สมหมาย วันสอน ชายผู้ปลูกป่ามูลค่าหลักสิบล้านไว้เป็นมรดกให้คนแปลกหน้า

นอกจากแสงแดดแล้ว ต้นไม้ยังต้องการเวลาในการเติบโต จากต้นกล้าสู่ไม้ใหญ่

แต่จะต้องใช้เวลานานเพียงใด 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี กว่ากิ่งก้านสาขาจะขยับขยาย สลับสล้าง แผ่ร่มเงาแก่ชีวิตรายรอบ รวมทั้งต้องใช้เวลานานเพียงใดกว่าที่ลำต้นจะแข็งแรงเหมาะแก่การใช้ประโยชน์

บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ในอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีต้นไม้ประมาณ 20,000 ต้น พันธุ์พืชกว่า 200 ชนิด ที่ชายวัย 77 ปีผู้นี้เริ่มต้นปลูกตั้งแต่อายุ 48 ปี ป่าส่วนตัวแห่งนี้จึงมีไม้ใหญ่ที่มีมูลค่าอย่างไม้สัก ซึ่งเคยมีพ่อค้าไม้เดินทางมาขอซื้อในราคา 22 ล้าน แต่ ดร.สมหมาย วันสอน ไม่ขาย เพราะตั้งใจไว้ว่าเมื่อถึงเวลา ‘เข้านอน’ จะส่งต่อผืนป่าส่วนตัวแห่งนี้แก่คนรุ่นหลัง เป็นมรดกจากชายชราที่ไม่มีลูก

ต้นไม้เหมือนชีวิตคน ตรงที่ต่างต้องการเวลาในการเติบโต ต้นไม้อาศัยแสงแดดในการสังเคราะห์แสงฉันใด มนุษย์ก็ต้องการแสงแดดในการสังเคราะห์ประสบการณ์ที่ผ่านมาของชีวิตฉันนั้น แต่ไม่มีใครรู้ว่าต้องใช้เวลานานเพียงใด กว่าที่คนคนหนึ่งพร้อมที่จะเป็นไม้ใหญ่สร้างร่มเงาเผื่อแผ่เจือจานไปยังชีวิตอื่น

ชีวิตที่ เกิดจากดิน (แตก)

“ผมถือว่าผมโชคดีที่เกิดมายากจน” ดร.สมหมาย ย้อนความทรงจำกลับไปยังชีวิตในขวบปีแรกๆ เขาเกิดที่บ้านหนองดุม อำเภออุทมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

“ผมมาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดในหมู่บ้านที่ยากจนที่สุด ที่บอกว่าจนที่สุดเพราะ หนึ่ง-เราไม่มีข้าวจะกินสำหรับมื้อเย็น เรามีเฉพาะมื้อเช้า สอง-ผ้าซิ่นของแม่ถูกปะ 5 ชั้น สาม-เมื่อตบหาเงินในกระเป๋า ไม่เจอแม้แต่สตางค์แดงเดียว ยุคนั้นมีสตางค์แดงนะครับ เราถึงบอกว่า 1 บาทมี 100 สตางค์” สมหมาย เล่า

หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สมหมายบอกตัวเองว่า การศึกษาคือแม่เหล็กแผ่นเดียวที่มีแรงดึงให้ชีวิตพ้นจากความยากจน

“ผมคิดอย่างเดียว การศึกษาจะทำให้ผมหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของหมู่บ้านชนบทและความยากจน ต้องเรียนเท่านั้น ท่องในใจตลอด ผมเรียนในโรงเรียนที่ไม่มีฝาผนัง ไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ พวกเราต้องหมอบเขียนหนังสือกับพื้นนะครับ” สมหมาย เล่า

สมหมายเป็นเด็กรักการเรียนชนิดที่ได้ยินเสียงระฆังดังมาจากโรงเรียน ต้องร้องไห้อ้อนวอนขอพ่อแม่ไปโรงเรียน

“ตอนเด็กๆ เราไม่มีชื่อในบัญชีนักเรียน แต่ร้องไห้อยากไปเรียน ได้ยินเสียงระฆังเป็นไม่ได้ ร้องไห้ ดิ้นพราดๆ อยากไปเรียน จากนั้นก็เรียนมัธยมต้น แล้วไปต่อมัธยมปลายที่จังหวัดสุรินทร์ ผมเรียนจบม.ปลายที่นั่นครับ”

วันสุดท้ายของการเป็นนักเรียนชั้น มศ.5 เป็นวันแรกที่ชีวิตเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร ยุคสมัยที่การศึกษากระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง แต่ความจนกระจัดกระจายไปทั่วสารทิศ ช้างเผือกจากเมืองไกลปืนเที่ยงจึงต้องเดินทางหนีความแร้นเเค้นเข้าเมืองใหญ่เพื่อขวนขวายหาโอกาสที่ดีให้ชีวิต

นี่ไม่ใช่พล็อตเรื่องจากนิยายในยุคทศวรรษที่ 2500 แต่คือเรื่องราวของคนรุ่นสมหมาย เด็กชายที่เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2488

“เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อจะไปสอบเรียนต่อ ยุคนั้นสถานศึกษาระดับอุดมศึกษากระจุกตัวในกรุงเทพฯ ตอนนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ ถ้าจะเรียนระดับมหาวิทยาลัยต้องไปสอบที่กรุงเทพฯ ผมสอบเข้าคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์”

สถาบันแห่งนี้ผลิตบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข เดิมทีเคยถูกเรียกว่าโรงศิริราชพยาบาล โรงเรียนแพทยากร โรงเรียนราชแพทยาลัย ซึ่งเป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาจึงสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า มหาวิทยาลัยมหิดล

“ผมเรียน 4 ปี ก็จบปริญญาตรี ได้เกียรตินิยมเหรียญทอง ก็เลยได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ผมเป็นอาจารย์รุ่นแรก” สมหมาย บอกเล่าถึงช่วงชีวิตที่เป็นรอยต่อระหว่างการเป็นเด็กบ้านนอกกับนักเรียนนอก

จากเด็กบ้านนอกสู่นักเรียนนอก

สมหมายไม่เคยคิดเคยฝันว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ เพราะชีวิตเกิดในป่า   “ป่าดิบชื้นในระดับที่แสงแดดส่องไม่ถึงพื้น” เขาย้ำกับทีมงานมนุษย์ต่างวัย ซึ่งคำพูดนี้อาจเป็นได้ทั้งข้อเท็จจริงของพื้นที่และคำกล่าวอุปมาอุปไมยถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดแก่สังคมชนบทแทบทุกแห่งในประเทศไทย

“เราไม่ได้วาดแผนผังในชีวิตว่าต้องเป็นอาจารย์ เกิดมาไม่เคยรู้จักคำว่าอาจารย์ด้วยซ้ำ รู้จักแต่คำว่าครู” แต่ปัจจัยที่ทำให้สมหมายเลือกที่จะเริ่มต้นอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะอยากนั่งเรือบิน

“จะได้ไปเมืองนอกครับ มันคงเป็นทางเดียวที่คนจนอย่างเราจะได้ขี่เครื่องบิน คือการเป็นอาจารย์นี่แหละ” สมหมาย เล่า

แล้วสุดท้ายก็สมหมายจริงๆ ด้วย เพราะเขาได้เป็นอาจารย์ตามที่ตั้งใจไว้ และในระหว่างที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์สมหมายก็เล่าเรียนปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปด้วยจนจบภายใน 2 ปี

“ตอนนั้นหนุ่มป้อเลย มีคนเสนอตำแหน่งงานให้ 2 ทางเลือก ทางเลือกแรกเป็นนายอำเภอ กับสองให้เป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เราก็ไม่เข้าใจ เพราะเราเป็นเด็กบ้านนอก ในที่สุดก็เลือกที่จะปฏิเสธ เพราะมันไม่ใช่ความใฝ่ฝันของเรา” สมหมาย เล่าถึงโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยไม่ได้คาดหมายไว้

หลังจากจบปริญญาโท สมหมายได้รับทุนการศึกษา 3 ทุนรวด ซึ่งเขาตัดสินใจเลือกไปเรียนด้านสังคมศาสตร์และประชากรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา

จากเด็กบ้านนอกกลายเป็นนักเรียนนอก สมหมายใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 7 ปี ก่อนคืนถิ่นกลับเมืองไทย จากต้นกล้าบนผืนดินทุรกันดาร กลายเป็นต้นไม้หนุ่มผู้เพียบพร้อมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ

“ผมอยู่ที่อเมริกา 7 ปี กลับมาก็ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ผมไปอยู่ที่นั่นคนแรกๆ ตอนนั้นศาลายาสร้างอาคารต่างๆ ไว้แล้ว การคมนาคมในตอนนั้นยังไม่สะดวกเหมือนวันนี้ ถนนบรมราชชนนี  ยังไม่มี ถนนปิ่นเกล้า – พุทธมณฑล ก็ยังสร้างไม่เสร็จ”

บทบาทการเป็นอาจารย์ของ ดร.สมหมาย ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แต่บนหอคอยงาช้าง เขาลงพื้นที่ ทำงานพัฒนาชุมชนควบคู่ไปด้วย นอกจากเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ดร.สมหมายยังทำงานในองค์กรต่างๆ นับไม่ถ้วน เช่น ช่วยกรุงเทพมหานครในการพัฒนาสลัม

“ตอนนั้นมี 1200 แห่ง ผมทำอยู่ 6 ปี ปีไหนน้ำท่วมผมก็จมน้ำอยู่ในสลัม ผมช่วยกระทรวงศึกษาธิการ 6 ปี ช่วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในโครงการประชากรศึกษาภาคเกษตรกรรม ภายใต้ความช่วยเหลือขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ 4 ปี ช่วยงาน UNSCR อยู่ 5 ปี ตอนนั้นมีสงครามเวียดนาม ผมก็ไปที่ศูนย์อพยพต่างๆ ที่มีอยู่ 22 แห่งทั่วประเทศ ผมเป็นอาจารย์ที่ไม่ได้อยู่ประจำ ถึงเวลาสอนค่อยมาสอน แล้วยังช่วยโครงการอีสานเขียวอีก 5 ปี ตั้งแต่ปี 2532-2537” สมหมายเล่า

ความฝันของด็อกเตอร์คือการคืนถิ่น

การลงมือทำงานคือวิธีการทำความเข้าใจตนเอง เห็นได้จากหน้าที่การงานของดร.สมหมายที่เราได้บรรยายไว้ข้างต้น ในเวลาต่อมาดร.สมหมาย จึงพบว่าอาจารย์ไม่ใช่วิชาชีพที่ตรงกับรหัสดีเอ็นเอที่ดำรงตนอย่างเงียบเชียบอยู่ภายใน

“เราได้ทำงานในต่างจังหวัด ได้เดินทางไปพบปะผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ก็ทำให้พบว่าอาชีพอาจารย์ไม่ใช่สเปกของเรา แต่ต้องทำ ทำให้ดีที่สุด ทำเต็มกำลัง แต่คิดว่าสักวันหนึ่งเราอยากเป็นเกษตรกร” สมหมาย เล่าถึงต้นกล้าความฝันที่หยั่งรากในใจ

แล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่ต้นกล้าได้พบกับแสงแดด กระบวนการสังเคราะห์แสงจึงเริ่มต้น

“บังเอิญว่าวันนั้นเป็นวันแรกที่เปิดภาคเรียน ผมได้สอนนักศึกษาปริญญาโท นักศึกษาหญิงท่านหนึ่งถามผมว่า ‘อาจารย์คะ หนูมาเรียนก็ระยะหนึ่งแล้ว เมื่อไหร่หนูจะจบคะ’” สมหมาย เล่าถึงแสงแดดที่กำลังแผดเผาต้นกล้า

เมื่อไหร่หนูจะจบคะ – คำถามง่ายๆ ของนักศึกษา แต่ทำให้อาจารย์สมหมายกลับไปนอนไม่หลับ

“คำถามนี้ทำให้ผมนอนไม่หลับ น้ำตาไหล เรากำลังทำหน้าที่ผิด ผิดตรงไหนครับ เรามาสอนนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก พวกเขาคือนกที่บินได้แล้ว ปีกกล้าขาแข็งแล้ว แต่พี่น้องของเราที่อยู่ในภาคการเกษตร อยู่ในท้องไร่ท้องนา อยู่ในแรงดึงดูดของความยากจน ยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ ทำไมเราไม่ไปช่วยเขา ทำไมเราไม่ก้มหน้ามองดิน เรามัวแต่แหงนหน้ามองฟ้า” อาจารย์สมหมาย เล่า

คำถามจากนักศึกษาคนนั้น กลายเป็นคำถามย้อนกลับมาที่ดร.สมหมาย จนวันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

“ผนวกกับแนวคิดที่ผมทำโครงการอีสานเขียวก็คือ ‘โครงการบัณฑิตคืนถิ่น’ พอเราไปแนะนำให้บัณฑิตกลับบ้านเกิด ก็ตามมาด้วยคำถามต่างๆ นานา เช่น เขาจะกินอะไร จะหารายได้จากไหน ซึ่งมันตอบยากนะครับ เพราะทุกคนถูกสอนมาให้มองหาอาชีพที่เป็นลูกจ้าง ไม่ว่าลูกจ้างรัฐหรือเอกชน คำถามที่เหมือนบูมเมอแรงจึงสะท้อนกลับมากระทบเราว่า อาจารย์สมหมายเก่งจริงกลับไปทำให้ดูก่อน อย่าดีแต่พูด”

ผลจากการทำงานรณรงค์ให้บัณฑิตกลับคืนถิ่น นำความรู้ความสามารถกลับไปพัฒนาชนบทพัฒนาบ้านเกิด ทำให้เขาต้องหวนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง ถ้าจะแนะนำให้คนหนุ่มสาวที่มีศักยภาพนำความรู้ความสามารถกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ทำไมเขาไม่ทำให้เห็นก่อนล่ะ

“แต่ผมไม่มีที่ดิน ก็เลยต้องหาที่ดินก่อน ก็ถามเอาจากเหล่าบัณฑิตคืนถิ่นนี่แหละ ว่าบ้านใครมีที่ดินจะขายบ้าง เวลาที่ผมลงพื้นที่ไปที่ต่างๆ ก็จะถามหาต้นไม้ ตอนนั้นยังไม่มีที่ดินนะ แต่ถามหาต้นไม้ก่อน อยากปลูกต้นไม้ที่เราเคยกินเคยใช้สมัยเราเป็นเด็ก อยากปลูกต้นไม้ในอดีตที่ปลูกแล้วระลึกย้อนถึงวัยเด็กได้ ป่าคือซุปเปอร์มาร์เก็ตของเรา ป่าคือชีวิต เราเกิดมาแบบนั้น” สมหมาย เล่า

กลับบ้านมาปลูกป่า

อาจารย์สมหมายเริ่มต้นปลูกป่าตอนอายุ 48 ปี แม้จะล่าช้าจากแผนในใจ 12 ปี เพราะเขาคิดอ่านไว้ว่า อายุ 36 ปี จะกลับมาเป็นเกษตรกรที่ผืนดินชนบทสักแห่ง แต่ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเริ่มต้น โดยเฉพาะกับการปลูกต้นไม้

ปัจจุบันบนที่ดินกว่า 200 ไร่ อาจารย์สมหมายและภรรยาปลูกต้นไม้ไว้ประมาณ 200 ต้น มีพันธุ์พืชกว่า 200 ชนิด เป็นพืชที่เคยกินตอนเด็ก พืชพื้นถิ่นที่กำลังจะสูญหาย ไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ อย่างทุเรียน ลำไย เงาะ ฯลฯ และไม้ใหญ่ที่ให้ทั้งมูลค่าและคุณค่า

“ส่วนมากเขาจะปลูกเต็มพื้นที่เรียกว่าปลูกป่า มันจะต่างกันระหว่างการปลูกต้นไม้เป็นแปลงกับปลูกต้นไม้ริมขอบ การปลูกเป็นแปลง ต้นไม้จะไม่โต มันจะโตเฉพาะขอบรอบนอกเพราะต้นไม้รอบนอกจะได้แสงแดด ชีวิตเราก็เหมือนกัน ต้นไม้สอนผมเยอะ ถ้าเราจะเข้มแข็ง ต้องเจอลมเจอแดด อย่าไปกลัวแดด อย่าไปกลัวลม อย่าไปกลัวดิน ยังไงเราก็คืนสู่ดิน ต้นไม้ถ้าไม่เจอแดดก็ไม่โต คนก็เหมือนกัน”

เริ่มแรกก็ถูกชาวบ้านวิจารณ์ว่า “โง่แท้” ที่เรียนจบถึงเมืองนอกเมืองนาแต่มาปลูกต้นไม้ปลูกป่าในจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องความแห้งแล้ง

“คำชมที่หนึ่งจำแม่นเลย เป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำไมมันโง่แท้ เป็นอาจารย์จริงหรือเปล่า มาปลูกต้นไม้ในแผ่นดินที่แห้งแล้ง แต่ความจริงแล้วแผ่นดินตรงนี้มันถูกสเปกกับไม้สัก ดังนั้นช่วงเริ่มแรกไม่มีใครเห็นด้วยและเข้าใจในสิ่งที่เราทำ แต่หลังจากที่ต้นไม้มันขึ้นเป็นต้นเป็นตอ คนจากทั่วประเทศเดินทางมาดูต้นไม้ที่นี่”

พ่อค้าไม้ก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกเขาตีมูลค่าไม้สักของอาจารย์สมหมายสูงถึง 22 ล้านบาท แต่อาจารย์สมหมายไม่ขาย

“เงินสำคัญ แต่เราไม่บูชาเงิน ถ้าผมขายไม้สัก 22 ล้าน ผมจะได้เงิน 22 ล้าน ซึ่งผมคิดว่าตัวเองเป็นคนมีฝีมือพอสมควรในเรื่องการใช้เงินให้หมดไป แต่ถ้าเราไม่ขาย เราไม่ตัด มันจะให้มูลค่าที่มากกว่าเงิน 22 ล้าน ถ้าเราเปลี่ยนคนคนหนึ่งให้มารักต้นไม้ ให้เขาปลูกต้นไม้ 10 ต้น คิดดูว่าคนหมื่นคนปลูกต้นไม้คนละ 10 ต้น มันจะมีมูลค่าและคุณค่าเท่าไหร่

“ที่นี่ จะมีเกษตรกรมาอบรมปีละ 3-4 พันคน สิ่งที่เกษตรกรประทับใจคือต้นไม้ที่เขาเห็น ฝรั่งมีสำนวนว่า To see is to learn แค่มาเห็นเขาได้เรียนรู้แล้วครับ เขาได้แหงนคอดูต้นไม้ คนมาที่นี่รักต้นไม้มากขึ้น บางคนมาที่นี่ก็เปลี่ยนใจจากที่จะขายต้นประดู่ ก็ไม่ขายแล้ว นี่คือความยิ่งใหญ่ของการปลูกต้นไม้” สมหมายเล่า

มรดกของชายไม่มีลูก

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า หากผึ้งสูญพันธุ์ มนุษย์จะสูญพันธ์ุภายใน 4 ปี นี่คือคำกล่าวที่ประทับอยู่ในใจของอาจารย์สมหมายมายาวนานตั้งแต่สมัยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

“ผึ้งจะหายไปเพราะไม่มีต้นไม้ ไม่มีดอกไม้ เมื่อผึ้งไม่มีที่ให้พึ่ง ก็แปลว่าป่าในโลกนี้หายไปแล้ว วันนี้ป่าทั่วโลกในเขตศูนย์สูตร ถูกทำลายลงย่อยยับ ประเทศไทยก็เหมือนกัน”

ปีนี้ อาจารย์สมหมายมีแผนจะปลูกไม้ใหญ่ 5 ชนิด จำนวน 2,000 ต้น เป็นการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดินที่เคยแห้งแล้ง

“ผมปลูกทุกปี ปีนี้ตั้งเป้าไว้ว่า 2,000 ต้น ตั้งใจปลูกต้นไม้ 5 ชนิด ได้แก่ หนึ่ง-พะยอม เพราะเราได้ร่มเงาจากพะยอม ได้กลิ่นหอมของดอกพะยอม มันชื่นใจ ใต้ต้นมีเห็ดเผาะขึ้นอีก สอง-ต้นกันเกรา เป็นไม้หอม ราคาแพงมากนะ ต้นใหญ่ราคาหลายแสนนะครับ เงินแสนสมัยนี้ซื้อต้นไม้ไม่ได้แล้วนะครับ ซื้อได้แต่รถยนต์ สาม-มะหาด เพราะนกกาได้กิน เราก็ได้กิน มะหาดเป็นพืชสมุนไพร เป็นต้นไม้ที่มีฟอร์มสวย สี่-ต้นพะยุง ฝรั่งเรียก Rosewood และ ห้า-ประดู่ ในปีนี้เราจะปลูก 5 ชนิดนี้” สมหมาย เล่าถึงโปรเจกต์ของปีนี้

หากคุณเดินทางบนถนนทางหลวง จะพบป้ายขายที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในโลกทุนนิยม แต่มองอีกมุมหนึ่งก็คือการไม่สามารถรักษาฐานที่มั่นทางเกษตรไว้ได้ ซึ่งอาจารย์สมหมายบอกว่า หากจะแก้ปัญหานี้ ต้องกลับไปแก้ที่คำถามในโจทย์วิชาคณิตศาสตร์

“จำได้มั้ยครับตอนเด็กๆ ที่เรียนคณิตศาสตร์ โจทย์มักตั้งคำถามว่า ‘นายมี ชาวนา มีนา 12 ไร่ ถ้าขายไร่ละ 350 บาท จะได้เงินทั้งหมดกี่บาท’ โจทย์คณิตศาสตร์ไม่เคยเขียนว่า นายมี ชาวนาจะซื้อนา มีแต่จะขายนา  เราถูกปลูกฝังโดยไม่รู้่ตัว เราต้องแก้โจทย์นี้ให้หมด”

ในวัย 77 ดร.สมหมาย ใช้ชีวิตร่วมกับภรรยา และก่อตั้งมูลนิธิบัณฑิตคืนถิ่น ซึ่งเป็นงานที่เขาริเริ่มไว้ตั้งแต่วัยหนุ่ม นี่คืองานที่กลับมาตั้งคำถามกับเขาว่าจะให้บัณฑิตกลับมาทำอะไร งานที่ท้าทายให้เขาลงมือทำให้ดู จนรูปธรรมคือป่าผืนนี้ ซึ่งในอนาคตจะถูกยกให้เป็นสมบัติสาธารณะ

“ตอนนี้อายุ 77 ผมไม่มีลูก และถึงมีลูก ผมก็ไม่ให้เขา อยากได้ต้องบากบั่น เราได้ก่อตั้งมูลนิธิบัณฑิตคืนถิ่น เราได้ตกลงว่าจะยกทรัพย์สินนี้ให้มูลนิธิฯ ให้เป็นสาธารณประโยชน์ พูดง่ายๆ ว่าที่นี่จะเป็นทรัพย์สินสาธารณะ ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้

“เราไม่ได้ทำเพื่อเอานะครับ เราทำเพื่อให้ เราไม่ได้ปลูกต้นไม้ให้ตัวเองใช้นะครับ เราทำให้แผ่นดิน ให้ส่วนรวม เราไม่ได้กอบโกย แต่เราต้องการเห็นความยั่งยืน ต้องการเห็นประโยชน์ที่เกิดกับเพื่อนมนุษย์ ให้พวกเขาได้ใช้ประโยชน์ เข้ามาเก็บเห็ด มาเก็บของป่า มาเรียนรู้ อย่างน้อยที่นี่จะเป็นปอดเป็นป่า เป็นแหล่งเรียนรู้ แต่มันจะเป็นอย่างอื่นนอกความตั้งใจหลังจากที่เราหลับตาไปแล้วก็สุดแท้ เเต่ความตั้งใจในวันที่เรายังลืมตาหายใจ คือเราต้องการให้ที่นี่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ต้นไม้ทุกต้นต้องยืนยงเผื่อแผ่ร่มเงาให้สรรพสิ่ง”

นี่คือเรื่องสมหมายของชายวัย 77 นี่คือเรื่องราวของต้นไม้สูงใหญ่ต้นหนึ่ง

Credits

Authors

  • วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

    Authorนักเขียนและผู้ผลิตสารคดีอิสระ หลงใหลความสัมพันธ์ระหว่างเวลา ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ สนใจความแตกต่างของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ