มนุษย์ต่างวัยพาขึ้นเหนือไปที่ หมู่บ้านสันก้างปลา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสัมผัสกับชีวิตรื่นรมย์ท่ามกลางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบชีวิตเกษียณล่วงหน้าถึง 10 ปี ของ “อัญชัญ ไชยวงศ์” ผู้ก่อตั้ง สหรีจันตา ร้านอาหาร ร้านชาออร์แกนิก และด้านสุขภาพครบวงจร
ก่อนหน้านี้ คุณอัญชัน คืออดีตนักธุรกิจด้านสปาที่ประสบความสำเร็จคนหนึ่ง แต่การแข่งขันทางธุรกิจและการทำงานหนักทำให้เธอต้องเผชิญกับความกดดัน จนส่งผลต่อสุขภาพกายและใจ จนเธอตั้งคำถามถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่
และคำตอบของความหมายของชีวิตที่เธอค้นหาคือการมีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์ต่อผู้อื่น อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี อาหารที่ดี ผู้คนที่ดี และสุขภาพที่ดี ทำให้เธอตัดสินใจเดินทางกลับมาเริ่มต้นตั้งหลักชีวิตใหม่ที่บ้านเกิด เพื่อนำความรู้จากการทำธุรกิจ และความรู้ในเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัยจากพี่ชาย มาสร้างร้านอาหารและเวลเนสภายใต้ชื่อ “สหรีจันตา” หรือ จันทร์เต็มดวง ซึ่งเป็นชื่อของคุณแม่ (อ่านว่า สะ-หรี-จัน-ตา)
โดยมีเป้าหมายที่อยากจะทำงานร่วมกับชุมชน สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ผลิตอาหารปลอดภัย ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเติบโตไปด้วยกัน
ชีวิตการทำธุรกิจสำเร็จแต่เหมือน “ยืนบนเส้นด้าย”
“ พี่เคยทำบริษัทเกี่ยวสินค้าสปา เป็นคนคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในสปาให้กับหลากหลายแบรนด์ ถ้าถามว่าตอนนั้นประสบความสำเร็จไหม ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ ด้วยความที่เราเข้าใจลูกค้า และความชำนาญในวัตถุดิบของเรา
“แต่ชีวิตการทำธุรกิจแม้จะประสบความสำเร็จในเรื่องเงินมากแค่ไหน แต่มันไม่ได้ง่าย การเป็นเจ้าของธุรกิจไม่ได้สบายแค่มีเงินแล้วจบ แต่มันต้องเจอกับความกดดัน การแข่งขันที่ดุเดือด ถ้าเราไม่ชนะเราก็ต้องกลายเป็นผู้แพ้ในวงการ เพราะฉะนั้นช่วงที่ทำธุรกิจพี่เรียกมันว่าเป็นชีวิตที่ “ยืนบนเส้นด้าย” ตลอดเวลา ต้องประคองให้รอดให้ได้ไม่ว่าจะมีแรงกระทบมากแค่ไหน จนในที่สุดก็ส่งผลกระทบกับสุขภาพ เพราะความเครียดที่สะสม
“สิ่งที่ทำให้พี่เริ่มตั้งคำถามกับการมีชีวิตต่อจากนี้ไปอีก 30 ปี คือ แม้เงินจะสำคัญ แต่เงินไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต พี่กลับไม่เคยรู้สึกมีความสุขจริงๆเลยเราใช้เงินซื้อของ ช็อปปิง แต่มันกลับเติมเท่าไรก็ไม่เต็มสักที จนเกิดเป็นคำถามที่ชัดในใจว่า ความหมายในการมีชีวิตอยู่หลังจากนี้คืออะไรกัน”
ค้นหาความหมายในการมีชีวิต
“ทำไมไม่ใช้ชีวิตเรียบง่ายแบบคนอื่นบ้าง ? คือคำพูดที่แม่ถามกลับมาหาลูกสาวที่ทำงานอย่างหนัก พี่เลยถามแม่กลับว่าแล้วชีวิตแม่ต้องการอะไร แม่ตอบกลับมาว่าก็ไม่ต้องการอะไร แค่มีครอบครัวก็มีความสุขแล้ว มันเหมือนทำให้พี่ได้กลับมาทบทวนว่าชีวิตหลังจากนี้ต้องการอะไร ยิ่งถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 30 ปี เราจะอยากมีชีวิตแบบไหน
“สิ่งที่พี่ค้นพบคือ ตอนเราทำงานเพื่อเงินเราหาความสุขโดยการใช้เงินซื้อของแพง ไปเที่ยวแพง เพื่อเติมข้างในที่ขาด สุดท้ายมันก็สุขแต่ไม่เคยเต็ม เติมเท่าไรก็ไม่พอ มันไม่ตอบความหมายในการมีชีวิตอยู่ของเรา พอเราอายุมากขึ้นเราค้นพบว่าเรื่องเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักแล้ว เราอยากเติมเต็มความสุขในเชิงจิตใจในการทำเพื่อผู้อื่น อยู่ดูแลครอบครัว มีสุขภาพที่ดี ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ในเมื่อแม่อยู่ที่เชียงใหม่ คำตอบแรกของพี่คือการกลับบ้าน เพื่อสร้างบ้านให้กลายเป็นสังคมที่เราอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 30 ปี”
เริ่มต้นที่บ้าน
“หลังจากที่เรากลับมาที่บ้านได้ไม่นานคุณแม่ก็ป่วยเป็นสโตรก ด้วยความที่อายุมากการฟื้นตัวไม่ใช่เรื่องง่าย โจทย์หลัก ๆ ในตอนแรกคือการดูแลฟื้นฟูคุณแม่ ซึ่งพี่ชายเป็นนายกสมาคมอาหารปลอดภัย และตัวของเราเองก็มีความรู้เรื่องอาหารปลอดภัยอยู่ จึงเริ่มใช้เส้นทางอาหารปลอดภัยในการฟื้นฟูคุณแม่ จากที่ไม่มีใครคิดว่าคุณแม่จะรอดชีวิต หรือไม่ก็ติดเตียง จนวันนี้คุณแม่สามารถเดินเองได้ กินเองได้ พูดคุยได้บ้าง ทำให้เราเห็นเลยว่าเรื่องอาหาร ถ้าเราเลือกแต่สิ่งดี ๆ จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ยาวนาน
“สำหรับพี่ในฐานะลูกการได้มาอยู่กับคุณแม่ในช่วงที่คุณแม่ป่วยและเราได้ดูแลเองทั้งหมดจนค่อย ๆ เห็นคุณแม่ดีขึ้นมันเป็นความหมายทางใจเหมือนกัน พอเราทำให้แม่เราแข็งแรงได้เราเลยคิดว่าถ้าอยากมีชีวิตยาวนานเราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่โดยเฉพาะเรื่องอาหารปลอดภัย พี่ก็เลยตั้งใจกับพี่ชายว่าจะทำโปรเจกต์ร้านอาหารสุขภาพและการดูแลสุขภาพขึ้นมา โดยที่จะต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กับคนในชุมชนเพื่อพัฒนาบ้านเกิดด้วย เพราะในอนาคตหากเราทำให้บ้านเกิดเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างรายได้ ลูกหลานในชุมชนก็ไม่ต้องไกลบ้านเพื่อทำงานเหมือนอย่างที่พี่เคยทำ พวกเขาก็จะได้ได้มีงานทำและอยู่ดูแลครอบครัวได้”
สหรีจันตา อิ่มสุขกับอาหารออร์แกนิก
“สหรีจันตา คอนเซปต์ของที่นี่คือ อาหารสุขภาพที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ทุกเมนูที่ปรุงจากครัวสหรีจันตา จะมาจากผักออร์แกนิกเท่านั้น ซึ่งเมนูก็จะเปลี่ยนไปตามช่วงฤดูกาล แต่ยืนอยู่บนหัวใจสำคัญ คือ ‘อาหารเป็นยา’ ปริมาณพอเหมาะและดีต่อสุขภาพ 100 เปอร์เซ็นต์”
“พอเราศึกษาเรื่องอาหารปลอดภัย ไม่ใช่แค่กินดี แต่ต้องกินให้เพียงพอด้วย เราก็จะต้องทำการคำนวณสารอาหารว่าจะทำอย่างไร ในแต่ละมื้อถึงจะได้สารอาหารครบถ้วนโดยที่ไม่ต้องกินเนื้อสัตว์
“ที่นี่จะมีเมนูที่หลากหลายอย่างเช่น ข้าวแรมฟืน ซึ่งเป็นอาหารของทางภาคเหนือ ซึ่งทำมาจากถั่วลูกไก่ที่เป็นถั่วออร์แกนิก หรือเทมเป้ซีอิ๊วย่างใบตองก็มาจาก ซีอิ๊วที่เราหมักเอง และถั่วที่เป็นถั่วออร์แกนิก หรืออีกหนึ่งอย่างที่เป็นเมนูซิกเนเจอร์ก็คือ ยำสลัดดอกกุหลาบ ซึ่งเป็นกุหลาบออร์แกนิกที่ร้านปลูกเองซึ่งมีดอกทั้งปีปลอดภัยต่อการรับประทาน”
ทุกเมนูปรุงมาจากวัตถุดิบในชุมชน
“สิ่งสำคัญคือเราต้องโตไปพร้อมกับชุมชน ด้วยความที่พี่ชายมีทุนความรู้เดิมในเรื่องผักออร์แกนิก เลยเริ่มออกให้ความรู้กับชาวบ้าน และสนับสนุนให้ชาวบ้านมาสนใจปลูก
“10 กว่าปีที่แล้ว การพูดถึงเรื่องการไม่ใช้เคมีกับชาวบ้านเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะไม่มีคนเข้าใจ และไม่มีตลาดรองรับ เลยต้องทุ่มเทเวลาหลายปีในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เริ่มออกให้ความรู้และปลูกเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าสิ่งนี้สามารถสร้างมูลค่าในตลาดได้จริง และจะทำให้สุขภาพของเกษตรกรที่ปลูกดีขึ้นด้วย
“สหรีจันตา มีแนวทางที่แน่วแน่คือจะไม่ปลูกในสิ่งที่ชาวบ้านปลูก เพื่ออุดหนุนเกษตรกร ทำให้ทุกเมนูที่จัดเสิร์ฟล้วนมาจากผักปลอดสารที่ชาวบ้านปลูกเท่านั้น จากที่ไม่มีคนเห็นด้วยในการปลูกวิธีนี้ พอเริ่มเห็นโอกาส เริ่มเห็นตลาดก็เริ่มขยายพื้นที่และจำนวนในการปลุกเพิ่มมากขึ้น
“สวนผักแต่ละสวนที่สหรีจันตารับมาล้วนมาจากผลผลิตของผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งคนที่เป็นเกษตรกรดั้งเดิม หรือคนที่เกษียณแล้วแต่ยังแข็งแรง และไม่หยุดที่จะทำงาน ทำให้ผักของชาวบ้านไม่ใช่แค่อาหารปลอดภัยที่ส่งเข้าครัวสหรีจันตา แต่เป็นกิจกรรมชีวิตที่ทำให้คุณลุง คุณป้าหลาย ๆ คน มีความสุขและมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตเพื่อดูแลผักอย่างดีให้แขกผู้มาเยือน”
จิบชา จากสารพัดชาออร์แกนิกจากป่า สู่ เมือง
“นอกจากเมนูอาหารแล้วอีกหนึ่งซิกเนเจอร์ก็คือ ชาอัสสัมที่มาจากป่าเมี่ยง ในหมู่บ้านบ้านดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต้นชามีอายุตั้งแต่ 150-1000 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้กำลังจะถูกตัดเพราะสมัยก่อนชาวบ้านจะเก็บใบชาไปขายเป็นใบเมี่ยง พอเมี่ยงเสื่อมความนิยมคนก็หันมาตัดต้นชาทิ้งเพื่อปลูกกาแฟแทน
“ชาอัสสัมมีความพิเศษคือรากแก้วจะลึกมาก มีความเชื่อว่าพลังงานที่ใบชาดูดซับมาเวลาเราดื่มก็จะช่วยเยียวยาปราณชีวิตของเราด้วย สหรีจันตา ก็เข้าไปสนับสนุนและสอนให้ชาวบบ้านเก็บชา และรับซื้อชาจากชาวบ้าน เพื่อมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในการส่งออก ทั้งคั่วเอง หมักเอง และเสิร์ฟให้ลูกค้าที่มาเยือนได้ลิ้มลองกัน”
“การเข้าไปสนับสนุนการปลูกชาของชาวบ้านทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น จากที่เก็บใบเมี่ยงอาจจะขายได้ไม่กี่บาท แต่พอเป็นใบชามูลค่าก็เพิ่มขึ้น หลายครอบครัวเริ่มมีเงินเหลือเก็บจากต้นชา แต่ละฤดูกาลชาวบ้านก็จะรวมตัวกันเก็บชาเพื่อส่งขาย ซึ่งไม่ได้ขายให้แค่สหรีจันตาเท่านั้น แต่เรายังสอนให้ชาวบ้านหาตลาดใหม่ ๆ ต่อยอดรายได้ของตนเองด้วย”
“สิ่งที่เราทำไม่ได้แค่เพิ่มรายได้ให้กับชาวบ้าน แต่เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ต่อไปด้วย
“ทุกก้าวเดินของสรีจันตา เราไม่ได้เดินเพียงลำพังแต่เราเดินร่วมกับชาวบ้าน นอกจากการเข้าไปสร้างงานสร้างอาชีพ ยามใดมีกิจกรรมของชุมชน สหรีจันตาก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือร่วมใจผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นร่วมไปกับชาวบ้าน
ความหมายของชีวิตคือการเป็นผู้ให้
“การตื่นมาพร้อมกับการเข้าสวนปลูกกุหลาบ ได้กินอาหารที่ดี ได้ช่วยเหลือและสนับสนุนชาวบ้านทั้งหมดนี้คือการที่พี่ค่อย ๆ บ่มเพาะมาทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นความสำเร็จ ซึ่งก็ใช้เวลานับ 10 ปี สำหรับพี่การตัดสินใจทำสหรีจันตาคือสิ่งที่คิดไม่ผิดเลยแม้แต่วินาทีเดียว
“การทำธุรกิจเราเป็นแต่ผู้รับ กำไรสูงสุดคือความสำเร็จ แต่พอวันหนึ่งเรามาเป็นผู้ให้บ้างก็ทำให้เรามีคุณค่าในตัวเอง ถึงแม้การทำสหรีจันตาจะไม่ได้สำเร็จกำไรสูงสุดเหมือนตอนทำธุรกิจ แต่ก็ทำให้พี่เจอความหมายของชีวิตว่าจากนี้อีก 30 ปี เราจะอยู่ต่อไปอย่างไร”