สมชาย ณ นครพนม ในวันที่มีจักรยานเป็นเพื่อนคู่กาย และยังปั่นไปทำงานในวัยแตะ 70 ปี

มนุษย์ต่างวัยคุยกับพี่แอ๊ต – สมชาย ณ นครพนม อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี กรมศิลปากร ที่ยังคงทำงานในวัยเฉียด 70 ปี โดยมีจักรยานเป็นพาหนะคู่กาย ซึ่งอันที่จริงผูกพันกันมาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว

“จากรถรางถึงรถไฟฟ้า”

“ผมชอบปั่นจักรยานมาตั้งแต่เด็กแล้ว พอไปรับราชการที่ต่างจังหวัด ก็ใช้จักรยานปั่นไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวตอนเช้าบ้าง ปั่นไปทำงานบ้าง แต่จักรยานคันแรกที่เปลี่ยนชีวิตคือแบบทัวริ่ง เพราะอยากปั่นทางไกล หรือปั่นท่องเที่ยวแนวแคมปิ้ง คันแรกนี้ซื้อต่อจากนักโบราณคดีชาวต่างชาติตอนเขาย้ายกลับประเทศไป”

พี่แอ๊ตฟื้นความหลัง จนกลับมาประจำกรุงเทพฯ ราวปีพ.ศ. 2542-2543 เมื่อเกิดความคิดอยากออกกำลังกาย แต่สถานที่ไม่อำนวย เพราะไม่เหมือนตอนเด็ก ๆ ที่มักไปเที่ยวเล่น และเช่าจักรยานปั่นที่ท้องสนามหลวงได้ จึงซื้อจักรยานคันที่สองที่เล็กลง และพับได้ เพื่อนำใส่รถไปปั่นตามสวนสาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งปั่นไปทำงานด้วย

“บางครั้งผมก็มีโอกาสพับจักรยานคันเล็ก และหิ้วขึ้นรถไฟฟ้าจากสถานีแถวบ้านมาลงสถานีพญาไท แล้วปั่นต่อไปทำงานที่กรมศิลปากร เทเวศร์ ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตแบบที่ชอบ แต่ไม่ได้ทำทุกวัน ปกติยังคงขับรถยนต์เป็นหลัก เพราะบนถนนกรุงเทพฯ มีฝุ่นควัน รถหนาแน่น และยังอากาศร้อนด้วย

“ตอนแรกก็รู้สึกแปลก ๆ นะ ตอนหิ้วจักรยานพับขึ้นรถไฟฟ้า เพราะมีแต่คนหนุ่มสาวทั้งนั้นเลย แต่เราเป็นผู้สูงอายุ เขาเรียกลุงเลยนะ แหม คุณลุง ๆ นั่งค่ะ ๆ (หัวเราะ) ปกติเราไม่เคยนั่ง มีแต่ยืนให้คนอื่นนั่ง บางทีก็คิดเหมือนกันว่าเฮ้ย เราอยู่ถูกที่หรือเปล่า แต่ในที่สุดก็ไม่ได้สนใจใคร เพราะอยากใช้ชีวิตในแบบที่เราตั้งใจไว้”

พี่แอ๊ตเล่าว่าการนำจักรยานพับขึ้นรถไฟฟ้า ต้องศึกษาข้อมูลอย่างดี เช่น ควรขึ้นหัวขบวน เพราะจะมีช่องว่างพอที่จะเก็บจักรยาน และลงได้ง่าย แต่ต้องพับให้ดี เพื่อไม่ให้เกะกะใคร ซึ่งวิถีชีวิตแบบนี้ตอบโจทย์เรื่องความคล่องตัวในการเดินทางในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ ยังต้องการปรับตัวเองให้เข้ากับวิถีชีวิตยุคใหม่ และเหมือนได้กลับไปเป็นวัยรุ่นอีกครั้งด้วย

“พูดจริง ๆ เลย ก่อนออกจากบ้าน ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองแก่เลย ยังรู้สึกเป็นคนเจนเนอเรชันนี้ ไม่ได้ตกยุคแต่อย่างใด สำหรับผมจักรยานยังเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่ง และนอกจากสองคันนี้แล้ว ผมยังมีอีกคันหนึ่งคือเสือหมอบที่มีท่อกลมแบบย้อนยุคทรงคลาสิกด้วย”

คุณค่าจาก “จักรยาน”

จากความผูกพันในวัยเยาว์สู่การใช้ชีวิต จักรยานได้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนคู่กายให้กับพี่แอ๊ตจนเกือบตลอดชีวิต แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ยังมีความหมายมากเป็นพิเศษ เนื่องจากช่วยเรื่องสุขภาพด้วย โดยเฉพาะความรู้สึกสดชื่น อารมณ์ดี ได้เจอเพื่อนฝูง และยังชอบธรรมเนียมนักปั่นด้วยที่เมื่อเวลาปั่นสวนกัน จะกดกระดิ่งกริ๊ง ๆ ทักทาย และบางครั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการให้ความช่วยเหลือกันด้วย ที่สำคัญกว่านั้น คือการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะกับหลานวัย 9 และ 7 ขวบ ทั้งที่พี่แอ๊ตยังครองตัวเป็นโสดอยู่

“จริง ๆ แล้วเหตุผลที่นำหลานเข้ามาอยู่ในชีวิต เพราะต้องการเพื่อนในบางเวลา เช่น ตอนออกกำลังกาย ถ้ามีหลานเข้ามา จะทำให้เราเป็นครอบครัวที่มีสุขภาพแข็งแรงขึ้น มีความสนิทสนมพูดคุยกันระหว่างปู่กับหลานมากขึ้น เวลาพวกเขาไปนอนที่บ้าน จะบอกว่าเราเหมือนพ่อก็ได้นะ เพราะต้องดูแลให้เขาอาบน้ำแปรงฟันเข้านอนตามเวลา ความจริงพ่อแม่เขาสอนมาแล้ว แต่เราก็ต้องช่วยดูแลด้วย”

“มาปั่นจักรยานกับปู่ไหม” ?

“มาปั่นจักรยานกับปู่ไหม” ปู่แอ๊ตเอ่ยปากชวนหลาน และนับจากนั้น ปู่กับหลานก็ปั่นจักรยานด้วยกันมาตลอด โดยตั้งเป้าหมายว่าจะพิชิตให้ครบทุกสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ โดยเรื่องช่องว่างระหว่างวัยก็มีบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางร่างกาย เนื่องจากเมื่อพี่แอ๊ตอายุมากขึ้น ก็ทำอะไรช้าลง

“บางทีนัดกันไปปั่นจักรยาน แต่พอตื่นเช้ามาก็พบว่าหลานแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย พร้อมออกจากบ้านแล้ว แต่ปู่ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งเราต้องปรับตัวให้ทันหลาน แต่ขณะเดียวกันก็สอนให้เขารู้จักการรอคอยด้วย”

นอกจากนี้ การลดช่องว่างระหว่างวัยคือต่างคนต่างเข้ามาเรียนรู้โลกของกันและกัน เช่น ปู่นำหลานเข้าสู่โลกของจักรยาน ส่วนหลานก็นำปู่เข้าสู่โลกของเด็กด้วยการไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็ก ๆ

“ในความเป็นเด็ก หลาน ๆ เขาต้องการแสดงออกในการใช้ชีวิต เช่น ความโลดโผนโจนทะยาน ซึ่งต้องปล่อยเต็มที่ ไม่ห้าม และไม่บังคับให้ทำแต่การบ้าน แต่ต้องจัดสมดุลให้ดี และความยากคือพี่น้องสองคนความสนใจไม่เหมือนกัน จึงต้องดูแลโดยปล่อยให้เขาทำตามความสนใจ และถึงเวลาก็จับมารวมกัน เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นพี่น้อง และความรักที่ปู่มีให้เท่ากัน”

เคล็ดลับนี้ทำให้แม้จะเป็นปู่หลานที่อายุต่างกัน และต่างรุ่นต่างยุค แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยค่อย ๆ ปรับตัวเข้าหากันผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการปั่นจักรยาน ซึ่งเมื่อพี่แอ๊ตเล่าจบก็กดกระดิ่งโชว์หนึ่งครั้ง แล้วลงท้ายว่า สังคมยุคนี้อยู่ยาก อันตรายก็มาก จึงต้องดูแลหลานให้ดี

“สิ่งสำคัญคือเราเองต้องเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้เขาเติบโตเป็นคนดีในสังคม” พูดจบคุณปู่ก็สวมแว่นสวมหมวกเตรียมพร้อมลงสนามปั่นกับหลานต่อ และวันดีคืนดีจักรยานคันนี้ยังทำหน้าที่เป็นเพื่อนคู่กาย ขึ้นรถไฟฟ้า เพื่อจะพาพี่แอ๊ต – สมชาย ณ นครพนม ไปถึงที่หมาย ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การใช้ชีวิตสมัยใหม่ของคุณปู่วัยแตะ 70 ปี ในวันนี้ด้วย

Credits

Authors

  • นัธพร ศิริรังษี

    Author"มนุษย์โลกสวยที่เคารพความแตกต่างของผู้คน เพราะเชื่อว่านี่คือสีสัน และความหลากหลายในการดำรงชีวิต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และโลกที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่สิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจหมายถึงความท้าทายใหม่ๆ ที่รอเราทุกคนอยู่ด้วย"

  • ชิษณุพงศ์ วงศ์ชูชัยสถิต

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ