ค้นพบว่าชีวิตไม่มี Fast Pass คุยกับ “พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล พี่ใหญ่ของชาว GDH 559 และวงการภาพยนตร์ไทย

“เส้นทางลัด” อาจทำให้คนเราพลาดโอกาสเรียนรู้บทเรียนสำคัญบางอย่างไป การออกเดินในทางสายหลักเพื่อทดลองผิดพลาด ล้มเหลว และเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง อาจทำให้เดินทางไปถึงจุดหมายอย่างมั่นคงและไปถึงในเวลาที่เหมาะสมกว่า

มนุษย์ต่างวัย Talk กับ ประสาน อิงคนันท์ คุยกับ “พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล พี่ใหญ่ของชาว GDH 559 และวงการภาพยนตร์ไทย เรื่อง “ไม่มีทางลัดสำหรับชีวิตคนทำหนัง” เผยเบื้องหลังงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์ที่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ต้องแลกมาด้วยการ “หั่น” เวลาชีวิต วิธีคิดเมื่อหนังขาดทุน และคุณค่าของหนังที่เปลี่ยนชีวิตคนดูให้ดีขึ้นได้

“ผมค้นพบว่าชีวิตมันไม่มี Fast Pass ทางลัดมันมีแค่ในดิสนีย์แลนด์ คือ เงินเนี่ยมันซื้อได้แค่อภิสิทธิ์ทางโลก หมายถึงอภิสิทธิ์ทางการต่อแถว เช่น อภิสิทธิ์ในการไปขอต่อ Visa ไม่ต้องไปนั่งรอ เราเข้าได้เลย เงินซื้ออภิสิทธิ์ตรงนี้ได้แต่มันซื้อสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราหรือในใจเราไม่ได้ การทำหนังก็เหมือนกัน มันไม่มี Fast Pass คุณอยากจะเก่ง คุณก็ต้องพยายาม มันก็ต้องก้าวไป คุณอาจจะผิดก่อนในวันนี้ เข้าห้องทดลองแล้วก็ไปโง่ 2 – 3 ขั้น แล้วคุณก็จะไปได้ ไม่มีใครที่ทำเรื่องแรกแล้วเก่งเลย หรือว่ารู้ทุกสิ่งทุกอย่างเลย.. มันไม่มีทางลัดจริง ๆ ครับ”

“ผมค้นพบเรื่องนี้เมื่อตอนเกษียณ ประมาณ 2 – 3 ปีที่แล้ว คือ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเวลาผมเดินทางมาทำงานที่ GDH ออฟฟิศเราตั้งอยู่ที่ซอยพร้อมพงษ์ ทุกเช้าเวลาผมมาจากบ้านก็จะมาเข้าทางถนนเพชรบุรี วิ่งมาสักประมาณ 200 เมตร ก็จะมาชนตึกฟูจิซุปเปอร์ ตรงนั้นจะมีถนนที่เป็นวงกลมอยู่ ซึ่ง GDH จะอยู่ทางขวา ห่างจากตึกฟูจิไปประมาณ 200 เมตร แต่ผมไม่สามารถจะเลี้ยวขวามาได้ เพราะถนนวงกลมนี้เป็นวันเวย์ ทุกเช้าผมจะต้องมาแล้วมาอ้อมวงกลมนี้ไปอีกประมาณกิโลครึ่ง เพื่อจะมา GDH บางทีพอมาถึงที่ตึกฟูจิซุปเปอร์ ผมหันไปมองมันโล่งมากเลยนะครับ มีบ้างที่ผมนึกในใจว่า ‘กูแอบเลี้ยวตรงนี้ได้เปล่าวะ ?’ คือ ทางมัน 200 เมตร ระยะสั้นกว่าเห็น ๆ แต่เราทำไม่ได้ เราทำไม่ได้ครับ”

“ทุกวันนี้ก็ยังต้องอ้อมกิโลครึ่ง ซึ่งขนาดวันรถไม่ติดนะก็ใช้เวลา 5 นาที เพราะมันเป็นถนนเล็ก ๆ แล้วถ้าวันรถติดเนี่ย โอ้โห ครึ่งชั่วโมงบางทียังไม่ถึงเลยครับ ผมต้องจอดรถทิ้งที่ตึกฟูจิซุปเปอร์ แล้ววิ่งไปดีกว่าครับ (หัวเราะ)”

“ตอนที่ทำหนัง ‘มหาลัยเหมืองแร่’ ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ เยอะในช่วงนั้น จะมีประโยคหนึ่ง ซึ่งเขาเขียนในเรื่องสั้นบอกไว้ว่า ‘ผมเอาชีวิตไปหั่นในเหมืองแร่เสีย 4 ปีเต็ม ๆ’ แล้วในหนังสือจะอธิบายต่อว่าเป็น 4 ปีที่คนธรรมดาจะได้ปริญญา แต่ผมเนี่ยได้แค่เป็นกรรมกร.. ผมสนใจคำว่า ‘หั่น’ ผมบอกชีวิตคนเราถ้าอินกับอะไรมาก ๆ ก็ใช้คำว่าหั่นได้เหมือนกันนะ ตอนที่ผมเริ่มทำหนังที่ GTH เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผมเคยถามตัวเองนะว่าถ้าเราทำ GTH ไป 20 ปี แล้วเราจะใช้คำว่า ‘หั่น’ เหมือนพี่อาจินต์ได้หรือเปล่า.. เพราะมันเท่เหลือเกิน ผมหั่นชีวิตให้กับการทำหนังที่ GTH มา 20 ปีเต็ม แล้วเราก็ลืมไปเลยนะ มาช่วงหลัง ๆ ตอนเกษียณนี่ก็รู้สึก เฮ้ย ผมว่าผมใช้ได้ว่ะ”

“ผมทำงานนี้จนผมรู้สึกว่าผมไม่ได้ทำงาน ผมรู้สึกว่าตอนตื่นเช้ามา ผมไม่ได้ไปทำงานเลย เหมือนมีเกมให้ผมมาเล่นทุกวัน บทอันนู่นอันนี้ไม่ดีจะทำไง บางวันคิดไม่ออกก็เกม.. บางวันคิดออกก็ดีใจเหมือนได้ Coin อะไรอย่างนี้ครับ ทำจนแบบว่าไม่มีเสาร์อาทิตย์ นั่งกินข้าวอยู่ ๆ ก็พูดเรื่องงานขึ้นมาเหมือนกับเป็นชีวิตประจำวัน อย่างที่พี่อาจินต์บอกว่า ‘ข้าพเจ้าสูดเอาผงควันที่มาจากเรือขุดเข้าไปสู่ร่างกายข้าพเจ้า จนเสมือนมันเป็นส่วนหนึ่งในตัวข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าคงจะตายไปพร้อมกับสิ่งนี้’ ผมรู้สึกว่าตอนนี้มันเป็นอย่างนั้นเลย”

“บางทีมันก็รู้สึกเหนื่อยนะ แต่ผมก็ไม่เคยบ่นว่างานหนักหรือไม่มีเวลาพัก.. เพราะว่าตอนพักผมก็พูดเรื่องงานขึ้นมาอยู่ดี เขาให้ไปพักร้อน มันดันไปคิด.. แล้วก็ชอบคิดได้ช่วงนั้นด้วยนะ (หัวเราะ) รู้สึกว่าสนุกดี รู้สึกว่าในวันที่คิดไม่ออกก็สนุกว่ามันคิดไม่ออก เหมือนเล่นเกมแล้วเฟล ในวันที่คิดออกก็ดีใจมากเลยแบบ โห รอดแล้วเรื่องนี้.. คิดมาตั้งนานอะไรอย่างนี้ ส่วนถ้าตรงไหนยังคิดไม่ออกแม้จะปล่อยงานฉายไปแล้ว ก็ถือว่าช่วยไม่ได้ ก็ไม่รู้จะทำไง ไปแก้ตัวใหม่เรื่องหน้า เหมือนว่าพรุ่งนี้เราก็เล่น stage ต่อไป”

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ