‘ตะกร้าผักสุ่ม’ โปรเจกต์ขายผักออนไลน์ช่วงกักตัว ที่ก่อตัวเป็นธุรกิจเล็กๆ ในชุมชน จังหวัดน่าน

นอกจากทำงานแล้ว คุณทำอะไรกันบ้างในช่วงโควิด -19 ที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน

มนุษย์ต่างวัยขออาสาพาคุณไปทำความรู้จักกับ ‘ตะกร้าผักสุ่ม’ โปรเจกต์ขายผักออนไลน์ช่วงกักตัวที่เริ่มต้นจากความรักและความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูกในวันที่ต้องอยู่ห่างกัน ระหว่าง คุณยายเยาวลักษณ์ ประสพสิน วัย 68 ปี และ นัชญ์ ประสพสิน ลูกสาววัย 39 ปี โปรเจกต์นี้ช่วยเปลี่ยนความเหงาช่วงโควิด- 19 ให้เป็นพื้นที่ของความสุขเล็กๆ และยังสร้างรายได้ให้กับผู้สูงวัยและลูกหลานในชุมชนหมู่บ้านดอนสบเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน

เหตุเกิดจากความห่วงใยในวันที่ห่างกัน

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของโควิด-19 คุณยายเยาวลักษณ์ใ ช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขกับหลานแมวกว่า 22 ตัว การดูแลแมวเหมือนดูแลลูกหลานแท้ๆ เป็นกิจวัตรประจำวันของคุณยาย เนื่องจากลูกสาวไม่มีครอบครัว แต่มีลูกคือแมวที่รับมาเลี้ยงด้วยความรักและความเมตตา คุณยายจึงรับบทเป็นยายของบรรดาหลานแมวนับตั้งแต่นั้นมา

แต่เมื่อโควิด-19 ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่สีแดง เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของแม่ ลูกสาวจึงตัดสินใจ ส่งคุณยายเยาวลักษณ์กลับไปอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นการกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดอีกครั้งในรอบ 40 ปี

“ด้วยความที่แม่อายุมากแล้วและเรายังต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เราจึงตัดสินใจให้แม่กลับไปอยู่ที่น่านเพื่อหลบโควิด-19 ตอนแรกตั้งใจว่าจะให้แม่ไปอยู่แค่ 2 สัปดาห์ แต่เพราะสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง แม่ยังกลับมากรุงเทพฯ ไม่ได้ เราเองก็เดินทางไปหาแม่ไม่ได้ กลายเป็นว่าแม่ก็อยู่ที่น่านยาวมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564

“ช่วงแรกแม่บ่นเหงามาก วันๆ นั่งดูทีวี กินข้าว อาบน้ำ แล้วก็เข้านอน จากคนที่เคยมีสัตว์เลี้ยงชุบชูใจ มีกิจกรรมทำระหว่างวัน ต้องกลายเป็นผู้สูงอายุที่อยู่แต่กับบ้าน ไม่ได้ขยับตัวทำอะไร พอสถานการณ์ที่กรุงเทพฯ ยอดผู้ติดเชื้อเริ่มสูงขึ้นทุกวัน ด้วยความที่แม่เป็นห่วงเรามาก ไม่อยากให้เราออกไปจ่ายตลาด ทุกอาทิตย์แม่เลยออกไปช่วยคุณป้ากับคุณน้าเก็บผักผลไม้ริมรั้วในสวนหลังบ้านส่งไปรษณีย์มาให้เรากิน

“แม่ส่งจนไปรษณีย์เห็นว่าแม่เป็นลูกค้าประจำ เขาก็เลยอาสาเป็นคนขับรถมารับผักของแม่ถึงหน้าบ้านทุกอาทิตย์เพื่อจัดส่งให้ เพราะเห็นว่าแม่อายุมากแล้ว ซึ่งการขนส่งใช้เวลาเพียงวันเดียวเท่านั้น โดยทุกครั้งที่ของมาถึง ก่อนเปิดกล่องเราจะลุ้นเสมอว่าอาทิตย์นี้แม่จะส่งผักอะไรมาให้กินบ้าง เพราะแต่ละครั้งที่แม่ส่งมา ผักเอย ผลไม้เอย ไม่เคยซ้ำกันเลย ตอนหลังแม่เริ่มสนุกกับการเข้าสวนไปเก็บผัก ไม่นานก็เปลี่ยนสถานะจากคนเก็บผักมาเป็นคนปลูกผักเองด้วย

บ้านตัวอย่างด้านการปลูกผัก

“หมู่บ้านของแม่อยู่ติดกับภูเขา มีลำน้ำน่านไหลผ่าน คนในชุมชนส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก มีการทำ MOU ร่วมกัน คือไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก

“แม่เล่าว่านับตั้งแต่ที่แม่เริ่มปลูกผักเอง โดยมีคุณน้ากับคุณป้าปลูกนำร่องอยู่ก่อนแล้ว แม้พื้นที่เพาะปลูกของบ้านเราจะไม่ใหญ่มาก ไม่ได้เป็นการทำเกษตรแปลงใหญ่แบบจริงจัง เป็นแค่ที่ดินผืนเล็กๆ หลังบ้าน แต่เพราะ ที่ดินของเราติดกับแม่น้ำน่าน ทำให้ดินตรงนั้นเป็นดินดอน ปลูกอะไรก็งอกงาม ผลดก ก้านโต แถมยังปลอดสารเคมี แม่ภูมิใจในผักของเขามาก คนในชุมชนที่ผ่านไปมาก็แวะชมว่าบ้านนี้ปลูกผักได้สวย เรียกได้ว่าบ้านนี้เป็นบ้านตัวอย่างของการปลูกผักในหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ แล้วก็เป็นธรรมดาของผู้สูงอายุเวลาที่พอได้รับคำชม เขาก็ยิ่งแอ็กทีฟ อยากจะเข้าสวนไปปลูกผัก ดูแลผักทุกวัน

“นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ สวนผักที่แม่และพี่น้องช่วยกันปลูกเต็มไปด้วยพืชผักนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟักทอง มะเขือเทศ มะเขือม่วง กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ บรอกโคลี ผักสลัด ผักบุ้ง ผักชี อัญชัน และอีกสารพัดผัก นอกจากผักแล้ว ในพื้นที่เดียวกันก็ยังมีผลไม้ตามฤดูกาลที่คอยออกผลให้เก็บกิน เช่น แก้วมังกร ลำไย เสาวรส อะโวคาโด เรียกได้ว่าแต่ละวันเก็บผลผลิตในสวนกินกันไม่ทัน ส่งมาให้เราก็แล้ว แบ่งปันเพื่อนบ้านก็แล้ว ก็ยังเหลือให้กินต่อได้อีกหลายวัน”

‘ตะกร้าผักสุ่ม’ แม่ปลูก ลูกขาย

“ก่อนหน้านี้เรากับแม่ยังไม่ได้นึกถึงการทำธุรกิจอะไรจากผักที่ปลูก จนช่วงที่กรุงเทพฯ เข้าสู่ช่วงล็อกดาวน์ แม่เกิดเป็นห่วงไปถึงเพื่อนๆ ของเราขึ้นมา กลัวจะไม่มีของดีๆ กินกัน เพราะมีข่าวว่าคนเริ่มกักตุนอาหาร เขาเลยอยากแบ่งปันผักไปให้เพื่อนๆ เรากินด้วยแบบฟรีๆ พอเราเอาไปบอกเพื่อนในกลุ่มว่าเดี๋ยวแม่จะส่งผักมาให้กินนะ เพื่อนๆ ก็สนใจ แต่ไม่ยอมให้แม่ส่งมาฟรีๆ บอกให้คิดเงินมาด้วย เราก็เลยเกิดไอเดียชวนแม่มาลองทำขายดู เพราะมีคนสนใจเยอะ แต่ก่อนจะทำขายจริงๆ จังๆ เรากับแม่ช่วยกันหาวิธีส่งไปรษณีย์ให้ผักยังสดใหม่อยู่เสมอเมื่อไปถึงมือลูกค้า เพราะช่วงนั้นการขนส่งเริ่มล่าช้า ไม่เหมือนช่วงแรกๆ ที่แม่ส่งให้เรา ตอนนั้นส่งวันเดียวก็ถึง

“ความที่แม่สนิทกับไปรษณีย์อยู่แล้ว แม่จึงไปขอความรู้จากเขา เขาก็แนะนำมาว่าต้องใช้วัสดุที่มีรูระบายห่อผัก แม่ก็ทดลองทำตาม เอาผักใส่ถุงพลาสติกที่เจาะรูแล้วส่งมาให้เราเพื่อดูว่าแพ็กเกจแบบนี้โอเคไหม ลองผิดลองถูกกันมาอยู่หลายครั้งกับผักหลายชนิด ก็พบว่าไม่รอด อย่างถ้าเอากะหล่ำปลีใส่ถุงพลาสติก บางทีต้องเด็ดใบด้านนอกออกก่อนสัก 2-3 ใบถึงจะกินได้เพราะมันช้ำมาก หรือช่วงไหนฝนตก มีเห็ดงอก แม่ก็เก็บแล้วส่งมา ปรากฏว่าเห็ดเน่า เราก็จะฟีดแ บ็ กกลับไป

“จนสุดท้ายมาจบที่ตะกร้าสานใบเดียวที่แขวนอยู่ในบ้าน แม่ลองใส่ผักส่งมาแล้ว ปรากฏว่าถึงการขนส่งจะล่าช้าแต่ผักยังคงสภาพดี หลังจากนั้นแม่ก็เลยไปเหมาตะกร้าจากชาวบ้านมาหมด ส่วนเราก็เริ่มเปิดรับออ ร์ เดอร์ โดยเริ่มจากกลุ่มเพื่อนของเราก่อน

“เราไม่รู้ว่าในแต่ละวันแม่จะเก็บผักอะไรได้บ้าง เพราะสวนเราเป็นแบบผสมผสาน เราจึงเรียกโปรเจกต์นี้ว่า ‘ตะกร้าผักสุ่ม’   โดย 1 ตะกร้ากินได้ 1 อาทิตย์ แล้วตั้งราคาผักสุ่มของแม่ที่ 300 บาทต่อตะกร้า แต่ถ้าใครอยากได้ผลไม้แซมด้วยก็จะอยู่ที่ 500 บาท ช่วงแรกๆ แม่ค่อนข้างกังวลว่าเราตั้งราคาแพงไปหรือเปล่า แต่เราคำนวณแล้วว่าราคานี้เหมาะสมแล้ว เพราะมีทั้งค่าตะกร้า ค่าส่ง ผักก็ปลอดสารพิษและมีแต่งามๆ ทั้งนั้น เราขายของคุณภาพดี แม่เองก็จะได้มีรายได้เอาไว้ใช้อีกด้วย”

กระจายรายได้ กระจายความสุข

“พอชาวบ้านที่เขาปลูกผักกันเป็นอาชีพอยู่แล้วรู้ว่าแม่มีช่องทางในการขายผัก เขาก็มาร่วมด้วย จนเราต้องตั้งไลน์กลุ่มหมู่บ้านเพื่อคุยกัน มีสมาชิกในกลุ่มกว่า 30 คน ตั้งแต่รุ่นเด็กๆ จนถึงรุ่นอายุ 70 กว่า บ้านไหนมีผักอะไรเขาก็จะให้ลูกหลานถ่ายรูปส่งมาให้เพื่อโปรโมต เพราะให้พวกยายๆ ถ่ายเองไม่ไหว มือสั่น (หัวเราะ) ทุกเช้าที่นั่นก็จะคึกคักกันมาก เพราะเขาจะเอาผักมารวมกับผักของแม่ที่บ้านเพื่อให้เด็กๆ ช่วยแพ็กส่งไปรษณีย์ วันหนึ่งขายได้ 40-50 ตะกร้า สร้างรายได้ให้วันละหมื่นกว่าบาท

“หลังจากนั้นเราก็ขยายกลุ่มลูกค้าออกไป โดยเริ่มรับออ ร์ เดอร์จากหน้าเพจ ‘Kingdom Of Tigers: ทูนหัวของบ่าว’ ซึ่งเป็นเพจของเราเอง ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีเกินคาด พวกยายๆ ที่หมู่บ้านก็พากันดีใจ เวลาเอาผักมาส่งที่บ้านก็ไม่ใช่มาส่งแล้วกลับไปรอรับเงิน เขาจะมาช่วยกันล้าง มาเช็ดผัก และช่วยกันแพ็กผักใส่ตะกร้า เกิดการพูดคุย ขยับแข้งขยับขา ทุกวันเหมือนเขาได้ผจญภัย ไปหาผักใหม่ๆ ของใหม่ๆ มาขายเรื่อยๆ อย่างช่วงนี้มีกระแสของฟ้าทะลายโจรกับกระชาย เขาก็จะไปหามาขายกัน

“พืชผักบางชนิดเป็นของเฉพาะถิ่น อย่าง ผักเชียงดา ผักกูด ที่ชาวบ้านเก็บมา แม่กลัวว่าคนกรุงเทพฯ จะไม่รู้วิธีกิน ก็จะเขียนใส่กระดาษแนบไปด้วยว่าผักชนิดนี้ทำอะไรกินได้บ้าง เช่น ผักเชียงดา ต้องเอาไปผัดใส่ไข่ ผักกูด ทำแกงได้ แถมแม่ยังทำน้ำพริกแห้งให้กับทุกออ ร์ เดอร์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกข่าหรือน้ำพริกกากหมู เขาบอกว่าเพราะผักต้องกินกับน้ำพริก โดยที่เขาไม่ได้คิดเงินเพิ่มเลย เขาทำส่งให้เราแบบไหนก็ทำส่งให้ลูกค้าแบบนั้น ทำเหมือนส่งให้ลูกหลานกินจนลูกค้าติดใจกลับมาสั่งใหม่เรื่อยๆ

“ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นแม่ กลุ่มยายๆ หรือแม้แต่ลูกๆ หลานๆ ที่เขามาช่วยขาย ช่วยส่ง เขามีความสุขกันมาก เขาไม่ได้มองเรื่องเงินเป็นที่ตั้งเลยด้วยซ้ำ เขามองว่าเขาทำแล้วมีความสุขที่แทบจะเป็นความสุขเดียวเลยด้วยซ้ำในช่วงวิกฤตโควิด -19 แบบนี้”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ