แรงบันดาลใจจากหนัง ‘เขาชื่อกานต์’ สู่ ช่างวาดคัทเอาท์หนังรุ่นสุดท้ายแห่งตะกั่วป่า

มนุษย์ต่างวัยชวนไปรู้จักกับ ‘โกอ้วน – สุรพล แซ่แต้’ ช่างวาดภาพคัทเอาท์โรงหนังรุ่นสุดท้ายแห่งตะกั่วป่า ช่างเขียนรูปที่ได้แรงบันดาลใจในวัยเด็กจากการเห็นคัทเอาท์หนังเรื่อง ‘เขาชื่อกานต์’ เมื่อ 40 ปีก่อน และก้าวเข้าสู่การเป็นช่างเขียนรูปและคัทเอาท์หน้าโรงหนังมืออาชีพ แม้ไม่เคยเข้าโรงเรียนเขียนรูปที่ไหน แต่โรงหนังหลายแห่งที่โกอ้วนแวะเวียนเข้าไปก็กลายเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยศิลปะที่มีทั้งพี่น้องครูบาอาจารย์ฝีมือดีมากมายคอยให้ซึมซับวิชา

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่โกอ้วนฝึกฝนเคี่ยวกรำด้วยตัวเองอย่างหนักจนทำให้โกอ้วนกลายเป็นช่างวาดคัทเอาท์โรงหนังที่มีฝีมือดีของอ.ตะกั่วป่าชนิดที่หาตัวจับได้ยาก

“ผมรู้ตัวว่าชอบวาดรูปแต่เด็ก ถ้าไปเปิดหลังสมุดเรียนดูจะเจอรูปเครื่องบิน รถถังเต็มไปหมด จนกระทั่งอยู่ ป.4 ผมไปเที่ยววิกหนังตามประสาเด็ก แล้วเห็นคัทเอาท์หนังเรื่องหนึ่งแล้วชอบมาก มันเป็นภาพวาดที่สวยมาก แล้วเราก็ชอบดาราที่เล่นด้วย

“หนังเรื่องนั้นคือ ‘เขาชื่อกานต์’ (2516) เล่นโดย สรพงศ์ ชาตรี และ นัยนา ชีวานันท์ ตอนเห็นครั้งแรกเราร้องโอ้โหเลย มันสวยมาก มันทำให้เราอยากจะวาดรูปเป็น อยากจะวาดได้แบบนี้บ้าง มันคือแรงบันดาลใจเลยว่าเราต้องวาดรูปแบบนี้ให้ได้

“ตอนนั้นใจมันอยากจะวาดรูปอย่างเดียว แต่ไม่รู้จะทำยังไง เราเลยพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะได้รู้จักกับช่างวาดในวิกหนัง แต่ละวันเลยเข้า ๆ ออก ๆ ตามโรงหนัง ไปดูวิกนั้นบ้าง วิกนี้บ้าง ด้วยความที่ตอนนั้นเรายังเด็ก ก็ทำทีเข้าไปเดินเล่น ไปยิ้ม ไปคุยเล่นกับกับคนในวิกตามประสาจนได้รู้จักกับช่างวาด ผมเทียวไปเทียวมาตามวิกหนังอยู่นาน จนวันหนึ่งเราก็ยกมือไหว้ช่างวาด ขอให้เขาช่วยสอนเขียนรูป จนในที่สุดเขาก็ยอมให้เราหัดจับพู่กัน จานสี ตีสเกล แล้วก็ได้เป็นลูกศิษย์เขา

“ตอนนั้นผมไปวิกหนังทุกวัน ไปดูหนังด้วย ไปฝึกวาดรูปด้วย ไม่ว่าจะเป็นโรงหนังตะกั่วป่ารามา โรงหนังเจริญจิต หรือโรงหนังกลั่นแก้ว ทุกที่เป็นเหมือนโรงเรียนของผม ในแต่ละวันอาจารย์จะไม่ได้มาสอนเราเขียนรูปตรง ๆ หรือจับมือวาด เพราะงานเยอะมาก เขาไม่มีเวลามาสอนใคร เราต้องรู้จักสังเกต ครูพักลักจำเอาเอง ผสมสีอย่างไร ลงฝีแปรงแบบไหน ต้องจดจำเทคนิคเอง อาจมีมาให้คำแนะนำบ้างหรือช่วยเติมแต่งนิดหน่อย แต่ทั้งหมดเราต้องพยายามและขวนขวายด้วยตัวเอง ต้องขยันและอดทนมาก วันไหนที่อาจารย์มาดูงานเราแล้วไม่แก้ ไม่แต่งเลย มันดีใจมาก ผมทำแบบนี้นานกว่า 5-6 ปีเลยนะ ถึงได้เป็นช่างวาดจริง ๆ

“พอเขาเห็นเราเริ่มวาดรูปได้แล้ว เขาจะเริ่มปล่อยให้เราเริ่มวาดรูปจริง แต่ให้วาดแค่บางส่วน เช่น ต้นหญ้า รองเท้า ยังไม่ได้วาดหน้าคน ผมทำแบบนี้อยู่นานกว่าจะได้วาดรูปหน้าโรงหนัง แต่สำหรับผมตอนนั้น แค่เขายอมให้เราวาดส่วนเล็ก ๆ อย่างเข็มขัดบนรูปก็สุดยอดมากแล้ว มันปลื้มใจจนกินข้าวไม่ลงเลย (หัวเราะ)

“สมัยนั้นวิกหนังมันบูมมาก การแข่งขันก็สูง มีแต่ช่างเขียนรูปเก่ง ๆ เต็มไปหมด การวาดคัทเอาท์หนังแต่ละเรื่องจะเหมือนการแข่งขันประชันฝีมือของช่างแต่ละวิก แต่ละวิกจะต้องมี ‘ป้ายหน้าโรงหนัง’ กับ ‘ป้ายแห่’ ป้ายหน้าโรงหนัง คือคัทเอาท์ใหญ่ที่เอาไว้โชว์ ส่วนป้ายแห่คือป้ายที่เอาไว้ติดกับตัวรถแล้วขับแห่ประชาสัมพันธ์ไปตามชุมชน ป้ายหน้าโรงหนังจะเป็นงานที่ละเอียดประณีต อาจารย์จะเป็นคนวาดเอง ส่วนป้ายรถแห่จะให้ลูกศิษย์อย่างเราทำ

“ผมวาดแบบนี้มาเรื่อย ๆ กว่า 30 ปี จนกระทั่งเหมืองแร่ในตะกั่วป่าปิด พอคนงานไม่มี โรงหนังก็เลยต้องปิดตัวตาม ตอนนั้นผมก็ใจหายเหมือนกัน มันไปต่อไม่ถูก คิดแต่ว่าเราคงจะไม่ได้ทำสิ่งที่รักอีกต่อไปแล้ว แต่ในใจก็ยังมีความหวังตลอด หลังจากนั้นเป็นต้นมาผมจึงเริ่มเก็บสะสมโปสเตอร์หนัง ผมรู้สึกว่ามันเป็นเหมือนครูบาอาจารย์ เวลาได้เห็นมัน ได้อยู่ใกล้มันแล้วมันอบอุ่นหัวใจ

“ตอนนี้ผมอายุ 63 ปี แต่ยังวาดรูปอยู่ทุกวัน เวลาได้กลิ่นสี กาวแป้ง มันมีความสุขมาก มันเหมือนเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในตัวเราแต่เด็ก หลังเกษียณ ผมมีความฝันว่าอยากจะทยอยวาดรูปโปสเตอร์ที่เก็บสะสมมาทั้งหมด และตอนนี้ผมได้ลงมือวาดโปสเตอร์หนังเรื่อง ‘เขาชื่อกานต์’ ตามความตั้งใจตั้งแต่วัยเด็กแล้ว ยังไม่เสร็จดีหรอก แต่ผมจะค่อย ๆ ทำให้มันเสร็จให้ได้แม้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม และสำหรับผม การเขียนรูปเป็นสิ่งที่ผมรักและทำมาทั้งชีวิต และไม่คิดว่าจะหยุด จะเขียนรูปต่อไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งทำไม่ไหวอีกแล้ว”

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ โกอ้วน ก็ไม่เคยหยุดวาดรูปแม้แต่วันเดียว ชีวิตวัยหนุ่มในวิกหนังของโกอ้วนหล่อหลอมให้เขายังคงเป็นหนึ่งเดียวกับการเขียนรูปอย่างไม่มีทางแยกจากกันได้อีกต่อไป แม้วันนี้ จะไม่มีภาพเขียนคัทเอาท์หน้าโรงหนัง หรือรถแห่หนังให้เราอีกต่อไปแล้ว แต่โกอ้วนยังคงลงมือเขียนรูปเงียบ ๆ ภายในบ้านพักย่านตะกั่วป่ากับกลิ่นสีและกาวแป้งที่คละคลุ้งตลอดทั้งวันอย่างไม่มีทีท่าว่าจะวางมือ

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ