“การเงิน เวลา จิตใจ” 3 สิ่งที่ลูก ๆ ต้องคิดเมื่อต้องดูแลพ่อแม่ป่วย

เมื่อพ่อแม่ป่วยแน่นอนว่าเราต้องดูแลเรื่องสุขภาพของพ่อแม่ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเราต้องใช้ทั้งเงิน และเวลาในการดูแลด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือสภาพจิตใจของเราเอง เพราะถ้าใจเราไม่ไหว ชีวิตก็ยากที่จะไปต่อได้เหมือนกัน

บุพการีที่เคารพ พูดคุยกับ คุณถนอม เกตุเอม หรือ “หนอม” เจ้าของเพจ TaxBagnoms คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ด้านการเงินและภาษีอากรที่มีผู้ติดตามกว่า 6 แสนคน ถึงประสบการณ์การดูแลพ่อที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์มานานกว่า 7 ปี

เมื่อพ่อแม่ป่วยแน่นอนว่าเราต้องดูแลเรื่องสุขภาพของพ่อแม่ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเราต้องใช้เงินและเวลาในการดูแลด้วย

เรื่องเงิน – อย่างแรกต้องคำนวณต้นทุนในการรักษา เช็กก่อนว่าเราจะรักษาแบบไหน มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แต่ละเดือนคิดเป็นเงินเท่าไร จะจ้างคนดูแลที่บ้าน ส่งศูนย์ฯ หรือให้คนในบ้านดูแลเอง คิดออกมาให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจน ใช้ตัวเลขมาลดอารมณ์

พอได้ตัวเลขแล้วก็ต้องคิดต่อว่าเราสามารถจ่ายเงินจำนวนเท่านี้ไปได้นานแค่ไหนด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน เรามาคิดต่อว่าเราต้องจ่ายประมาณกี่ปี จ่ายคนเดียวหรือเปล่า เพื่อมาคิดเรื่องวิธีการและรูปแบบการรักษาต่อไป พอเราได้ตัวเลข เราก็จะเห็นภาพ และสามารถตอบตัวเองได้ว่าเราไหวแค่ไหน

การดูแลที่ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ทุ่มค่าใช้จ่ายในการรักษา ถ้าพ่อแม่ได้รับการดูแลที่สุดในวันนี้ แล้วหลังจากนี้ชีวิตจะไปอย่างไรต่อ เรื่องนี้ไม่มีผิดไม่มีถูก มีแค่ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ในสถานการณ์ตอนนั้น นอกจากดูแลพ่อแม่ต้องไม่ลืมเรื่องดูแลตัวเองด้วย เพราะไม่อย่างนั้นในวันที่การดูแลพ่อแม่จบลง เราเองก็จะไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร

เรื่องเวลา – ถ้ามีสมาชิกในครอบครัวหลายคน อย่าฝากหน้าที่การดูแลไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าจัดการเวลาได้ ก็ต้องแบ่งมาดูแล ทุกคนมีเวลาจำกัด ขึ้นอยู่กับการบริหารเวลาของแต่ละคน หรือถ้ามีเงิน จะใช้เงินในการจ้างคนดูแลมาช่วยก็ได้ สิ่งสำคัญคือการตกลงกันในครอบครัว ไม่มีวิธีการไหนผิดหรือถูก

เรื่องจิตใจ – บทบาทผู้ดูแลนั้นกินเวลายาวนาน เราไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร ต้องแยกเรื่องความกตัญญูกับหน้าที่ออกจากกัน ถ้าเอาเรื่องกตัญญูมาจับ เราจะไม่มีทางรู้สึกว่ามันมากพอ เราต้องกำหนดเส้นให้ตัวเองว่าหน้าที่ที่เราทำได้แล้วพอใจคืออะไร ถ้าไม่ไหวก็ต้องยอมรับ หาคนมาช่วย หาเวลาออกไปพักสักระยะหนึ่ง หรือไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เส้นแบ่งที่ชัดเจน จะช่วยให้ปัญหาความหนักทั้งกายและใจเบาบางลง

Credits

Author

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ