‘เตรียมตัวตาย’ บทสนทนาเรื่องความตายที่ไม่สิ้นหวัง

โทรทัศน์จะมีช่วงไพรม์ไทม์ (Primetime) หรือเวลาทองที่สามารถทำเรตติ้งได้ดีกว่าเวลาอื่นๆ เช่นเดียวกับการพูดคุยวางแผนเรื่องการเตรียมตัวตาย ก็มีช่วงเวลาที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดเช่นกัน นั่นก็คือ “วัยเตรียมเกษียณ” เหตุผลเพราะอะไร ทำไมต้องเป็นวัย(เตรียมตัว)เกษียณ มนุษย์ต่างวัยพาทุกคนไปพูดคุยกับ ‘คุณสมาร์ท-เอกภพ สิทธิวรรณธนะ’ หนึ่งในทีมงานอบรม ‘กระบวนกรชุมชนสำหรับผู้เตรียมเกษียณ ปี 2565’ ที่จะพาเราเข้าไปอยู่ในวงสนทนาเรื่องการเตรียมตัวตายของวัยเตรียมเกษียณ การวางแผนล่วงหน้าที่จะช่วยให้ช่วงสุดท้ายของชีวิต ‘เบาใจ’ ขึ้น

เวลาทองของการพูดคุยเรื่องการเตรียมตัวตายที่ดีที่สุด

“จริงๆ แล้ว การพูดคุยวางแผนการดูแลในช่วงท้าย หรือการเตรียมตัวตายนั้น สามารถทำได้ทุกช่วงวัย เพราะทุกชีวิตล้วนอยู่บนความไม่แน่นอนด้วยกันทั้งสิ้น พรุ่งนี้เราอาจประสบอุบัติเหตุ หรือตรวจพบโรคร้ายที่รักษาไม่หาย คุณอาจอยู่ในอาการโคม่า ต้องทำการรักษาแบบประคับประคองไปอีกชั่วเวลาหนึ่ง แต่แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้หากยังไม่เคยเผชิญกับตัวเอง การวางแผนก็อาจยังไม่สำคัญและเร็วเกินไป ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรเพราะการจะพูดคุยเรื่องนี้ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้น ควรทำโดยการสมัครใจ

“แล้วช่วงไหนกันที่เหมาะจะคุยเรื่องนี้ จากการพูดคุยกับทีมที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องการวางแผนล่วงหน้า หรือเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงวัย และเมื่อถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตที่อาจต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่ หรือต้องเข้ารับการรักษา แบบประคับประคองนั้น มีผู้ป่วยกว่า 80% ที่ไม่มีการวางแผนการรักษา หรือการเตรียมตัวตายล่วงหน้า มาก่อนเลย มิหนำซ้ำบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการพูดคุยเรื่องนี้อยู่ด้วย จึงทำให้การรักษาทำได้โดยวิธีการเดาใจจากญาติ ร่วมกับความเห็นทางการแพทย์ ซึ่งการตัดสินใจนั้นก็อาจไม่ใช่ความต้องการของผู้ป่วยจริงๆ เมื่อไม่มีการวางแผนล่วงหน้า หลายๆ ครอบครัวจึงต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากจะก้าวข้ามได้ ดังนั้นการวางแผนจึงต้องถอยมาที่วัยก่อนเกษียณจึงจะดีที่สุด”

 เตรียมตัวตายตอนเตรียมตัวเกษียณ

“ช่วงที่กำลังจะเกษียณ เป็นช่วงชีวิตที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องเงิน เรื่องความเป็นอยู่ กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปแบบสิ้นเชิง แม้กระทั่ง นาฬิกาชีวิตที่คุ้นเคยมานานนับสิบๆ ปี ก็อาจต้องหมุนคืนกลับมาตั้งหลักวางแผนกันใหม่”

“เราเลยควรใช้โอกาสนี้ในการคิดวางแผนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตเพิ่มเข้าไปด้วย เรียกว่าถือโอกาสเฮไปตามๆ กัน ขณะที่กำลังถามตัวเองว่าชีวิตหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อดี เราแค่คิดยาวไปไกลถึงวันสุดท้ายของชีวิต ที่กำลังใกล้เข้ามาทุกที ก็ถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ควรทำไม่ใช่หรือ”

“เหตุผลอันดับแรกที่ทำให้วัยเตรียมเกษียณหันมาพูดคุยวางแผนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตมากขึ้น แถมเป็นการวางแผนที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีและมีคุณภาพด้วย คือทุกคนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพกันแล้ว ยิ่งกว่านั้นคือ บางคนเริ่มมีสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตนเอง ทำให้ภาพวันสุดท้ายของชีวิตนั้นชัดเจนขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังมีอีกหลายเหตุผล เช่น เพื่อนๆ วัยเดียวกันเริ่มลาจากโลกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเองต้องเข้า-ออก โรงพยาบาลบ่อยขึ้นกว่าเก่า หรือแม้กระทั่งลูกหลานเริ่มรู้สึกว่าพ่อแม่แก่ลงกว่าเดิมเยอะมาก เรื่องดราม่าเหล่านี้ได้กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนวัยเตรียมเกษียณเริ่มคิดถึงการวางแผนชีวิตช่วงสุดท้ายล่วงหน้า มากกว่าคนวัยอื่น”

 ‘กระบวนกรชุมชนสำหรับผู้เตรียมตัวเกษียณ’ วงสนทนาเรื่องความตาย ที่ไม่สิ้นหวัง

“งานอบรมนี้เริ่มจากปัญหาภาวการณ์ดูแลสุขภาพช่วงท้ายในปัจจุบัน ที่หลายฝ่ายต้องเผชิญกับปัญหามากขึ้น อย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้ป่วยไม่มีการวางแผนดูแลไว้ล่วงหน้า สุดท้ายแล้วการรักษาหรือการดูแลได้กลายเป็น อุปสรรคทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง ลูกหลาน   และทีมแพทย์พยาบาลที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อเราสื่อสารกับผู้ป่วยยาก เขาไม่สามารถบอกความต้องการที่แท้จริงได้ ฝั่งญาติเองก็หนักใจกับการตัดสินใจของตนเอง ส่งผลให้มวลบรรยากาศของการทำงานจึงเต็มไปด้วยความสับสน ความทุกข์ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ป่วยทุกคน ล้วนไม่อยากให้ตนเองหรือคนที่เรารักตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ การยื้อชีวิตโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ ไม่ได้ส่งผลเสียเพียงแค่ผู้ป่วยจะทรมานจากพันธนาการของอุปกรณ์ยื้อชีวิตเท่านั้น แต่อุปกรณ์การแพทย์นั้น ก็อาจจะมีไม่เพียงพอกับการรักษาผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้มากกว่า”

“การอบรมกระบวนกรในครั้งนี้ ถูกออกแบบให้เป็นการพูดคุย แลกเปลี่ยนกันในกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้เข้าใจถึงการดูแลรักษาแบบประคับประคองในช่วงท้ายว่าเป็นอย่างไร มันไม่ใช่การปล่อยให้อาการแย่ลงไปเรื่อยๆ จนคนไข้ทนไม่ไหว แต่มันเป็นกระบวนการที่ใส่ใจคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่สุดกระบวนการหนึ่งเลย

“รวมถึงแนะนำถึงการวางแผนช่วงท้ายอย่างละเอียด ทำให้ผู้อบรมเข้าใจว่าการวางแผนเรื่องนี้ ทำให้เรามี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ในการอบรมเราจะนำทุกคนเข้าไปสำรวจตัวเอง ว่าคุณค่าที่เราให้ความสำคัญจริงๆ แล้วคืออะไร เราพบว่าในงานอบรมการคุยเรื่องการเตรียมตัวตายนั้นง่ายกว่าการไปเริ่มต้นคุยกับครอบครัว กับคนใกล้ตัว หรือการทำคนเดียว เพราะมันมีพลังที่เรียกว่า ‘พลังกลุ่ม’ มาช่วย”

“ในประเด็นการพูดคุยก็หลากหลาย ทั้งเรื่องการรักษา เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องสุขภาพ อาหารช่วงท้าย หรือมื้อสุดท้าย ไปจนถึงความต้องการสุดเพ้อฝันที่อยากให้ดาราคนไหนมาเยี่ยม ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราชวนคุยกัน ต้องเรียกว่ามันเป็นบรรยากาศที่พร้อมสำหรับพูดคุยเรื่องนี้ ถึงเราจะชวนคุยเรื่องความตาย มันไม่ใช่ความตายอย่างเดียวมันมีชีวิตอยู่ด้วย คนที่ไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องอะไร หรือสับสนว่าต้องเปิดเผยมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถพกอารมณ์เหล่านั้นมาได้ เพราะว่าการพูดคุยมันมีความจริงใจ จริงแท้ต่อ ประเด็นนั้นๆ ทุกคนจะช่วยกันรับฟังอย่างเข้าใจ”

“ผู้เข้าร่วมจะรับรู้ว่าเขาสามารถเข้าใจตัวเองมากขึ้นจากการแบ่งปันเรื่องราวออกมา รวมถึงสามารถเห็นแง่มุม จากความคิดของผู้อื่นในการพูดคุย สะท้อนกลับมาที่ตนเองและเกิดประโยชน์กับตนเองมหาศาล”

 การ ‘ตายดี’ สัมพันธ์กับการวางแผนล่วงหน้าที่ดี

“การตายดีสัมพันธ์กับการอยู่ดี การอยู่ดีนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการวางแผนช่วงท้ายที่ดี เมื่อเราเริ่มชัดเจนกับภาพสุดท้ายของเราแล้ว เราจะรู้ว่าชีวิตเรานั้นมีเวลาจำกัด เราเหลืออยู่เท่านี้ ทำให้เรารู้สึกว่าอยากตัด เรื่องราวบางอย่างที่รบกวนใจออกไป เพื่อที่จะปล่อยวางได้มากขึ้น และไม่ใช่แค่เราที่เบาใจขึ้น แต่คนในครอบครัวก็จะเริ่มเห็นคุณค่าของการอยู่ด้วยกัน ให้ความรักและดูแลความสัมพันธ์กันมากขึ้น การมีความสัมพันธ์ที่ดี ได้พูดคุย แบ่งปัน ดูแลเอาใจใส่กัน ย่อมเป็นการเตรียมตัวที่ดีสำหรับวันสุดท้ายของชีวิตอย่างแน่นอน”

“เราอยู่กับความเป็นความตาย แต่ไม่ใช่ความสิ้นหวัง แน่นอนว่าถึงคราวจริงๆ มันอาจจะยังยาก แต่มันจะง่ายกว่าการที่เราไม่เคยได้พูดคุยหรือวางแผนกันแน่นอน เราอาจสู้กับธรรมชาติไม่ได้ เราอาจรักษาอาการให้หายไม่ได้ แต่การประคับประคองให้เขาอยู่สบาย ไปสงบนั้น เราคาดหวังผลได้แน่นอน ทุกคนจึงควรต้องมีการเตรียมตัวสำหรับการจากไป”

‘กระบวนกรชุมชนสำหรับผู้เตรียมเกษียณ’ จัดขึ้นโดยทีมงาน ‘ Peaceful Death ’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมนักสื่อสารสุขภาวะในสังคมไทย โครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี การเตรียมตัวตายอย่างมีสุขภาวะสำหรับผู้ที่เตรียมเกษียณ มีสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ตอนนี้มีผู้เข้าอบรมจำนวน 25 คน ตลอดระยะเวลา 3 อาทิตย์ แต่ละคนได้แลกเปลี่ยนบทสนทนาเรื่องชีวิตและความตายร่วมกันด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร รวมถึงได้เข้าใจวิธีการใช้เครื่องมือเกมไพ่ไขชีวิต และการเขียนสมุดเบาใจ ผ่านประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งในอนาคตกลุ่มคนเหล่านี้สามารถชวนครอบครัวหรือผู้อื่นวางแผนสุขภาพล่วงหน้าเพื่อการอยู่ดีและตายดีได้

ใครที่กำลังสนใจเรื่องการเตรียมตัวตาย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ peacefuldeath .co/compassionatecommunities/  

หรือสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับกิจกรรมการวางแผนล่วงหน้าได้ที่นี่ คลิกลิงก์ : www.facebook.com/peacefuldeath 2011

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ