อายุจริงไม่ใช่อายุใจ เพราะวัยเกษียณคือกำไรของชีวิต “วิราวรรณ บรรลือหาญ” ผู้ลุกขึ้นมาเดินตามทุกความฝันในวัย 63 ปี

“วัยเกษียณไม่ใช่ไม้ใกล้ฝั่ง แต่คือกำไรของชีวิต” มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับ วิ วิราวรรณ บรรลือหาญ วัย 63 ปี อดีตข้าราชการที่ขอใช้ชีวิตในวัยเกษียณไปกับการตามเก็บ Bucket List กว่าร้อยข้อ ที่ขอทำให้ได้ก่อนตาย

เชื่อไหมว่าวันนี้เธอเก็บได้จนเกือบครบแล้ว เพราะคุณวิเชื่อว่า ‘อายุจริงไม่ใช่อายุใจ’ ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ทุกคนสามารถเป็นได้ทุกอย่างที่อยากเป็น เพียงแค่ลงมือทำด้วยใจอันแน่วแน่

คุณวิ เริ่มต้นเส้นทางชีวิตข้าราชการที่กรมการขนส่งทางบกในวัย 28 ปี ในตำแหน่งเลขานุการอธิบดี ก่อนจะโยกย้ายมาอยู่งานส่วนใบอนุญาตขับรถฯ มีหน้าที่ต้องคอยอบรม บรรยาย ให้กับผู้ขับขี่รถบนท้องถนน

จากหญิงสาวขี้อายที่เกลียดกลัวการพูดหน้าห้อง ไม่มั่นใจแม้แต่จะจับไมโครโฟน แต่ด้วยการฝึกฝนอย่างหนักและมีทัศนคติที่ดี เพราะอยากให้ทุกคนที่นั่งฟังมีความสุข สุดท้าย คุณวิก็กลายเป็นนักบรรยายมือหนึ่งของกรมฯ ที่ไม่ว่าใคร ๆ ก็อยากมานั่งฟังเธออบรม

“เรามีหน้าที่บรรยาย อบรม ให้กับคนที่ใช้รถบนท้องถนนอย่างคนขับรถบรรทุก คนขับแท็กซี่ และงานตรงนี้ทำให้เราเจอกับสิ่งที่น่ากลัวในชีวิต (หัวเราะ)”

ว่ากันว่าสิ่งที่คนส่วนมากกลัวที่สุดในชีวิตคือ ‘การพูดในที่สาธารณะ’ และคุณวิคือหนึ่งในนั้น การต้องย้ายมาทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรม บรรยายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เธอกลับค้นพบว่าคนเรามีศักยภาพมากกว่าที่ตัวเองคิด

“ตอนเด็ก ๆ เรามีปมด้อยเรื่องเสียง โดนเพื่อนล้อตลอดว่าเป็นผู้หญิงเสียงใหญ่ เสียงดัง เวลาต้องไปพูดต่อหน้าคนเลยยิ่งไม่มั่นใจ พอต้องมาทำงานตรงนี้ เรายิ่งประหม่า

“งานบรรยายครั้งแรก ๆ ต้องอบรมเรื่องกฎหมายจราจร เราตื่นเต้นมาก เห็นสายตาคนเป็นร้อยกำลังมองมาที่เรา ตอนนั้นมีเวลาบรรยาย 2 ชั่วโมง เราพูดไปแค่ 30 นาที ก็หมดเรื่องพูดแล้ว แต่ก็พยายามจนผ่านไปได้ด้วยดี เราเจอว่าเมื่อลงมือทำเต็มที่แล้ว เราเองก็ทำได้ ทุกอย่างไม่ได้น่ากลัวเหมือนตอนที่อยู่ในความคิด นี่จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

“จากนั้นเราเริ่มพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เวลาดูทีวีจะศึกษาวิธีการพูด การเล่นมุก อ่านหนังสือหาความรู้ การฝึกฝนมันทำให้เรากล้า และมั่นใจมากขึ้น พอพัฒนาตัวเองมาก ๆ ก็เกิดเป็นทักษะ และพอเรามีทักษะ เราก็จะสนุกไปกับมัน เพราะฉะนั้นเวลาทำอะไร ถ้าเราลงมือ ลงใจทำมันอย่างเต็มที่ เราคิดว่าคนฟังเขาสัมผัสได้นะ พอเขาเห็นเราสนุก เราตั้งใจ เขาก็จะสนุกไปกับเรา”

“ตอนเด็ก ๆ เราเคยได้ยินแต่คำว่า ‘เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก’ ใช่ไหม แต่เราอยู่ในวัยที่เพื่อนตายหาง่ายมาก (หัวเราะ) เราเห็นคนรอบตัวล้มหายตายจากไปเรื่อย ๆ มันทำให้เราฉุกคิดว่า เราจะตายไปทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำจริง ๆ เหรอ

“วันนั้นเรานั่งลงที่โต๊ะ เอากระดาษปากกามานั่งลิสต์ทีละข้อว่ายังมีอะไรบ้างที่อยากทำ ตอนนั้นจำได้ว่ามีลิสต์ออกมาเยอะมากจนจำไม่ได้ ทั้งเป็นครูสอนโยคะ ต่อยมวย ตัดผม แกะสลัก”

หลังจากที่คิดว่าจากนี้จะทำอย่างไรกับชีวิตดี คุณวิจึงเริ่มจากสิ่งที่ทำเป็นประจำอยู่แล้วคือ ‘โยคะ’ เพราะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่รักและคิดว่าสามารถทำไปได้ทั้งชีวิต

“เราเป็นคนชอบออกกำลังกาย และเมื่อสนใจอะไรแล้วจะทุ่มเททั้งหมด เมื่อเล่นโยคะไปได้สักระยะเลยคิดว่าทำไมไม่ลองเป็นครูสอนดู ถือว่าเป็นการเตรียมเกษียณไปด้วย

“ครั้งแรกที่เริ่มสอนโยคะ เราไปสอนที่สนามกีฬาแห่งชาติ มีนักเรียนแค่ 5 คน เท่านั้น จากนั้นก็เริ่มมีการบอกต่อจนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สูงสุดคือ 29 คน มีเคสหนึ่งเป็นน้องผู้ชายที่เป็นหมอ คุณแม่พาให้มาเรียน จากเริ่มต้นที่ไม่ชอบ ไม่อยากทำเลย จนตอนนี้เขากลายเป็นคนรักโยคะไปแล้ว แค่นี้มันก็ทำให้เราภาคภูมิใจมาก และเราถือว่าสิ่งนี้คือการประสบความสำเร็จในอาชีพเลยนะ (หัวเราะ)

“ตลาดครูสอนโยคะมีการแข่งขันสูง แต่เราสอนไปตามสไตล์ของเรา คือเน้นความสุข ความสบายใจ นักเรียนจะรู้เลยว่า วันไหนที่ได้มาเจอกัน ทุกคนจะได้ผ่อนคลาย หัวเราะ พูดคุยไปด้วยกัน และจะไม่มีใครมากดดันหรอกว่ามาเรียนแล้วต้องทำ Headstand ได้หรือเปล่า (หัวเราะ)

“เราสอนโยคะมาเรื่อย ๆ จนมั่นใจว่าไปต่อได้ ก็ค่อย ๆ วางแผนเรื่องการเงิน ว่าค่าใช้จ่ายของเรากับบำนาญที่ได้มันเพียงพอไหม มันเหมือนการวางแผนเกษียณไปในตัว พอคิดทบทวนจนชัดเจนแล้วก็ตัดสินใจลาออกจากราชการทันทีตอนอายุ 57 ปี ทั้ง ๆ ที่ยังรักอาชีพนี้อยู่มาก”

แน่นอนว่า การลาออกจากงานประจำที่ทำมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ย่อมทำให้รู้สึกเคว้งคว้างและไม่มั่นใจ แต่ด้วยความเชื่อมั่น มองโลกบวก และการวางแผนชีวิตหลังเกษียณล่วงหน้ามาเป็นอย่างดีของคุณวิ ย่อมทำให้ให้การเดินทางในวัยเกษียณเต็มไปด้วยความสดใส

“ตอนเราลาออกมาใหม่ ๆ หลายคนก็ถามนะว่าจะรอดเหรอ บางคนก็บอกว่ารอดูชีวิตเราอยู่นะ แต่เราไม่เก็บมาใส่ใจ เรารับฟัง แต่ก็ยังเดินหน้าเพราะถือว่าตัดสินใจไปแล้ว

“ปรากฏว่าพอเราลาออกมา เรากลับมีงานสอนเข้ามาตลอดทั้งที่สตูดิโอ บริษัท และสนามกีฬาแห่งชาติ จากคนเคยเป็นนักเรียนก็กลายเป็นญาติพี่น้องที่สนิทสนม บางบริษัทจ้างเราไปสอนประจำ เราจะพยายามทำให้มันผ่อนคลาย สนุกสนาน บางครั้งนักเรียนก็หัวเราะกันจนน้ำตาไหล จนคลาสโยคะของเรากลายเป็นเซฟโซนของพนักงานไปเลย มันเลยทำให้ชีวิตหลังเกษียณของเรามีคุณค่าและมีความสุขมาก”

หลังลาออกจากงานประจำ คุณวิได้ใช้เวลาที่มีไปกับการทำในสิ่งที่ตัวเองรักและปรารถนา หนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดในนั้นคือการพิชิตยอดเขาฟานซีปัน (Fansipan) ที่เวียดนาม

“หลังออกจากงาน เราก็เริ่มหัดปีนเขาครั้งแรกที่กระบี่ เป็นการฝึกปีนผาสูง 10 เมตร ช่วงแรกเรารู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรยากเลย สบายมาก แต่พอ 5 เมตรสุดท้าย ขาเริ่มสั่น เพราะร่างกายล้า เริ่มมีเสียงในหัวว่าเรามาทำอะไรที่นี่ เหนื่อยแล้ว ลงเถอะ เราต้องต่อสู้กับเสียงนั้นอย่างหนัก แต่ก็คอยบอกตัวเองว่าลงไม่ได้เด็ดขาด ต้องไปให้ถึงเป้าหมาย

“เราคิดว่า ถ้าผ่านตรงนี้ไปไม่ได้ เรื่องอื่นเราก็ผ่านไปไม่ได้เหมือนกัน ไม่มีใครตายตรงนี้ มีแต่ใจนั่นแหละที่ตาย พอคิดแบบนี้แล้วใจมันก็ฮึดสู้ เรากลั้นใจปีนไปเรื่อย ๆ โฟกัสแค่ก้อนหินตรงหน้า ขยับไปทีละนิด สุดท้ายเราก็ถึงเป้าหมายได้จริง ๆ

“การปีนเขามันมากกว่าเรื่องของการพิชิตยอดเขาหรือมีร่างกายที่แข็งแรง แต่มันเป็นเรื่องการต่อสู้กับจิตใจตัวเอง และสิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ระหว่างทาง นั่นคือ ‘การรู้จักวางใจคนอื่น’

“เพราะการปีนเขาแต่ละครั้ง มีทั้งโคชและเทรนเนอร์ที่คอยดูแลเราอยู่ข้างล่าง หากเราไม่วางใจใครเลย เราจะไม่มีวันไปถึงเป้าหมาย ทุกคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง เมื่อวางใจในตัวคนอื่นแล้ว เราเองก็จะไม่แบกความทุกข์ไว้กับตัวตลอดเวลา

“สำหรับเราแล้ว ชีวิตก็เหมือนการปีนเขา มีแต่ก้อนหิน มีแต่อุปสรรค แต่ถ้าก้าวขาออกไปข้างหน้าทีละก้าว สุดท้ายก็ถึงเป้าหมายเอง เชื่อไหมว่าพอเราทำสำเร็จ เราภาคภูมิใจมาก มันทำให้เราเชื่อว่าทุกคนสามารถทำอะไรก็ได้บนโลกใบนี้ อยู่ที่ว่าใจสู้แค่ไหน แล้วสิ่งเหล่านี้มันต่อยอดมาถึงเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตด้วย มันสุดยอดเลย”

“เราเริ่มเล่นมวยไทยครั้งแรกตอนอายุ 61 ปี ยอมรับว่าช่วงแรกเจ็บเหมือนกัน แต่สิ่งที่เราได้กลับมามันมากกว่านั้น  มวยไทยสอนอะไรเราหลายอย่าง ทั้งความอดทน ประสาทสัมผัสที่ว่องไว และการใช้ร่างกายอย่างการหลบหลีก หลอกล่อ ทั้งหมดมันเป็นทักษะทางกายที่เราไม่เคยมี แต่กลับพัฒนาขึ้นมาได้ รวมทั้งทักษะทางใจ

“มวยไทยทำให้เราล้มแล้วลุกอยู่หลายครั้ง แต่เราต้องเลือกเองว่าจะล้มอยู่อย่างนั้นหรือลุกขึ้นมา เราเห็นคนที่มาเล่นถอดใจไปหลายคน แต่เราจะไม่ยอมแพ้เด็ดขาด เพราะเชื่อว่าถ้าก้าวผ่านเส้นนี้ไปได้ เราจะผ่านด่านยาก ๆ ในชีวิตไปได้อีกเยอะ ทั้งหมดนี้มันมากไปกว่าการเล่นกีฬา แต่มันคือทักษะการใช้ชีวิต

“มีคนพูดกับเราเหมือนกันว่าทำไมเล่นกีฬาไม่ดูวัยตัวเอง แต่เราเชื่อว่ามวยไทยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพศและอายุ แต่มันเป็นกีฬาที่ทุกคนสามารถทำได้ มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่รู้จักร่างกายเราดีที่สุด ตัวเราเท่านั้นรู้ว่าแค่ไหนควรไป แค่ไหนควรพัก และเมื่อตัดสินใจลงสนามแล้วก็ต้องพยายามข้ามข้อจำกัดของตัวเองไปให้ได้”

“เราเกิดยุค Baby Boomer เพิ่งมารู้จักภาษาอังกฤษก็ตอนอยู่ ป.7 แล้ว ตอนนั้นเราอยู่ จ.อุบลราชธานี มีการเข้ามาของทหารอเมริกัน หรือ จี.ไอ. ทำให้พวกผู้ใหญ่ยุคนั้นมี Mindset ว่าการพูดภาษาอังกฤษคือความกระแดะ สิ่งเหล่านั้นมันฝังใจ ทำให้เราและเด็ก ๆ หลายคนในยุคนั้นมีทัศนคติไม่ดีต่อภาษาอังกฤษ และทำให้เรากลัวฝรั่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“จนเราโตเป็นผู้ใหญ่และ ได้ออกเดินทางในโลกกว้างมันทำให้เรากลับมาคิดเรื่องนี้อีกครั้ง  อย่างครั้งหนึ่งเคยไปอเมริกา ใครพูดอะไรเราไม่เข้าใจสักอย่าง จะซื้อของยังไม่กล้าพูด ได้แต่ยื่นเงินไป ทอนมาเท่าไหร่ก็แล้วแต่เลย นั่นทำให้เราพบว่าการพูดภาษาอังกฤษยังเป็นสิ่งที่ยังค้างคาใจเรามาตลอด เป็นเหมือนเสี้ยนหนามที่ต้องถอนให้ได้ เราอยากเป็นอิสระจากสิ่งนี้เสียที เลยตัดสินใจฮึดสู้ดูสักตั้ง”

จากนั้น คุณวิก็ตัดสินใจลงเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังกับสถาบันสอนภาษา ที่มีเพื่อนร่วมคลาสวัยหลานที่อายุห่างกันเกือบ 50 ปี แต่กลับไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้แต่อย่างใด

“เพื่อนร่วมชั้นเรามีแต่นักเรียน อายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี เท่านั้น วันแรกที่เราเดินเข้ามาในห้องเรียน ทุกคนคิดว่าเราเข้ามาตามหาหลาน (หัวเราะ)

“วันต่อมา เราแนะนำตัวกับทุกคนว่าอายุ 62 ปีแล้ว จากนั้นก็ถามทุกคนในห้องว่าทุกคนอยากมีอายุเท่าไหร่เมื่ออยู่ในห้องนี้ แล้วทุกคนตกลงใจกันว่าจะอายุ 18 เท่ากันหมด หลังจากนั้นเราก็กลายเป็นเพื่อนกัน พอสนิทกัน ทุกคนก็กล้าพูด กล้าสื่อสาร ไม่มีอายุเป็นอุปสรรคอีกต่อไป บรรยากาศในการเรียนเลยสนุกมากจนเรียนต่อเนื่องมาได้ 1 ปี แล้ว

“เราอายุขนาดนี้ แต่ขอยืนยันว่าอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคกับการเรียนภาษาเลย ไม่มีอะไรยากถ้าหากเราตั้งใจจริง สิ่งสำคัญคือ คุณอยากทำมันจริงหรือเปล่า หาตัวเองให้เจอ แล้วลงมือทำ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ”

“สำหรับคนวัยเกษียณ สิ่งสำคัญที่สุดคือการหา ‘คุณค่า’ ของตัวเองให้เจอ ถามตัวเองให้ได้ว่าสิ่งที่เป็นคุณค่าของเราจริง ๆ คืออะไร สำหรับตัวเรา คุณค่าสูงสุดคือการมีสุขภาพดีและการได้เป็นผู้ให้ เพราะหากร่างกายไม่แข็งแรงก็เป็นภาระคนอื่น จิตใจก็ห่อเหี่ยวตามไปด้วย เชื่อไหมว่าพอเรารู้จักตัวเองได้แบบนี้แล้ว หลังจากนั้นข้าวของหรือเงินทองก็ไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป

“ฉะนั้นสำหรับคนที่เข้าสู่วัยเกษียณแล้วหรือเตรียมเกษียณอยู่ อยากให้ลองหาอะไรที่ชอบทำ อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มีความสนุก หรือมีความสงบ อย่างการปลูกต้นไม้ ท่องเที่ยว หรือเลี้ยงหลานก็ได้

“สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ อย่าสนใจว่าคนอื่นจะมองเรายังไง เพราะความสุขเป็นของเรา เราต้องสร้างเอง อย่ายอมให้คนอื่นมาสร้างให้ และอย่าปล่อยชีวิตให้ล่องลอย แต่ต้องวางแผนไว้เสมอ จะทำตามนั้นได้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร ต้องรู้จักให้อภัยตัวเอง และเก็บไว้เป็นบทเรียน

“ท้ายที่สุด เราคิดว่ามันคือเรื่องของทัศนคติที่เรามีต่อตัวเอง อย่าด้อยค่าว่าตัวเองแก่ หรือทำอะไรไม่ได้แล้ว ไม่มีคำว่าสายหากจะเริ่มต้นใหม่หรือเริ่มค้นหาสิ่งที่ชอบ หากเราทำในสิ่งที่เป็นคุณค่าสำหรับเรา มันจะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีความหมาย วัยเกษียณเป็นเหมือนกำไรของชีวิต อยากให้ทุกคนใช้ช่วงเวลานี้อย่างมีค่าอย่ามองตัวเองเป็นไม้ใกล้ฝั่งเด็ดขาด”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ