หนึ่งใน Sessions ที่น่าประทับใจในงานมนุษย์ต่างวัย Talk 2025 มีชื่อว่า “มนุษย์ต่างวัย Life Talk” บทเรียนชีวิตจากคนธรรมดาสำหรับการเริ่มต้นชีวิต ซีซัน 2 จากสปีกเกอร์สุดพิเศษ 4 ท่าน กับเรื่องราวของชีวิตที่จะทำให้ทุกคนรู้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน เราก็สามารถออกแบบชีวิตในแบบที่ใช่ และยังมีความฝันได้เสมอ
“ลัดดา” ลัดดา แสงเงินอ่อน อายุ 77 ปี
อดีตนักธุรกิจที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จนต้องปิดกิจการลง และไปเริ่มต้นใหม่ในวัย 50 ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยความรู้ทางด้านภาษาเป็นศูนย์ หลังจากทำงานดูแลจนลูกเติบโต
ป้าลัดดากลับมาเริ่มต้นชีวิตหลังเกษียณที่ไทย ในบทบาทจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก ๆ และผู้สูงอายุ สำหรับป้าลัดดา เชื่อที่ว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลข ไม่ใช่อุปสรรคของความฝัน”
“แม่แก้ว” เอื้ออัญ กาญจนดำรงศักดิ์ อายุ 63 ปี
จากแม่บ้านเต็มเวลา ผู้ทุ่มเทให้กับการดูแลครอบครัว สู่การเริ่มต้นใหม่ในฐานะ “ไบค์เกอร์หญิง” ในวัยเลขหก พิชิตระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตรจากเหนือจรดใต้
“บอย” ศิวดล ระถี อายุ 50 ปี
เจ้าของร้าน “นนบุราเมน” ร้านราเมนที่เกิดจากการค้นหาชีวิตใหม่หลังเผชิญวิกฤตแห่งวัย ทั้งการสูญเสียคนในครอบครัวและความไม่สมหวังในหน้าที่การงาน จนเกือบกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า
“ณี” ภาระณี วรรธโนทัย อายุ 67 ปี
อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานมาตรฐานท่าอากาศยานและการบิน Working Woman ที่ทุ่มเทให้กับงานจนไม่มีเวลาสำหรับตัวเอง พอเกษียณ ชีวิตกลับเหมือนถูกปิดสวิตช์ ไม่เคยมีงานอดิเรก ทำให้ว่างจนไร้ทิศทาง… สู่การค้นพบ “การถ่ายภาพ” ที่เข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง จากมือใหม่สู่โลกใหม่ที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ และทำให้กลับมาค้นพบความหมายในชีวิตอีกครั้ง
ใน Sessions นี้ เราจะพาทุกคนไปพบกับเรื่องราวแรงบันดาลใจจาก 4 คน 4 มุมมองที่พิสูจน์ว่า… ไม่ว่าจะอายุเท่าไร การเริ่มต้นใหม่ก็ยังเป็นไปได้เสมอ
ขอบคุณของที่ระลึกเพื่อสนับสนุนทุกความฝันจาก Babi Mild & Beyond สำหรับสปีกเกอร์ทุกท่าน
“ทุกคนมีความฝัน แม้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งนี้มันทำให้เหมือนเราได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้งในวัยสูงอายุ”
“ป้าลัดดาเคยทำอาชีพขายวัสดุก่อสร้าง แล้วก็หมดตัว ก็เลยต้องพาลูกไปอยู่อเมริกา แบบไม่มีความรู้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย จนได้ไปเจอคนไทยในอเมริกาช่วยสอนภาษาอังกฤษให้ แล้วก็มีอาชีพจากการทำงานทำความสะอาดปั๊มน้ำมัน แล้วก็ทำงานในครัว แบบหลบ ๆ เพราะเข้าเมืองไปแบบผิดกฎหมาย อยู่แบบนั้นเป็นเวลา 5 ปี อดทนจนลูกเรียนจบ High School แล้วก็ตัดสินใจกลับเมืองไทย
“จากคนที่เคยเป็นเจ้าของกิจการกลับมาต้องมากลายเป็นหัวหน้า รปภ. ได้เงินเดือน 5,000 บาท มีรายได้เสริมจากทำธุรกิจตู้ซักผ้าได้เงินที่ละ 20,30,40 บาท แล้วก็มาคิดว่าเรามีความรู้ภาษาอังกฤษนี่นา เลยนึกถึงโรงเรียนเก่าที่เราเรียนมา ป้าเลยมาขอท่านผู้อำนวยการว่าขอเข้าไปสอนภาษาอังกฤษ เขาก็รับให้เข้าไปสอน เป็นจิตอาสาไม่มีเงินเดือน
“จากสอนเด็กก็มาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนผู้สูงอายุ สอนมา 6 ปีแล้ว การเป็นครูทำให้ป้าเจอเพื่อน มีสังคม ทำให้เรามีความสุขไปด้วย ได้แอคทีฟ ตอนนี้อายุ 77 ปีแล้ว ป้าก็ยังมีความฝันคืออยากให้โรงเรียนของเรายังอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ถึงแม้ว่าครูอย่างป้าจะไม่อยู่แล้ว ไม่อยากให้โรงเรียนล้มไป อยากให้เด็กรุ่นหลังเข้ามาช่วยกัน เพราะโรงเรียนมีส่วนช่วยให้ผู้สูงวัยที่แต่ละคนก็อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกันได้มาพบปะกันจะได้ไม่เหงา
“ทุกวันนี้ป้าให้คะแนนความสุขตัวเอง 9 เต็ม 10 เพราะสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีความสุขดี
ป้าอยากจะบอกว่าสำหรับทุกคนที่มีความฝัน จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็แล้วแต่ อย่าเพิ่งหยุดฝัน แม้ว่าเราจะสูงวัยแล้วก็ยังมีความฝันได้ไม่ต่างจากตอนที่เรายังเป็นเด็กๆ ”
ลัดดา แสงเงินอ่อน วัย 77 ปี
“อายุเป็นเพียงตัวเลข อยู่ที่เรามีความกล้าและมั่นใจออกไปหาความสุขในแบบที่ตัวเองตั้งใจไว้ คุณได้สิทธิ์นั้นทันที”
“แม่แก้ว” เอื้ออัญ กาญจนดำรงศักดิ์ วัย 63 ปี
จากแม่บ้านเต็มเวลา ผู้ทุ่มเทให้กับการดูแลครอบครัว สู่การเริ่มต้นใหม่ในฐานะ “ไบค์เกอร์หญิง” ในวัยเลขหก พิชิตระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตรจากเหนือจรดใต้
“เมื่อก่อนแม่เป็นแม่บ้าน ดูแลรับ-ส่งลูกไปโรงเรียน ทำกับข้าว ทำทุกอย่าง ทำหน้าที่แม่เป็นอย่างนี้ตลอดมาเรื่อย ๆ จนลูกโตเข้าเรียนมัธยม เขาก็พอจะช่วยเหลือตัวเองได้ แม่เลยเริ่มคิดถึงตัวเองว่าเราจะอยู่อย่างนี้ตลอดไปเหรอ เราควรจะต้องหาอะไรทำเพื่อตัวเองบ้าง เพราะถ้าหากลูกโตขึ้นแต่งงานไปแล้ว เราจะไปพึ่งพาลูกให้เขาดูแล มันไม่น่าจะเป็นแบบนั้น
“เมื่อปี 2560 เราจึงตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง มาเปิดร้านค้าเป็นของธุรกิจเล็กๆ ที่อ.หาดใหญ่ เพราะไม่ต้องตื่นเช้าเพื่อมาทำกับข้าวให้ลูกเหมือนเดิมแล้ว เราสามารถออกมาทำงานได้ ก็มาเปิดร้านขายของแต่ละวันก็ขายถึงประมาณ 3-4 ทุ่ม ค่อยกลับบ้าน ทำแบบนี้อยู่หลายปี
“ค้าขายสักระยะหนึ่งเกิด Covid 19 ระบาด รายได้จากการค้าขายลดลง ประกอบกับเราเห็นคุณพงศ์ คนข้างบ้านเรา ทุกปลายปีเขาจะพาครอบครัวไปเที่ยวด้วยการขี่บิ๊กไบค์ เป็นการให้รางวัลชีวิตตัวเอง แม่เลยขออาศัยเขาไปด้วย ได้ขี่บิ๊กไบค์ของเขาครั้งแรกก็ชอบเลย พอกลับมาบ้าน ก็เลยบอกให้คุณพงศ์ ช่วยจัดหารถบิ๊กไบค์ให้สักคัน คิดว่าถ้าเรามีรถ เราน่าจะไปเปิดโลกกว้างกับเขาได้
“เราอายุเท่านี้แล้ว แต่ยังอยากท่องโลกกว้าง แม่เลยต้องฝึกหนักมากเพื่อจะขี่รถให้ได้ เริ่มจากการปั่นจักรยานเพื่อฝึกซ้อม เรียนรู้หลักการและวิธีการรับมือเมื่อรถล้ม ตั้งแต่เริ่มซ้อมมา ล้มไปตั้ง 8 ครั้งแล้ว เพราะรถมันหนักมาก แล้วยิ่งวัยอย่างเรามักจะเจอคำถามว่ากล้าเหรอ? เราก็จะไปตอบไปว่า “กล้า” เพราะอยากออกไปท่องโลกกว้าง หลายปีที่ผ่านมาทริปที่ไกลที่สุดคือขี่จาก อ.หาดใหญ่ไปถึง อ.ปาย
“ชีวิตแม่เปลี่ยนไปตั้งแต่มาขี่บิ๊กไบค์ ทำให้เรากล้าขึ้น จากที่เราเคยอยู่แต่ในบ้าน แค่จะไปขายของยังมีความกลัวอยู่เลย แต่เดี๋ยวนี้เรารู้สึกว่าเรากล้าขึ้น กล้าที่จะไปไหนมาไหนคนเดียว
“คนเราอายุปูนนี้แล้ว เวลาก็เหลือน้อย ทำไมเราไม่ทำอะไรที่ให้ความสุขกับตัวเองล่ะ เมื่อตอนยังเด็กเราฝันอยากได้โน่น อยากได้นี่ แต่เราไมได้ทำ ตอนนี้ทำไปเลยเพราะเรายังมีแรงอยู่ ถ้าเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ สมองเราจะได้พัฒนา ตอนนี้พอมีเวลาว่างแม่ก็จะไปเรียนทำดอกไม้ ไปเรียนทำเหรียญโปรยทาน จนมีรายได้เสริม นอกจากความรู้แล้ว ยังทำให้เรามีโอกาสได้พบเพื่อนใหม่ ๆ ด้วย ทำให้เดี๋ยวนี้มีเพื่อนเยอะมากเลย
ตอนนี้แม่แก้วมีความสุขมากกับการอยู่ตัวคนเดียว ได้ทำอะไรที่อยากทำ ไม่ต้องคอยถามใครว่าไปได้ไหม อยากไปก็ไปเลย”
“ความกลัวมีอยู่ตลอดว่าจะสำเร็จไหม แต่สิ่งเดียวที่จะทำให้เราหลุดพ้นได้คือการลงมือทำ ทุกความผิดพลาดคือการเรียนรู้ ขอแค่อย่าถอดใจ”
“บอย” ศิวดล ระถี อายุ 50 ปี เจ้าของร้าน “นนบุราเมน” ร้านราเมนที่เกิดจากการค้นหาชีวิตใหม่หลังเผชิญวิกฤตแห่งวัย ทั้งการสูญเสียคนในครอบครัวและความไม่สมหวังในหน้าที่การงาน จนเกือบกลายเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า
“นนบุราเมนคือร้านราเมน ที่ผมอยากใช้ช่วงที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัย 50 ปี กับคนที่เรารักที่สุดนั่นคือภรรยา ร้านของเราาตั้งใจจะรับลูกค้าไม่เยอะ จากเดิมมีที่นั่ง 14 ที่นั่ง ตอนนี้เหลือแค่ 6 ที่นั่ง เปิดร้านแค่ 4 วัน/สัปดาห์ และต้องจองล่วงหน้า เพราะเราอยากใช้เวลาเตรียมสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า เพราะเคยมีประสบการณ์ที่ลูกค้ามารอที่หน้าร้านเยอะมาก เราควรจะดีใจที่ลูกค้ามาทานเยอะ แต่เรากลับมีความทุกข์ เลยกลับมาทบทวนว่า รายได้มันดีขึ้นจริง แต่สิ่งที่เราทำ มันดีขึ้นหรือยัง นี่มันคือความสุขจริง ๆ ใช่ไหม
“ผมเรียนจบมหาวิทยาลัยปี 2540 ในยุคฟองสบู่แตก สาขาวิชา เศรษฐศาสตร์ ในยุคที่ธนาคารทยอยปิดตัว แต่ผมโชคดีที่สอบเข้าทำงานในธนาคารได้ คนยุคผมถูกสอนมาว่า ให้ตั้งใจเรียนจบมาทำงานที่มั่นคง เติบโต มีตำแหน่งสูงๆ มีบ้าน มีรถ แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของชีวิต ผมกลับพบว่า ชีวิตไม่มีความสุข
“มองย้อนช่วงนั้นคือช่วงที่ผมเจอคำถามและบททดสอบหลายอย่าง เริ่มจากแฟนป่วยจนต้องผ่าตัด ช่วงที่เขาเข้ารับการผ่าตัด ผมกลับอยู่ในห้องประชุม ติดประชุมไปดูแลแฟนไม่ได้ หลังจากนั้นอีก 2 ปี พ่อผมก็เสียชีวิต แม้ผมจะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าวันหนึ่งพ่อจะต้องจากไป แต่ก็ยังทำใจไม่ได้ ซึ่งช่วงเวลาเดียวกันกับที่พ่อเสียก็มีปัญหาเรื่องงาน รวมไปถึงต้องจัดการมรดกซึ่งผมไม่ถนัด จากนั้นก็ยังมีวิกฤตจาก Covid- 19 จนร่างกายผมส่งสัญญาณออกมาว่าไม่ไหว กินน้ำอยู่ดี ๆ น้ำก็ร่วงออกจากปาก ตาข้างซ้ายกระพริบโดยไม่รู้ตัว น้ำตาไหล เริ่มควบคุมร่างกายข้างซ้ายยาก ตอนนั้นคิดว่าตัวเองจะตายแล้ว จนกระทั่งหมอบอกว่าเราเป็นโรคหน้าเบี้ยว คุณหมอแนะนำว่าให้พักผ่อนเยอะ ๆ ห้ามเครียด แต่ในความจริงเราไม่สามารถทำได้ งานเรา เราก็ต้องรับผิดชอบ
“เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะจัดการกับชีวิตยังไงต่อ ผมอยากใช้เวลาช่วงที่เหลืออยู่กับคนที่เรารัก ตอนนั้นเริ่มคิดว่าตำแหน่ง หน้าที่การงาน เงินทอง เป็นแค่หัวโขนมันไม่สำคัญกับเราเลย เราควรเลือกสิ่งที่เราอยากทำ
“มีอยู่วันหนึ่งมีบะหมี่เหลืออยู่ 1 ซอง ผมมาคิดว่าจะทำยังไงให้มันอร่อย นั่นเป็นการจุดประกายเลยว่า เราอยากทำอะไรกับชีวิตที่เหลือหลังจากนี้ จึงตัดสินใจออกจากงานประจำ แล้วก็มาเริ่มต้นทำร้านราเมน
“ช่วงเริ่มแรก ผมต้องยกกระดูกหมูทีละ 30 กิโลกรัม ผมร้องไห้เลย สับสนจนมีคำถามว่าทำไมผมเลือกเส้นทางนี้ จากชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่อยู่แต่ในห้องประชุม อยู่ดี ๆ ต้องมาใช้แรง ร้องไห้น้ำตาไหลเลยครับ แต่พอเราบอกกับตัวเองว่า เราเลือกเส้นทางสายนี้แล้วเราต้องไปให้สุดก็เลยเดินหน้าต่อไป ผมคิดว่าทั้งหมดนี้มันอยู่ที่มายด์เซทของเราที่จะทำให้เราก้าวข้ามปัญหาได้หรือไม่ การเริ่มต้นช่วงแรกมันอาจจะยาก แต่ไม่มีอะไรยากเกินกว่าที่เราจะทำได้”
“หลังเกษียณไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิตแต่มันคือจุดเริ่มต้นอิสระในแบบของตัวเอง เพราะฉะนั้นตั้งเป้าให้ไกลแล้วไปให้ถึง พอเราถึงจุดนั้นแล้วความสุขจะมาเอง”
“เริ่มทำงานที่ท่าอากาศยานตั้งแต่อายุ 25 ปีจนถึง 60 ปี งานที่ยากที่สุดตอนนั้นก็คือการย้ายการปฏิบัติการจากสนามบินสุวรรณภูมิกลับมาที่สนามบินดอนเมืองแต่เราก็อดทน ทำจนสำเร็จเป็นงานที่ภาคภูมิใจ หลังจากนั้นก็ทำงานมาเรื่อย ๆ กระทั่งเกษียณอายุราชการ
“ก่อนเกษียณมีคนบอกไว้ว่าเป็นผู้บริหารมาก่อนต้องเตรียมตัวนะ อย่าไปยึดติด พี่ก็เตรียมค่ะ พี่จะไม่ให้เลขาฯ กับคนขับรถมารับที่บ้าน พี่จะขับรถเอง เตรียมตัวไว้ว่าพอเกษียณเราจะได้ไม่คิดว่าทำไมคนขับรถไม่มารับเรา ก่อนเกษียณเป็นช่วงเวลาที่เตรียมตัวว่าไม่ยึดติดกับตำแหน่ง หมวกที่สวมไว้ยกให้คนอื่น จบก็คือจบ
“การที่ทำงานหนักมาก ๆ ก็คิดว่าเกษียณแล้วคงสบาย สบายจริง ๆ ค่ะ สบายจนไม่ต้องทำอะไร งานบ้านก็ไม่ต้องทำ ทำกับข้าวก็ไม่ต้องทำ ช่วงแรก ๆ รู้สึกดีที่เราไม่ต้องเผชิญกับรถติดทุกวัน ได้นอนดูซีรีส์ถึงตี 2-3 ดูไปเรื่อย ๆ จนมาคิดว่านี่ฉันจะต้องดูไปจนตายรึเปล่า ฉันปล่อยชีวิตเป็นแบบนี้ไม่ได้ ต้องหาอะไรทำแล้ว
“พอดีมีเพื่อนมหาวิทยาลัยรวมกลุ่มกัน เพื่อเกษียณแล้วจะได้ไม่เหงา เขาชวนให้มาลองถ่ายภาพก็เลยมาลองจับกล้องดู งานนี้มาจากพรแสวงล้วน ๆ ไม่มีพรสวรรค์เลย เพราะพี่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการถ่ายรูป ที่ผ่านมาเป็นนางแบบอย่างเดียว พอเราไปเที่ยวกับเพื่อนบ่อยๆ เพื่อนก็สอน และครอบครัวก็สนับสนุน
“ที่สนใจการถ่ายภาพเพราะคิดว่าเป็นงานที่เราพอทำได้ เคยเห็นคนอื่นไปวิ่งมาราธอนรู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับเรา งานนี้เป็นงานที่เราพอทำได้ เราก็ตั้งเป้าหมายว่าต้องทำให้ได้และทำให้ดี ไม่ต้องไปแข่งกับใคร ทำให้ตัวเองยอมรับตัวได้ แต่งานถ่ายภาพต้องอดทนมาก เพราะเราไม่รู้จักกล้องมาก่อนเลย ฝึกฝนไปเรื่อย ๆ พอเริ่มออกทริป ลองถ่ายไปเรื่อย ๆ ก็ค้นพบว่าต้องรู้จัก การใช้ Photoshop ก็เลยไปเรียนการแต่งด้วย Photoshop เรียนจาก Lightroom แล้วก็พยายามส่งภาพไปที่เพจต่าง ๆ เพื่อให้เขาดูงานของเรา จะได้รู้ว่าได้พัฒนาตัวเองแล้วหรือยัง จนกระทั่งส่งรูปไปที่เพจต่างประเทศเพจหนึ่งและได้รางวัล Best of the year ของเพจนั้น ทำให้รู้สึกภูมิใจมากและรู้สึกว่าถึงเป้าหมายที่วางไว้แล้ว
“เราใช้เวลาทั้งหมด 7 ปี รู้สึกดีใจที่มาถึงเป้าหมายที่เราตั้งใจ ชีวิตหลังเกษียณจะมีคุณค่าถ้าเราทำให้ตัวให้มีคุณค่า ถ้าเราทำตัวว่าง ๆ เมื่อว่างแล้วก็เฉา ถ้าเรามีกิจกรรมต่าง ๆ จะทำให้ชีวิตเราไปต่อได้ พี่ณีป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม มีคนอยากให้พัก แต่พี่ณีไม่พัก ถ่ายภาพไปและรักษาไปสลับกันได้ เป็นการสร้างสมดุลให้ตัวเอง และเชื่อว่าทุกคนทำได้ถ้าตั้งใจ ไม่ต้องไปแข่งกับใคร แข่งกับตัวเองก็พอค่ะ”
ภาระณี วรรธโนทัย อายุ 67 ปี
ส่วนหนึ่งจากเวที MAIN STAGE
Sessions: มนุษย์ต่างวัย Life Talk บทเรียนชีวิตจากคนธรรมดา
วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2568