จตุรงค์ หิรัญกาญจน์-คุณครูในห้องมืด

ชีวิตของจตุรงค์ หิรัญกาญจน์ไม่เคยใฝ่ฝันจะเป็นอย่างอื่นนอกจากช่างภาพ

ชายวัย 58 หลงรักเสน่ห์ของการบันทึกภาพมาตั้งแต่ยังเด็ก และพยายามแสวงหาความรู้ในเรื่องของการถ่ายภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ในยุคที่การถ่ายภาพยังมีแต่กล้องฟิล์มและยังต้องอาศัยห้องมืดสำหรับการล้างและอัดรูป ด้วยความที่ประเทศไทยยังไม่มีการเรียนการสอนในวิชาและหลักสูตรการถ่ายภาพอย่างจริงจัง จตุรงค์ลงทุนเดินทางไกลไปเรียนรู้ศาสตร์ในห้องมืดถึงประเทศอังกฤษ ก่อนกลับมาใช้ชีวิตเป็นช่างภาพอาชีพที่เมืองไทย

แม้ในวันที่โลกของการถ่ายภาพหมุนเปลี่ยนมาเป็นการใช้กล้องดิจิทัล ชายในผมเผ้าและเคราหนวดสีดอกเลาก็ยังหลงรักการถ่ายภาพ รวมถึงการใช้ชีวิตในห้องมืดอยู่เหมือนเดิม และถึงวันนี้ความรักที่ว่านั้นก็ไม่เคยเปลี่ยนไป ปัจจุบันนอกจากเป็นช่างภาพแล้ว จตุรงค์ยังเป็นอาจารย์สอนพิเศษในมหาวิทยาลัย รวมทั้งสร้างห้องมืดเล็กๆ ขึ้นมาที่บ้าน เปิดคอร์สฝึกอบรมวิชาการล้างภาพในห้องมืดเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม

นี่คือเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก ทั้งในบทบาทของช่างภาพและคุณครู

คุณครูที่อยู่ในห้องมืด


โอกาสจากครู

“เราได้กล้องตัวแรกเป็นกล้องโกดักขุนแผน มันคือกล้องมันคือกล้องที่ใช้ง่ายจนไม่ต้องใช้สติปัญญาใดๆ แค่เพียงใส่ฟิล์มและกดชัตเตอร์อย่างเดียว ตอนนั้นอยู่ ม.ศ. 2 พอปิดเทอมเราก็ไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ คิดว่าควรจะมีรูปเก็บไว้สักหน่อย

ซึ่งกล้องโกดักขุนแผนนี่ก็หาซื้อไม่ยาก ราคาน่าจะอยู่ที่ 200 – 300 บาทในเวลานั้น”

จตุรงค์ หิรัญกาญจน์ บอกเล่าถึงจุดเริ่มแรกเริ่มในการเป็นช่างภาพของตัวเอง ในวันนี้ชายวัย 58 ปีเป็นช่างภาพและอาจารย์พิเศษสอนวิชาการถ่ายภาพที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของคนในวงการ เมื่อพูดถึงกล้องตัวแรกในชีวิตไม่ใช่กล้องที่หรูหราหรือมีราคาแพงอะไรนัก มิหนำซ้ำยังเป็นเพียงกล้องธรรมดามากๆ ที่วัดแสงเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญก็คือกล้องตัวนี้ทำให้เด็กชายคนหนึ่งหลงรักการถ่ายรูปขึ้นมาในทันทีเมื่อแนบดวงตาลงไปที่หลังช่องมองภาพ

“พอแนบสายตาลงไปเรารู้สึกว่ามันใช่ เราชอบทันทีเลย ต้องบอกว่าเราเป็นคนชอบวาดรูปชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว แต่การถ่ายภาพมันเป็นศิลปะที่เราสามารถสร้างสรรค์มันได้ภายในวินาทีเดียว เมื่อเราชอบ เราก็รู้สึกสนุก และคิดว่าหลังจากนั้นจะหาความรู้เพิ่มเติม ”

ไม่นานหลังจากหิ้วเจ้าโกดักขุนแผนไปเที่ยวกับเพื่อนที่ต่างจังหวัด น้าชายของจตุรงค์ก็บินกลับมาจากสหรัฐอเมริกาพร้อมกับมีของฝากเป็นกล้องยี่ห้อ Canon รุ่น ae – 1 Program ซึ่งเป็นกล้อง SLR ตัวแรกในชีวิตที่สามารถวัดแสงเปลี่ยนเลนส์ได้

“หลังจากได้กล้องจากน้ามาเราก็เริ่มหาความรู้ด้วยการอ่านหนังสือ ศึกษาแต่ละฟังก์ชันต่างๆ ในกล้องว่ามันทำหน้าที่อะไร รวมทั้งเดินแบกกล้องออกไปถ่ายรูปตามสถานที่ต่างๆ”

หลังเรียนจบ ม.ศ. 3 จตุรงค์เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างศิลป หรือวิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากรในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นคนที่ชอบวิชาศิลปะ วาดรูปได้ดี รวมทั้งไม่ชอบอยู่ในกฎระเบียบของโรงเรียนทั่วไปมากนัก   ที่โรงเรียนช่างศิลปแห่งนี้จตุรงค์ได้เป็นประธานชมรมถ่ายภาพ อย่างไรก็ตามแม้จะมีชมรมแต่กลับไม่ได้มีการเรียนการสอนอย่างเป็นจริงเป็นจัง ทำให้การถ่ายภาพของเขาในเวลานั้นยังเป็นการถ่ายไปตามความรู้สึกของตัวเอง แต่กระบวนการหลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นการล้าง การอัด การแต่งรูป ทำให้ภาพดูมีมิติและดีมากขึ้น เขาและเพื่อนๆ กลับไม่มีโอกาสได้เรียนรู้เลย

กระทั่งมีอาจารย์คนหนึ่งนามว่า บุญชู ชาวกงจักร ตัดสินใจหาทุนมาสร้างห้องมืดให้นักเรียนที่รักในการถ่ายรูป ได้มีโอกาสที่จะศึกษากระบวนการในห้องมืดว่าทำอย่างไรถึงจะได้รูปถ่ายแต่ละใบออกมา

“นักเรียนช่างศิลปกลุ่มหนึ่งจะมีกล้องถ่ายรูปกัน ในแต่ละห้องจะมี 5 – 6 คนที่มีกล้องถ่ายรูป แล้วส่วนใหญ่จะถ่ายรูปสวยกันทั้งนั้น เพราะแต่ละคนจะมีความรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์ รู้เรื่องแสงและเงา คือถ่ายให้สวยนี่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่พวกเราไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ในเรื่องกระบวนการหลังการถ่ายเลย เนื่องจากไม่มีห้องมืดที่สำหรับล้างอัดรูปให้พวกเราได้ศึกษา คือต้องอธิบายว่าภาพทุกภาพ กระบวนการของมันไม่ว่าจะเป็นกล้องฟิล์มในสมัยผมหรือกล้องดิจิทัลในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่ากดชัตเตอร์เสร็จแล้วก็จบนะ มันต้องมีกระบวนการหลังจากนั้น ต้องล้าง อัด ขยายซึ่งหากเป็นในสมัยก่อนที่มีแต่กล้องฟิล์มเมื่อถ่ายเสร็จแล้วกระบวนการที่ว่ามาก็จะต้องนำเข้าห้องมืด”

อาจารย์บุญชู ชาวกงจักร เห็นว่าพวกนักเรียนบ้ากล้อง ชอบถ่ายรูปกัน คาดว่าท่านก็คงไปเจรจากับทางโรงเรียนหรืออย่างไรไม่ทราบ จนได้เงินทุนมาสร้างห้องมืดให้พวกเรา ซึ่งก็ไม่ได้เป็นห้องมืดที่หรูหราหรือว่าเพียบพร้อมอะไร แอร์ก็ไม่มี มีแต่พัดลม แล้วก็มีเครื่องอัดรูป แต่ก็ทำให้เราได้โอกาสที่จะเรียนรู้ ทำให้เรามีความสามารถมากขึ้น สามารถที่จะล้างรูปอัดรูปได้ ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปอย่างเดียวแล้วก็เอาไปให้ แล็บล้างอัดออกมา

“ถามว่าการส่งแล็บผิดไหมมันก็ไม่ได้ผิดหรอก แต่ถ้าคุณอยากจะยึดมันเป็นอาชีพ หรือทำงานศิลปะอะไรก็แล้วแต่ คุณก็ควรที่จะทำมันจนจบทุกกระบวนการได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการที่อาจารย์บุญชู

ไปหาเงินทุนมาสร้างห้องมืดให้พวกเราจึงสำคัญมากทั้งในแง่โอกาสการเรียนรู้และให้เรายิ่งหลงรักการถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์มมากขึ้นไปอีก”

ในวินาทีนั้นอาจารย์บุญชูคงไม่รู้หรอกว่าห้องมืดที่อาจารย์สร้างขึ้นมาได้มีส่วนสำคัญในการสร้างนักเรียนคนหนึ่งให้เติบโตมาเป็นช่างภาพมืออาชีพในอนาคต รวมทั้งเป็นครูที่ถ่ายทอดความรู้และกระบวนการต่างๆ ในห้องมืด

เหมือนกับที่อาจารย์เคยเป็น

พาตัวเองไปคลุกคลีกับความฝัน แล้วทำให้เป็นความจริง

จตุรงค์มีความฝันอย่างแรงกล้ามาตั้งแต่วัยรุ่นว่าอยากเป็นช่างภาพมืออาชีพ อย่างไรก็ตามในเวลานั้นในหลักสูตรการศึกษาของไทยยังไม่ได้มีหลักสูตรการสอนถ่ายภาพแบบเป็นการเป็นงานนัก ยิ่งกับเรื่องศาสตร์และเทคนิคต่างๆ ในห้องมืดนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง

“ในเวลานั้นที่เทคนิคกรุงเทพฯ มีเปิดอบรมล้างภาพในห้องมืดให้กับบุคคลภายนอกเป็นเวลา 1 เดือน เราก็ไปอบรมนะ แต่อบรมเสร็จก็ยังรู้สึกคาใจ อยากจะรู้อะไรให้มากกว่านี้อีก มันเหมือนกับว่ายังไปไม่สุดทาง เราพยายามหาความรู้พาตัวเองลงไปอยู่กับสิ่งที่เรารักให้มากที่สุด แต่ต้องบอกว่าการเรียนการสอนเรื่องการถ่ายภาพในเมืองไทยขณะนั้นยังมีน้อยมาก ความจริงที่เทคนิคกรุงเทพฯ ก็มีสอนแต่เขามีวุฒิแค่ ปวส. แต่เราอยากได้วุฒิปริญญาตรี   หลังเรียนจบช่างศิลปเราก็เอ็นทรานซ์เข้าที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ไม่มีคณะไหนมีวิชาเอกถ่ายภาพเลย

“สุดท้ายเราเลือกเรียนในคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชานิเทศศิลป์ เนื่องจากเราอยากเรียนออกแบบแล้วที่คณะก็มีเรียนวิชาถ่ายภาพแต่ก็เป็นการเรียนแค่เบสิค ไม่ได้เรียนอะไรล้ำลึก ความจริงก่อนหน้าที่จะสอบเข้าเรามาสำรวจว่าที่คณะมีห้องมืดอยู่ เราหมายมั่นปั้นมือมากว่าจะได้ใช้ห้องมืดที่นี่ แต่ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปเรียนเขาดันทุบตึกที่มีห้องมืดพอดี เราก็เลยอดใช้อดเรียนในห้องมืดไปเลย”

จตุรงค์ใช้เวลาทั้งหมด 5 ปีถึงสำเร็จการศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความที่ยังไม่มีการเรียน การสอนอย่างจริงจังในเรื่องการถ่ายภาพ รวมทั้งยังต้องการที่จะเรียนรู้ศาสตร์ในห้องมืดให้เข้มข้นมากกว่านี้ ชายหนุ่มจึงตัดสินใจบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนเรื่องห้องมืดโดยตรงที่ประเทศอังกฤษ โดยเป็นคอร์ส 1 ปีของมหาวิทยาลัย Kingston

“เราใช้เวลาอยู่ที่อังกฤษและยุโรป 3 ปี เนื่องจากต้องเรียนภาษาก่อน 1 ปีครึ่ง การเรียนที่นั่นทำให้เราได้ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ทุกอย่างในห้องมืด จากที่เราเคยรู้แค่พื้นฐาน เราก็ได้รู้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเทคนิคทั้งหลายของการใช้โปรแกรมเพื่อตกแต่งรูปภาพให้สมบูรณ์จากการถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลในปัจจุบันก็ล้วนแล้วเอามาจากห้องมืดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการ Dodge And Burn คือการทำให้ภาพขาวหรือดำขึ้นในบางจุด หรือเทคนิคการซ้อนภาพเหล่านี้เอามาจากห้องมืดทั้งนั้น”

หลังจากเรียนจบมีคนชวนจตุรงค์ทำงานเป็นช่างภาพอยู่ที่นั่น หากแต่เจ้าตัวต้องการที่จะกลับมาเป็นช่างภาพมืออาชีพที่เมืองไทยมากกว่า

“ในขณะนั้นเมืองไทยยังขาด Photographer Artist อยู่ มีอยู่ก็เป็นจำนวนน้อยมาก เราเองอยากกลับมาแสดงงานภาพถ่ายแล้วก็พัฒนาศิลปะภาพถ่ายในเมืองไทย ก็เลยเลือกที่จะกลับมา”

หลังกลับมาเมืองไทยจตุรงค์ทำงานเป็นช่างภาพตามความฝันอย่างเต็มตัวไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพโฆษณา เป็นช่างภาพแฟชั่น รวมทั้งจัดแสดงงานถ่ายภาพของตัวเองจนกลายเป็นช่างภาพมากฝีมือและเป็นที่ยอมรับของผู้คนในวงการ

อย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนแล้วแต่มียุคสมัยเป็นของตัวเอง วิวัฒนาการในการถ่ายภาพก็เช่นกัน กล้องดิจิทัลเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกล้องฟิล์มค่อยๆ เลือนหายไปจากความสนใจของผู้คน

“กล้องดิจิทัลเริ่มเข้ามาในยุคปลาย 90 หลังจากกล้องดิจิทัลเข้ามาเราก็ยังคงถ่ายภาพเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือกระบวนการหลังจากนั้น ด้วยความที่เราไม่ได้มีความชำนาญในการใช้คอมพิวเตอร์ หลังถ่ายเสร็จเราก็ต้องส่งให้คนอื่นใช้โปรแกรมเพื่อตกแต่งรูปภาพให้สมบูรณ์ไม่เหมือนกล้องฟิล์มที่เราเข้าห้องมืดแล้วจบงานได้ทุกอย่างในตัวคนเดียว”

หลังการเข้ามาของกล้องดิจิทัลจตุรงค์ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการถ่ายภาพและเป็นผู้คัดเลือกภาพอัดขยายในห้องมืด ให้แก่คุณสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อดีตประธานกรรมการบริษัท โอสถสภา จำกัด และนักถ่ายภาพชั้นแนวหน้าของเมืองไทย โดยหลังจากร่วมงานกับคุณสุรัตน์อยู่ราว 4 – 5 ปี ช่างภาพวัย 58 ก็ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทมาเป็นอาจารย์พิเศษถ่ายทอดความรู้ในสิ่งที่ตัวเองมีให้กับนักเรียนนักศึกษา ซึ่งวิชาที่เขาสอนไม่มีอะไรจะดีไปกว่าสิ่งที่เขารัก ถนัด และเป็นตัวเองมากที่สุด

วิชาที่ว่านั้นคือวิชาห้องมืด


ครูในห้องมืด

แม้ในปัจจุบันการถ่ายภาพจะเปลี่ยนจากกล้องฟิล์มมาเป็นกล้องดิจิทัล แต่ผู้ชายอย่างจตุรงค์ก็ยังยึดมั่นและใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เขารัก เพียงแต่เพิ่มเติมสถานะด้วยการสวมหมวกในบทบาทของคุณครูเพิ่มขึ้นมาอีก 1 บท

“เรื่องของครูมันมาจากการที่รุ่นน้องมาชวน แต่ด้วยความที่เรางานชุกจึงปฏิเสธเขาไป กระทั่งตอนหลังเรามาเป็นฟรีแลนซ์พอจะมีเวลาว่างก็เลยตอบตกลง จำได้ว่าเราเริ่มต้นสอนปี 2542 ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรื่องการใช้ห้องมืด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาถ่ายภาพ หลังจากนั้นก็มีที่มหาลัยอื่นติดต่อเข้ามา ปัจจุบันก็สอนอยู่ทั้งหมด 5 คณะใน 3 มหาวิทยาลัย

“ถ้าถามว่าทุกวันนี้ช่างภาพส่วนใหญ่หันมาใช้กล้องดิจิทัลกันแล้วแต่ทำไมยังมาสอนนักศึกษาเกี่ยวกับการใช้ห้องมืด การล้างรูป อัดรูป หรือกระบวนการต่างๆ ที่เป็นเรื่องของกล้องฟิล์มอยู่ นั่นก็เพราะเรามีความรัก ความถนัด เราเชื่อมั่นว่าเรารู้จริงแล้ว เราก็มีชั่วโมงบินสูง

“เราเป็นช่างภาพที่เกิดมาในยุคฟิล์ม สมัยเราไม่มีกล้องดิจิทัล เรารู้สึกว่าภาพฟิล์มมันมีมิติมากกว่าดิจิทัลมันต้องมานั่งปรับ นั่งแต่ง นั่งรีทัช แต่กับฟิล์มเรารู้สึกว่าเรารีทัชมันมาตั้งแต่ตอนถ่ายแล้วแล้ว เราก็เอามันมาทำให้เป็นจริงในห้องมืด เรารู้สึกว่าฟิล์มมันบึกบึน แข็งแรง อยู่ได้เป็นร้อยปีแต่กับดิจิทัลคุณมั่นใจได้อย่างไรว่าวันหนึ่งมันจะไม่หายไป มันก็ไม่ต่างอะไรจากโทรศัพท์มือถือในยุคก่อนๆ ที่วันนึงพอมีเทคโนโลยีที่ดีกว่ามีเครื่องที่ใช้นิ้วทัชสกรีนได้ มันก็หายไปแทบไม่มีแล้ว แต่กับฟิล์มถ้าคุณไม่ไปเผาไปทำลายมันยังไงมันก็คงอยู่แบบนั้นไม่สูญสลายไปง่ายๆ สำหรับกล้องฟิล์มเราแค่ได้ฟังเสียงชัตเตอร์เราก็มีความสุขแล้ว

ในบทบาทของความเป็นครูจตุรงค์ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้เฉพาะที่อยู่ในห้องเท่านั้น หากแต่เขายังสอนลูกศิษย์ของเขาในเรื่องชีวิตและพยายามเน้นย้ำให้ทุกคนค้นหาตัวเองให้เจอ และหากเจอแล้วก็ให้มุ่งมั่น จริงจัง กับทางที่ตัวเองเลือกจะเดิน

“คุณต้องพยายามค้นพบตัวเองให้เจอว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร หรืออยากเดินไปทางไหน เมื่อเจอแล้วคุณต้องมีความกล้าและมั่นใจว่าคุณทำได้ คุณสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ แม้ว่าลึกๆ แล้วคุณอาจจะมีความกลัวซ่อนอยู่ก็ตาม แต่จงแปรเปลี่ยนความกลัวนั้นให้กลายเป็นความระมัดระวังและไม่ประมาท

“ถ้าหากคุณยังไม่แน่ใจว่าจะค้นพบตัวเองได้อย่างไร เราก็จะแนะนำพวกเขาว่าให้ค้นพบจากสิ่งที่พวกคุณชอบ ที่คุณสนใจ หรือทำได้ดี แต่สิ่งสำคัญก็คือคุณต้องพาตัวเองลงไปคลุกคลีอยู่กับมัน เมื่อเวลาผ่านไปถ้าเกิดคุณไม่ชอบหรือรู้สึกว่ามันไม่ใช่ คุณก็ค่อยกลับตัวก็ได้ แต่ถ้าเกิดคุณไม่ค้นหาตัวเอง คุณก็ใช้ชีวิตไปแบบไม่มีเป้าหมาย ผมว่ายังไงการมีเป้าหมายมันก็เป็นสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งเป้าหมายของคุณจะเป็นอะไรก็ได้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นช่างภาพเหมือนผม จะเป็นคนทำอาหาร เป็นคนขับรถ เป็นอะไรก็ได้ แต่สำคัญคือคุณค้นหามันให้เจอก็แล้วกัน”

แม้จะเป็นครูในห้องมืด แต่จตุรงค์ยินดีที่จะทำให้ลูกศิษย์ทุกคนได้พบกับความสว่างไสวในชีวิต

โรงเรียนลำยูรโฟโต้

นอกเหนือจากการเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยแล้ว จตุรงค์ยังได้ทำการเปิดอบรมวิชาห้องมืดเบื้องต้นสำหรับบุคคลทั่วไปที่หลงรักการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มอีกด้วย

ช่างภาพวัย 58 นำพื้นที่โรงรถในบ้านของตัวเองสร้างเป็นห้องมืดเล็กๆ ขึ้นมาพร้อมกับตั้งชื่อว่า ‘โรงเรียนลำยูรโฟโต้’ ซึ่งมาจากชื่อคุณแม่ของเขาเอง

“เมื่อ 3 – 4 ปี ก่อนกระแสกล้องฟิล์มเริ่มที่จะกลับมา เราคิดว่าตัวเองก็พอจะมีความรู้ในด้านนี้อยู่ เราเองก็แก่ขึ้นทุกวันถ้าเอาความรู้เก็บไว้ที่เราโดยที่ไม่ถ่ายทอดออกไปมันก็มีแต่จะตายไปพร้อมกับเรา ไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเราถ่ายทอดให้กับคนที่เขาสนใจ สิ่งที่เรารู้มันก็ไม่หายไปไหน ได้ต่อยอดออกไปเรื่อยๆ อีกอย่างการที่เราเป็นอาจารย์สอนพิเศษมันก็ไม่ได้มีความมั่นคง ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าเขาจะจ้างเราไปตลอด อยู่มาวันหนึ่งวิชาที่เราสอนอยู่อาจจะถูกยุบ หรือวันหนึ่งทางมหาวิทยาลัยเขาคิดว่ามีคนที่สอนดีกว่าเราเขาอาจจะไม่จ้างต่อ แต่ถ้าเรามาเปิดโรงเรียนเอง คนที่สนใจเขาก็ยังมีช่องทางที่สามารถมาเรียนกับเราได้ แล้วเราเองก็ไม่ต้องแบกต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายอะไรด้วย เพราะอยู่ในบ้านเราอยู่แล้ว”

ด้วยความตั้งใจที่จะไม่ให้ความรู้ที่เกี่ยวกับกล้องฟิล์มและห้องมืดเลือนหายไป รวมทั้งการได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในสิ่งที่ตัวเองรักก็นับเป็นความสุขอย่างหนึ่งในชีวิต จตุรงค์จึงไม่ได้คิดค่าเล่าเรียนในราคาที่สูงนักพูดกันง่ายๆ ว่าเอาความสุขเป็นตัวตั้งมากกว่าที่จะคิดเรื่องเงิน

“ถ้าเทียบกับความรู้ที่ให้กับผู้ที่มาเรียน ต้องบอกว่าราคาที่เราคิดนั้นไม่แพงเลย และทุกคอร์สจะมีราคาพิเศษให้กับนักศึกษาด้วย ขณะที่ผู้พิการหากสามารถเดินทางมาเรียนได้เราก็ให้เรียนฟรีเลย ที่ทำแบบนี้ก็เพราะว่าในตอนที่อยู่ต่างประเทศเวลาที่ใช้บริการอะไรก็แล้วแต่ เราได้ราคานักศึกษามาตลอด เราจึงอยากที่จะตอบแทนบ้าง เช่นเดียวกันกับผู้พิการเราถือว่าเราโชคดีกว่าเขา เพราะฉะนั้นถ้าเราพอมีอะไรที่แบ่งปันช่วยเหลือกันได้ หรือทำให้สังคมนี้มันดีขึ้น เราว่าเราก็ควรทำ”

ทุกวันนี้เลยวัยเฉียด 60 จตุรงค์ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรักอยู่ทุกวัน เขายังคงถ่ายรูปอยู่อย่างสม่ำเสมอ ถึงเวลาก็ไปสอนวิชาห้องมืดที่มหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันหากมีโรงเรียนลำยูรโฟโต้มีผู้สนใจมาเรียนก็ไม่รีรอที่จะถ่ายทอดความรู้ที่มีให้ และต่อให้มีมาเรียนแค่คนเดียวก็ยังยินดีที่จะสอน

“ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทของช่างภาพหรือครูเราล้วนแล้วแต่มีความสุขทั้งนั้น การถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มมันเป็นความรักและชีวิต ขณะที่การได้เป็นครูมันเป็นความสุขและความอิ่มเอมใจที่เห็นลูกศิษย์เห็นคนที่มาเรียนกับเรา ได้วิชาความรู้ไปใช้ประโยชน์และมีอนาคตที่ดี”

จะมีคนสูงวัยสักกี่คนกันที่จะมีความสุขในชีวิตเหมือนอย่างจตุรงค์ หิรัญกาญจน์

ขอบคุณภาพจาก จตุรงค์ หิรัญกาญจน์

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ