งานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่”

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา มนุษย์ต่างวัย ร่วมกับ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) จัดงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่” เวทีที่จะพาทุกท่านมาฟัง Insights จากคนรุ่นใหญ่และนักออกแบบแพคเกจจิ้งตัวจริงเสียงจริง

ภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น คุณสุเมธ บุณยธนพันธ์, ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล, แม่อร-อรสา ดุลยยางกูล, คุณใบเตย-รพิดา อัชชะกิจ, ผศ. พญ. ฐิติมา ว่องวิริยะวงศ์, คุณสุริยา พิมพ์โคตร และคุณอรปวีณ์ บวรพัฒนไพศาล ดำเนินรายการโดย ประสาน อิงคนันท์ จากมนุษย์ต่างวัย

ขอขอบคุณผู้ชมทุกท่านทั้งในเวทีงานและทาง Live สดจำนวนมากที่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทั้งในมุมมองของผู้ใช้จริงและผู้ออกแบบ

หากใครพลาดโอกาสรับชม รับฟังกันไปแล้วก็ไม่ต้องเสียใจ สามารถติดตามดูย้อนหลังได้ทางหน้าเพจ และในอนาคตทางมนุษย์ต่างวัยจะมีเวทีดี ๆ แบบนี้ให้ได้รับชมรับฟังกันอีกอย่างแน่นอน รอติดตามกันได้เลยครับ

“จากผลวิจัยพบว่ามีแนวโน้มที่ผู้สูงอายุจะอยู่คนเดียวหรือกับคู่สมรสตามลำพังที่เป็นผู้สูงอายุเช่นกัน ผู้สูงอายุจึงเป็นคนจับจ่ายซื้อของด้วยตัวเอง ดังนั้น การออบแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพความเป็นอยู่จึงสำคัญสำหรับผู้สูงวัยอย่างยิ่งเพื่อให้เขาใช้งานได้สะดวก

“ผมเชื่อว่าการประกวดครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพ สร้างประสบการณ์ แรงบันดาลใจ และเปิดโลกของการออกแบบให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะการออกแบบที่ดีมีส่วนทำให้ คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้น โลกของเรายั่งยืนเพื่อเป็นคำตอบสำหรับการอยู่ร่วมกันที่แม้จะต่างวัยแต่ไม่ต่างใจ”

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่” ในช่วง Design for Aging ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตและธุรกิจ

เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สถานที่ C asean Rama IV

“สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่าปีนี้การตลาดกำลังเข้าสู่ยุค Post Modern Marketing หรือการตลาดหลังยุคใหม่ มีประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจรุ่นใหญ่ ดังนี้

1. ความจริงที่ปลอม – สิ่งที่คนรุ่นใหม่คิดว่าจริง อย่างโลกเมตาเวิร์ส (metaverse) กีฬาอีสปอร์ต เเว่นวีอาร์ (VR) เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหญ่ยังทำความเข้าใจไม่ได้ คิดว่าเป็นของปลอม หรือมีมุมมองในเเง่ลบ เช่น มองว่าเป็นการพนัน รวมทั้งสินค้าบางประเภทที่ไม่น่าจะซื้อผ่านออนไลน์ได้ อย่างน้ำหอม ที่ควรจะได้ลองดมกลิ่นก่อนซื้อ สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจอยู่มากสำหรับผู้สูงอายุ

2. ความเหมาะที่ไม่ – สิ่งที่เราคิดว่าเหมาะ เเต่ผู้สูงอายุคิดว่าไม่ เช่น สไตล์การออกแบบที่คนรุ่นใหม่ชอบอย่างสไตล์มินิมอล ใช้ตัวอักษรที่ไม่มีหัว ดูสวย ทันสมัย เเต่มันกลับเป็นสิ่งที่อ่านยาก ใช้งานยากสำหรับผู้สูงอายุ

3. ความถูกที่ผิด – สิ่งที่ถูกต้อง หรือดีสำหรับคนรุ่นใหม่ เเต่สำหรับผู้สูงอายุมองว่าไม่ถูกต้อง เช่น การพิมพ์ขอบคุณเพื่อตอบรับในกรุ๊ปไลน์เวลาที่ผู้ใหญ่ให้ข้อมูล การใช้สติกเกอร์ไลน์ที่เป็นตัวการ์ตูนในการตอบข้อความ หรือการใช้ตัวการ์ตูนในเมตาเวิร์สไปประชุม สิ่งเหล่านี้ผู้สูงอายุอาจจะมองว่าไม่ถูกต้อง และไม่ควรทำ

“ทั้ง 3 มุมมองนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่ฝากไว้ให้คนรุ่นใหม่สำหรับใช้เป็นเเนวคิดต่อยอดการออกเเบบด้วย

“ในฐานะคนทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์ เราไม่ได้ทำแค่งานออกแบบ แต่เรากำลังจะสร้างคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น หากเราสามารถทำได้ในวันนี้ ก็จะสร้างประโยชน์ที่ส่งผลไปถึงวันข้างหน้า ทำให้เราสามารถสร้างสิ่งที่ดูแลผู้สูงอายุได้ในทุกมิติ พร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น”

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่” ในช่วง Design for Aging ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตและธุรกิจ

เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สถานที่ C asean Rama IV

“การออกแบบเพื่อผู้สูงวัย นอกจากจะคำนึงถึงการใช้ง่าย สะดวก ตัวหนังสือใหญ่มองเห็นชัดแล้ว ผู้สูงวัยบางท่านก็ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่สวยงาม แข็งแรง และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ความยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ได้ใจคนรุ่นใหญ่เหมือนกัน

“จริง ๆ แล้วผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยากมีชีวิตที่เป็นอิสระ หากเราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์หรือทำอะไรก็ตามที่ทำให้เขารู้สึกว่าพึ่งพาตัวเองได้ และยังทำให้เขาดูเท่ ทันสมัย เขาจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข และเราก็จะมีความสุขตามไปด้วย”

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่”

เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สถานที่ C asean Rama IV

“แม่มีปัญหาเรื่องสายตาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือกล้ามเนื้อมืออ่อนแรง นิ้วล็อก เพราะทำงานเย็บปักถักร้อยเยอะ แขนขาก็อ่อนแรงไปตามวัย เป็นอุปสรรคมากเหมือนกัน

“ผลิตภัณฑ์หลายอย่างก็สร้างความยากลำบาก อย่างการเปิดขวดแยม แม่ทำไม่ได้เลยต้องไปหาดูคลิปตามโซเชียลมีเดีย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ สุดท้ายต้องใช้มีดแซะซึ่งอันตรายเหมือนกัน หรือกระป๋องแป้งที่ต้องหมุนบิดเพื่อเปิด จะสับสนเสมอว่าหมุนไปทางไหนคือปิดหรือเปิด แม่กลับชอบกระป๋องแป้งยี่ห้อหนึ่งที่เป็นฝาเกลียวสังกะสีเปิดฝาก็ใช้ได้เลย ถึงจะเป็นยี่ห้อที่อยู่มานานแล้ว แต่แม่ยังคงใช้อยู่เพราะชอบการออกแบบ ส่วนขวดแชมพู-ครีมนวดที่คว่ำหงายก็ชวนสับสน เพราะสายตาเราอ่านไม่เห็นแล้ว ถ้ามีสีแยกชัดเจนจะง่ายต่อการจดจำของรุ่นใหญ่อย่างเรามากกว่า

“สำหรับรุ่นใหญ่อย่างแม่คิดว่าการออกแบบแพคเกจจิ้งขอให้เน้นใช้สะดวก ใช้ง่าย ก็จะอยากใช้ซ้ำ บางยี่ห้อเก๋สะดุดตา แต่ว่าใช้ยากก็ไม่ได้ใจเรา

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่”

เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สถานที่ C asean Rama IV

“คุณแม่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง จากคนดูแลตัวเองได้ กลายเป็นว่าทุกขั้นตอนต้องมีคนดูแล หลังจากแม่ผ่านช่วงฟื้นฟูมาแล้ว เราดูแลแม่ก็จริงแต่การให้เขาทำอะไรด้วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ

“แม่มีมือข้างหนึ่งที่อ่อนแรงกว่า การเลือกของใช้ในบ้านจึงต้องเปลี่ยนใหม่หมดเพื่อให้แม่ใช้ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น แชมพูหรือโลชัน เราเปลี่ยนจากยี่ห้อที่มีขวดแบบเปิดฝาเทให้เป็นแบบขวดฝาปั๊มทั้งหมด จากที่แต่ก่อนเลือกจากกลิ่น ตอนนี้เลือกจากแพคเกจจิ้งเป็นหลัก

“หรือขวดซอสมะเขือเทศ เมื่อก่อนบ้านเราใช้แบบขวดแก้ว แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้แบบขวดพลาสติกมา 7 ปีแล้ว เพราะนอกจากจะเบาและบีบง่ายกว่า ยังช่วยลดอุบัติเหตุ เพราะผู้สูงอายุเขาจะใจบางมาก หากเผลอทำของตกแตกเขาจะรู้สึกดาวน์มาก มันทำให้เขารู้สึกอ่อนแอ ของใช้ทุกอย่างจึงต้องใช้งานได้ง่ายและเยียวยาจิตใจ เพราะมันแปลว่าเขาสามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร และสร้างความสำเร็จเล็ก ๆ ให้เขาได้ในแต่ละวัน

“หรือการที่เคยเปิดฝาโยเกิร์ตหรือเยลลี่ได้ แล้ววันนี้ทำไม่ได้แล้วเขาจะรู้สึกผิดหวัง เราต้องเปลี่ยนไปซื้ออีกยี่ห้อที่แม้จะแพงกว่า แต่ทำให้เขารู้สึกดีแทน

“เราเองก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังกลายเป็นคนรุ่นใหญ่ เราชินกับการดูในมือถือแล้วขยายหน้าจอได้ แต่พอเจอผลิตภัณฑ์จริงวางขาย ตัวหนังสือมันเล็กมากจนมองไม่เห็น บางครั้งก็ต้องถ่ายรูปแล้วมาขยายดูในจอมือถือ ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้มีผลิตภัณฑ์ตัวใหญ่ ๆ แบบตะโกนมาเลยว่านี่คืออะไร ต่างกันยังไง ไม่ต้องมีรายละเอียดซับซ้อน แล้วถ้าอยากรู้รายละเอียดเราจะไปหาข้อมูลอ่านเอง”

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่”

เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สถานที่ C asean Rama IV

“เมื่ออายุขึ้น ความเสื่อมเกิดจนทำให้การใช้ชีวิตประจำวันยาก แต่ละคนจะมีอวัยวะที่ก็เสื่อมไม่พร้อมกันขึ้นกับโรคที่เป็น บางคนอาจสายตาแย่ก่อน บางคนอาจกระดูกและกล้ามเนื้อแย่ก่อน แต่ทุก ๆ อย่างจะทำให้ชีวิตประจำวันยากลำบากขึ้น

“สายตาจะเริ่มพร่ามัวเป็นหมอก ที่พบบ่อยจะเกิดจากต้อกระจก ต้อหิน หรือสายตายาว ส่วนบางคนที่ใช้มือบ่อย อาจเจอปัญหานิ้วล็อก ข้อนิ้วผิดรูปหรือติดยึดทำให้การหยิบจับของชิ้นเล็กยาก หรือเข่าเสื่อมทำให้การลุกนั่งจากเก้าอี้ลำบาก

“เคยฟีดแบคไปทางแผนกเภสัชกรรมเรื่องฉลากยาตัวเล็ก แต่การใส่ข้อมูลทั้งหมดในฉลากยาเล็ก ๆ เป็นไปไม่ได้ เราเลยทำเป็น QR Code แล้วอ่านในแอปฯ หรือพิมพ์เป็นรายการยาพร้อมรูปในกระดาษ A4 ให้ผู้ป่วย แบบนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน

“สิ่งหลักที่ต้องคำนึงในการออกแบบคือความสะดวกในการใช้งานสำหรับคนทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ แต่คนรุ่นใหม่เห็นแล้วก็อยากใช้ ถ้าทุกคนในบ้านมีความสะดวกสบาย การอยู่รวมกันก็จะมีความสุขมากขึ้น

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่”

เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สถานที่ C asean Rama IV

“การออกแบบจะเน้นการสร้างประสบการณ์และประโยชน์ให้ผู้ใช้เป็นหลัก และใช้การอออกแบบที่เรียกว่า Proactive Design Concept หรือการออกแบบเชิงรุก

“เราต้องเก็บข้อมูลว่าผู้ใช้จริงไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ดูแลเขาต้องการอะไร และลงสำรวจเพื่อวิเคราะห์ความต้องการ เพราะบางงานออกแบบเราคิดว่าดีแล้ว แต่อาจไม่ตอบโจทย์ลูกค้าก็ได้

“การเป็นดีไซเนอร์จะนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล พฤติกรรมลูกค้ามีหลากหลาย วิเคราะห์ให้ได้ว่าเขามี Pain Point อย่างไร เราจะได้ออกแบบให้ตรงความต้องการของเขาให้ได้มากที่สุด”

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่” ในช่วง Design for Aging ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตและธุรกิจ

เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สถานที่ C asean Rama IV

“ดีไซน์ที่ดีต้องช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ต้องตอบโจทย์ Pain Point ของผู้บริโภค ใช้งานได้ง่ายทุกเพศทุกวัย ซึ่งเราจะนิยามว่าเป็น Universal Design หรือเป็นดีไซน์ที่สามารถใช้งานได้โดยการใช้ Common sense ในการใช้งานเหมือนเป็นภาษาสากล

“อยากให้ทุกคนคำนึงถึงว่าเราไม่ได้แค่ทำหน้าที่ในฐานะแพคเกจจิ้งดีไซเนอร์ แต่เรากำลังสร้าง Better Life ซึ่งมีคุณค่ามาก การแข่งขันอาจเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การทำสิ่งดีให้คนอื่นเป็นเรื่องใหญ่”

ส่วนหนึ่งจากงานเสวนา Packaging for Seniors “พลังรุ่นใหม่ เพื่อรุ่นใหญ่” ในช่วง Design for Aging ออกแบบอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพชีวิตและธุรกิจ

เสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 09.00-12.00 น. สถานที่ C asean Rama IV

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ