“ถนอม เกตุเอม” เจ้าของเพจ TaxBugnoms ลูกชายผู้ดูแลพ่อที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์มากว่า 7 ปี

“ทุกวันนี้ผมมองว่าพ่อที่เป็นพ่อของผมในอดีตเขาไม่ได้อยู่กับเราแล้ว ร่างที่เห็นอยู่ ไม่ใช่พ่อเรา ที่ต้องมองแบบนั้น เพื่อให้ชีวิตเราไปต่อได้ ผมไม่อยากเจ็บปวดไปมากกว่านี้ ผมสงสารพ่อนะ คนคนหนึ่งที่เขาทำทุกอย่างไว้พร้อมสำหรับใช้ชีวิตได้อย่างไม่ลำบากแล้ว แต่พอถึงวันนี้เขากลับไม่เหลืออะไรเลย แม้กระทั่งความทรงจำ”

มนุษย์ต่างวัยคุยกับ “หนอม” ถนอม เกตุเอม วัย 42 ปี หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พรี่หนอม” เจ้าของเพจ TaxBugnoms นักเขียน และอาจารย์ด้านภาษีอากร บัญชี และการเงิน ในบทบาทของลูกชายที่ดูแลพ่อที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์และได้พบเจอกับเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย จนทำให้ยอมรับและเข้าใจความจริงของชีวิตมากขึ้น นำไปสู่การถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้หลายคนได้ย้อนกลับมามองชีวิตและความสัมพันธ์ให้ชัดขึ้นผ่านหนังสือที่ชื่อว่า “ปีสุดท้ายระหว่างพ่อกับลูกชาย”

ผลงานการเขียนร่วมกับ กิตติศักดิ์ คงคา และณภัทร สัตยุตม์ ที่เพิ่งได้รับรางวัลชมเชยในหมวด หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ประเภทสารคดี จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เล่าถึงประสบการณ์จาก 3 ครอบครัวที่ลูกชายต้องใช้เวลาช่วงสุดท้ายในการดูแลพ่อ

ในวัย 30 ปี “ถนอม” คือคนหนุ่มไฟแรง ตั้งใจทำงาน เพื่อสร้างชีวิตให้มั่นคงและประสบความสำเร็จ แต่วันหนึ่ง พ่อที่เป็นต้นแบบของการวางแผนชีวิตมาอย่างดีล้มป่วย ด้วยโรคอัลไซเมอร์จนต้องสูญเสียทุกอย่างแม้กระทั่งความทรงจำ นั่นทำให้เขาพบว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งที่มีรูปแบบตายตัว หรือควบคุมได้ ไม่ว่าจะเราจะตั้งใจหรือวางแผนมาดีแค่ไหนก็ตาม

จากพ่อที่ไปไหนมาไหนเองได้กลายเป็นพ่อที่จำตัวเองไม่ได้เพราะอัลไซเมอร์

“ปกติพ่อเขาเป็นคนแข็งแรงอยู่แล้ว ไปไหนมาไหนคนเดียวตลอด เวลาไปไหนเขาก็จะไม่ได้บอกอะไรมาก แค่บอกว่าไปข้างนอกแป๊บหนึ่งนะ เป็นแบบนี้มาตลอดตั้งเเต่เขาเกษียณ
“พ่อเริ่มมีอาการตอนอายุ 80 กว่า ๆ เขาหงุดหงิด โมโหง่าย แต่ด้วยพื้นฐานเขาเป็นคนอารมณ์ร้อนอยู่แล้ว ผมก็เลยไม่ได้คิดว่าเป็นอาการผิดปกติอะไร แต่มันเริ่มมีสัญญาณแปลก ๆ ตอนที่เขาหงุดหงิดเพราะใช้รีโมทแอร์เปิดทีวีแล้วมันเปิดไม่ได้ เปิดน้ำร้อนจนสุดแล้วก็บ่นว่าน้ำมันร้อน ซึ่งตอนแรกเราก็คิดว่าเป็นอาการหลงลืมตามวัย แต่เรามารู้จริงจังว่ามันผิดปกติแน่ ๆ ในวันที่พ่อออกจากบ้านไปแล้วกลับไม่ถูก โชคดีที่เขาเจอแท็กซี่ที่รู้จักพากลับมาส่งที่บ้าน ตั้งแต่วันนั้นผมเลยพาพ่อไปหาหมอแล้วรู้ว่าเขาป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์
“ช่วงแรก ๆ ที่พ่อเริ่มป่วย เราดูแลเขาได้ยากมาก เขาจะจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง โมโหกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง มีคำพูดแปลก ๆ พฤติกรรมแปลก ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ขับถ่ายไม่เป็นที่ ควบคุมการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่ได้ เวลาที่คนดูแลไม่อยู่ ผมต้องคอยดูกล้องวงจรปิด เพราะอยู่ดี ๆ เขาอยากลุกจากเตียง เขาก็ลุก ก็กลัวเขาจะตกเตียง แต่พอเขาเข้าช่วงภาวะร่างกายถดถอย เราก็ดูแลเขาได้ง่ายขึ้น เพราะเขาตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ช้าลงมาก
“ตอนนี้พ่อพูดเป็นคำไม่ได้แล้ว แต่ยังพูดตามได้ ยังกินข้าว เคี้ยวข้าวได้ เริ่มมีอาการสำลักบ้าง ลุกได้ เคลื่อนไหวได้ แต่ต้องมีคนคอยพยุง ถ้าไม่มีใครไปพาเขาลุกออกจากเตียง เขาก็จะไม่ลุก ทุกวันนี้เราหยุดรักษาโรคอัลไซเมอร์ไปแล้ว เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ยากระตุ้นสมอง มีแค่ให้ยารักษาความดัน ลดไขมัน และวิตามินตามปกติ เพื่อประคับประคองอาการของพ่อไปเรื่อย ๆ”

ชีวิตพ่อคือภาพสะท้อนให้กลับมามองชีวิตตัวเองได้ชัดขึ้น

“การที่พ่อป่วยเปลี่ยนชีวิตเราไปหลายเรื่อง อย่างแรกคือเรื่องเงิน ตอนแรกผมไม่คิดว่าพ่อจะไม่มีเงินเหลือเลย เพราะเขาวางแผนไว้อย่างดี มีเงินเกษียณเพียงพอสำหรับดูแลตัวเองไม่ให้ลำบากได้ เมื่อก่อนเขาก็แบ่งเงินให้ที่บ้านด้วย พอเป็นแบบนี้เรื่องค่าใช้จ่ายผมเลยต้องเป็นคนดูแลทั้งหมด ส่วนเรื่องการดูแลด้านอื่น ๆ ผมก็เป็นคนพาพ่อไปหาหมอ หรือตอนที่เขายังเคลื่อนไหวได้ดี ก็พาเขาไปกินข้าวข้างนอกบ้าง แต่เรื่องสภาพจิตใจหลัก ๆ จะเป็นแม่ที่ดูแลใกล้ชิดมากกว่า
ผมต้องจ้างคนดูแลประจำคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง มี 2 กะ คอยผลัดเปลี่ยนเวรกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับพ่อ และไม่ให้แม่ต้องรับภาระมากจนเกินไป คอยดูแลเรื่องอาหาร ยา และการใช้ชีวิตประจำวันทั้งหมด
“ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างมีสติมันต้องแยกเรื่องอารมณ์ที่เรารู้สึกกับการใช้ชีวิตออกจากกัน แม่เขายังมีความหวังอยู่บ้างที่จะเห็นพ่อดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง วันนี้ที่เราทำทุกอย่างให้เขามันไม่ได้แปลว่าเรารู้สึกไม่โอเคนะ เเต่เขาเปลี่ยนไปแล้ว เราจะไปคาดหวังให้เขาเป็นพ่อเราแบบที่เขาเคยเป็น พ่อที่แข็งแรง ดูแลตัวเองได้ มันก็เป็นไปไม่ได้แล้ว เรารู้ว่าถ้าตีโพยตีพายกับสิ่งที่พ่อเป็น มันก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น ยังไงเขาก็ไม่กลับมาเป็นเหมือนเดิมแน่ ๆ สำหรับผมการเคารพเขาด้วยวิธีที่ดีที่สุดคือการแยกพ่อในปัจจุบันกับพ่อในความทรงจำของเราออกจากกัน ทำให้เขาเป็นคนละคนกับคนที่เราเห็นในวันนี้
“ถ้าพ่อรู้สึกได้เขาก็คงไม่ได้อยากมีชีวิตแบบนี้ ไม่อยากให้ใครต้องมาลำบากเพราะเขา ถ้าถามว่าเสียใจไหมที่พ่อเป็นแบบนี้ ผมไม่เสียใจ แต่เสียดายมากกว่าที่เรารู้ว่าพ่อป่วยช้าเกินไป 10 กว่าปีที่แล้วเราแทบไม่มีความรู้เรื่องโรคอัลไซเมอร์เลย คิดว่าถ้ารู้ก่อน เราคงจะช่วยเขาได้มากกว่านี้ แต่ผมก็ทำเต็มที่ เพื่อให้พ่อได้รับการรักษาและดูแลที่ดีที่สุดเท่าที่เราสามารถทำให้เขาได้แล้ว
“ผมว่าชีวิตมันก็เท่านี้ เรื่องยิ่งใหญ่ที่เราเคยทำก็ไม่มีความหมาย ถ้าเรารักษาชีวิต รักษาสุขภาพของเราไว้ไม่ได้ เราต้องเผื่อใจไว้ว่าวันหนึ่งชีวิตมันจะไม่เป็นอย่างที่เราคิดแน่ ๆ ต่อให้เราเตรียมตัวดีมาดีแค่ไหน ชีวิตก็ไม่ได้ตอบสนองสิ่งที่เราเตรียมไว้ได้ตลอด เราจะควบคุมมันได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น”

ภาษารักที่แตกต่างกัน ไม่ได้แปลว่าไม่รักกัน

“ในเรื่องของความสัมพันธ์ตัวผมอาจจะค่อนข้างห่างกับพ่อ ทั้งเรื่องของอายุและความรู้สึก พ่อเขาเป็นคนยุคเก่า เขาอาจจะแสดงความรักไม่เป็น บางครั้งผมก็รู้สึกว่าทำไมเขาไม่เข้าใจเรา แต่ก็มาคิดได้ว่าจริง ๆ เขาไม่จำเป็นต้องเข้าใจเราก็ได้ ผมก็ไม่ได้รู้สึกแย่ แม่จะคอยบอกตลอดว่าพ่อรักผมมากนะ แต่เขาเป็นแบบนั้น ดูแลกันแบบผู้ชาย ๆ เขาไม่มีทางรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร เครียดไหม ไม่ได้คอยให้คำปรึกษา แนะนำเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต แต่เวลาที่ผมประสบความสำเร็จ เขาก็จะเอาเรื่องเราไปคุยกับเพื่อน
“ตอนเด็ก ๆ ผมจะคิดว่าพ่อไม่ค่อยสนใจ ไม่ช่วยแม่ดูแล แค่ส่งเงินให้ แล้วไปรับ-ส่งที่โรงเรียนบ้าง แต่จริง ๆ แล้วทุกอย่างที่เขาทำมันเป็นการแสดงความรักในแบบของเขา ซึ่งผมเริ่มเข้าใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ตอนที่ลูกผมเริ่มโตว่าทุกสิ่งที่พ่อเขาทำให้เป็นเพราะเขารักเรา
“ทุกคนมีบาดแผลบางอย่างกับคนในครอบครัวกันหมด เพียงแต่เราพูดเรื่องนี้กันจริง ๆ ไม่ได้ ถ้าพูดเราจะดูไม่ดี ดูเป็นคนไม่กตัญญู ไม่มีใครพูดว่าการดูแลพ่อแม่มันเหนื่อยนะ ลำบากนะ มีแต่พูดในมุมความรัก ความดีงาม ทั้ง ๆ ที่เราต่างมีความคาดหวังบางอย่างต่อกัน ซึ่งพอเราไม่ได้ทำตามที่เขาบอก เราก็จะรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำหน้าที่ได้ดีพอ
“ผมคิดมาตลอดว่าผมไม่ใช่ลูกที่ดีเท่าไร ผมเคยคิดว่าลูกที่ดีต้องดูแลพ่อแม่ได้ทุกอย่าง แต่เราอาจจะทำบางอย่างให้เขาเสียใจ หรือทำตามความคาดหวังของเขาไม่ได้ แต่พอโตขึ้น เราก็เข้าใจว่าเรื่องพวกนี้ไม่ใช่ข้อเท็จจริง คนเราเกิดมาก็ต้องมีชีวิตและความสุขในแบบของตัวเอง ไม่มีใครมีหน้าที่ต้องเติมเต็มความหวังให้ใคร
“การสื่อสารในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องเข้าใจความต่างและไม่เอาใครเป็นที่ตั้ง ต้องมองว่าเราเป็นผู้ใหญ่เท่ากับพ่อแม่ อะไรที่เราต้องบอก ต้องเตือน ก็ทำ ถ้าเขาทำผิด เราต้องบอกเขาได้ ไม่ใช่ว่าเราเป็นลูก แล้วมีหน้าที่ต้องทำตามเขาอย่างเดียว”

หนังสือที่อยากบอกว่าชีวิตเราอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมาก นอกจากความสัมพันธ์ที่ดี

“จริง ๆ ที่ผมตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ผมเเค่อยากบอกว่าชีวิตที่เราคิดในช่วงเวลาหนึ่ง มันอาจจะเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบในอีกช่วงเวลาหนึ่ง หรือพูดง่าย ๆ ว่าชีวิตมันไม่แน่นอน พอพ่อป่วยมันทำให้เราเห็นว่าอะไรที่สำคัญกับชีวิตเรา และกลับมามองว่าจริง ๆ แล้วคนเราอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมาก นอกจากความสัมพันธ์ที่ดี
“ผมสนิทกับแม่อยู่แล้ว มีอะไรก็จะคุยกันตลอด ความเจ็บป่วยของพ่อทำให้ผมคุยกับแม่ตามความเป็นจริงมากขึ้น ผมไม่อยากให้เขามองโลกในแง่ร้ายหรือดีเกินไป ทุกวันนี้ก็พยายามเตือนเขาให้หมั่นไปตรวจร่างกาย เดินช้า ๆ ระมัดระวังเวลาไปไหนมาไหน ส่วนอุปกรณ์ป้องกันต่าง ๆ ที่ติดให้พ่อไปแล้ว แม่ก็ได้ใช้ไปในตัว
“เรามักจะเข้าใจว่าการหาเงินเยอะ ๆ ให้พ่อแม่ พาเขาไปเที่ยว ไปกินของดี ๆ อร่อย ๆ เป็นเรื่องที่ควรทำ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่เราอาจจะลืมมองว่าพ่อแม่เราอาจจจะล้มไปวันไหนก็ได้ อาจจะถูกมิจฉาชีพหลอกจนเสียทรัพย์สินมากมาย หรือเรื่องที่ดูเล็กน้อย ธรรมดา ๆ อย่างการติดราวจับในห้องน้ำ ติดพรมกันลื่น ซื้อถุงเท้าให้พ่อแม่ ก็เป็นเรื่องสำคัญ
“อยากให้ทุกคนกลับมาสังเกตและใส่ใจคนในบ้านมากขึ้น พ่อแม่เราแก่ลงเรื่อย ๆ โดยที่เราไม่ทันได้รู้ตัว มันไม่ใช่แค่คิดว่าต้องทำเพื่อให้เขาสบาย แต่ต้องป้องกันไม่ให้เขาลำบากด้วย
“เวลาที่ทำเรื่องยิ่งใหญ่ให้พ่อแม่ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ พาพ่อแม่ไปเที่ยวต่างประเทศเรามักจะภูมิใจ แต่สำหรับพ่อแม่ การซื้อบ้านให้พ่อแม่กับมีเวลากินข้าวกับท่าน อย่างหลังอาจจะดีกว่าในแง่ของความรู้สึกของพ่อแม่ก็ได้
“พอถึงวันนี้ผมเชื่อว่าการป้องกันเหตุร้ายสำคัญมากกว่าการให้อะไรดี ๆ แล้ว เพราะถ้าเราป้องกันสิ่งที่ไม่ดีที่จะเกิดขึ้นได้พ่อแม่ก็จะอยู่มีความสุขกับเราไปได้นาน ๆ”
ขอบคุณภาพจาก
ถนอม เกตุเอม

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ