‘โฮมสเตย์ลุงสนั่น’ เรื่องราวของชายผู้หลงรักอดีต ไม่หวั่นไหวต่อปัจจุบันและอนาคต

มีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการเป็นพิพิธภัณฑ์กับโฮมสเตย์ เพราะที่ โฮมสเตย์ลุงสนั่น บ้านปากประ จ.พัทลุง เป็นที่ เก็บสะสมเครื่องใช้ในครัวเรือน และข้าวของโบราณไว้กว่า 400 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นไห จาน ชาม ช้อน กระเบื้อง เตารีด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือทางการเกษตร ราวกับว่า ลุงสนั่น เลื่อนแป้น เป็นภัณฑารักษ์เก็บรักษาเรื่องราวในอดีตเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่ชายวัย 77 ปี ผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ยืนยันว่า นี่คือโฮมสเตย์

คำพูดเปลี่ยนชีวิต

มีคำพูดอยู่ 2 ประโยค ที่มีผลต่อชีวิตของลุงสนั่น

สืบเนื่องจาก ลุงสนั่น เริ่มต้นชีวิตข้าราชการตำรวจเมื่อปี 2507 ดาบตำรวจหนุ่มเป็นตำรวจตระเวนชายแดนอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ราวปี 2516 เขามีโอกาสครั้งสำคัญของชีวิตในการติดตาม ในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ พระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์

“ตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรง มาประทับที่ภาคใต้ ท่านได้ตรัสกับชาวบ้านว่า ‘ของใช้ของบรรพบุรุษให้เก็บรักษาไว้ ถ้าไม่เก็บรักษา ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษก็จะสูญหายไป’ เราก็น้อมรับความคิดเข้ามาใส่เกล้าใส่กระหม่อม” ลุงสนั่นเล่าความหลัง

ใครจะไปคิดว่าประโยคทรงคุณค่านี้ได้เข้ามาตราตรึงอยู่ในความคิดของดาบตำรวจหนุ่มก่อนที่อีก 12 ปีต่อมา เขาตัดสินใจเกษียณจากการเป็นข้าราชการตำรวจ กลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านเกิด และเริ่มเก็บสะสมสิ่งของโบราณจากคนรุ่นก่อนที่ในตอนนั้นผู้คนต่างมองไม่เห็นคุณค่า

“ข้าวของเครื่องใช้โบราณในพัทลุงมีเยอะมาก เครื่องไม้เครื่องมือการเกษตร เครื่องครัว เครื่องปั้นดินเผา สิ่งของจากคนรุ่นก่อน ลุงก็เก็บไว้ เพราะถ้าไม่เก็บไว้ คนรุ่นลูกรุ่นหลานก็จะไม่มีโอกาสได้เห็นเลย”

ลุงสนั่นเริ่มเก็บสิ่งของโบราณที่คนอื่นมองไม่เห็นคุณค่า ในสายตาคนเหล่านั้นคิดว่าลุงสนั่นกำลังเก็บสะสมขยะโบราณ แต่สำหรับเจ้าตัว เขาย่อมรู้ว่ากำลังเก็บรักษาภูมิปัญญาจากอดีต

นอกจากรับราชการตำรวจ ลุงสนั่นยังรักประวัติศาสตร์ เขามีโอกาสไปบรรยายเรื่องราวของเมืองพัทลุงตามวาระโอกาสต่างๆ จนวันหนึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ได้ส่งนักวิจัยลงพื้นที่พัทลุงมาพบกับลุงสนั่น เพื่อจัดการความรู้ในท้องถิ่น นักวิจัยท่านนั้นเห็นคุณค่าในสิ่งที่ลุงสนั่นกำลังทำ จึงแนะนำให้เขาทำโฮมสเตย์

ปัญหามีอยู่ว่า ใน พ.ศ. นั้น ลุงสนั่นยังไม่รู้จักว่าอะไรคือ โฮมสเตย์

“ลุงก็ถามท่านว่า โฮมสเตย์คืออะไร ท่านก็อธิบายว่า เป็นที่พักอาศัยให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน เพราะตอนนั้นคำว่าโฮมสเตย์ ยังเป็นคำที่ใหม่มาก ชาวบ้านไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร สมัยนั้นก็มีฝรั่งเข้ามาท่องเที่ยวตามเมืองท่องเที่ยวอยู่บ้าง ก็จะไปพักโฮมสเตย์ ฝรั่งที่มาแบบเสื้อตัวกางเกงตัวก็มาอยู่

โฮมสเตย์”

โฮมสเตย์ในความรับรู้ของลุงสนั่นก็คือ การอยู่ง่ายกินง่าย ใช้ชีวิตท่องเที่ยวและเรียนรู้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนั้น

ลุงสนั่นเก็บของโบราณไว้ตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตลอด เพราะต้องการเก็บรักษาภูมิปัญญาของอดีต แต่โจทย์ใหม่ที่ได้รับจากนักวิจัยจาก สกว. ก็ท้าทายและเป็นโอกาสให้อดีตได้ทอดตัวสู่อนาคต แต่จะทำอย่างไรล่ะ

ยังมีอีกหนึ่งพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ลุงสนั่นจดจำไว้ในใจ นั่นคือ : ‘สิ่งใดที่ท่านทำได้ขอให้ตั้งใจด้วยความพยายาม

ประโยคแรกทำให้ลุงสนั่นเก็บรักษาสิ่งเก่า แต่ประโยคหลังทำให้เขาลงมือริเริ่มสร้างสิ่งใหม่

“ลุงเก็บเอาคำพูดของพระองค์ท่านประทับในจิตใจตลอดเวลา พระองค์ท่านพูดกับชาวบ้านนะ ไม่ได้พูดกับตำรวจที่ติดตามมาคอยอารักขาท่าน แต่เราได้ยินคำพูด แล้วก็นำมาปฏิบัติตาม วันที่ลาออกคือวันที่ 28 กรกฎาคม 2528”

ที่ดินผืนนี้เคยเป็นป่าพรุ ไม่มีถนน ไม่มีสะพานข้ามน้ำ

“ตรงนี้เมื่อก่อนเป็นที่อยู่ของช้างป่า ช้างป่าอยู่แถวนี้ เราลำบากมาก ต้องใช้เรือ” ลุงสนั่นเล่าอุปสรรคเมื่อปี 2528 แต่อุปสรรคเป็นสิ่งที่เขาต้องการก้าวข้าม

โฮมสเตย์ลุงสนั่นจึงเริ่มก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

โฮมสเตย์ที่มีจุดขายคืออดีต

โฮมสเตย์แห่งนี้มีอายุกว่า 35 ปีแล้ว ที่นี่ปฏิบัติกับทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นคุณหญิงคุณนายมาจากไหน เมื่อมาอยู่ที่นี่ ทุกคนเท่ากัน เท่ากันในความหมายว่า รูปแบบการมาพักอาศัยที่นี่ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนที่นี่ นั่นก็คือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและกินตามฤดูกาล

“กินอยู่อย่างเรียบง่าย ถ้าคนไม่เข้าใจก็ไม่มา เราประกาศแจ้งไว้ล่วงหน้า ที่นอนกางมุ้งมีพัดลม สิ่งของเครื่องใช้อาบน้ำจัดหาเอง น้ำคนละขวด เราแจ้งบอกให้แขกรู้ก่อน ให้เขาเลือกเอาเองว่าจะมาอยู่แบบนี้ไหม เราบอกล่วงหน้า แล้วเขาจะยอมรับหรือไม่ ให้เขาตัดสินใจ”

โฮมสเตย์ลุงสนั่นรับนักท่องเที่ยวเป็นแพ็กเกจ กล่าวคือที่พักรวมอาหาร และกิจกรรมล่องเรือ โดยมีลุงสนั่นเป็นไกด์นำเที่ยว บรรยายความเป็นมาและเป็นไปของพัทลุง อาหารก็เป็นอาหารตามฤดูกาล

“เมนูอาหารของเราไม่ตายตัว จะผันแปรไปตามฤดูกาล อาหารปักษ์ใต้เมนูเยอะและหลากหลาย เราหาวัตถุดิบจากทะเล แม่น้ำ ป่า ที่มีตามฤดูกาล”

ลุงสนั่นบอกว่า ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม เป็นช่วงเวลาที่พัทลุงจะงดงามและน่าท่องเที่ยว “เพราะลมตะวันตกพัดออกจากฝั่ง ทำให้ทะเลเรียบ ตั้งแต่กันยายน-ตุลาคม เป็นลมตะวันออกพัดจากทะเลเข้าหาฝั่งทำให้มีคลื่นลม ในช่วงที่ทะเลเรียบ ลุงจะพานักท่องเที่ยวไปตามแผนที่ท่องเที่ยวที่ลุงคิดไว้”

‘เที่ยว 2 เล 4 คลอง 2 ป่าพรุ’ คือแผนที่ท่องเที่ยวของลุงสนั่น โดย 2 เล ได้แก่ ทะเลสาบพัทลุงกับทะเลน้อย ส่วน 4 คลอง ได้แก่ คลองปากประ คลองบ้านกลาง คลองนางเรียม คลองยวน และ 2 ป่าพรุ ได้แก่ ป่าพรุควนขี้เสียน และป่าพรุควนเคร็ง

นี่คืออนาคตการท่องเที่ยวของพัทลุง ซึ่งร่างมาจากคนที่ต้องการเก็บรักษาอดีตอย่างลุงสนั่น แม้อดีตทอดยาวไปสู่อนาคต แต่หลายครั้งอนาคตก็กลับไปทบทวนอดีต

ผู้คนจำนวนมากมักสร้างปัจจุบันเพื่ออนาคต แต่ลุงสนั่นทำในสิ่งตรงข้าม กล่าวคือเขาพยายามสร้างปัจจุบันเพื่อกลับไปหาอดีต โดยที่ลุงสนั่นไม่ได้รณรงค์เรียกร้องให้ผู้คนหันกลับไปใช้ชีวิตอย่างเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ลุงสนั่นกำลังทำให้เห็นสายสัมพันธ์ระหว่างอดีต อนาคต และปัจจุบัน ผ่านโฮมสเตย์หลังนี้

“ลุงกำลังสร้างปัจจุบันไปสู่อดีต แต่คนรุ่นใหม่สร้างปัจจุบันไปสู่อนาคต ถ้าเขามาบ้านหลังนี้ เขาจะได้กลับไปหาปู่ย่าตายายผ่านการออกแบบบ้าน ผ่านสิ่งของโบราณที่ลุงเก็บรักษาไว้ บ้านมุงด้วยจาก ไม้กระดานปูพื้น พอมาก็จะเชื่อมต่อกับอดีต” ลุงสนั่นเล่าถึง ‘อดีต’’ และ ‘ประสบการณ์’ ที่มีทั้ง ‘คุณค่า’ และ ‘มูลค่า’

อย่างเรากล่าวในตอนต้นว่ามีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการเป็นพิพิธภัณฑ์กับโฮมสเตย์ ถ้าพิพิธภัณฑ์คือบ้านของอดีต โฮมสเตย์ก็คือที่อยู่ของปัจจุบัน เพื่อใช้พักผ่อนและเก็บเกี่ยวเรี่ยวแรง สำหรับการเดินทางไปสู่อนาคตในเช้าวันรุ่งขึ้น

Credits

Author

  • วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

    Authorนักเขียนและผู้ผลิตสารคดีอิสระ หลงใหลความสัมพันธ์ระหว่างเวลา ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ สนใจความแตกต่างของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ