลกกันคนละใบ ผมเชื่อครับว่าถ้าเรามีความเคารพให้กันและกัน เด็ก ๆ เขาก็มีองค์ความรู้ของเขา เรามีองค์ความรู้ของเรา ที่สำคัญคือต้องสื่อสารกันดี ๆ”

“ตอนผมทำอยู่ที่บริษัทต่างประเทศ ผมเจอวิธีการทำงานของผู้ใหญ่บางคน บทเขาแรงเขาด่า แต่เขาด่าแบบปรารถนาดี บางคนเดินมากอดคอผม เขาบอก ขอบอกอะไรอย่างนะ.. “มึงแม่งคิดโคตรน้อยเลยว่ะ” แต่เรารู้เลยว่าเขาปรารถนาดี แต่บางคนเราสัมผัสได้เลยว่าไอ้นี่ปรารถนาไม่ดี ผมเชื่อถ้าเราปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เปิดใจซึ่งกันและกันก่อนมาคุย ผมเชื่อว่าการสื่อสารไม่ใช่เรื่องยากเกินไป”

“การปรับตัวให้เข้ากับ Generation ผมว่ามันไม่ยากหรอกครับ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่พื้นฐานมาก ผมขอย้อนกลับไปสมัยที่ผมเรียนที่อังกฤษ บทเรียนแรกเลยนะคือบทเรียนที่อาจารย์ฝรั่งถามผมว่า วิทย์ คุณพูดภาษาอังกฤษได้หรือเปล่า คือ ภาษาอังกฤษผมห่วยมาก อาจารย์ถาม “Wit, Can you speak English ?” ผมตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า “Yes, I can speak but I can’t listen” คือ แปลว่ากูพูดได้นะเว้ย แต่กูฟังไม่รู้เรื่อง เขาพูดกับผมเลยบอกว่า “อิปิคเตตัสนักปราชญ์ชาวกรีกพูดว่าถ้าพระเจ้าให้ท่านมา 2 หูและ 1 ปาก แสดงว่าท่านต้องฟังมากกว่าพูดเป็น 2 เท่า” แต่บางครั้งเราเลือกที่จะพูด ๆ ๆ แล้วเราไม่ฟังเขาเท่านั้นเอง”

“ผมเลยบอกว่าเรื่องของการอยู่กับใครก็ตาม เราเจอเด็กปั๊ปเราฟังเขาพูด อันไหนตามไม่ทัน ไม่ต้อง Ego เยอะครับ ไม่รู้บอกไม่รู้ เพราะถ้าแสร้งว่ารู้แล้วชิบหายครับ ผมใช้หลักการแบบนี้ แล้วเวลาผมเจอผู้ใหญ่ ทำไมผู้ใหญ่บางคนพอเขาพูดไม่รู้ แล้วมันดูเท่ชิบหายเลย แต่ผู้ใหญ่บางคนพูดว่ากูรู้ทุกอย่างแล้วดูโง่ไปเลยครับ”

Credits

Author

  • บุษกร รุ่งสว่าง

    Creativeประสบการณ์งานสถานีโทรทัศน์ งานครีเอทีฟ และผู้ช่วยผู้กำกับ ปัจจุบันกลับมาอยู่บ้าน พักใจกาย และทำงานเกี่ยวกับประเด็นสิ่งเเวดล้อมและการคืนถิ่น

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ