‘ความสุข ชีวิต มิตรภาพ’ 3 สิ่งที่เกมเมอร์วัยเกษียณได้จาก Ragnarok

หากพูดกันถึง ‘เกมเมอร์’ ในแวดวงเกมออนไลน์ ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คืออีกหนึ่งพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเยาวชนและคนหนุ่มสาว น้อยนักที่จะมีผู้สูงวัยสักคนที่เอาจริงเอาจังกับการเล่นเกม

ในวัยเกือบ 70 ที่เพื่อนร่วมรุ่นต่างพากันนั่งเลี้ยงหลานหรือไม่ก็เข้าวัดเข้าวา ป้าอี๊ด – สุนันทา พงษ์เจริญ กลับใช้ชีวิตอีกด้านอยู่ในโลกของเกมออนไลน์ และไม่ใช่แค่เล่นแก้เหงา หากแต่ยังอยู่ในระดับเซียนตัวท็อป โดยเฉพาะเกมฮิตเมื่อหลายปีก่อนอย่าง Ragnarok ที่มีแต่คนสนใจอยากดึงตัวเธอไปร่วมทีม

การเล่นเกมทำให้โลกของป้าอี๊ดสนุกสนานและมีชีวิตชีวา จากที่เคยเหงาเศร้า เอาแต่เก็บตัวไม่คุยกับใคร ป้าอี๊ดกลายเป็นขวัญใจของบรรดาเกมเมอร์หนุ่มสาว จากไม่เคยเห็นหน้าค่าตา บางคนไปมาหาสู่กลายเป็นลูกเป็นหลานผูกพันยาวนานร่วมสิบปี

ดังนั้น สำหรับหญิงวัยเฉียด 70 คนนี้ ป้าอี๊ดจึงพูดได้อย่างเต็มปากว่า

สำหรับเรา เกมคือสิ่งที่ให้ทั้งความสุข ชีวิต และมิตรภาพ

คนแก่เล่นเกม

ในโลกใบนี้น่าจะมีเกมเมอร์น้อยคนที่เริ่มต้นเล่นเกมเป็นครั้งแรกในขณะที่มีอายุเกือบเข้า 60

ป้าอี๊ด – สุนันทา พงษ์เจริญ เคยมีอาชีพทำน้ำพริกหาบเร่ขายอยู่ในตลาดสดอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบัน ป้าอี๊ดอายุ 69 ปีแล้ว มีหน้าที่คอยดูแลกิจการร้าน ‘น้ำพริกข้าวสวย’ ร้านอาหารและน้ำพริกชื่อดังของเมืองจันท์ ร่วมกับลูกสาว

วิถีเกมเมอร์ของป้าอี๊ดเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน เมื่อ ทราย – สิริลักษณ์ พงษ์เจริญ ลูกสาวคนเดียวของคุณป้า ตัดสินใจหันหลังให้กับชีวิตในเมืองหลวง กลับมาเปิดร้านเกมและอินเทอร์เน็ตที่บ้านเกิดแทน

กิจวัตรของป้าอี๊ดซึ่งขณะนั้นอายุ 57 ปี คือกลับมาช่วยลูกสาวเฝ้าร้านในช่วงบ่ายหลังจากขายของที่ตลาดเสร็จ ทว่าเฝ้าไปเฝ้ามาจากคนเฝ้าร้านเกมธรรมดา ป้าอี๊ดก็กลับกลายเป็นคนเล่นเกมไปเสียเอง

“แรกๆ ก็เฝ้าร้านไปตามปกติ ไปๆ มาๆ ก็เริ่มดูว่าเด็กเล่นเกมอะไรกัน เราเห็นฉากมันสวย แล้วก็มีตัวละคร มีอาชีพต่างๆ น่าจะสนุก เลยให้เด็กเขาลองสอนให้ บอกเขาว่าถ้าสอนป้าเล่นเกม เดี๋ยวป้าแถมให้อีกครึ่งชั่วโมง เราก็เลยเริ่มเรียนรู้โดยมีเด็กๆ ในร้านเป็นโค้ชให้”

จากที่เริ่มให้เด็กสอน ป้าอี๊ดค่อยๆ ฝึกฝนจนสกิลแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เกมออนไลน์ได้พาเธอเข้าไปสู่โลกใบใหม่ และจากที่เคยเอาแอคเคานท์ของลูกสาวไปเล่น เธอก็สมัครแอคเคานท์เป็นของตัวเอง

“พอมีแอคเคานท์ของตัวเอง คราวนี้เราก็เริ่มเล่นบ่อยขึ้น เวลาไปขายของ พอตั้งร้านเสร็จ ถ้าไม่มีลูกค้าเราก็หยิบไอแพดขึ้นมาเล่น พอกลับไปเฝ้าร้านก็เฝ้าไปด้วยเล่นไปด้วย จากนั้นพักตอนเย็น แล้วก็เล่นอีกเล็กน้อยก่อนเข้านอน เราไม่ได้เล่นทั้งวันทั้งคืนจนร่างกายหรือสายตาย่ำแย่ แต่เล่นให้ชีวิตมีความสุข มีสีสัน ให้มันไม่เหงาจนเกินไป”

เกมที่ป้าอี๊ดนิยมเล่นหลักๆ จะมีอยู่ 3 เกม คือ เกมเต้น เกมไพ่สลาฟ และเกม Ragnarok โดยเกมหลังสุดถือเป็นเกมยอดฮิตในสมัยนั้น ซึ่งแม่ค้าน้ำพริกวัยเกษียณได้พัฒนาฝีมือตัวเองจนก้าวล้ำเกินหน้าเด็กวัยรุ่นหลายคนไปไกล

“เราเล่นจนถึงเลเวล 99 ซึ่งถือเป็นเลเวลสูงสุดในตอนนั้น ส่วนตอนนี้ก็จะเป็นระดับ high class ซึ่งเราก็เล่นถึงแล้ว คือเกม Ragnarok จะเป็นเกมเก็บเลเวล หรืออธิบายง่ายๆ ว่าเพิ่มความเก่งให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อออกไปล่าบอสหรือล่าอาณานิคม ซึ่งเมื่อเราเล่นเก่ง มีเลเวลสูง ก็จะมีคนอยากเอาเราไปร่วมทีมด้วย”

ด้วยความเก่งกาจระดับสูงทำให้มีบรรดาเกมเมอร์ทั้งหลายมาจีบป้าอี๊ดไปร่วมทีม โดยไม่รู้หรอกว่าคนที่ตัวเองชักชวนนั้นอายุอานามปาเข้าไป 60 กว่าๆ แล้ว เรียกว่าเป็นแม่ของแม่ได้เลย

“เวลาเด็กๆ ส่งข้อความทางออนไลน์เข้ามา เขาก็จะคิดว่าเราคือรุ่นเดียวกับเขา หรืออายุห่างกันไม่กี่ปี บางคนเขาก็จะแซวเรา หยอกเรา ซึ่งเราก็ไม่ได้คิดอะไร เข้าใจได้ เพราะใครจะไปคิดว่าคนอายุเท่าเราจะมานั่งเล่นเกมกับพวกเขา

“อีกอย่างเราพิมพ์ข้อความโต้ตอบเร็ว แล้วก็ใช้ภาษาวัยรุ่นอย่าง อิอิ คิคิ เขาก็นึกว่าเรายังอายุไม่มาก เราเองก็ไม่อยากเปิดเผยตัวด้วย อาย กลัวคนจะว่าแก่แล้วยังมาเล่นเกมเป็นเด็กๆ”

หลังจากเล่นเกมไปสัก 2 ปีก็เริ่มมีคนส่งข้อความมาทักทายมากขึ้น บางคนไม่ได้จีบเพื่อชักชวนไปร่วมทีม แต่เริ่มทำท่าจะจีบเป็นแฟนจริงๆ ถึงแม้ป้าอี๊ดจะเริ่มเปิดเผยตัวตนด้วยการพิมพ์ตอบกลับไปว่า “แก่แล้วห้ามจีบ” แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครเชื่อมากนัก ทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องโกหกตลกชวนขำเสียมากกว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่คนรุ่นแม่รุ่นยายจะมานั่งเล่นเกมออนไลน์ Ragnarok

“แรกๆ ก็อาย แต่พอบอกความจริงไปก็ไม่มีใครเชื่อ กระทั่งวันหนึ่งทางบริษัทเกมเขาจัดงานมีตติ้งที่กรุงเทพฯ เพื่อให้บรรดาเกมเมอร์ทั้งหลายมาพบปะพูดคุยกัน เราเองก็อยากเจอตัวจริงของเพื่อนๆ ที่เล่นเกมด้วยกัน ก็เลยตัดสินใจไปร่วมงานนี้”

แม้จะรู้สึกตื่นเต้นและประหม่าอยู่บ้าง แต่ป้าอี๊ดเองก็อยากให้เพื่อนๆ ทุกคนได้รู้ความจริงเช่นกัน เพื่อที่ในยามเล่นเกมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เธอจะได้เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ป้าอี๊ดจึงตัดสินใจเดินทางไปกรุงเทพฯ พร้อมกับลูกสาว

ในที่สุดทุกคนก็ได้รู้ความจริง

มิตรภาพออนไลน์

ทันทีที่ป้าอี๊ดปรากฏตัวในงานมีตติ้ง บรรดาเกมเมอร์หลายคนก็ถึงกับอึ้งและทึ่ง

พวกเขาคิดไม่ถึงว่าคนที่พบปะผ่านการเล่นเกมออนไลน์มาด้วยกันเป็นปีๆ แท้จริงแล้วคือหญิงวัยใกล้เลขหกนำหน้า

“พวกเด็กๆ ก็อึ้ง ไม่คิดว่าคนวัยเราจะมาเล่นเกมเหมือนกับพวกเขา แต่ทุกคนก็ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดีนะ ให้เกียรติ พูดคุยอย่างสุภาพและเป็นกันเอง รวมทั้งชื่นชมเรา ไม่มีใครว่าหรือตั้งคำถามว่าแก่แล้วจะมาเล่นเกมทำไมอย่างที่เรากังวลในตอนแรก กลายเป็นว่าเราได้เพื่อนรุ่นลูกรุ่นหลานเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบคนเลย”

ไม่ใช่แค่พบกันวันมีตติ้งแล้วหายห่างต่างคนต่างไป หากแต่บรรดานักเล่นเกมรุ่นลูกรุ่นหลานยังติดต่อและแวะเวียนมาหาป้าอี๊ดที่จันทบุรีอยู่บ่อยๆ

“เราไม่ได้เจอกันแค่ที่งานแล้วหายจากกันไปเลย ทุกวันนี้พวกเรายังคบหากันอยู่ ส่วนใหญ่พวกเขาจะแวะมาหาเราที่บ้าน แล้วไม่ใช่แค่แวะมาหาเฉยๆ แต่มากินมานอนที่บ้านเลย โดยมากจะมากันเป็นกลุ่มเกือบ 10 คน เราก็ดูแล พาไปกินข้าว ไปเที่ยวทะเล เที่ยวน้ำตก

“จากเด็ก 14-15 ในวันนั้น พวกเขากลายเป็นผู้ใหญ่อายุเกือบ 30 กันแล้ว บางคนมีลูก มีครอบครัว ก็ยังพาครอบครัวมาเที่ยวที่บ้านเรา ซึ่งเราก็รู้สึกดีใจนะที่พวกเขายังให้ความสำคัญและคิดถึง มันกลายเป็นมิตรภาพและความผูกพันที่มากกว่าการเล่นเกมด้วยกันผ่านโลกออนไลน์ไปแล้ว”

ไม่น่าเชื่อว่าจากเกมออนไลน์ที่เล่นเพื่อปัดเป่าความเหงาเศร้าและสร้างความเพลิดเพลิน จะนำพาหญิงสูงวัยคนหนึ่งไปพบเจอกับความงดงามของชีวิตและมิตรภาพ

เป็นมิตรภาพของคนต่างวัยที่ไม่ได้อยู่ในเกมออนไลน์ แต่อยู่ในชีวิตจริง

เครื่องมือพ้นทุกข์

ใครหลายคนอาจรู้สึกว่าการเล่นเกมเป็นโทษมากกว่าที่จะมีประโยชน์ แต่นั่นไม่ใช่ความคิดของทราย ลูกสาวป้าอี๊ด

ขณะที่พ่อแม่หลายคนทั้งในยุคเก่าและปัจจุบันมองว่า ‘เกม’ คือเครื่องมือที่ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจและภาวะอารมณ์ของลูกๆ หญิงวัย 42 อย่างทรายกลับสนับสนุนให้แม่ของเธอเล่นเกมอย่างเต็มที่ เธอยอมลงทุนหาซื้ออุปกรณ์ จัดหาเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่างๆ ให้กับแม่ เรียกว่าป้าอี๊ดอยากได้อะไร ทรายยินดีหาให้ทั้งหมด

“เราสนับสนุนเขาทุกอย่างในเรื่องของการเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์ เครื่องมือในการเล่น หรือจะเป็นสิ่งที่อยู่ในเกมอย่างการหาอาวุธ หาไอเท็มต่างๆ ให้ ไปจนถึงเวลามีกิจกรรมกับบรรดาเกมเมอร์ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนเราก็พาไป เพราะเราอยากให้เขาผ่อนคลายแล้วก็มีกิจกรรมทำ เราไม่ได้บอกว่าผู้สูงวัยทุกคนต้องเล่นเกมนะ แต่เราในฐานะลูก ถ้าเขาชอบหรือมีความสุขอะไรก็ควรจะสนับสนุน

“ถามว่ากลัวไหมว่าถ้าแม่ติดเกมมากๆ เล่นจนไม่หลับไม่นอน แล้วจะเกิดผลเสียทางด้านสุขภาพร่างกาย รวมถึงเรื่องสายตาถ้าเล่นมากเกินไป หรือจะเป็นด้านสุขภาพจิตที่กลายเป็นความทุกข์ เป็นคนเจ้าอารมณ์ได้ ถ้าเกิดเล่นแล้วไม่ชนะ ตอบได้เลยว่าเราไม่กลัว คือเรามองว่าของทุกอย่างมันมีทั้งโทษและประโยชน์ของมันอยู่ ถ้าเราควบคุมมันให้พอดี มันก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้ามันมากเกินไปก็เป็นโทษ

“การเล่นเกมของแม่ก็เหมือนกัน เขาเล่นแบบมีลิมิตของเขา ไม่ได้เล่นจนไม่รู้จักพักผ่อน งานที่แม่ทำก็ไม่ได้ขาดตกบกพร่อง แต่มันกลับกลายเป็นว่าเมื่อมาเล่นเกม เขาได้หลุดจากอาการซึมเศร้า สุขภาพร่างกายที่เคยเป็นโรคนิ้วล็อก หาหมอมานานเท่าไหร่ก็ไม่หาย ก็หายเป็นปกติ แล้วเขายังได้สังคม ได้เพื่อนใหม่เพิ่มมาอีก กลายเป็นว่าชีวิตเขาเล่นเกมแล้วมีแต่ดีขึ้น

“พูดง่ายๆ ว่าแม่เล่นเกม แต่เกมไม่ได้เล่นแม่”

ในอดีตป้าอี๊ดเคยประสบปัญหาชีวิตทั้งเรื่องครอบครัวและเรื่องธุรกิจจนมีอาการซึมเศร้า กลับมาจากขายของก็เอาแต่เก็บตัวไม่พบปะพูดคุยกับใคร บางวันมีอาการเหม่อลอย และแทบไม่มีคืนใดที่ปิดเปลือกตาลงได้หากไม่พึ่งยานอนหลับ ด้วยเหตุนี้ เกมที่หญิงวัย 69 นั่งเล่นอยู่ทุกๆ วันจึงไม่ต่างอะไรจากเครื่องมือที่ทำให้ก้าวพ้นจากความทุกข์

“ทุกวันนี้แม่นอนได้เป็นปกติ หัวเราะกับเราและผู้คนได้ มีความสุขผ่อนคลายและไม่เครียด เราเป็นลูก เห็นแล้วก็สบายใจ เกมเหมือนเครื่องประคับประคองชีวิต เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตแม่สมดุล คือคนอื่นอาจจะมีวิธีหลุดพ้นจากปัญหาและทำให้ชีวิตดีขึ้นแตกต่างกันไป

“บางคนอาจดูหนัง ฟังเพลง ฟังเทศน์ ฟังธรรม อ่านหนังสือ หรือออกกำลังกาย

แต่สำหรับแม่เราคือการนั่งบนเก้าอี้สบายๆ แล้วเล่นเกม

การกลับมาอีกครั้งของเกมเมอร์รุ่นใหญ่

ปัจจุบันป้าอี๊ดเพิ่งได้กลับมาเล่นเกมอย่างจริงจังอีกครั้งในรอบ 5-6 ปี

ป้าอี๊ดยอมรับว่าช่วงเวลาที่หายไปรู้สึกคันไม้คันมือ และเหมือนว่ามีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต

“ตอนหลังลูกเขาเปิดร้านน้ำพริกข้าวสวย พอเป็นร้านของเราเองก็เลยต้องดูแลมากขึ้น เวลาเล่นเกมก็น้อยลง คือบางครั้งก็เล่นบ้างแต่ไม่ได้จริงจังเหมือนเมื่อก่อน ยอมรับนะว่าคิดถึงช่วงเวลาเก่าๆ เด็กๆ เองเขาก็คิดถึงเรา ถามว่าเมื่อไหร่จะกลับมา เราก็ตอบไปว่าขอเวลาให้ร้านอยู่ตัวสักพัก เดี๋ยวกลับมาแน่”

ป้าอี๊ดบอกว่าการเล่นเกมก็ไม่ต่างอะไรจากการเล่นกีฬา เมื่อนักกีฬาร้างสนามไปนาน ห่างหายจากการฝึกซ้อม ทักษะความสามารถที่มีย่อมลดลงไปด้วย หรือเรียกว่าเลเวลห่างชั้นกับเกมเมอร์ที่เล่นเป็นประจำ

“ช่วงแรกที่กลับมาเล่นยอมรับว่าความสามารถหดหายไปพอสมควร ต้องใช้เวลาปรับจูนอยู่นานเหมือนกันกว่าจะเข้าที่ อีกอย่างเกมที่เราเคยเล่นเขาก็พัฒนาขึ้น มีสิ่งใหม่ๆ มีเลเวลที่สูงขึ้น เราก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ทัน

“แต่ตอนนี้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว เรากลับมาเล่นจนกลับมาอยู่ในระดับสูงสุดอีกครั้ง”

เกมเมอร์รุ่นใหญ่วัย 69 ปียอมรับว่าในช่วงที่ห่างหายจากการเล่นเกมไปสุขภาพของตัวเองแย่ลง จนกระทั่งลูกสาวบอกให้กลับมาเล่นเกมอีกครั้ง ความสดชื่นสดใสในชีวิตจึงกลับคืนมา

ในความคิดของป้าอี๊ด เกมออนไลน์คือสิ่งที่เธอพิสูจน์ด้วยชีวิตแล้วว่าเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ และหากเป็นไปได้ก็อยากให้เพื่อนๆ สูงวัยได้ลองเล่นดูสักครั้ง เพียงแต่ขอให้เล่นอย่างสร้างสรรค์ อย่าเล่นอย่างหมกมุ่น ที่สำคัญ ขอให้เลือกเกมที่เหมาะสมกับวัย

เพราะถ้าเล่นเกมดีๆ แล้วชีวิตจะดีอย่างแน่นอน

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ