ลีลาลีลาศ Intro to ลีลาศ สำหรับคนอยากเต้น

มีใครไหม? ตอนทำงานยุ่งทุกวันจนไม่มีเวลาจะทำอะไร แต่พอเกษียณจากงานแล้ว ก็ว่างจนไม่รู้จะทำอะไรอีกเหมือนกัน!

วันนี้มนุษย์ต่างวัยขอนำเสนออินโทรสั้นๆ สู่การเต้น ‘ลีลาศ’ หนึ่งในการออกกำลังกายและกิจกรรมยามว่างที่ฮ็อตฮิตที่สุดของผู้สูงวัย

โดยพาไปพูดคุยกับพงษ์ศักดิ์ เพ็ชรช่อจินดา ครูสอนลีลาศผู้มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี และป้าแดง-พัชรินทร์   จิรวณิชเจริญ นักเรียนของครูพงษ์ศักดิ์ที่เต้นลีลาศมาแล้วกว่า 8 ปี

อยากเรียนลีลาศจะไปเรียนที่ไหน? ต้องเตรียมตัวยังไงหรือเปล่า? มาเริ่มเรียนลีลาศตอนนี้ จะไหวจริงๆ หรือ? ไม่มีคู่เต้นจะทำยังไง!? เรารวมคำตอบสำหรับคำถามที่ทุกคนอาจมีมาไว้แล้วที่นี่!

 เรียนลีลาศ ต้องหัด ‘เดิน’ ก่อนหัด ‘เต้น’

หลายคนอาจจะเคยผ่านการเรียนลีลาศมาแล้วในสมัยมัธยมหรือมหาวิทยาลัย แต่ถ้าเราร้างลาจากรั้วการศึกษามานานแล้ว เราจะยังเรียนลีลาศจากที่ไหนได้อีก?

“ศูนย์เยาวชน”

คือที่แรกที่ครูพงษ์ศักดิ์และป้าแดงแนะนำเรา

“ก็จะบอกว่าต้องผ่านศูนย์ก่อนเนอะ เพราะต้องหัดเดินก่อน ถ้าอยู่ๆ มาให้คู่จับแบบนี้มันก็ไม่ได้ มันจะยาก มันต้องเข้าขากัน”

‘ศูนย์เยาวชน’ หรือส่วนนันทนาการ ภายใต้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร มีการจัดคลาสเรียนลีลาศและกิจกรรมประเภทอื่นๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอในศูนย์กว่า 35 แห่งทั่วกรุงเทพ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถลงเรียนได้ในราคาเพียง 40-60 บาท (ค่าสมาชิกรายปีของศูนย์เยาวชน)

การเรียนที่ศูนย์เยาวชนของกรุงเทพมหานครจะเป็นห้องเรียนแบบกลุ่ม และจะเริ่มสอนนักเรียนตั้งแต่การ ‘หัดเดิน’ เลยทีเดียว

ที่ต้องเริ่มตั้งแต่การหัดเดินเพราะจังหวะเป็นเรื่องสำคัญของลีลาศ หากไม่สามารถเดินตามจังหวะได้ การจะเต้นให้เข้ากับคู่ก็คงยาก การเรียนลีลาศจึงต้องเริ่มจากการ ‘เดิน’ นั่นเอง

“เดินก่อนจนมีกำลังใจ อ๊ะ ฉันเดินได้แล้วนี่นา เดี๋ยวครูเขาก็จะดูแล้วว่าคนนี้พอได้ เขาก็จับคู่” ป้าแดงเล่าประสบการณ์ของเธอให้ฟัง

หลังนักเรียนสามารถเดินตามจังหวะและจับคู่ได้แล้ว ก็ไม่ต้องกลัวว่าเราจะได้โชว์ลวดลายแค่ในห้องเรียน เพราะเมื่อคุณครูเห็นนักเรียนเริ่มเต้นเป็นแล้ว คุณครูก็จะพานักเรียน ‘ลงสนามจริง’ ผ่านฟลอร์ลีลาศต่างๆ

หรือหากใครไม่สะดวกเรียนแบบกลุ่ม หรือไม่สะดวกไปศูนย์เยาวชนของกทม. ก็ยังมีโรงเรียนสอนลีลาศเอกชน และครูลีลาศที่รับสอนส่วนตัวอย่างครูพงษ์ศักดิ์อีกมากมาย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในกรณีที่เป็นครูส่วนตัวอย่างครูพงษ์ศักดิ์ ค่าใช้จ่ายก็อาจจะแพงกว่าการเรียนกับศูนย์เยาวชนของกทม. โดยค่าตัวคุณครู 1 คอร์ส อาจจะเริ่มต้นที่ราวๆ 1000-1500 บาทต่อเดือน และอาจมีค่าเช่าสถานที่ด้วย

 ‘รองเท้า’ สิ่งสำคัญของนักเต้น

จะไปเต้นลีลาศ… ต้องใส่สูทผูกไท สวมชุดราตรี เกล้าผมตึงเปรี๊ยะเลยหรือเปล่าเนี่ย…?

หลายคนนึกภาพการเต้นลีลาศ แล้วอาจจะคิดถึงการใส่ชุดราตรีกรุยกรายหรือทักซิโด้แสนโก้ แต่ความจริงแล้ว การเต้นลีลาศในทุกวันนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่จริงจัง มากพิธีขนาดนั้น สำหรับเสื้อผ้า ครูพงษ์ศักดิ์บอกเราว่า “เอาแค่คล่องตัว แล้วก็ซับเหงื่อได้ดี หรือระบายเหงื่อได้ดี” ก็พอ

แต่สิ่งที่สำคัญที่ละเลยไปไม่ได้คือ “รองเท้า”

“ถ้าเราใช้รองเท้าผิดประเภทมันก็จะทำให้เท้าเป็นแผล ทำให้เท้าเจ็บ เดินไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมาย ไม่ใช่การออกกำลังกายด้วยการลีลาศ” ครูพงษ์ศักดิ์บอกกับพวกเรา

หลายคนอาจจะคิดว่า แค่ใส่รองเท้าที่กระชับ ไม่หลุดง่าย เท่านั้นก็น่าจะพอแล้วหรือเปล่านะ?

แต่ความจริง การเต้นลีลาศยังมีรายละเอียดมากกว่านั้น

ประการหนึ่ง การเต้นลีลาศไม่ได้อาศัยแค่การเดิน การก้าวเท้าไปกับพื้น แต่ยังมีการเขย่ง การหมุน หรือการ ‘สไลด์’ ซึ่งหากเป็นรองเท้าธรรมดา ไม่ใช่รองเท้าเต้นลีลาศโดยเฉพาะ พื้นรองเท้าอาจจะติด ทำให้สะดุดได้นั่นเองค่ะ

ประการที่สอง ลีลาศไม่ได้มีแค่จังหวะเดียว แต่ประกอบด้วยจังหวะกว่า 20 จังหวะ บางจังหวะช้า บางจังหวะเร็ว หากใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับจังหวะ ก็อาจทำให้บาดเจ็บได้

อย่างป้าแดงเอง ก็เป็นผู้ที่มีประสบการณ์บาดเจ็บจากการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมโดยตรง

“จังหวะบอลรูมก็ต้องใส่รองเท้าอีกชุดนึง ถ้าละตินก็มีอีกชุดนึง ต้องมี 2 ชุด ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยน ตอนนี้ป้าเข้าใจว่าต้องเปลี่ยนเพราะมันเจ็บเท้า เพราะจังหวะบอลรูมไปใส่รองเท้าละตินเนี่ย มันจะบีบเท้า”

ฉะนั้น ถ้าใครที่คิดจะเต้นลีลาศอย่างจริงจัง เต้นลีลาศเป็นการออกกำลังกายในระยะยาว การมีรองเท้าที่เหมาะสมไว้จะดีที่สุด

 ฟลอร์ลีลาศ พื้นที่วาดลีลาเพื่อการสังสรรค์ทางสังคม

อีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนน่าจะสงสัยเกี่ยวกับการเต้นลีลาศ

เรียนเสร็จแล้วไปไหน?

เดี๋ยวนี้ยังมีคนออกไปเต้นรำเพื่อเข้าสังคมอีกหรือ? เราบอกได้เลยว่ามีค่ะ และสถานที่ที่คอลีลาศไปวาดลวดลายกันก็อย่างเช่น:

●      ร้านยกยอ คลองสาน – ร้านนี้ขาประจำแนะนำ เนื่องจากมีช่วงเวลาสำหรับการเต้นลีลาศโดยเฉพาะ โดยร้านจะเปิดฟลอร์ตั้งแต่เวลาหนึ่งทุ่มเป็นต้นไป และจะเลือกสรรดนตรีมาครบทุกจังหวะลีลาศให้ทุกคนได้วาดลวดลายกันจนอิ่มเลยทีเดียว

●      ร้านสวัสดิการกองทัพเรือ เดอ วารี – ร้านนี้เป็นฟลอร์ลีลาศกึ่งคาราโอเกะ เมื่อมีใครขึ้นไปร้องเพลงที่เต้นลีลาศได้ ทุกคนก็จะลุกออกมาวาดลวดลายกัน ร้านนี้เปิดทั้งวัน แต่ถ้าอยากเต้นลีลาศก็แนะนำมาช่วงหัวค่ำจะเริ่มคึกคักพอดีค่ะ

●      ครัวพฤกษา by คุณแจ๋ว กัลปพฤกษ์ – อีกร้านที่มีทั้งห้องคาราโอเกะและฟลอร์ลีลาศ แถมยังเปิดฟลอร์ตั้งแต่เที่ยงวัน สนุกได้ตั้งแต่ยังไม่ค่ำเลยทีเดียว

●      ร้านเดอะ กรีท (The Greet) รามอินทรา – ฟลอร์ลีลาศย่านรามอินทราที่ได้ยินคนพูดถึงกันมาไม่น้อย ชาวกรุงเทพเขตเหนือใครสนใจก็ไปรื่นเริงกันได้

ร้านอาหารเหล่านี้ เป็นตัวอย่างร้านอาหารที่มี ‘ฟลอร์ลีลาศ’ ให้เราได้ไปวาดลวดลายโดยเฉพาะ ซึ่งการเต้นบนฟลอร์ลีลาศที่เป็นกิจจะลักษณะก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเราหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บได้ (นึกภาพถ้าเป็นพื้นปูน หรือพื้นหินก็น่าจะเจ็บจริงมั้ยคะ ฮา)

ฉะนั้น สำหรับใครที่กลัวว่า เรียนจนเต้นได้แล้วแต่ไม่รู้จะไปเต้นที่ไหน หมดห่วงได้เลยค่ะ

 เต้นลีลาศได้ไหม ถ้าไร้คู่

อีกหนึ่งคำถามเงินล้าน ที่ต่อให้ไม่ใช่คนเต้นลีลาศก็อาจเคยถามตัวเองอยู่เหมือนกัน (ฮา) ถ้าไม่มีคู่ ทำยังไงดี?

หลายคนทีเดียวที่น่าจะลังเลกับการเต้นลีลาศ เพราะไม่รู้จะไปหาคู่จากไหน หรือไม่มีใครเป็นเพื่อน แต่เราอยากบอกว่าขออย่ากังวลไป เพราะหากทุกท่านลงเรียนในคลาสแบบกลุ่มอย่างที่จัดโดยศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ทุกท่านก็จะมีโอกาสพบปะเพื่อนๆ ที่สนใจการเต้นลีลาศได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ เมื่อคุณครูเห็นว่าเราเริ่มเต้นเป็นแล้ว คุณครูก็จะพาเราไปลองสนามจริงตามฟลอร์ลีลาศต่างๆ เอง ไม่ต้องกลัวว่าไปเรียนแล้วจะเหงา ไม่มีโอกาสได้ออกไปเต้นจริงแต่อย่างใด

แล้วหากใครได้ไปลองสนามจริงแล้ว ได้เจอคนไหนเต้นถูกใจ เต้นสวย อยากจะเต้นด้วยบ้าง ก็ไม่ต้องขัดเขินกันไปค่ะ 😉

“ถ้าเห็นคนนั้นเต้นสวยดี อยากจะเต้นด้วยบ้าง ก็เดินเข้าไปพูดคุยเป็นการส่วนตัวได้เลย”

บางคนได้ยินแบบนี้อาจจะร้อง ‘บ้าน่า! อยู่ๆ เราก็จะเดินเข้าไปคุยกับเขาได้เลยเหรอ!’ ซึ่งครูพงษ์ศักดิ์ก็บอกกับเราว่ามันก็ง่ายๆ อย่างนี้เองแหละค่ะ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ห้ามลืมเด็ดขาด คือการขออนุญาต

“การจะไปขอพูดคุยกับคู่เต้นของคนอื่นเป็นการส่วนตัว ต้องขออนุญาตคู่เต้นของเขาและคู่เต้นของเราให้เรียบร้อย”

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อเป็นการให้เกียรติทั้งต่อคู่เต้นของเขาและคู่เต้นของเรานั่นเองค่ะ

สำหรับใครที่กำลังคิดว่า ‘เอาละ เราเองก็ลองเรียนลีลาศดูดีกว่า!’ สุดท้ายนี้ เราก็ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่อยากบอกทุกคนเอาไว้ นั่นคือเรื่องของ ‘สุขภาพ’

หลายคนอาจคิดว่า ลีลาศเต้นกันช้าๆ เนิบๆ คงไม่เจ็บตัวอะไร แต่อย่างที่บอกไปว่าการเต้นลีลาศก็มีหลายจังหวะ บางจังหวะอาจมีการกระแทกบ้าง สำหรับผู้ที่สุขภาพข้อเข่าไม่ดีเรื่องนี้ก็อาจเป็นปัญหาได้ และนอกจากนี้เรื่องที่ผู้สูงอายุหลายท่านต้องระวัง ยังมีเรื่องการ ‘ล้ม’ อีกด้วย ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ครูพงษ์ศักดิ์ย้ำกับพวกเราเสมอคือ “รู้จักร่างกายตัวเอง”

“ดูเรื่องสุขภาพตัวเอง เรื่องข้อต่อ เพราะบางจังหวะจะมีการกระแทก บางทียกกระแทก เขย่งกระแทก ถ้าเราคิดว่าเรามีปัญหา ก็ยังไม่ควรจะเต้นจังหวะนั้น เอาจังหวะง่ายๆ ก่อน อย่างจังหวะบีกิน”

บางคนไฟแรง เห็นคนอื่นๆ บนฟลอร์สวยมาก ฉันต้องทำให้ได้แบบนั้น ครูพงษ์ศักดิ์บอกว่า อย่ากดดันตัวเองไปค่ะ

“การลีลาศจะต้องไม่บาดเจ็บ ทำยังไงก็ได้ แล้วไม่จำเป็นต้องทำให้สวยงามเหมือนคู่อื่น ทำให้เราสวยเฉพาะคู่เราก็พอแล้ว เพราะเรารู้ว่าเราเต้นได้ยังไง เรารู้ว่าเราได้แค่ไหน ไม่ต้องเห็นคนอื่นเขาอ่อนช้อยขนาดนั้น แล้วเราต้องอ่อนช้อยขนาดนั้น ไม่ใช่”             

“เอาเท่าที่เราทำได้ เอาที่ร่างกายเราไหว”

ฉะนั้น สำหรับใครที่กำลังจะย่างก้าวแรกขึ้นไปบนฟลอร์ลีลาศ ก็ขอให้อย่าลืมนึกถึงสุขภาพของตัวเองเป็นสำคัญ ดูแลไขข้อ ดูแลเท้าเราให้ดี และขอให้ทุกท่านได้สนุกสนานไปกับโลกบนฟลอร์ลีลาศนะคะ!

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ