‘สูงวัย’ …..ขยาย(ความ) นิทรรศการศิลปะหลากหลายรูปแบบจากศิลปินหลากหลายวัย ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ

มนุษย์ต่างวัย พาไปชมงานนิทรรศการ  ‘สูงวัย…ขยาย(ความ)’ (Blowing Up The Tale of Ageing Society) ของหอศิลปกรุงเทพฯ ที่เล่าเรื่องสังคมสูงวัยในมุมมองต่าง ๆ  ผ่านงานศิลปะร่วมสมัยหลายรูปแบบจากศิลปินหลากวัยทั้งรุ่นใหญ่วัยเก๋าและศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรง ที่จะชวนเรามาทบทวน ตั้งคำถาม ขบคิด รวมทั้งสะท้อนภาพ ให้เราได้เข้าใจสังคมสูงวัยในประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น

“หลัก ๆ คือ เราอยากชวนผู้คนมาตั้งคำถามว่า…แท้จริงแล้วมนุษย์เกิดมาเพื่อสร้างคุณค่าหรือมีคุณค่าอย่างไรในทุกช่วงวัย ซึ่งเราน่าจะได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น” ดร. สืบแสง วชิระภิบาล หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการหอศิลป กรุงเทพฯ (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) เล่าถึงที่มาของนิทรรศการฯ

งานนี้นอกจากจะเห็นการนำงานศิลปะมาสื่อสารประเด็นสังคมแล้ว ‘สูงวัย…ขยาย(ความ)’ ยังเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จะทำให้คนทุกเจอเนอเรชันได้ตระหนักว่า ประเด็นสังคมสูงวัย ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

‘สูงวัย’ …..ขยาย(ความ) นิทรรศการศิลปะหลากหลายรูปแบบจากศิลปินหลากหลายวัย ที่หอศิลปกรุงเทพฯ

อย่างที่เรารู้กันว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2021 และในปี 2030 ประเทศไทยจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society) หรือการมีประชากรสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศ  อธิบายง่าย ๆ ก็คือ “ในผู้คน 100 คนที่เดินมาจะมีผู้สูงอายุเดินอยู่ 30 คน”

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงให้ความสำคัญในประเด็นนี้และใช้ระยะเวลาร่วม 1 ปี ในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสังคมสูงวัย ผ่าน 4 มิติ คือ สุขภาวะพลานามัย, เศรษฐกิจและนวัตกรรม, สังคมความเสมอภาค และสภาพแวดล้อมทางกาย เพื่อนำมาเล่าผ่านงานศิลปะในนิทรรศการครั้งใหญ่ประจำปีที่มีชื่อว่า สูงวัย…ขยาย(ความ) (Blowing Up The Tale of Ageing Society)

เมื่อหอศิลปกรุงเทพฯ หยิบประเด็น ‘สังคมสูงวัย’ มาขยาย…(ความ) 

“จุดเริ่มต้นอันดับแรกคือ เราเริ่มตระหนักเห็นถึงความหลากหลายของช่วงวัยในสังคมโดยเฉพาะช่วง 1 – 3 ปีที่ผ่านมา เราจะได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เกี่ยวกับการเตรียมตัวรับมือเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย นั่นแปลว่ามีปริมาณผู้สูงวัยเกินสัดส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ เลยนำมาสู่นิทรรศการ ‘สูงวัยขยาย(ความ)’

“ความตั้งใจหลัก ๆ ในการจัดนิทรรศการคือ เราอยากชวนผู้คนมาตั้งคำถามว่า… แท้จริงแล้วประสบการณ์ในแต่ละช่วงวัยของเรามีคุณค่าอย่างไร ซึ่งผมว่าเราน่าจะได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นจากนิทรรศการนี้” ดร. สืบแสง วชิระภิบาล หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและภัณฑารักษ์ อธิบายเสริม

ดังนั้น ในปีนี้ทางหอศิลปกรุงเทพฯ จึงตั้งใจที่จะนำเสนอแนวความคิด ทัศนคติของผู้คนในสังคมที่มีต่อสังคมผู้สูงวัย เพื่อสะท้อนปัญหา มุมมองความคิด ความเข้าใจในประเด็นนี้ ซึ่งทางภัณฑารักษ์ได้รวบรวมงานศิลปะร่วมสมัยจากนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขาทั้งหมด 12 คน  ทั้ง จากศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินรุ่นใหญ่ ที่จะชวนเรามาตั้งคำถามและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับผู้สูงวัยในมุมมองต่าง ๆ  เช่น การสานต่อภูมิปัญญาในอดีต  การลดช่องว่างระหว่างคนสองวัย การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของอายุที่เปลี่ยนไป  สะท้อนปัญหาสังคม ปรัชญาชีวิต ตลอดจนความหมายและคุณค่าของชีวิต เป็นต้น  

ภาพรวมส่วนใหญ่ในนิทรรศการ ทำให้เราได้เห็นถึงคุณค่าประสบการณ์ในผู้สูงอายุ มีผลงานหลายชิ้นด้วยกันที่เกิดขึ้นจากการส่งต่อประสบการณ์ ทักษะ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต เช่น งานของคุณ กรกต อารมย์ดี ที่นำงานหัตถกรรมไม้ไผ่มาประยุกต์เป็นศิลปกรรมร่วมสมัย โดยใช้เทคนิคของการทำว่าว มาทำงานศิลปะกลายเป็นงานโคมไฟประดับฝาผนังรูปทรงวงกลมขนาดใหญ่ในห้องนิทรรศการ

หรืออีกงานที่น่าจะสะดุดตาใครหลาย ๆ คน อย่าง สะพานข้ามบึงบัว (Bridge over Lotus)  จากศิลปินรุ่นใหม่อายุ 27 ปี ที่ทำงานร่วมกับคุณป้า 7 คน ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นการประยุกต์งานหัตถกรรมประจำครอบครัวกับศิลปะร่วมสมัย ถ่ายทอดทักษะฝีมือการเป็นช่างตัดเย็บของคุณป้าที่ผ่านการส่งต่อรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงตัวศิลปิน ถ้าลองเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ จะเห็นความละเมียดของการเย็บฟูกระนาดและยัดนุ่นด้วยมือ อีกมุมหนึ่งจะมีหมอนผ้าต่อที่ตัดเย็บโดยศิลปินฝีมืออาจไม่ประณีตเท่าคุณป้าของเธอ แต่งานศิลปะชิ้นนี้ก็เป็นเหมือนพื้นที่ที่ทำให้คนในครอบครัวได้มาร่วมกันแสดงฝีไม้ลายมือตามประสบการณ์ความถนัดและใช้เวลาร่วมกันอีกครั้ง  นับเป็นงานอีกหนึ่งชิ้นที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาและการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องงานหัตถกรรมภายในครอบครัวออกมาได้อย่างดี


นอกจากนี้ยังมีผลงานในรูปแบบหนังสั้นให้เราได้เลือกดูถึง 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกเป็นหนังสั้นเรื่อง “จุดประกายฉายฝัน” จาก ธนิตย์ จิตนุกุล ผู้กำกับรุ่นใหญ่วัย 67 ปี ที่ตั้งใจบอกเล่าและย้ำเตือนกับผู้ชมว่า ไม่ว่าวัยไหนก็ล้วนมีความฝันได้ทั้งนั้น เพราะความฝันไม่มีวันหมดอายุ

เนื้อหาของหนังจะเล่าถึงความสิ้นหวังของลุงผู้เคยมีอาชีพฉายหนังกลางแปลง แม้ปัจจุบันจะเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับความนิยมเท่าสมัยก่อน แต่หากเราลองปรับตัวตามยุคสมัย มองหาวิถีทางและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ความฝันของเราก็อาจกลับมาเป็นจริงได้อีกครั้ง ห้องฉายหนังสั้นเรื่องนี้น่าจะเป็นอีกห้องหนึ่งที่ช่วยเติมแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คนหลังชมภาพยนตร์จบ

ถัดมาเป็นไฮไลต์ของนิทรรศการที่หลายคนพูดถึงและตื่นตาตื่นใจไม่น้อยอย่าง หนังสั้น “Anatomy of Time” จากผู้กำกับวัย 48 ปี จักรวาล นิลธำรงค์  ที่หยิบวรรณกรรมเรื่อง ‘เวลา’  ผลงานของ ชาติ กอบจิตติ วัย 69 ปี นักเขียนรางวัลซีไรต์มาตีความและถ่ายทอดมุมมองชีวิตของผู้สูงวัย และผู้ดูแลที่ก็อยู่ในช่วงสูงอายุ หนังสั้นเรื่องนี้ยังสอดแทรกมิติทางศาสนาและสังคมเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ซึ่งข้อมูลทั้งหมด ชาติ กอบจิตติ ได้ลงพื้นที่ไป สังเกตการณ์ เก็บรายละเอียดชีวิตของผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราด้วยตัวเอง ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม  เพื่อที่จะนำมาเรียบเรียงอย่างประณีตจนกลายเป็นวรรณกรรม ที่หลายคนยังจดจำ

 

เพราะเราต่างประสบการณ์ เราจึงต่างมีคุณค่าในแบบของตัวเอง 

ดร. สืบแสง วชิระภิบาล หัวหน้าฝ่ายนิทรรศการหอศิลป กรุงเทพฯ ยังบอกอีกว่า “งานครั้งนี้จะทำให้เราได้เรียนรู้มุมมองของการมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ว่าชีวิตในแต่ละวันของเราอยู่เพื่ออะไร การมีชีวิตอยู่ในทุกลมหายใจของเรา สามารถสร้างคุณค่าอะไรได้บ้าง… สิ่งเหล่านี้สามารถมาหาคำตอบได้จากประสบการณ์ที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาผ่านงานสร้างสรรค์ ซึ่ งเราคาดว่าการเรียนรู้ในกิจกรรมแบบนี้น่าจะช่วยสะท้อนให้กลุ่มเยาวชนสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ หรือทำความเข้าใจโลกและมนุษย์ได้อย่างแท้จริง”

นิทรรศการนี้จึงเป็นเหมือนสื่อกลางที่ต้องการสร้างความเข้าใจกับผู้ชมว่า การมีอายุเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นสิ่งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และวันสุดท้ายของชีวิตก็เป็นสิ่งที่ต้องมาถึงไม่วันใดก็วันหนึ่ง จะเรียกว่าเป็น ‘กงล้อแห่งชีวิต’ ก็คงได้  แต่การเคลื่อนผ่านของกาลเวลา ที่ทำให้เรามีอายุเพิ่มขึ้นทุกปีนั้นคงไม่สำคัญเท่ากับว่า เรายังมีแรงใจอยากจะทำบางสิ่งอยู่หรือไม่

เช่นเดียวกับผลงานบางส่วนของศิลปินที่สะท้อนให้เราได้เห็นว่า… ยิ่งเราอายุเพิ่มขึ้นเรายิ่งต้องหมั่นรักษาและสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอยู่เสมอ อย่าเพิ่งปิดกั้นการลองทำสิ่งใหม่ เพียง เพราะวัยที่เพิ่มขึ้น เพราะคุณอาจจะค้นพบคุณค่าในตัวเองอีกครั้งในวั นที่คุณมีอายุเพิ่มมากขึ้นก็ได้  

นิทรรศการ ‘สูงวัยขยาย…(ความ) นอกจากจะ ทำให้เราได้เห็นการนำประเด็นสังคมมาสื่อสารผ่านงานศิลปะแล้ว นิทรรศการนี้ยังทำให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ความรู้ ความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับ ผู้สูงวัย เพื่อให้คนทุกเจนเนอเรชันได้ตระหนักว่า ประเด็นสังคมสูงวัย ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป…

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ