ทิ้งโอกาสเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อกลับมาอยู่กับอากง จุดเริ่มต้นของแบรนด์ “อากงอาม่า” ของหลานสาวเภสัชกร

จากเด็กสาวทายาทธุรกิจโรงงานผลิตยาสมุนไพรแผนโบราณที่เติบโตมากับอากงสู่การเป็นเจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากสมุนไพรเพื่อผู้สูงอายุรางวัลระดับประเทศ

มนุษย์ต่างวัยคุยกับ “ไมล์” เกศกมล จันทร์โภคาไพบูลย์ วัย 29 ปี เจ้าของแบรนด์ “อากงอาม่า” ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสำหรับผู้สูงอายุ ถึงจุดเริ่มต้นที่เธอบอกว่ามาจากความรักและความเข้าใจถึงปัญหาของผู้สูงอายุ

“อากง” จุดเริ่มต้นของแบรนด์อากงอาม่าและจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต

“เราโตมากับอากง อาม่า ตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่เราไปเรียนที่กรุงเทพฯ เราจะโทรหาอากง อาม่าก่อนเข้าเรียนแทบทุกเช้า พอเรียนปีสุดท้ายเรามีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น ตอนนั้นอาจารย์ชวนให้เราเรียนต่อที่โน่นเลย เราเลยโทรกลับมาปรึกษาอากง อากงก็เลยบอกว่า ‘ถ้าเรียนต่ออีก 3 ปี กลับมาอากงไม่อยู่แล้วแน่เลย’ เราเลยตัดสินใจตอนนั้นเลยว่ากลับบ้านมาดูแลอากงดีกว่า เรื่องเรียนไว้เรียนทีหลังก็ได้

“ตอนแรกที่ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านที่พัทลุง ตั้งใจว่าจะมาดูแลอากง ไม่ได้คิดเรื่องทำธุรกิจเลย เราดูแลอากงตลอด พาอากงไปเที่ยว ไปกินข้าว ไปดูโลกข้างนอก เพราะเมื่อก่อนตอนเราเรียนที่กรุงเทพฯ เราเคยเล่าให้อากงฟังว่าเราไปอ่านหนังสือที่ร้านกาแฟ อากงก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปอ่านหนังสือที่ร้านกาแฟ เพราะคนรุ่นอากงเวลาจะอ่านหนังสือ เขาจะไปห้องสมุด เราก็เลยเล่าให้อากงฟังว่าเด็ก ๆ เดี๋ยวนี้เขาไปไหน ทำอะไรกัน แล้วพาอากงไปดู

“พอเราทำไปเรื่อย ๆ เลยทำเพจชื่อว่า ‘Go with อากง’ ขึ้นเพื่อแชร์ทริกการใช้ชีวิตกับผู้สูงอายุให้คนอื่นได้รู้ว่าการดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องยาก แค่เราสังเกต เข้าใจ และคอยช่วยเหลือเขาในบางจุด เขาก็สามารถดูแลตัวเองได้ อย่างเราสังเกตว่าเวลาอากงกินข้าว ถ้าใช้ช้อนยาว เขาจะตักเข้าปากไม่ถนัด เราก็เปลี่ยนจากช้อนยาวมาใช้ช้อนสั้น อากงก็จะกินข้าวเองได้ง่ายขึ้น 

“วันหนึ่งเราสังเกตเห็นว่าอากงดูเพลีย ๆ เลยไปคุยกับเขา ก็เลยรู้ว่าเขานอนไม่ค่อยหลับเพราะเขาคันและตื่นกลางดึกตลอด เราเลยไปหาครีมมาให้เขาใช้ ตอนแรกเขาทาไปก็หายคัน แต่รู้สึกเหนียว เหนอะหนะ ไม่สบายตัว เขาเลยไม่ใช้ต่อ พอไม่ใช้ อาการคันก็กลับมา ด้วยความที่เราเรียนเภสัชฯ มาบวกกับที่บ้านก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับยาสมุนไพรอยู่แล้ว เราเลยไปปรึกษาพ่อว่ามีสมุนไพรตัวไหนที่ช่วยเรื่องอาการคันบ้าง แล้วก็ลองเอามาทำครีมให้อากงใช้ พออากงใช้ก็หายคัน ผิวไม่แตกเป็นขุย นอนหลับได้สนิทขึ้น”

พัฒนาผลิตภัณฑ์จากความเข้าใจในปัญหาของผู้สูงอายุ

“ตอนนั้นทำเองทุกอย่าง ออกแบบแพคเกจจิ้งเอง วาดเป็นหน้าอากง แล้วตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘อากง’ เพราะเราตั้งใจทำทุกอย่างมาให้อากงใช้ ปรากฏว่ามันขายได้ เลยรู้สึกสนุก ทั้งสนุกกับการดูแลอากงและสนุกกับการทำผลิตภัณฑ์ เราเลยไปศึกษาถึงปัญหาผิวของผู้สูงอายุให้ลึกขึ้น ทำให้พบเพนพอยท์ 2 ข้อ คือเมื่ออายุมากขึ้น ผิวจะบางลง ผลิตไขมันได้น้อยลง ทำให้ผิวแห้ง และอีกข้อคือสบู่ทั่วไปในท้องตลาดมีความเป็นด่างสูง ทำให้ยิ่งสูญเสียไขมันที่เป็นเกราะป้องกันผิวชั้นนอก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผิวแห้งและคันมากขึ้นในผู้สูงอายุ เราเลยใช้สมุนไพรเข้ามาช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมักจะมีอาการหลงลืม จำไม่ค่อยได้ เวลาอาบน้ำ สระผม จะจำไม่ได้ว่าขวดไหนครีมอาบน้ำ ขวดไหนเป็นแชมพู เราเลยทำผลิตภัณฑ์ของเราให้เป็นแบบทรีอินวัน คือ อาบน้ำ ล้างหน้า และสระผมจบในขวดเดียว

“วันหนึ่งเราไปเจอโครงการไอเดียแล็บของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เราเลยไปเข้าร่วม เขาก็ให้คำแนะนำเรื่องการทำแบรนด์แล้วทักว่า ถ้าเราตั้งชื่อแบรนด์ว่าอากงเฉย ๆ คนอาจจะคิดว่าผลิตภัณฑ์ของเราใช้ได้เฉพาะผู้ชาย เราเลยเปลี่ยนมาใช้ชื่อแบรนด์ว่า ‘อากงอาม่า’ แล้วปรับรูปแบบแพคเกจจิ้งให้มีสีสันสดใส ปรับสูตรให้ใช้ง่าย มีกลิ่นหอมมากขึ้น ต่อมาเราส่งแบรนด์เข้าประกวดโครงการนิลมังกรของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ออกรายการโทรทัศน์และได้รางวัลที่ 2 ของประเทศ ทำให้มีคนรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น

“ผลิตภัณฑ์ของเรามีสารสกัดจากสมุนไพรและธรรมชาติกว่า 15 ชนิด มีส่วนผสมพิเศษ คือ น้ำมันรำข้าวซึ่งได้จากข้าวสังข์หยดซึ่งเป็นข้าวที่มีเฉพาะที่ จ.พัทลุง อุดมไปด้วยเซราไมด์ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกันกับไขมันที่อยู่ในผิวหนังของผู้สูงอายุ ช่วยกักเก็บน้ำในผิว ลดอาการอักเสบ เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ลดอาการคัน ช่วยให้ผิวหนังแข็งแรง และไม่มีสารก่อความระคายเคือง เหมาะกับสภาพผิวผู้สูงอายุที่มีความบอบบาง”

วัยห่างกัน แต่ความสัมพันธ์กลับใกล้ เพราะคุยกันได้แทบทุกเรื่อง 

“เรากับอากงอายุห่างกัน 70 ปี เหมือนโตมาจากคนละโลก เราเชื่อมกับอากงได้ด้วยการคุยเรื่องที่สนใจเหมือนกัน เช่น การทำธุรกิจ เรื่องกิน เรื่องเที่ยว ส่วนเรื่องไหนที่เราคิดไม่เหมือนกัน เราจะคุยกันว่าทำไมอากงคิดแบบนี้ ทำไมเราคิดแบบนี้ เพราะเราอยากคุยกัน อยากใช้ชีวิตด้วยกันได้

“ตอนรุ่นพ่อ รุ่นอา เขามักจะเงียบและฟังผู้ใหญ่ เขาจะไม่ค่อยคุยกัน อากงพูดอะไร เขาจะฟังทั้งหมด แต่เราคิดว่าการทำแบบนี้ บางทีปัญหามันไม่ได้ถูกแก้ เพราะเราไม่ได้สื่อสารในสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายต้องการออกไป เราไม่กลัวการทะเลาะ เพราะทุกครั้งที่ทะเลาะกัน เรารู้ว่าเราทะเลาะกันด้วยความรัก เราทะเลาะกันเพราะอยากเข้าใจกันมากขึ้น การทะเลาะกันไม่ได้น่ากลัว แค่เราต้องคุยกันให้เข้าใจก่อนว่าเราไม่ได้ทะเลาะกันเพื่อที่จะแตกหัก หรือหาว่าใครผิด ใครถูก เพราะสุดท้ายเราก็คือครอบครัวเดียวกัน

“เราบอกพ่อกับอากงตลอดว่ามีอะไรสอนเราได้เลยนะ เรายินดีรับฟัง แต่อย่าโกรธ ถ้าเราไม่ได้ทำตามทุกอย่าง เราจะเก็บไปคิดต่อว่าเราจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ทำตามหรือไม่ทำตาม แต่เรายินดีที่จะรับฟังเสมอ

“เวลาที่ความเห็นไม่ตรงกันก็เป็นธรรมดาที่อากงจะโกรธบ้าง น้อยใจบ้าง เราแค่ต้องใช้เวลา บางทีเราก็ง้ออากง ชวนคุย พาเขาไปกินข้าว เราคิดตลอดว่าอากงอายุขนาดนี้แล้ว วัยของเขาสมควรที่จะถูกตามใจได้แล้ว เราก็จะเป็นคนยอมปรับมากกว่าที่จะให้อากงปรับ ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่กับเราได้อีกนานเท่าไร อะไรที่เรายอมได้ เราก็ยอม

“เมื่อก่อนเวลาที่บ้านพาอากงไปกินข้าวข้างนอก แล้วเจอร้านที่ไม่อร่อย อากงจะโกรธ เราเลยบอกอากงว่าถ้าอากงเป็นแบบนี้ คราวหน้าจะไม่มีใครกล้าพาอากงไปลองร้านใหม่ ๆ อากงก็จะได้กินแต่อาหารร้านเดิม ๆ แต่ถ้าอากงไปลองร้านใหม่ แล้วไม่อร่อย เราก็แค่ไม่ต้องกลับมากินอีก แต่ถ้ากินแล้วอร่อย เราก็จะได้ร้านอร่อยเพิ่ม อากงก็บอก ‘เออ ก็จริง’ หลังจากนั้นเขาก็ไปลองร้านใหม่ ๆ กับครอบครัวตลอด”

อากงจากไป แต่คำสอนของอากงยังอยู่

“พ่อกับอากงมักจะสอนเสมอว่า ถ้าเราจะทำธุรกิจก็ทำให้เต็มที่ ทำให้ดี ไม่ต้องประหยัด ถ้าเราผิดหวัง ก็แค่เรียนรู้ที่จะอยู่กับความผิดหวัง แต่อย่าลดเป้าหมายของตัวเองลง แล้วพอถึงวันที่เราผิดหวังหรือไม่ประสบความสำเร็จ เขาก็ยังอยู่ที่เดิม ยังคอยซัปพอร์ตเราเสมอ ทำให้เรารู้ว่าเราผิดพลาดได้ และการทำพลาดก็ไม่ได้ทำให้เขารักเราน้อยลง 

“คำสอนที่เป็นหัวใจหลักในการใช้ชีวิตที่อากงคอยบอกเราเสมอคือความกตัญญู คำว่า ‘กตัญญู’ สำหรับเรา คือใครดีกับเรา เราก็ดีตอบ อย่างลูกค้า เราซื่อสัตย์กับเขาเพราะเขาทำให้เราอยู่ได้ พนักงานทำให้ธุรกิจเราไปต่อได้ เราก็ต้องดีกับเขา หรือที่ครอบครัวเรามีทุกวันนี้ได้ก็เพราะอากงทำทุกอย่างไว้ดีแล้ว เราก็อยากดูแลอากงให้ดีที่สุด      

“คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยอินกับคำว่ากตัญญูเท่าไร แต่สำหรับเรามันคือความซาบซึ้ง ขอบคุณในสิ่งที่คนอื่นไม่จำเป็นต้องทำให้เราก็ได้ แต่เขาก็เลือกที่จะทำให้

“เราเห็นมาตลอดว่าพ่อดูแลอากง เราเลยซึมซับจากการกระทำของพ่อแม่ และอยากดูแลอากงอาม่า ดูแลครอบครัวของเราให้เต็มที่ กับพี่น้องก็เหมือนกัน พ่อแม่มักจะเป็นห่วง เพราะเขาอยู่ไกล เราก็จะบอกพ่อกับแม่ว่าไม่ต้องเป็นห่วงนะ เราจะดูแลพี่เอง” 

ชีวิตมันสั้น อะไรทำได้ ทำเลยไม่ต้องรอ

“พออากงเสีย เรารู้สึกว่าชีวิตมันสั้น ไม่รู้ว่าเราจะได้อยู่ด้วยกันไปได้อีกนานแค่ไหน อะไรทำได้ก็ทำเลย ไม่ต้องรอ อะไรที่เล็กน้อย ก็ยอม ก็ปล่อยไป ไม่เก็บมาทะเลาะกัน เมื่อก่อนเราจะคิดว่าทำยังไงจะเปลี่ยนคนอื่นได้ ทำยังไงจะเปลี่ยนพ่อแม่ได้ แต่พอวันหนึ่งเราเริ่มที่เปลี่ยนก่อน หรือเราเปลี่ยนไป คนรอบข้างก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน พอเราเบาลง เขาก็เบาลง พอเราฟังเขามากขึ้น เขาก็ฟังเรามากขึ้น ความสัมพันธ์ในบ้านก็ดีขึ้น บางครั้งเรารู้สึกว่าจริง ๆ แล้วการที่เขาไม่ฟังเรา เพราะเขาก็ไม่ได้เติบโตมาจากการที่มีคนฟังเขาเหมือนกัน เราก็ต้องทำให้เขาเห็นว่า เราฟังกันได้ ทำแบบนี้ได้นะ 

ทุกวันนี้มองย้อนกลับไปไมล์ดีใจเสมอที่ตัดสินใจกลับบ้าน ทำให้เธอได้ใช้เวลาดูแลอากงอย่างดีที่สุด

“เวลาที่เราต้องตัดสินใจเลือกอะไรบางอย่าง เราจะเลือกในสิ่งที่เราจะไม่เสียดายทีหลัง เพราะเราไม่กลัวการเสียใจ ถ้าเราเสียใจ เราจัดการกับมันได้ แต่ความเสียดาย มันจะเสียดายไปเรื่อย ๆ บางครั้งมันอาจจะอยู่กับเราไปทั้งชีวิต

“ครอบครัวคือหน่วยที่เล็กที่สุดแต่สำคัญที่สุด พอเราโตขึ้น เจอโลกกว้าง เจอคนเยอะขึ้น เจอเรื่องที่ดีบ้าง ร้ายบ้าง แต่พอเราผ่านมาได้ เรารู้เลยว่าไม่ว่าโลกข้างนอกจะเป็นยังไง ครอบครัวจะเป็นจุดที่เรากลับมาตรงนี้ได้เสมอ เราไม่เคยรู้สึกว่ามีอะไรยาก ถ้าเรามีครอบครัว เหมือนเรารู้สึกว่าแข็งแรงมากพอ เวลาผิดหวัง อาจจะเสียใจบ้าง แต่ไม่เคยรู้สึกแตกสลาย เพราะเรารู้ว่ามีคนที่รักเราอยู่เสมอ

“ความภูมิใจที่สุดคือการได้เกิดในครอบครัวนี้ ได้เกิดเป็นหลานของอากง และได้ดูแลอากงอย่างดีที่สุด ถึงแม้ว่าตอนนี้อากงจะไม่อยู่แล้ว แต่สำหรับเราแบรนด์อากงอาม่าเป็นเหมือนตัวแทนความรักของอากง ที่ยังอยู่กับเราเสมอ ทุกวันนี้เราก็ยังคิดถึงอากงอยู่ตลอด เพราะอากงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจเรา”

ขอบคุณภาพจาก AgongAma อากงอาม่า ผลิตภัณฑ์เพื่อผิวแห้ง คัน ลอก

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ