‘จำรัส คูหเจริญ’ วัย 81 ปี เจ้าของสวนมะนาวลุงจำรัส ชายผู้ปฏิเสธการเป็นเศรษฐี 100 ล้าน และเลือกที่จะเป็นเกษตรกรปลูกมะนาวต้นละ 200 บาท

z

ถนนคอนกรีตขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับรถไฟฟ้าสายยาวที่พาดผ่านพื้นที่หน้าบ้าน ทำให้มูลค่าของสวนมะนาวลุงจำรัสเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากราคาตารางวาละไม่ถึงหมื่นพุ่งทะยานไปแตะที่ตารางวาละเกือบแสนบาท คอนโดมิเนียมหลายแห่งยื่นข้อเสนอเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาทเพื่อแลกกับที่ดินแปลงนี้

อย่าว่าแต่เงินร้อยล้าน แค่เงินหลักสิบล้าน สำหรับเกษตรกรหลายๆ คนก็อาจยังไม่กล้าที่จะฝันถึง แต่อะไรที่ทำให้ ‘จำรัส คูหเจริญ’ เจ้าของสวนมะนาวลุงจำรัสบนถนนราชพฤกษ์ วัย 81 ปี ผู้นี้ กลับเลือกปฏิเสธเงินก้อนใหญ่อย่างไม่ใยดี

ในชีวิตของลุง อะไรกันที่สำคัญกว่า “เงิน”

ผมไม่ได้บ้า มันก็แค่เงิน 100 ล้าน

“มีหลายเจ้าเลยครับที่เข้ามาคุยอยากได้พื้นที่ตรงนี้ไปสร้างคอนโด ให้ผมตารางวาละเก้าหมื่นบ้าง แสนบ้าง พื้นที่สวนผมประมาณ 1200 ตารางวา ก็ตกเป็นเงินกว่า 100 ล้าน แต่ผมไม่ขาย บอกปัดไปว่าให้ 2,000 ล้านเมื่อไหร่ค่อยมาคุยกัน แต่ถ้าให้จริงๆ ผมก็จะบอก 2,500 ล้าน บอกปัดไปเรื่อยๆ ก็คนมันไม่ขาย

“เขาคงคิดว่าถ้าผมเห็นเงินเยอะขนาดนั้น คงตาโตวิ่งเข้าใส่ละมั้ง”

ลุงจำรัส คูหเจริญ เล่าถึง สวนมะนาวที่เขาเป็นผู้บุกเบิก ที่ดินผืนนี้เป็นที่ดินมรดกที่ถูกส่งต่อมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ และตอนนี้ก็กำลังเป็นที่ต้องการของเหล่านายหน้าค้าที่ดินทั้งหลาย ถ้าเปรียบที่ดินแปลงนี้เป็นหญิงสาว ก็เรียกได้ว่าเป็นสาวทรงเสน่ห์ อย่าว่าแต่หัวกระไดไม่เคยแห้ง เรียกว่าน้ำคงท่วมบ้านท่วมแผ่นดินได้เลย

พื้นที่สีเขียวโดดเด่นสะดุดตา บนถนนราชพฤกษ์ผืนนี้ตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสวุฒากาศ แต่เดิมพื้นที่ละแวกนี้เป็นสวนเกือบทั้งหมด ตัวลุงจำรัสและครอบครัวเองก็มีพื้นเพเป็นชาวสวน เมื่อบวกเข้ากับความสนใจและความรู้ทางการเกษตรที่ศึกษามา ลุงจำรัสจึงเริ่มปลูก เพาะพันธุ์กล้วยไม้ ส้ม มะม่วง โป๊ยเซียน จนมาถึงมะนาว พืชสวนที่เรียกได้ว่าสามารถสร้างรายได้ให้ชายวัยเกษียณผู้นี้ได้มากที่สุด

แม้ในวันนี้ลุงจำรัสจะอายุมากแล้วแต่ก็ยังคงยืนหยัดจับจอบ จับดิน ปลูกและเพาะมะนาวสายพันธุ์ใหม่อยู่เรื่อยๆ มะนาวกว่า 100 ต้นผลัดกันผลิดอกออกผลมาให้ชื่นชมไม่เว้นแต่ละวัน เป็นความเขียวชอุ่มที่ยังคงหลงเหลืออยู่ท่ามกลางเมืองที่มีตึกซีเมนต์สูงรายล้อม

“ผมเรียกมันว่าความสุขนะ ถ้าเปรียบกับการเพาะพันธุ์มะนาวขายต้นละ 200 กับเงินตั้งมากมายที่มีคนเอามายื่นให้ผม แน่นอนมันเหนื่อยกว่า ได้เงินน้อยกว่า แต่ผมก็ทำสวนมะนาวมาตั้งนานกว่าจะได้ขนาดนี้ มันคือความสุข คือความภูมิใจนะ ว่าต้นมะนาว ลูกมะนาวสวยได้เพราะเรา

“การรับสมบัติพ่อแม่มาชุกมือเปิบทุกคน สิ่งเดียวที่พ่อแม่ผมให้มาคือที่ผืนนี้ จะให้ผมขาย ให้ทำลาย เป็นคุณ คุณทำได้เหรอ เห็นแก่เงินเท่านี้เหรอ ถ้าผมขายผมก็ต้องไปอยู่ที่อื่น ถ้าผมเจอเพื่อนบ้านที่ดีมันเป็นโชคของผม แต่ถ้าไปเจอเพื่อนบ้านที่เลวล่ะ กับการอยู่ที่นี่เดินไปทางไหนก็รู้เลยว่าคนนี้ดี คนนี้เลว รู้จักกันทั่วแล้ว

“จริงอยู่ว่าถ้าผมขายผมจะได้เงินแล้วมีความสุขความสบาย แต่เงินมันน่ากลัวนะ ถ้าคนรักษาไม่เป็นก็พินาศได้ สมมุติว่าคุณอยู่บ้านหลังใหญ่แต่คุณทะเลาะกันทุกวัน มันก็ไม่มีความสุข เทียบกับการอยู่ห้องเล็กนิดเดียว แต่นั่นทำให้คุณนอนหลับสบาย นั่นมันเรียกว่าความสุขใช่ไหม เพราะฉะนั้นอย่าไปตั้งเป้าไว้เลย ว่าเราต้องมีร้อยล้านพันล้าน แล้วฉันจะมีความสุข มันไม่จริงหรอก อยู่ที่เราปฏิบัติตัวทั้งนั้น”

“ใครที่มาว่าการตัดสินใจของผมทำให้ผมไม่รวยนะ คิดผิด

“ผมรวยมากเลยนะ รวยความสุข”

‘คุณค่า’ กับ ‘ความสุข’ ของชีวิต

ลุงจำรัสเล่าว่าในอนาคตพื้นที่สวนมะนาวลุงจำรัสแห่งนี้ มีแนวโน้มที่จะมีราคาขึ้นสูงเรื่อยๆ ไม่ถึง 5 ปี อาจจะอยู่ที่ตารางวาละ 500,000 บาท ถึง ตอนนั้นถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ก็จะยังนั่งยันยืนยันคำเดิมว่า “ไม่ขาย”

“กิเลส ความอยากได้อยากมี มันมีกันทุกคนแหละ แต่ลองคิดดูนะว่าเรามีเท่านี้ไม่ได้เดือดร้อน ยังมีที่ดินทำกินอยู่ มันอยู่ที่ใจคนนะว่าพอไหม ถ้าผมมีที่เท่านี้แล้วปลูกมะนาวไปเรื่อยๆ เดี๋ยวเงินมันก็มา ตราบใดที่ยังหายใจ ยังมีมือมีเท้าก็ทำไป

“ทุกวันนี้มีชีวิตอยู่เพราะมีความสุข ความสุขของผม ขอแค่ในแต่ละวันได้กินอิ่มนอนหลับ ได้ดื่มน้ำมะนาวที่เด็ดจากต้นหน้าบ้าน การเป็นชาวสวนนี่เหมือนยิงโป้งเดียวได้นกถึงสี่ตัวเลยนะ หนึ่ง คือทำแล้วได้ออกกำลังกาย สอง พอปลูกแล้วผลผลิตงอกงามเราก็ได้ความภูมิใจ สาม ออกลูกมาเรายังได้กิน สี่ ถ้าเหลือยังได้ขาย ยังสร้างรายได้ได้อีก

“ใครมาถามว่าจะเลิกทำเมื่อไหร่ คำตอบง่ายมาก ก็จนกว่าจะทำไม่ได้”

เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ที่ลุงจำรัสเฝ้าเพียรพัฒนาและดูแลสวนมะนาวนี้มาเป็นอย่างดี นับวันสวนมะนาวมีแต่จะเจริญเติบโตงอกงาม ตรงกันข้ามกับผู้เป็นเจ้าของที่นับวันมีแต่จะแก่ตัวลงไปเรื่อยๆ

อนาคตของสวนนี้จะเป็นอย่างไรหากขาดชายที่ชื่อจำรัส

“ถ้าผมตาย มะนาวตาย

“กว่าสวนมะนาวของผมจะมีวันนี้ได้ ผมทุ่มไปเยอะเหมือนกัน ต้องทำเอง ผสมเอง ต้นไหนที่ว่าดีก็เอามาเพาะ ลองผิดลองถูกอยู่อย่างนั้น ทั้งเรื่องการปลูก การดูแล รายละเอียดมันเยอะ

“ถามว่าเสียดายไหม เสียดายมาก ผมทำมาคนเดียวขนาดนี้ ไม่มีใครจะรู้จักสวนนี้ได้มากไปกว่าผม แต่ทำอย่างไรได้ ผมมีลูกคนเดียว แล้วเขาก็มีการงานมั่นคงในทางของเขา”

เดิน วิ่ง กระโดด ชีวิตที่ไม่หยุดคิดพัฒนา

ก่อนที่ที่นี่จะกลายมาเป็นสวนมะนาวอย่างทุกวันนี้ ลุงจำรัสเริ่มต้นจากการทำสวนช่วยพ่อแม่ และค้นพบว่าตนเองมีความสนใจในการทำเกษตรอย่างจริงจัง เขาเริ่มต้นเพาะพันธุ์กล้วยไม้และปลูกเป็นอาชีพอยู่นานถึง 8 ปี ก่อนที่จะต้องยุติลงเพราะต้องเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ใจรักในการทำเกษตรของเขาลดน้อยลง

“พอผมกลับมาจากญี่ปุ่น ก็คิดแล้วว่าอยากจะศึกษาในการทำการเกษตรอย่างจริงจัง และใช้เวลาว่างเริ่มทำสวน ค่อยๆ สร้างมันขึ้นมาจากงานอดิเรกกระทั่งกลายมาเป็นอาชีพที่เลี้ยงดูผมได้ในวัยเกษียณ”

ลุงจำรัส เล่าว่าในการเริ่มต้นจะทำอะไรนั้น เขาตั้งเป้าไว้เสมอว่าจะต้องเป็นผู้นำในเรื่องนั้นๆ ให้ได้ จะทำอะไรก็จำเป็นต้องมีความรู้ในสิ่งที่จะทำให้มาก เพราะสิ่งนี้จะช่วยทำให้ประสบความสำเร็จได้ อย่ามัวแต่โทษดวง โทษโชคชะตา อย่างความเชื่อเรื่องมือร้อน มือเย็น ปลูกอะไรไม่ขึ้น ลุงจำรัสบอกว่าไม่เป็นความจริงเลย เพราะหากสนใจที่จะทำสิ่งนั้น และศึกษาจนรู้จริงก็จะสามารถปลูกอะไรๆ ให้งอกงามได้

ลุงจำรัสมักขอบคุณความจนในวัยเด็กของตัวเองอยู่เสมอ ที่ทำให้เขากลายมาเป็นเจ้าของสวนมะนาวได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะความยากลำบากเมื่อตอนเด็กสอนให้เขารู้จักคุณค่าของเงินที่ต้องหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน และอดทนที่จะไม่ล้มเลิกไปง่ายๆ เพียงแค่ว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคเข้ามา

“ผมคิดเสมอว่าเมื่อตัดสินใจเริ่มต้นลงมือทำแล้ว ก็ต้องเดินหน้า พอเราเดินหน้าได้แล้ว จากเดินก็ต้องไปเป็นกระโดด จากกระโดดก็ต้องไปเป็นวิ่ง ไม่เคยคิดที่จะหยุด”

ด้วยวิธีคิดและการลงมือทำเช่นนี้เอง ที่ทำให้ลุงจำรัสประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่ในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว หากยังได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ผู้คิดค้นพันธุ์มะนาวอีกหลากหลายสายพันธุ์ ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมในหมู่เกษตรกรผู้ปลูกมะนาว โดยมะนาวที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ สายพันธุ์จำรัส 28 (จ.28) และจำรัส 29 (จ.29) ที่ให้ลูกดก ผลโต น้ำดี และอาจจะเป็นการเร็วเกินไปถ้าจะกล่าวว่านี่คือความสำเร็จสูงสุดในชีวิตของชายวัย 81 ปีผู้นี้ เพราะแม้อายุจะเดินทางมาถึงหลักแปด ลุงจำรัสยังไม่คิดที่จะหยุดทำงาน ทุกวันนี้เขายังคงคิดค้นพัฒนาสายพันธุ์มะนาว ให้มีกลิ่น น้ำ เนื้อที่มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

“ไม่ใช่ว่าผมสำเร็จแล้ว ขายมะนาวได้เยอะแล้ว มานอนตากลมสบาย ไม่ได้นะ มันยิ่งต้องทำให้มากขึ้น เยอะขึ้นกว่าเดิม”

กิจวัตรประจำวันในทุกเช้าของลุงจำรัสยังคงเป็นการง่วนอยู่กับสวนมะนาว และสำหรับคนที่สนใจอยากจะเรียนรู้ ลุงจำรัสก็พร้อมที่จะบอกเล่าประสบการณ์และแจกจ่ายความรู้ให้ไปต่อยอดโดยไม่หวง

“พอเราทำได้ คนอื่นก็มองเราเป็นแบบอย่าง อยากจะรู้ อยากจะมาให้เราสอน เราก็สอนให้แบบฟรีๆ เพราะเขาอยากรู้จริงๆ สนใจจริงๆ มันคือการส่งต่อความรู้ที่ผมมีให้เขาได้ไปสร้างอาชีพ”

ไม่มีใครบอกได้ว่าสวนมะนาวลุงจำรัสจะยืนหยัดต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้อีกนานแค่ไหน แต่สิ่งที่เรารู้แน่คือ แม้ในวันหนึ่ง สวนแห่งนี้อาจจะต้องหายไป แต่มะนาวของลุงจำรัสจะยังคงถูกส่งต่อและฝังตัวงอกงามอยู่ในผืนดินแห่งใดแห่งหนึ่งต่อไป

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ