ชุดตุ๊กตาบาร์บี้ จากความฝันวัยเยาว์สู่งานอดิเรกหลังเกษียณ

ชุดตุ๊กตาบาร์บี้ จากความฝันวัยเยาว์สู่งานอดิเรกหลังเกษียณ

เป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้ว ที่พี่เอ๊าะ – พนิตา กำภู ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใช้ชีวิตหลังเกษียณไปกับการตัดเสื้อตุ๊กตาให้บาร์บี้ใส่บ้าง ตัดให้เพื่อน ๆ ใส่บ้าง และตัดให้สมาชิกในครอบครัวขยาย ซึ่งภายในรั้วเดียวกันมีบ้าน 6 หลัง รวม 4 เจนเนอเรชั่นมาตลอดทุกยุคสมัย แต่ปัจจุบันมีกัน 18 คน ตั้งแต่ 96 ปี จนถึง 2 ขวบ

งานตัดเย็บชุดตุ๊กตาเป็นงานอดิเรกที่พี่เอ๊าะทำมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม โดยเริ่มจากวาดรูปตุ๊กตาขายเพื่อน จนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัว ก็เปลี่ยนมาตัดเสื้อให้ลูก ๆ ใส่ และเมื่อเกษียณแล้วจึงนั่งลงเพื่อจะหวนกลับมาหาความฝันวัยเยาว์กับการตัดเย็บชุดตุ๊กตา พร้อม ๆ กับเป็นภรรยาของสามีที่กำลังเห่อทำอาหาร เป็นแม่ของลูก และเป็นยายของหลาน

งานอดิเรกที่รัก

“เราตัดชุดให้ตุ๊กตาใส่มาตั้งแต่เด็กแล้ว สมัยนั้นถ้าอยากเล่นตุ๊กตาต้องวาดเอง ไม่ได้มีเป็นเล่มขายเหมือนปัจจุบัน เราวาดตุ๊กตา และวาดชุดตุ๊กตาเก็บไว้เป็นร้อย ๆ ชุด แล้วแบ่งขายเพื่อนตัวละหนึ่งสลึง ใครซื้อพร้อมชุดก็ 50 สตางค์ ได้ 2 ชุด ขายแบบนี้จนถึงประถม 4 ยังมีเพื่อนขอซื้ออยู่เลย ตอนเรียนชั้นประถมอยู่โรงเรียนประจำ เวลาคุณแม่ไปเยี่ยม ซิสเตอร์จะฟ้องว่า ที่เห็นชายกระโปรงสวย ๆ เว้าแหว่งนั่น เพราะเราตัดมาเย็บเป็นชุดตุ๊กตา เราก็บอกคุณแม่ว่าอยากให้ตุ๊กตาแต่งตัวเหมือนเรา”

พี่เอ๊าะเล่าถึงวัยเยาว์ ซึ่งเป็นชีวิตที่พลิกผันให้ต้องมารับราชการตามรอยเท้าบิดาซึ่งจบรัฐศาสตร์จุฬาฯ รุ่น 1 ส่วนพี่เอ๊าะก็ไปเรียนโบราณคดีแทนที่จะได้เรียนตัดเย็บหลังจบมศ. 3 ตามที่ตั้งใจไว้ จึงเปลี่ยนมาทำเป็นงานอดิเรก ตั้งแต่นำชุดเก่ามาปรับเป็นชุดใหม่ ตัดเสื้อผ้าให้มารดา ตนเอง และน้อง ๆ ใส่ โดยใช้จักรถีบรุ่นโบราณ ซึ่งต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะไม่มีตำราสอน จนกระทั่งแต่งงานมีลูก จึงซื้อจักรเย็บผ้าอัตโนมัติที่ราคาหลักหมื่นมาใช้

“เกือบ 40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นจักรเย็บผ้าราคาหมื่นสองก็ถือว่าแพงมากนะ เงินเดือนข้าราชการก็นิดเดียว ต้องเก็บเงินอยู่สองสามเดือนกว่าจะซื้อได้ พอเสาร์อาทิตย์ ก็นำจักรออกมาตั้ง แล้วตัดเสื้อผ้าให้ลูก ๆ ใส่ ตัดรวดเดียวทีละ 10 ชุด ตัดเสร็จก็เก็บจักร พอสองสามเดือนต่อมามีผ้าลายใหม่ ๆ ก็นำจักรออกมาตัดชุดใหม่ ลูก ๆ ก็ชอบใจว่าแม่ตัดเสื้อผ้าใหม่ ๆ ให้ใส่ไม่เหมือนใครตลอด เพราะสมัยนั้นมีเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเด็กขายน้อยมาก ไม่หมือนสมัยนี้”

สานต่อความฝันวัยเยาว์ พร้อมบทบาทแม่และยาย

จากจักรหลังเก่าสู่จักรหลังปัจจุบัน จักรหลังนี้พี่เอ๊าะซื้อเก็บไว้ตั้ง 5 ปี ก่อนที่จะนำออกมาตัดเย็บ เพราะลูก ๆ โตกันหมดแล้ว จนกระทั่งโควิด-19 ซึ่งต้องอยู่บ้านตลอด 3 ปี พอดีลูกสาวคนเล็กจะแต่งงานตอนปลายปี 2563 ลูกสาวคนโตที่มีลูกอายุขวบกว่า อยากให้ลูกใส่ชุดแบบเดียวกับเจ้าหญิงเจ้าชายองค์น้อย ๆ ของราชวงศ์อังกฤษตอนเป็นเพื่อนเจ้าสาว พี่เอ๊าะจึงยกจักรออกมาตั้ง แล้วจัดการตัดเสื้อคอบัวกับกางเกงสายเอี๊ยมให้หลานใส่ และจากวันนั้น ก็ตัดเย็บไม่หยุดเลย

“เราชอบตัดเสื้อผ้าเด็ก ๆ อยู่แล้ว เพราะน่ารักดี มีอยู่ครั้งหนึ่งลูกสาวขอให้ตัดชุดกะลาสีให้ลูกชายเขาใส่บ้าง เราก็เสิร์ชหาวิธีตัดแต่หาไม่ได้ ก็นั่งคิดหาวิธีว่าจะตัดผ้าอย่างไร จะเย็บอย่างไร คิดอยู่ 2 วัน มาคิดออกตอนตี 4 เลยลุกขึ้นมาตัดเย็บตอนนั้นเลย จากนั้นก็ตัดเสื้อผ้าแจกลูก ๆ หลาน ๆ ยังตัดกางเกงขาสั้นแจกทุกคนในครอบครัวทุกหลัง ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นอยู่แล้วแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

จนวันหนึ่งลูกสาวซื้อตุ๊กตาบาร์บี้มาเป็นของขวัญให้หลานสาว พี่เอ๊าะเลยนำเศษผ้าที่เหลือมาตัดชุดให้บาร์บี้ใส่ ตัดแล้วชอบ เพราะทำให้คิดถึงความหลังที่ชอบเล่นตุ๊กตา เลยซื้อบาร์บี้เป็นของตัวเอง เนื่องจากตอนพี่เอ๊าะเป็นเด็กในเมืองไทยยังไม่มีขาย พอมีขายตอนมีลูก เลยซื้อให้ลูกเล่น แล้วตัดชุดให้ด้วย บางทีก็ถักโครเชต์เป็นบิกินี่ให้บาร์บี้ใส่ด้วย คราวนี้เลยสนุกใหญ่ เพราะตัดให้บาร์บี้ตัวเองด้วย ของลูก และของหลานด้วย รวมแล้วก็กว่าร้อยชุด

พี่เอ๊าะยังหยิบกล่องสีแดง ซึ่งบรรจุชุดบาร์บี้ที่เพิ่งตัดเย็บเสร็จไปก่อนหน้านี้ มีทั้งชุดเสื้อสายเดี่ยวกับกางเกงขาสั้น เดรสสั้น เดรสยาว เสื้อเข้าชุดกับกางเกงเดฟแบบยุค 70’s ที่มีสีสันสดใส และมีลวดลายดอกไม้กระจุ๋มกระจิ่ม โดยข้าง ๆ เป็นกล่องอุปกรณ์ที่มีด้ายนับสิบ ๆ สี จัดวางอย่างเป็นระเบียบ

แจกจ่ายความสุขให้เพื่อนฝูงญาติมิตร

“จำได้เลยตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2563 ตัดเสื้อให้เพื่อน ๆ ประมาณ 30 คน ญาติ ๆ และลูกน้องอีกประมาณ 20 คน รวมแล้ว 313 ตัว ทั้งผ้าของเราเอง และผ้าที่เพื่อนนำผ้ามาฝากไว้ เราก็ทยอยตัดไปเรื่อย ๆ ถ้าเพื่อนผู้หญิงก็ตัดเป็นชุดบ้าง เสื้อเดี่ยวบ้าง เพื่อนผู้ชายก็ตัดเป็นเสื้อฮาวาย เสื้อคอกลม และกางเกง ยิ่งตัดฝีมือก็ยิ่งดีขึ้น และตัดได้หลากหลายแบบมากขึ้น”

พี่เอ๊าะบอกว่า ข้อดีของงานอดิเรกนี้คือได้ของใช้ ช่วยประหยัดเงิน ทำให้ตัวเองมีความสุข คนรอบตัวมีความสุข โดยเฉพาะเพื่อนฝูง เมื่อทำให้เพื่อนด้วยความรัก ก็ทำให้ได้รับความรักกลับมา จนเกิดเป็นสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไม่รู้จบ และเป็นความภูมิใจของตัวเองด้วย ที่สำคัญคือสุขภาพสมอง เพราะการตัดเย็บจำเป็นต้องใช้ทั้งความคิดและความจำ ถ้าฝึกฝนทุกวัน จะไม่ทำให้เป็นอัลไซเมอร์ เนื่องจากเพื่อนแต่ละคน สไตล์ไม่เหมือนกัน จึงต้องคิดแบบ และคิดหาวิธีตัดให้เป็นไปตามบุคลิกของแต่ละคน

นอกจากนี้ การตัดเสื้อแต่ละตัวใช้เวลาไม่เท่ากันด้วย ขึ้นอยู่กับแบบว่ายากง่ายแค่ไหน บางตัวถ้าง่ายก็ตัดเสร็จภายใน 3 ชั่วโมง เช่น ชุดที่พี่เอ๊าะสวมอยู่นี้ เป็นเดรสสั้นแขนกุดลายดอกไม้อ่อนหวาน พี่เอ๊าะแค่เพิ่มเครื่องประดับเป็นสร้อยคอสีพาสเทลลงไป ก็สวยงามสมวัยแตะ 70 แล้ว

“ปีนี้ครบปีที่ 10 ที่เกษียณแล้ว ถ้าจะให้คะแนนตัวเองในการใช้ชีวิต ก็ให้ 9 เต็ม 10 เพราะหนึ่งคะแนนที่หายไปคือสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ และจริง ๆ แล้วชีวิตเกษียณเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด เพราะมีอิสระที่สุด และเราสามารถเลือกได้ว่าอยากใช้ชีวิตแบบไหน ก็ใช้ไปเลย”

Credits

Authors

  • นัธพร ศิริรังษี

    Author"มนุษย์โลกสวยที่เคารพความแตกต่างของผู้คน เพราะเชื่อว่านี่คือสีสัน และความหลากหลายในการดำรงชีวิต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และโลกที่กำลังขับเคลื่อนไปสู่สิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจหมายถึงความท้าทายใหม่ๆ ที่รอเราทุกคนอยู่ด้วย"

  • ชิษณุพงศ์ วงศ์ชูชัยสถิต

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ