“ริ้วรอยบนใบหน้า” ไม่ได้หมายถึงความถดถอย แต่คือเครื่องหมายเพื่อแสดงถึงชีวิตที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีในชีวิต

หากพูดถึงประเทศที่มีวัฒนธรรมการเคารพผู้ใหญ่และยกย่องผู้อาวุโส หลายคนอาจนึกถึงหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย แต่ขณะเดียวกันในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยม ก็มีวัฒนธรรมที่ให้ความเคารพและให้เกียรติผู้อาวุโสที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วคนซ่อนอยู่เช่นกันโดยเฉพาะ ในวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง

“เทิดทูนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทิดทูนแผ่นดินแม่ของเรา
ให้เกียรติผู้อาวุโส ยกย่องทุกคนที่เราอยู่ร่วมโลกด้วย
สัตว์สี่ขา สัตว์สองขา สัตว์ปีก สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน
ต้นไม้ ก้อนหิน และมนุษย์ เดินไปด้วยกันอย่างสมดุลและสวยงาม”
– คำขวัญของชาว “อินเดียนแดง” เผ่าหนึ่งในแผ่นดินอเมริกา

ในวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอเมริกา “ผู้สูงอายุ” ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป คือเหล่าบุคคลที่เป็นตัวแทนของสติปัญญา และทำหน้าที่ชี้แนะให้ความช่วยเหลือคนรุ่นหลังที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต พวกเขาคือศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของชนเผ่า ด้วยอายุกับประสบการณ์ที่มีอย่างท่วมท้นทำให้พวกเขามีความเข้าใจในวัฒนธรรม ศิลปะ และศาสตร์แห่งการดำเนินชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกับวิถีธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าใคร ๆ

สำหรับชาวอินเดียนแดงร่างกายคือของประทานอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ต้องยึดติด การที่ร่างกายร่วงโรย หน้าอกหย่อนคล้อย และเต็มไปด้วยริ้วรอยบนใบหน้า ไม่ได้หมายถึงความถดถอยในชีวิตอย่างที่คนทั่วไปมอง แต่คือเครื่องหมายเพื่อแสดงถึงชีวิตที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีในชีวิตของพวกเขา และชาวอินเดียนแดงก็ไม่เคยกังวลกับความเจ็บป่วยหรือความชราแต่อย่างใด ในทางกลับกันพวกเขามองสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในวิถีธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าชีวิตของตนเองเท่านั้น

เป็นเรื่องสำคัญที่สมาชิกในหมู่บ้าน หรือชุมชน ต้องปฏิบัติต่อผู้สูงอายุในเผ่าของตัวเองด้วยความเคารพ หลายครั้งเมื่อมีเทศกาลสำคัญเกิดขึ้น ผู้อาวุโสจะมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมนั้นเสมอ ทั้งได้นั่งในตำแหน่งที่สะดวกสบาย ได้รับอาหารหรือสิ่งของนำโชคจากเด็กรุ่นใหม่ ไปจนถึงได้รับเกียรติให้เต้นรำเป็นคนแรกของเผ่า ซึ่งแต่ละเผ่าก็มีการให้เกียรติผู้สูงอายุที่แตกต่างกันไปตามแต่ละวัฒนธรรม เนื่องจากภูมิปัญญาที่ผู้สูงอายุได้เรียนรู้สั่งสมและสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีส่วนสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองของชนเผ่าที่คนรุ่นหลังไม่สามารถมองข้ามได้

“หนึ่งในบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้คือการให้เกียรติผู้อาวุโสของพวกเขา การกระทำนี้ไม่เพียงเป็นการยกย่องผู้ที่อายุมากกว่าเราเท่านั้น แต่เด็กยังได้รับกำไรชีวิตจากการรู้จักเคารพและแสดงความเห็นอกเห็นใจในตัวผู้อื่นอีกด้วย เพราะผู้อาวุโสนั้นมีบทบาทสำคัญในการแบ่งปันความรู้ ภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ของประเทศเรา ซึ่งถือเป็นของขวัญอันล้ำค่าที่ฝังแน่นอยู่ในวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอเมริกา” นี่คือความภาคภูมิใจของ “ลีเนย์” ผู้สืบเชื้อสายพื้นเมืองอเมริกามาจากคุณย่าของเธอ

ปัจจุบันทุกประเทศกำลังมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอเมริกาก็เป็นอีกหนึ่งประเทศกำลังเผชิญกับภาวะดังกล่าว ทว่าพลเมืองจำนวนมากก็ยังมองข้ามคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเหมารวมว่าพวกเขาเป็นภาระ และไม่สามารถทำประโยชน์ใด ๆ ในสังคมได้ แต่ “ลีเนย์” ผู้อำนวยการหญิงของบ้านพักคนชราในเซาท์ดาโคตา ไม่คิดเช่นนั้น

ในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2013 ลีเนย์กล่าวว่า “เดิมทีบ้านพักคนชราที่ฉันดูแลมีมักเด็ก ๆ และเยาวชน จากต่างพื้นที่แวะเวียนมาเยี่ยมและทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุหลายครั้ง ซึ่งช่วยให้คุณปู่คุณย่าในบ้านพักหายเหงาได้บ้าง แต่พวกเขาจะมาแค่ 2-3 วันในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเท่านั้น หลังจากนั้นพวกเขาก็จะจากไปโดยไม่กลับมาอีก แต่การเชิญชวนและสนับสนุนให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงมาเยี่ยมผู้สูงอายุในชุมชนของตัวเองนั้น ช่วยกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ที่จะเข้าหาผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืนมากกว่า”

ลีเนย์กับเพื่อน ๆ จึงผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงในชุมชนของเธอ โดยได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมชนพื้นเมืองอเมริกา เธอให้เหตุผลว่าการดูแลผู้สูงอายุทำให้เธอได้เรียนรู้สิ่งดี ๆ มากมาย และเธอก็อยากให้ “อเล็กซ์” ลูกชายตัวน้อยของเธอรู้จักสิ่งนั้นด้วย ซึ่งเธอเล่าว่า “เดิมทีลูกชายของฉันเป็นคนพูดน้อย ขี้อาย แต่หลังจากที่ฉันชวนเขากับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน ให้ลองมาเล่นสนุก ๆ กับผู้สูงอายุในวันหยุด ปรากฏว่าเขากล้าแสดงออกมากขึ้น โดยเฉพาะกับพอล คุณตาที่อเล็กชอบคุยด้วยมากที่สุด ทั้งคู่กลายเป็นคู่หูที่ชอบเดินไปทั่วบ้านพักคนชราด้วยกัน และอเล็กซ์ก็ขอมาเจอพอลทุกครั้งที่มีโอกาส”

ด้วยความที่ลีเนย์มักมองหาสิ่งใหม่ ๆ และความสนุกสนานให้กับผู้สูงอายุเสมอ การเชื่อมผู้สูงอายุกับเด็ก ๆ ในชุมชนเข้าด้วยกันจึงสำเร็จได้ไม่ยาก บ้านพักคนชราในเซาท์ดาโคตาของเธอในวันนั้น จนถึงวันนี้จึงเต็มไปด้วยภาพของผู้อาวุโส กับเด็ก ๆ ในชุมชน มาแบ่งปันรอยยิ้มและเสียงหัวเราะร่วมกัน โดยพวกเขาทั้งเล่นเกมบิงโก เล่านิทาน ร้องเพลง “Lakota (เพลงพื้นเมืองอินเดียนแดง)” และเรียนภาษาพื้นเมืองด้วยกันอย่างอบอุ่น โดยเธอให้เหตุผลว่า “บ้านของผู้สูงอายุ คือสถานที่เดียวที่สอนให้เด็กเรียนรู้ความอดทน ความเคารพ ตลอดถึงการไม่ตัดสินคนอื่นซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้”

ลีเนย์กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขที่สุดว่า “ฉันต้องการเห็นสมาชิกในชุมชนมีความสุข บรรยากาศนี้ทำให้ฉันนึกถึงคุณย่า และสิ่งที่ท่านทำให้ฉันเมื่อตอนเป็นเด็ก ท่านสอนฉันรู้จักเย็บผ้า ทำอาหาร และการเล่นสนุกที่ดีที่สุดคือเราต้องใส่จินตนาการเข้าไปด้วย”

นับเป็นเรื่องวิเศษมากที่หญิงสาวคนนี้ได้นำคำสอนจากคุณยายชาวพื้นเมืองของเธอ มาส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์ เพราะในยุคสมัยที่เร่งรีบและทุกคนต่างต้องแสวงหาผลกำไรอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องยากที่คนส่วนใหญ่จะหันมาเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ

จริงอยู่ว่า เมื่อคนเรามีอายุยืนยาวขึ้นความสามารถในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ อาจลดลงไปตามสังขารที่ร่วงโรย และบางครั้งพวกเขาก็หลงลืมหลายสิ่งหลายอย่างไป แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของพวกเขาจะหายไปกับกาลเวลาด้วย ซึ่งกรณีของลีเนย์อาจช่วยให้คนในสังคมหันมาให้เกียรติผู้สูงอายุที่อยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น

อ้างอิง

  •  https://bit.ly/3Z41sDb

ขอบคุณภาพจาก

  • https://www.wernative.org/articles/elders

Credits

Author

  • นิติภัค วรนิติโกศล

    Authorปรกติไม่ชอบความวุ่นวาย เวลาว่างชอบอ่านหนังสือกับเล่นเกม ความฝันสูงสุดของชีวิตคือการเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ