สวัสดิการ “ลางานพาพ่อแม่ไปหาหมอ” ควรออกแบบอย่างไร?

เมื่อพ่อแม่ป่วยเรื้อรัง มนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะทำอย่างไร?

จะลางานบ่อยๆ วันลาก็หมด แถมเกรงใจบริษัท แต่พ่อแม่ก็ต้องดูแล

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรมานั่งคุยกันเพื่อออกแบบสวัสดิการการลางานเพื่อพาพ่อแม่ และผู้สูงวัยที่บ้านไปหาหมอ แบบที่พนักงานก็ได้ทำหน้าที่ลูกหลาน ในขณะที่องค์กรก็ไม่ได้รับผลกระทบ

มนุษย์ต่างวัยชวนคุยกับ อ๊อด-วรรณวิภา มาลัยนวล และ อั๋น-เนรมิต จุลละสุวรรณ เจ้าของเพจ “พาผู้สูงวัยไปโรงพยาบาล” ธุรกิจที่เริ่มต้นจากปัญหาที่ลูกหลานไม่สามารถลางานพาพ่อแม่ไปโรงพยาบาลได้ ถึงเรื่องราวและประสบการณ์ที่ทั้งคู่พบในวันที่สังคมไทยกลายเป็นสังคมสูงวัย

วันลาหมดแต่วันนัดหมอของแม่ไม่ได้หมด

“ความเป็นจริงที่เราทั้งสองเคยประสบด้วยตนเองก็คือ เราไม่สามารถพาคุณพ่อคุณแม่ไปหาหมอได้ทุกครั้งเพราะวันลาเรามีจำกัด แต่พ่อแม่เราคือผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรัง ต้องพบหมอตามนัดหมาย การให้คนแก่ไปโรงพยาบาลคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายตา เรื่องการเดินทาง หรือความซับซ้อนของระบบการยื่นเอกสาร ที่โรงพยาบาลแต่ละที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้โดยปราศจากลูกหลานหรือผู้ดูแล แต่ในขณะเดียวกันข้อจำกัดของลูกทุกคนก็คือต้องทำงาน ในโลกความเป็นจริงเราไม่สามารถลางานบ่อยได้ขนาดนั้น โชคดีที่เรามีพี่น้องหลายคนก็ใช้วิธีการสลับสับเปลี่ยนกันหยุดเพื่อพาพ่อแม่ไปโรงพยาบาล

“เคยมีเคสติดต่อเข้ามาหลายคนที่อยากให้เราพอพ่อแม่เขาไปหาหมอ บางครอบครัวมีลูกถึง 3 คน แต่ติดงานหมดเลยลาไม่ได้ ก็มีอยู่บ่อยครั้ง ไม่ใช่ว่าเขาไม่รักและไม่อยากดูแลพ่อแม่นะ แต่ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ และการทำงานก็หมายถึงเงินที่เป็นปัจจัยที่จะมาใช้ดูแลครอบครัวเช่นกัน”

ถ้าพ่อแม่ไม่เจ็บป่วยจะไม่มีวันเข้าใจ

“ถ้าพ่อแม่ใครไม่เจ็บป่วยอาจจะยังไม่เข้าใจ บางคนถามว่าทำไมไม่จ้างพยาบาลพิเศษมาดูแลที่บ้าน คำตอบคือ ไม่ใช่ทุกคนจะมีกำลังทรัพย์พอ หรือมีบางคนถามว่าทำไมไม่ลาออกจากงานแล้วมาดูแลพ่อแม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถลาออกมาแล้วมีเงินเพียงพอในการใช้ชีวิตเพื่อดูแลพ่อแม่อย่างเดียว บนโลกความเป็นจริงมีแค่ความกตัญญูอย่างเดียวไม่ได้ ลูกทุกคนต้องการเงินเพื่อจุนเจือครอบครัวที่อยู่ข้างหลังด้วย”

สำรวจสวัสดิการลางานว่าประเทศไหน จัดสวัสดิการแบบนี้ไว้บ้าง

มนุษย์ต่างวัยได้รวบรวมสิทธิ์ในการลางานในต่างประเทศสำหรับการดูแลพ่อแม่หรือผู้อยู่ในการอุปการะ (dependent person) อื่นๆ โดยอ้างอิงมาจากรายงานของ Observatory for Sociopolitcal Developments in Europe ซึ่งเป็นหน่วยงานของประเทศเยอรมนีในการติดตามนโยบายต่างๆ ของประเทศในสหภาพยุโรป และ Asian Development Bank

ประเทศเบลเยียม

  • สามารถลาได้ทั้งแบบเต็มเวลา หรือไม่เต็มเวลา
  • สามารถลาเต็มเวลาได้สูงสุด 12-24 เดือน ต่อผู้อยู่ในการอุปการะหนึ่งคน
  • สามารถลางานแบบไม่เต็มเวลาได้สูงสุด 24-48 เดือน ต่อผู้อยู่ในการอุปการะหนึ่งคน

หากลาแบบไม่เต็มเวลาจะได้สิทธิ์ในการขอลดเวลาทำงานลง 20-50% . หรือแม้กระทั่งการลาเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (palliative care) สามารถลาได้ทั้งแบบเต็มเวลาและไม่เต็มเวลาสูงสุด 2 เดือน ต่อผู้ป่วย 1 คน

ประเทศเดนมาร์ก

  • มีนโยบายให้ลาแบบเต็มเวลาเท่านั้น โดยลาได้สูงสุด 6 เดือน (และสามารถขอลาเพิ่มเติมได้อีก 3 เดือน แล้วแต่กรณี)
  • ระหว่างลางานจะได้รับการจ้างงานจากเทศบาลที่อาศัยอยู่ในฐานะผู้ดูแลแทน

ประเทศฝรั่งเศส

  • ให้สิทธิ์ในการลาเพื่อดูแลครอบครัวสำหรับพนักงานที่อายุงาน 1 ปีขึ้นไป โดยลาได้สูงสุด 3 เดือนแต่สามารถทำเรื่องขอใหม่ได้จนกว่าจะครบ 1 ปี ตลอดชีวิตการทำงาน
  • ในกรณีลาเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (palliative care) สามารถลาได้ 3 เดือน (แต่สามารถยื่นขอลาเพิ่มได้อีก 3 เดือนแล้วแต่กรณี)

ประเทศญี่ปุ่น

  • สามารถลาได้สูงสุด 93 วัน ต่อผู้อยู่ในการอุปการะ 1 คน (โดยลาได้คราวละไม่เกิน 31 วัน)
  • สามารถรับวันหยุดรายปีเพิ่ม 5 วันสำหรับดูแลผู้อยู่ในการอุปการะ 1 คน (หรือ 10 วันในกรณีที่มีผู้อยู่ในการอุปการะมากกว่า 1 คน)
  • สามารถขอสิทธิ์ละเว้นจากการทำงานล่วงเวลาได้ตลอดระยะเวลาการดูแลผู้อยู่ในการอุปการะ
  • สามารถขอปรับเวลาทำงานได้สูงสุด 3 ปี โดยสามารถขอลดชั่วโมงทำงาน หรือขอชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น หรือขอรับเป็นเงินสนับสนุนในการจ้างผู้ดูแลมืออาชีพก็ได้

ซึ่งในหลายๆ ประเทศไม่ได้กำหนดว่า ผู้อยู่ในการอุปการะต้องเป็นสมาชิกครอบครัวใกล้ชิด (พ่อ-แม่-ลูก) เท่านั้น นั่นแปลว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย หากมีความจำเป็นต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวก็สามารถลาได้เช่นกัน

ถ้าเลือกได้เราอยากทำหน้าที่ลูกจ้างและลูกของพ่อแม่ให้ดีที่สุด

ในยุคที่คนไทยมีลูกน้อยลง ครอบครัวก็มีขนาดเล็ก ไม่ได้มีลูกหลายคนเหมือนสมัยก่อน นี่จึงเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับคนเจนลูกในยุคนี้ และเชื่อว่าจำนวนของลูกๆ ที่ต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่สังคมไทยอาจต้องมาหาทางออกร่วมกันก็คือจะทำอย่างไรให้ลูกๆ ได้ทำหน้าที่ลูกได้ดีที่สุด ในขณะเดียวกันก็ยังทำหน้าที่ลูกจ้าง หรือพนักงานที่ไม่ลางานจนส่งผลกระทบต่อบริษัทหรือทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์ เพื่อน ๆ คิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างมาแชร์กันครับ

Credits

Authors

  • นันท์นภัส โอดคง

    Authorครีเอทีฟตัวกลม อารมณ์ดี รักภูเขา หลงรัก จ.เชียงใหม่ ชอบการเดินทาง enjoy กับการกินอาหารท้องถิ่น สนุกกับการรู้จักคนใหม่ๆ อนาคตที่ฝันไว้สูงสุดคืออยากเป็นคนที่ถูกหวย

  • สุกฤตา ณ เชียงใหม่

    Author & Drawรับบทเป็นกราฟิกสาววัยเบญจเพส เป็นคนชอบศิลปะ จับปากกา แต่พอโตขึ้นมาเพิ่งจะรู้ว่าชอบเธอ ฮิ้ววว :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ