ชีวิตในช่วงสูงอายุจะเป็นอย่างไร พฤติกรรมในปัจจุบันจะเป็นตัวกำหนด

เคยลองจินตนาการไหมว่า “หากเรามีอายุถึง 100 ปี เราจะเป็นคนที่มีอายุ 100 ปีแบบไหน ? อายุยืนแต่ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย หรือ อายุยืนและมีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข? และถ้าเราปรารถนาชีวิตในแบบหลังเราสามารถออกแบบชีวิตเพื่อไปสู่เป้าหมายอายุยืนยาวแบบมีสุขภาพดีได้อย่างไร

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราชคุยกับ อ.นพ.สมบูรณ์ อินทลาภาพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ถึงแนวทางการออกแบบชีวิตอย่างไรให้มีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อม ๆ กัน

“ข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า มนุษย์มีโอกาสอายุยืนยาวได้ 120 ปี – 150 ปี ซึ่งเป็นไปได้ว่าในอนาคตมนุษย์จะมีอายุยืนยาวมากขึ้น เนื่องจากมีระบบบริการสุขภาพที่ดีขึ้น ผู้คนเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น คุณภาพการรักษาดีขึ้น รวมถึงประชาชนสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพซึ่งการมีข้อมูลและความรู้ในการดูแลตัวเอง ช่วยให้ผู้คนมีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาวมากยิ่งขึ้น

“หากลูกหลานอยากดูแลให้ผู้สูงอายุในบ้านมีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ ผู้ดูแลควรสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพทางกาย เพราะบ่อยครั้งที่ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุมีสาเหตุมาจากการไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ยิ่งถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ สภาพร่างกายและความสามารถในการเคลื่อนไหวจะยิ่งถดถอยลง ทำให้โรคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามมา ฉะนั้น การออกกำลังกายวันละนิดจึงเป็นผลดีต่อร่างกายมากกว่า และไม่ว่าจะเริ่มออกกกำลังกายตอนอายุเท่าไหร่ก็ยังไม่สาย

“การเริ่มออกกำลังกายไม่ได้ยากอย่างที่คิด ผู้สูงอายุสามารถเลือกออกกำลังกายให้เหมาะกับอายุ หรือสภาพร่างกายของแต่ละคนได้ การเริ่มแบบง่าย ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหมจะดีที่สุด และถ้าเริ่มทำจากสิ่งที่ชอบก็จะทำให้ออกกำลังได้อย่างต่อเนื่องแบบมีความสุข อาจลองเริ่มจากการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น รดน้ำต้นไม้ ทำสวน หรือแม้แต่ทำงานบ้านก็สามารถทำให้สุขภาพของผู้สูงอายุแข็งแรงได้มากยิ่งขึ้น”
“อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงก็คือ การเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ร่างกายของผู้สูงอายุนั้นเริ่มใช้พลังงานลดน้อยลง จึงควรจัดอาหารให้เหมาะสมกับกิจกรรมของผู้สูงอายุในแต่วัน เน้นอาหารที่ย่อยง่าย ลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมันลง เน้นอาหารจำพวกโปรตีนจากเนื้อปลาและเสริมสารอาหารอื่น ๆ ด้วยผักและผลไม้ ควรทำให้อาหารมีชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน สำหรับเครื่องดื่มควรหลีกเลี่ยงชา กาแฟในช่วงบ่าย เพราะอาจไปรบกวนการนอนหลับในช่วงเวลากลางคืนได้
“นอกจากกิจกรรมการออกกำลังกายและการดูแลเรื่องอาหาร การหมั่นพบแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจสุขภาพร่างกาย ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากมีความผิดปกติจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทัน และยิ่งผู้สูงอายุเริ่มดูแลตัวเองเร็วได้เท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีโอกาสที่สุขภาพจะดีอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งยังสร้างคุณค่าในชีวิตและเพิ่มความภูมิใจให้กับผู้สูงอายุได้อีกด้วย
“ท้ายที่สุดการมีอายุยืนยาวนั้น คงไม่สำคัญเท่ากับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น การออกแบบชีวิตตัวเองว่าจะมีชีวิตอย่างไร ให้เป็นคนที่มีอายุยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ และการดูแลสุขภาพร่างกายเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรหันมาใส่ใจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ชีวิตในช่วงสูงอายุจะเป็นอย่างไร พฤติกรรมของตัวเราในปัจจุบันนั้นจะเป็นคนกำหนด”
ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช เป็นสถาบันทางวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นต้นแบบการบูรณาการการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน สร้างสรรค์ และส่งต่อองค์ความรู้ในการฟื้นฟูดูแลผู้สูงอายุในระยะกลาง เพื่อป้องกันการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล ส่งผู้สูงอายุกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างมีคุณภาพ

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ