รู้จัก “เนสเทอร์ลี” (Nesterly) แพลตฟอร์มสำหรับการแชร์บ้านพักของคนต่างวัย

เมื่อการหาห้องเช่าในเมืองใหญ่เป็นเรื่องยากลำบาก ห้องพักราคาสูงเกินกว่าความสามารถในการจ่ายของผู้เช่าโดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่ต้องการที่พักที่ปลอดภัย และราคาไม่แพงเกินไป

ในขณะที่ความจริงอีกด้านคือหลาเมืองใหญ่ของอเมริกากำลังเต็มไปด้วยประชากรสูงวัย คนกลุ่มนี้ยังมีร่างกายแข็งแรงแต่อาจต้องการการช่วยเหลือบ้างในบางเรื่อง แต่สิ่งที่น่ากังวลคือพวกเขากำลังเผชิญกับความเปลี่ยวเหงาเดียวดาย

“เนสเทอร์ลี” (Nesterly) จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

เนสเทอร์ลี คือแพลตฟอร์มสัญชาติอเมริกัน ที่เป็นสื่อกลางหาบ้านเช่าในราคาย่อมเยาว์โดยผู้เช่ามักจะเป็นนักเรียน นักศึกษา หรือกลุ่มคนอายุน้อยที่เพิ่งเริ่มทำงาน (First Jobber) และจำเป็นต้องย้ายออกจากบ้านเพื่อหาที่พักใกล้ที่เรียนหรือที่ทำงาน 

ในขณะที่เจ้าของที่แชร์บ้าน (host) จะเป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่มีบ้านที่มีพื้นที่มากพอและยินดีที่จะรับใครสักคนเข้ามาเป็นสมาชิกของบ้านแม้จะเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ 

ผู้ใช้บริการแต่ละคนจะต้องอัปโหลดรูปภาพและข้อมูลพื้นฐานส่วนตัวลงไปในแพลตฟอร์ม แต่ละฝ่ายจะสามารถพูดคุยถามตอบกัน รวมถึงการตกลงราคาค่าเช่าตามความพึงพอใจกันได้อย่างอิสระ หากพึงพอใจกันแล้ว แต่ละฝ่ายจะเลือกจับคู่กันได้เองไม่ต่างจากแอปพลิเคชันหาคู่ โดยจะเสียค่าบริการให้ทางแพลตฟอร์มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

แอบบี เฮิร์ปสต์ (Abby Herbstin) นักศึกษาวัยปริญญาโทด้านสาธารณสุขวัย 23 ปี และ เบรนด้า แอตชิสัน (Brenda Atchinson) เจ้าของบ้านเช่าวัย 67 ปี ทั้งคู่เป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการของเนสเทอร์ลี 

“ฉันโทรหาตัวแทนอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง แต่เขาไม่รับฉันเป็นลูกค้า อาจเพราะฉันมีงบประมาณไม่มากพอ จึงจำเป็นต้องหาที่อยู่ใหม่นอกเมืองซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปอีก” เฮิร์ปสต์ นักศึกษาวัย 23 ปี เล่าถึงช่วงเวลาที่เธอเข้ามาเรียนหนังสือและพยายามหาที่พักในบอสตัน เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา

ในที่สุด เธอก็เลือกใช้บริการเนสเทอร์ลี และได้พบกับบ้านเช่าที่มีห้องนอนตกแต่งในตัวพร้อมอุปกรณ์เครื่องครัวครบครัน และสามารถเดินไปมหาวิทยาลัยใน 20 นาที เท่านั้น ที่นี่เองที่ทำให้เธอพบกับคุณยายแอตชิสัน วัย 67 ปี เจ้าของบ้านในย่านร็อกซ์เบอรี (Roxbury) ในบอสตัน 

สำหรับ เฮิร์ปสต์ แล้ว เธอเป็นผู้เช่ารายที่ 3 ของคุณยายแอตชิสัน เธอจ่ายเงินค่าแชร์บ้านเพียงแค่เดือนละ 650 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าการเช่าอยู่ในห้องสตูดิโอกว่าครึ่งหนึ่ง โดยแลกกับการทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการทำความสะอาดสวนหน้าบ้านและกวาดหิมะ นี่ไม่เพียงช่วยให้เธอประหยัดค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนหนังสือ แต่ยังช่วยให้เธอได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับคนต่างเจนเนอเรชั่นและมีส่วนช่วยบรรเทาความเปลี่ยวเหงาให้กับพวกเขาในฐานะของเพื่อนหรือลูกหลานคนหนึ่ง เช่นเดียวกับเธอ การมาใช้ชีวิตไกลบ้านก็ทำให้เธอรู้สึกเสมือนว่าได้อยู่กับครอบครัวหรือญาติ 

“สมัยฉันเรียนมัธยม ฉันไม่เคยกินข้าวคนเดียวเลย แต่พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ฉันมักจะรู้สึกเหงาอยู่บ่อย ๆ แต่พอฉันมาอยู่ในบ้านหลังนี้ เมื่อไหร่ที่ฉันรู้สึกเหงาหรืออยากคุยกับใครสักคนแค่ฉันลงมาด้านล่างแล้วนั่งในครัวเท่านั้นก็มีเพื่อนคุย

“ฉันชอบอยู่ที่นี่เพราะไม่อยากอยู่ในชุมชนที่มีแต่นักเรียนด้วยกัน เพราะชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมันไม่ใช่ชีวิตจริง ทุกคนมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน กำลังเรียนสิ่งเดียวกัน และเครียดกับเรื่องการสอบปลายภาคเหมือน ๆ กัน ฉันอยากจะอยู่ในที่ที่ใกล้เคียงกับโลกแห่งความเป็นจริงมากกว่านี้” เฮิร์ปสต์เล่า

ไม่เพียงแต่เฮิร์ปสต์จะได้รับประโยชน์จากการเช่าบ้านราคาถูกเพียงฝ่ายเดียว แต่ทั้งสองฝ่ายต่างเกื้อกูลกันและกันอยู่เสมอ เหมือนดังที่ครั้งหนึ่ง คุณยายแอตชิสันต้องสาธิตวิธีการทำอาหารในชั้นเรียนนั่นทำให้เธอกังวลใจเป็นอย่างมาก แต่ก็ได้ความช่วยเหลือจากเด็กสาวอย่าง เฮิร์ปสต์ ที่ช่วยจัดแจงเตรียมการสอนและหาวัตถุดิบให้เธอจนผ่านพ้นไปด้วยดี

สำหรับคุณยายแอตชิสันแล้ว เธอคือหนึ่งในผู้ให้เช่าบ้าน (host) กลุ่มแรก ๆ ของเนสเทอร์ลี เธอเล่าว่าการอยู่ร่วมกับคนต่างวัยทำให้ได้เห็นแง่มุมหลายอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน

“เมื่อคุณยังเป็นเด็ก คุณจะพยายามออกไปในโลกกว้าง คุณแทบจะไม่มีเวลาได้นั่งลง แล้วมองเห็นเรื่องราวเล็ก ๆ ที่น่าประทับใจของผู้คนรอบตัวเลย

“แต่การที่ฉันได้มาแชร์บ้านให้กับเด็ก ๆ ทำให้ฉันมีช่วงเวลาที่น่าประทับใจมากมาย การที่ฉันได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คนในระยะเวลานั้นเป็นหนี่งในความสุขและมีความหมายมากมายเหลือเกิน

“และเมื่อพวกเขาย้ายออกไป ฉันหวังว่าความสัมพันธ์ของพวกเราจะยังคงอยู่ แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็ไม่เห็นเป็นไรเลย..”

ในขณะที่ โนเอล มาร์คัส (Noelle Marcus) หนี่งในผู้ก่อตั้งเนสเทอร์ลีเล่าให้ฟังถึงที่มาของการสร้างแพลตฟอร์มนี้ว่าเกิดขึ้นตอนที่เธอกำลังเรียนอยู่ในบอสตันและพบว่าการเช่าที่อยู่อาศัยในบริเวณนี้แพงมากไม่ต่างจากที่นิวยอร์ก

“ในช่วงที่ฉันเรียนปริญญาโท การหาที่อยู่ในบอสตันยากมากเพราะมันมีราคาแพงมากจริง ๆ แต่ยังไม่เท่ากับนิวยอร์ก ซึ่งแต่ละห้องมีราคาเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งแพงกว่าในบอสตันเสียอีก”

และไม่เพียงแต่ในบอสตันหรือนิวยอร์ก การตามหาบ้านเช่าราคาที่จับต้องได้กลายเป็นเรื่องยากลำบากจนเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นแล้วทั่วอเมริกา

ด้วยความที่ตัวเธอเองเคยเป็นผู้ช่วยนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กด้านที่อยู่อาศัย เธอจึงมองเห็นโอกาสว่าการตั้งแพลตฟอร์มนี้จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยและแก้ปัญหาความเหงาโดดเดี่ยวทั้งในผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ที่จากบ้านมาเรียนหนังสือในเมืองด้วย

“ข้อมูลจากองค์กรผู้เกษียณอายุในอเมริกา หรือ AARP (American Association of Retired Persons) พบว่า 40% ของผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มีความสนใจที่จะเปิดบ้านของตัวเองให้เช่า แต่ในความเป็นจริงมีแค่ 2% เท่านั้นที่มีโอกาสทำ ฉันคิดว่านั่นเป็นเพราะเรายังไม่มีรูปแบบบริการที่เหมาะสมสำหรับสิ่งนี้” มาร์คัสกล่าว

“เนสเทอร์ลี” จึงเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2016 ภายใต้แพลตฟอร์มของ “City of Boston” บริการหาบ้านพักที่ได้แนวคิดมาจากเหตุการณ์ภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคนแซนดี (Sandy) ที่สร้างความเสียหายอย่างหนักเมื่อ ตุลาคม 2012 

มาร์คัสเล่าว่า จากเหตุการณ์นี้เอง เธอเริ่มสังเกตเห็นว่ามีผู้คนจำนวนมากเข้ามาถามหาบ้านเช่าที่พร้อมให้บริการผู้ที่ประสบภัยจากพายุดังกล่าวผ่านแพลตฟอร์หาที่อยู่อาศัยอย่าง “แอร์บีเอ็นบี” (Airbnb)

“แพลตฟอร์มเนสเทอร์ลีจะคล้ายกับแอร์บีเอ็นบี แต่ต่างตรงที่เราตั้งใจออกแบบให้เป็น “การแชร์บ้าน” (home-sharing) ไม่ใช่ “การเช่าบ้าน” (home-renting) ซึ่งเราคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะผู้ให้เช่า (host) ที่เป็นผู้สูงวัยจะมีรายได้และยังมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในขณะที่ยังช่วยให้คนหนุ่มสาวรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยในราคาที่ต่ำกว่าทั่วไปด้วย” มาร์คัส อธิบาย

ตอนนี้ เนสเทอร์ลีกลายเป็นเครือข่ายที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ใช้บริการแล้วกว่าพันราย และยังได้รับการติดต่อจากผู้สนใจที่ขอให้เปิดบริการเพิ่มในเมืองอื่น ๆ อีกกว่า 6,000 ราย จาก 280 เมือง ทั่วโลก รวมถึงได้รับการติดต่อจากกลุ่มเจ้าของกิจการรายย่อยที่อยากนำโมเดลนี้ไปใช้ในชุมชนตัวเองด้วย

สุดท้ายแล้ว “เนสเทอร์ลี” ไม่ใช่แค่โมเดลทางธุรกิจเพื่อการหารายได้เท่านั้น แต่กลายเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจใหม่ให้กับนวัตกรรมที่อยู่อาศัยในโลก ที่สามารถเติมเต็มความต้องการและช่องว่างในจิตใจของคน 2 รุ่น ไว้ได้ภายใต้ชายคาเดียวกัน

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ