กุล ปัญญาวงค์ – เมื่อการดูแลผู้อื่น ทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม

เรื่องราวของเกษตรกรหญิงวัย 60 ปี ที่ดูแลศิลปินแห่งชาติวัย 78 ที่กำลังป่วยเป็นอัลไซเมอร์

แม้ไม่ใช่ญาติพี่น้องที่มีความผูกพันกันทางสายเลือด หากแต่เธอก็ยินดีขันอาสาดูแลเขาด้วยความเต็มใจ

การดูแลผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่งานง่ายและสนุกสนาน หากแต่สำหรับ กุล ปัญญาวงค์ เกษตรกรแห่งชุมชนต้นน้ำน่าน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่ไม่ใช่พ่อแม่ญาติพี่น้องของตัวเอง แถมไม่ใช่การดูแลแบบสุกเอาเผากิน เดินทางไปหาเป็นครั้งเป็นคราวในยามว่าง แต่เป็นการดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าชีวิตจะต้องจากกัน

ราว 10 กว่าปีก่อน กุลเคยดูแลเพื่อนร่วมงานที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย มาวันนี้เธอยังดูแลอาจารย์ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์อีก

ในปัจจุบันที่มนุษย์มีความเป็นปัจเจกชนตัวตนสูง ผู้หญิงคนหนึ่งกลับเลือกที่จะดูแลใครอีกคนโดยไม่ทอดทิ้งให้เขาต้องอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง พร้อมทั้งยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่แม่ชีเทเรซา สิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่เรื่องที่น่ายกย่องอะไร เพราะในทางกลับกัน เธอไม่ได้เป็นแต่ผู้ให้เพียงฝ่ายเดียว

“ถ้าเปรียบเทียบกัน เราว่าเราเป็นฝ่ายได้รับมากกว่านะ สิ่งที่เราให้เขาเป็นแค่การดูแลคนป่วยเหมือนกับคนที่แข็งแรงกว่าดูแลคนที่อ่อนแอกว่า แต่สิ่งที่เราได้รับจากเขาคือการเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม”

ความฝันของเพื่อน

ถึงวันนี้ ‘ยะ’ – ปิยะวุฒิ วรคุณประภาส จะมีอายุครบ 43 ปี หากนาฬิกาชีวิตของเขาไม่หยุดเดินไปเมื่อ 14 ปีก่อน

ปิยะวุฒิทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความที่เติบโตมากับผืนป่า เขามีความฝันว่าอยากจะทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ผืนป่าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวด้วยการตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมา อย่างไรก็ตามความฝันของชายหนุ่มก็ไม่น่าจะเป็นจริงได้เท่าใดนัก เมื่อวันหนึ่งตรวจพบว่าเขาเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย

“อยู่ๆ เขาก็มีอาการปวดท้อง ทีแรกยังคิดว่าเป็นโรคกระเพาะ แต่พอตรวจกลับพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย ซึ่งจะต้องรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด แต่ยะเขาบอกว่าเขาจะไม่รักษาด้วยวิธีนี้ จะรักษาโดยการใช้สมุนไพรแทน”

กุล ปัญญาวงค์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 60 ปี ย้อนเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อ 14-15 ปีที่แล้ว ซึ่งในเวลานั้นเธอทำงานอยู่ที่เดียวกับปิยะวุฒิ แม้จะมีอายุห่างกันถึง 17 ปี แต่ทั้งสองก็เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อกัน

หลังจากทราบข่าวร้าย กุลก็ได้รับการชักชวนจาก ‘เช็ค’ – สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ในเวลานั้นให้ลงมาช่วยดูแลนิตยสาร ฅ.คน ที่กำลังจะเปิดตัว ในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ปิยะวุฒิเองก็ว่างงานอยู่พอดี เนื่องจากไม่ได้รับการจ้างงานต่อ กุลจึงตัดสินใจแจ้งกับทางบริษัทว่าขอให้รับเพื่อนของเธอเข้าทำงานด้วยกัน

เมื่อมาทำงานที่ทีวีบูรพา กุลก็ดูแลเพื่อนรักของเธออย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ อาหารการกิน คอยหาสมุนไพรหลากหลายชนิดมาปั่นให้กิน ขณะเดียวกันเพื่อนๆ ในบริษัทก็พาปิยะวุฒิไปออกกำลังกายด้วยกันบ่อยๆ

แม้จะพอมีความสุขและรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า แต่ชายหนุ่มก็ไม่ได้ละทิ้งความฝันที่จะตั้งมูลนิธิขึ้นมา หลังผ่านไปได้ราวปีเศษ อาการของปิยะวุฒิเริ่มทรุดลงตามลำดับ ต้องใส่ถุงปัสสาวะทางหน้าท้องทั้งสองข้าง ขณะเดียวกันมะเร็งร้ายก็เริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ซึ่งในเวลานั้นกุลได้ลาออกมาอยู่ที่เชียงใหม่เพื่อเริ่มตั้งมูลนิธิไทยรักษ์ป่าอันเป็นความฝันของยะให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

หลังจากได้รู้ข่าวว่าความฝันกำลังจะเป็นจริง อาการป่วยของชายหนุ่มวัย 29 เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเหมือนกับเปลวเทียนที่ลุกโพลงขึ้นมาก่อนที่จะมอดดับลง ไม่นานก่อนจะได้เห็นความสำเร็จ ปิยะวุฒิ วรคุณประภาส ก็ทิ้งลมหายใจสุดท้ายของเขาเอาไว้บนโลกใบนี้

“แม่ของยะโทร.มาบอกว่าอาการของเขาไม่ดีแล้ว เราคิดว่าอีกไม่นานเขาน่าจะไปแน่ ก็เลยขอสายคุยกับเขา เราบอกเขาว่าให้คิดเสียว่ากำลังจะออกเดินทางไกลนะ มันก็เหมือนกับยะเดินเข้าป่า เตรียมอุปกรณ์ เตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อม แล้วเดินทางล่วงหน้าไปก่อนเลย วันหนึ่งเดี๋ยวก็ได้เจอกันระหว่างทางเอง วันต่อมาแม่ก็โทร.มาบอกว่ายะไปแล้ว”

กุล ปัญญาวงค์ ไม่ได้ร้องไห้ฟูมฟายเป็นเด็กๆ ตรงกันข้าม เธอนิ่งและมีสมาธิกับสิ่งสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จ หลังจากนั้นไม่นานมูลนิธิไทยรักษ์ป่าที่เชียงใหม่ก็สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นตามที่เพื่อนของเธอฝันไว้

ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิฯ เธอได้ทำการบรรจุชื่อของชายคนหนึ่งเข้าเป็นเจ้าหน้าที่คนแรก แม้ว่าเขาคนนี้จะไม่เคยเดินทางมาทำงานสักวันเลยก็ตาม

เจ้าหน้าที่คนแรกของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อว่า ปิยะวุฒิ วรคุณประภาส


อัลไซเมอร์ของอาจารย์

เมื่อขึ้นมาทำงานที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่า จังหวัดเชียงใหม่ กุล ปัญญาวงค์ ก็มีโอกาสได้รู้จักกับ อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา นักเขียน นักวาดภาพ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2560

“เรารู้จักอาจารย์หลังจากมาทำงานมูลนิธิฯ ที่เชียงใหม่ อาจารย์มางานเปิดมูลนิธิฯ แล้วหลังจากนั้นก็ยังมาช่วยงานที่มูลนิธิฯ เรื่อยๆ ทำให้มีความรู้จักมักคุ้นกับอาจารย์อยู่พอสมควร”

หลังทำงานที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่า เชียงใหม่ อยู่ 5 ปี กุลตัดสินใจลาออกและกลับไปเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิด อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยเธอได้สร้างศูนย์กสิกรรมชุมชนต้นน้ำน่านขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านหันกลับมาทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชให้หลากหลาย แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบเดิม

แม้จะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด หากแต่กุลก็ยังแวะเวียนไปเยี่ยมอาจารย์เทพศิริทุกครั้งที่มีโอกาส กระทั่งเมื่อช่วงปลายปี 2561 เธอก็สังเกตและรู้สึกได้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับอาจารย์ที่เธอรักและนับถือ

“เราไปเยี่ยมอาจารย์แล้วรู้สึกได้ว่าอาจารย์ไม่เหมือนเดิม เริ่มพูดซ้ำ วกไปวนมา ขณะเดียวกันก็เริ่มจำสิ่งต่างๆ ไม่ได้ หลงลืมวันที่ นอกจากนั้นยังเป็นต้อกระจกและต้อหินด้วย สังเกตจากตอนวาดรูปอาจารย์จะหยิบสีผิด เช่น ต้องการสีเขียวแต่ไปหยิบสีแดงขึ้นมา เมื่อเข้าไปในห้องก็พบยาเป็นกอง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันกัญชา หรือแปะก๊วย ซึ่งเป็นยาเกี่ยวกับสมอง การที่อาจารย์ต้องกินยาพวกนี้นั่นเป็นการบอกว่าภาวะสมองไม่ปกติ เมื่อเราคุยกับลูกสาวถึงได้รู้ว่าอาจารย์เป็นโรคอัลไซเมอร์

“เราคิดว่าถ้าเกิดอาจารย์มาอยู่กับเราที่น่านน่าจะเป็นผลดีกับอาจารย์มากกว่า เพราะอากาศดี แล้วเราก็สามารถดูแลอาจารย์ได้อย่างใกล้ชิด เราก็เลยตกลงกับลูกสาว บอกว่า เราไม่ขัดข้องนะ แล้วก็ยินดีมากๆ ที่จะรับอาจารย์ไปดูแล เพราะเราเองก็ไม่ได้มีครอบครัว จึงไม่ได้ขัดข้องที่จะดูแลใคร เรากับลูกสาวก็เลยตกลงร่วมกันให้อาจารย์ย้ายมาอยู่กับเราที่น่าน ขณะที่ลูกสาวจะคอยซัพพอร์ตเรื่องส่งยามาให้เรา ซึ่งเราก็ตั้งไลน์กลุ่มของพวกเราว่าทีมเซฟเทพศิริเพื่อติดต่อถึงกัน”

หลังจากจัดเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยหญิงวัย 60 ก็รับอาจารย์ของเธอซึ่งป่วยเป็นอัลไซเมอร์และโรคทางสายตามาดูแล

ในโลกนี้คงมีน้อยคนนักที่จะเป็นอย่าง กุล ปัญญาวงค์

พันธกิจของชีวิต

นอกเหนือจากการทำเกษตรซึ่งเป็นงานหลัก พันธกิจอีกประการหนึ่งในชีวิตของ กุล ปัญญาวงค์ ก็คือการดูแล อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา

ทุกเช้าในเวลา 6 โมง เธอจะตื่นมาเปิดม่านหน้าต่างเพื่อให้อาจารย์ได้เห็นแสงแรกของเช้าวันใหม่ ก่อนจะก่อไฟขับไล่ความหนาว จากนั้นจึงเปิดเพลงคลาสสิกของบีโธเฟนหรือโมสาร์ตให้อาจารย์ได้ฟัง หลังจากล้างหน้าล้างตาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็พาไปเดินเล่น หรือไม่ก็ให้อาจารย์เล่นกับแมว จบด้วยการเอาพืชผักในสวนมาทำอาหารกินด้วยกัน

“หลังจากกินข้าวเช้าเสร็จก็จะชวนอาจารย์ทำแปลงผัก ปลูกผักในกระดาษ หรือบางทีถ้าเรามีงานต้องทำในศูนย์ก็จะพาอาจารย์ไปด้วย เวลาอาจารย์ไปที่ศูนย์เราก็จะปิดประตูใหญ่ เพราะมีบางครั้งที่เราเผลอ อาจารย์จะเดินไปเรื่อยไม่รู้จุดหมายปลายทาง การปิดประตูก็เป็นการรับประกันว่าอย่างน้อยถ้าจะหลงทาง ก็หลงทางอยู่ในศูนย์นี้ ไม่ได้ออกไปไหน อีกอย่างเราก็จะมีคนสวนช่วยดูเป็นหูเป็นตา ถ้าอาจารย์คลาดสายตาไปเราก็จะ ว. ถามหรือรายงานกันว่าอาจารย์อยู่ตรงไหน

“นอกจากพาไปที่ศูนย์แล้ว เราก็จะพากันไปดูแม่น้ำน่าน แล้วก็ให้อาจารย์วาดรูป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อาจารย์รักและทำอยู่เป็นประจำ ทุกครั้งที่อาจารย์ได้วาดรูปจะรู้สึกมีความสุข แล้วอาการป่วยก็จะดีขึ้น ส่วนเรื่องของสายตา เราก็จะคอยหยอดตาให้อาจารย์ทุกๆ 24 ชั่วโมง วันละ 1 หยด ไม่ขาดไม่เกิน เพื่อพยุงลานสายตาไม่ให้มุมมองของอาจารย์แคบลง”

ในความคิดของกุลเท่าที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ เคสของอาจารย์เทพศิริถือว่ายังอยู่ในขั้นที่ออกฤทธิ์น้อยเมื่อเทียบกับผู้ป่วยรายอื่นๆ ทุกวันนี้เธอพยายามประคับประคองให้ระดับของโรคยังอยู่ในขั้นนี้ไปเรื่อยๆ กล่าวคือมีอาการหลงลืมอยู่บ้าง แต่ก็ยังพอจดจำเรื่องราวบางเรื่องเก่าๆ ได้ ขณะเดียวกันเธอเองก็ยังไม่อยากให้อาจารย์รับรู้ความจริง ด้วยกลัวว่าหากรู้ว่าตัวเองไร้ความสามารถแล้ว อาจารย์จะไม่อยากมีชีวิตอยู่เหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง Still Alice ที่นางเอกของเรื่องต้องการจะปลิดชีพตัวเองเพื่อหนีความทุกข์จากโรคอัลไซเมอร์

“เราพยายามประคับประคองให้อาจารย์อยู่ในช่วงเวลานี้ให้นานที่สุด ซึ่งอาจารย์ถือว่าเป็นผู้ป่วยที่ยังมีอาการไม่หนักมาก ความจำหลายอย่างในเรื่องเก่าๆ ของอาจารย์ยังดี บางครั้งยังท่องบทกวีทั้งของอุชเชนีหรือ อังคาร กัลยาณพงศ์ ออกมาได้เป็นชุด เพียงแต่เรื่องใกล้ๆ ตัวจะลืม บางทีเขายังถามเลยว่าวันนี้วันอะไรทั้งๆ ที่เพิ่งถามเราไปเมื่อครู่นี้ หรือบางครั้งก็เคยถามกับเราว่าฉันเป็นอะไร ทำไมฉันถึงจำไม่ได้ เราก็ไม่ได้บอกอะไรกลัวว่าถ้าเขารู้แล้วจะไม่อยากอยู่เหมือนในหนังเรื่อง Still Alice ที่เคยดู ซึ่งเราเองก็กังวลไม่น้อย

“อย่างเรื่องอื่นเช่นการขับถ่าย เราก็เตรียมรับมือไว้ ถ้าเกิดกรณีฉี่ราดกางเกงในตอนไปข้างนอก เราก็จะพกชุดไปเปลี่ยน แล้วก็พยายามชวนอาจารย์เข้าห้องน้ำบ่อยๆ ถ้าอาจารย์ไม่เข้าเราก็จะแกล้งรบเร้าว่าให้ไปเป็นเพื่อนหน่อย แล้วก็ค่อยจัดการส่งเข้าห้องน้ำสำหรับคนชราหรือผู้พิการ”

แม้จะพยายามชะลอการเดินทางไปถึงระดับสูงสุดของโรคเอาไว้ให้นานที่สุด แต่กุลก็คิดไว้ล่วงหน้าว่าหากวันนั้นมาถึง อย่างไรเสียเธอก็จะไม่ทอดทิ้ง พยายามดูแลให้ดีที่สุด พร้อมกับทำใจปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างลงให้ได้ และถ้าพอจะเป็นไปได้ก็ขอให้อาจารย์เป็นผู้ที่ออกเดินทางไกลไปก่อนเธอ

“ไม่ว่ายังไงเราจะดูแลอาจารย์จนสุดทางแน่นอน ถ้าวันหนึ่งไปถึงขั้นที่สมองไม่สั่งการรับรู้อะไรแล้ว เราก็ยังจะอยู่กับเขา แต่ก็พยายามวางใจลงให้ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นอนิจจัง ซึ่งหากเป็นไปได้เราขอให้อาจารย์ไปก่อนเรานะ ไม่ใช่ว่าไม่รักไม่นับถือ แต่ถ้าเราไปเป็นฝ่ายไปก่อนเขาจะอยู่ลำบาก”

ขึ้นชื่อว่าชีวิตและอนาคต ไม่มีใครล่วงรู้หรือกำหนดได้หรอกว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่รับรู้ได้แน่ๆ ก็คือท่ามกลางโรคร้ายที่เกาะกินชีวิตและภาพความทรงจำไปทีละน้อย อาจารย์เทพศิริยังมีเรื่องดีในชีวิตอยู่หนึ่งประการ

เรื่องดีที่ว่าคือการได้รู้จักกับ กุล ปัญญาวงค์


เราเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้

เมื่อถูกถามว่าเพราะเหตุใดจึงเลือกที่จะดูแลอาจารย์เทพศิริ ทั้งที่อาจารย์เองก็ไม่ใช่พ่อแม่ญาติพี่น้อง ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือด รวมทั้งตัวเองก็เคยดูแลเพื่อนที่มีอาการป่วยหนักถึงชีวิตมาก่อน สู้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นไม่ดีกว่าหรือ

หญิงวัย 60 นิ่งเงียบไปชั่วครู่ก่อนตอบกลับมาว่า “เพราะสุดท้ายแล้วอาจารย์เป็นผู้ให้ส่วนเราเป็นผู้ได้รับ”

กุลอธิบายต่อว่า สิ่งที่เธอทำให้กับอาจารย์เทพศิรินั้นเป็นแค่การดูแลคนป่วยทั่วๆ ไป แต่อาจารย์นั้นเติมเต็มความเป็นมนุษย์ของเธอให้สมบูรณ์ขึ้นกว่าเดิม

“เรารู้สึกว่าเราโชคดีที่ได้ดูแลอาจารย์นะ อยู่กับอาจารย์เราได้พัฒนาการในเรื่องความเป็นมนุษย์ขึ้นมากเลย โดยเฉพาะมุมมองและวิธีคิด อย่างเช่น เวลามีคนมาว่าอาจารย์ เราถามว่าอาจารย์ไม่คิดหรือไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ อาจารย์ก็ตอบกลับมาว่า คิดสิ แต่มีคนชมมาเยอะแล้ว โดนด่าบ้างก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร หรือบางครั้งเราเห็นคนทำงานไม่รับผิดชอบแล้วหงุดหงิด อาจารย์ก็จะบอกว่าเขาเป็นได้แค่นั้น ถ้าเขาเป็นได้มากกว่านั้น เขาไม่มาอยู่กับคุณหรอก สิ่งที่อาจารย์บอกเป็นการสอนให้เรารู้จักปล่อยวางและลดความคาดหวังลง

“โดยปกติเราเป็นคนใจร้อน อย่างเวลาขับรถ อาจารย์จะเตือนว่าอย่าไปจี้ก้นเขา ทำอย่างนี้ไม่ได้ คนขับอย่างเราพอฟังก็หงุดหงิด บอกไปว่า ถ้าอย่างนั้นจะจอดมันตรงนี้ ไม่ขับแล้ว อาจารย์ก็จะค่อยๆ พูดว่า กฎของการขับรถข้อแรกให้ทางคือให้ทาน ข้อสองรีบได้แต่อย่าร้อน และข้อสุดท้ายอย่าเถียงคนขับรถไม่เป็น พอเราฟังข้อสุดท้ายก็หัวเราะเลย แกล้งเบรกให้กระตุกเบาๆ อาจารย์ก็หันมาแซวว่าใบขับขี่ที่คุณได้ คุณซื้อมาใช่ไหม

“อาจารย์จะมีวิธีพูดที่ทำให้โลกข้างในของเราเย็นขึ้นได้ ทำให้เราโตขึ้นอีกทั้งที่อายุก็มากแล้ว กลายเป็นว่าเราดูแลเขาแต่อีกด้านก็เหมือนกับว่าเราดูแลตัวเองไปด้วย

“ถ้าเป็นการลงทุน นี่คือการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆ”

ปัจจุบัน กุล ปัญญาวงค์ ดูแล อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา มาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แม้ยังไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นเช่นไร แต่ ณ วันนี้ อาจารย์และลูกศิษย์ทั้งสองคนล้วนแล้วแต่มีชีวิตที่มีความสุขดี

เป็นความสุขที่เกิดจากการเป็นผู้ให้ซึ่งกันและกัน 


ขอบคุณภาพจาก กุล ปัญญาวงค์

Credits

Author

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ