การอยู่กับพ่อเป็นสิ่งที่รอไม่ได้

การอยู่กับพ่อเป็นสิ่งที่รอไม่ได้

แม้โลกจะหมุนเร็วและดูเหมือนว่าจะแคบลงทุกวัน ทุกชีวิตสามารถสื่อสารกันได้ง่ายดายขึ้น ทว่ามนุษย์กลับโดดเดี่ยวตัวเองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

แม้แต่สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด ยังมีจำนวนน้อยมากที่จะอยู่ด้วยกันแบบครบถ้วนอบอุ่นพร้อมหน้าพ่อแม่ลูก หลายครอบครัวที่ลูกเรียนจบแล้วมาทำงานในเมืองหลวง ปล่อยให้พ่อแม่ต้องอยู่ต่างจังหวัด หลายครอบครัวที่คนเป็นพ่อแม่ต้องมาทำงานแล้วฝากลูกน้อยไว้กับตายาย แล้วก็มีอีกหลายครอบครัวเช่นกันที่แม้จะอยู่ไม่ได้ห่างกันแต่ก็เลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่คนละที่ พ่อแม่อยู่บ้านอีกหลังส่วนลูกเลือกที่จะเช่าหอพักอยู่ใกล้ที่ทำงาน

มนุษย์ในวัยทำงานบางคนเลือกที่จะโดดเดี่ยวตัวเองออกมาจากพ่อแม่เพราะต้องการความอิสระสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ขณะที่บางคนจำเป็นต้องโดดเดี่ยวตัวเองเพราะต้องการสร้างฐานะให้มั่นคง เมื่อชีวิตสุขสบายขึ้นจึงค่อยกลับไปอยู่และเลี้ยงดูบุพการี เขาเหล่านั้นไม่ต้องการให้พ่อแม่มาอยู่ด้วยกันในวันที่ลำบาก

แต่สำหรับ พรรณอร เสือเทศ จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่เธอไม่เลือกทุกอย่างที่กล่าวมา สาวชาวลพบุรีวัยเบญจเพสซึ่งเพิ่งจะเป็นบัณฑิตหมาดๆ เลือกที่จะรับพ่อที่อยู่ต่างจังหวัดมาใช้ชีวิตด้วยกันที่กรุงเทพฯ ทั้งที่ชีวิตยังใช้เงินแบบเดือนชนเดือนไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

หญิงสาววัย 25 ยืนยันว่าสิ่งที่เธอทำไม่ใช่เรื่องของความเป็นคนดีหรือกตัญญูรู้คุณผู้ให้กำเนิดอะไรทั้งสิ้น หากแต่เป็นเรื่องของการได้ใช้เวลาและสร้างความทรงจำดีๆ ร่วมกัน

ก่อนที่นาฬิกาชีวิตที่เหลือน้อยลงทุกวันของพ่อจะหยุดเดิน 


อยู่กับพ่อ

“เราเป็นลูกคนเดียวแม่จากไปตั้งแต่เราอยู่ป.4 จากอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ชีวิตเราจึงโตมากับพ่อ เรียกว่ามีพ่อเป็นทุกอย่างของชีวิตก็ว่าได้”

พรรณอร เสือเทศ เริ่มต้นเล่าถึงครอบครัวครึ่งใบของเธอที่เหลือเพียงแค่ เจริญ เสือเทศ ผู้เป็นพ่อเพียงคนเดียว

ปัจจุบันพรรณอร คือสาววัย 25 ที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยได้เพียงปีเศษ พื้นเพดั้งเดิมเป็นชาวอำเภอเมืองจังหวัดลพบุรี เธอเติบโตมาในครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยสู้ดีนัก พ่อมีอาชีพขายปาท่องโก๋ กระนั้นทั้งสองก็มีความสุขตามอัตภาพไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตคือความทุกข์ยากแต่อย่างใด

“ตอนวัยเด็กที่อยู่ลพบุรีเราไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตมันเป็นทุกข์อะไรมาก จริงอยู่ที่เราอาจจะยากจนไม่มีบ้านเป็นของตัวเองต้องอาศัยบ้านญาติซึ่งเป็นตึกเก่าๆ ในห้องแคบๆ แต่เราก็อยู่ได้ ส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนี้ก็อาจเป็นเพราะเรามีพ่อด้วย แล้วพ่อก็ไม่ได้เป็นพ่อแค่อย่างเดียว แต่ยังเป็นทั้งแม่ ทั้งพี่ ทั้งเพื่อนอยู่ในคนเดียวกัน เวลามีอะไรไม่ว่าดีหรือแย่เราจะเล่าให้พ่อฟังทั้งหมดไม่เคยปิด อกหักก็คุยกับพ่อ ทะเลาะกับเพื่อนก็คุยกับพ่อ ออกไปทำงานหาเงินได้ครั้งแรกก็บอกพ่อเอาเงินให้พ่อ คือพ่อเป็นทุกอย่างจริงๆ แล้วด้วยความที่เราโตมากับพ่อ เราก็จะมีนิสัยแมนๆ ลุยๆ ไม่กลัวความยากลำบาก พ่อจะเลี้ยงเราแบบค่อนข้างให้อิสระ ให้เลือกใช้ชีวิตและตัดสินใจด้วยตัวเอง เราจึงออกจะโตกว่าเด็กรุ่นเดียวกัน”

แน่นอนว่าเมื่อเติบโตขึ้นการตัดสินใจเรื่องใดๆ ก็ตามในชีวิต ย่อมมีขนาดใหญ่และสำคัญมากขึ้นตามลำดับ หลังเรียนจบชั้นมัธยมปลาย พรรณอรสอบได้ทุนเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในเมืองหลวง หญิงสาวต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรดีกับชีวิตระหว่างอยู่ที่ลพบุรีต่อไป หรือไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ที่มีโอกาสและทางเลือกทางการศึกษามากกว่า นี่เป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายนักสำหรับเด็กสาวอย่างเธอ

หลังจากตัดสินใจอยู่นานในที่สุดพรรณอรก็เลือกอย่างหลัง อย่างไรก็ตาม ในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย และราคาที่ต้องจ่ายของเธอ ก็คือการต้องพลัดพรากจากพ่อผู้ชายที่รักที่สุดในชีวิต

โดดเดี่ยว

ชีวิตนักศึกษาในเมืองหลวงของพรรณอรไม่ใช่ชีวิตที่ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนหลายคนในมหาวิทยาลัย

ในขณะที่เพื่อนส่วนใหญ่มีครอบครัวคอยสนับสนุน ใช้จ่ายอย่างไม่เดือดร้อน เด็กสาวจากลพบุรีกลับต้องทำงานส่งตัวเองเรียน ต้องจ่ายทั้งค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเช่าหอพัก ค่ากินค่าอยู่ ฯลฯ รวมทั้งต้องต่อสู้กับความคิดถึงและเป็นห่วงพ่อผู้ให้กำเนิด

“พ่อก็ส่งให้บ้างเดือนละประมาณ 2 , 000 บาทแต่เราก็ไม่ค่อยอยากจะเอาเงินจากพ่อ เพราะพ่อก็ไม่ค่อยมีเงินมากนักยกเว้นบางเดือนที่เดือดร้อนจริงๆ เราเลยทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ก็พอส่งตัวเองรอดได้ มีใช้ไปแบบเดือนชนเดือน”

พรรณอรทำงานทุกอย่างที่ได้เงินแต่ไม่ผิดศีลธรรมและกฎหมายไม่ว่าจะเป็น การขายของออนไลน์ เป็นพนักงานร้านไอศกรีม รับจ้างตามงานอีเว้นท์ ไปจนถึงเป็นสาวเชียร์เบียร์ ฯลฯ

หากเปรียบเป็นนกเธอก็คือลูกนกที่จำเป็นต้องออกบินไปอย่างโดดเดี่ยวบนฟากฟ้าก่อนเวลาอันควร แน่นอนว่ามันย่อมมีโอกาสที่จะทำให้เธอแข็งแรงกว่านกตัวอื่น แต่ขณะเดียวกันก็มีสิทธิ์ไม่น้อยที่จะร่วงลงพื้น เนื่องจากไม่มีใครคอยประคองป้องกัน

“มันมีหลายครั้งที่เรารู้สึกโดดเดี่ยว เหนื่อย แล้วก็ท้อมากๆ กลับห้องมาก็ไม่รู้จะคุยกับใครเพราะไม่มีใครที่เรารู้สึกว่าเป็นครอบครัวที่พร้อมจะรับฟังจริงๆ เราก็เลยก็ได้แต่โทรไปร้องไห้กับพ่อ บอกว่าเราเหนื่อยทนไม่ไหว ซึ่งทุกครั้งที่เราแย่ พ่อก็จะบอกว่าให้เราอดทน เดี๋ยวพอเรียนจบเราก็ได้อยู่ด้วยกันแล้ว”

คำพูดของพ่อทำให้ลูกสาวอย่างพรรณอรมีพลังกลับมาต่อสู้กับชีวิตอีกครั้ง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเธอจะกัดฟันเรียนให้จบเพื่อที่จะได้มีเงิน มีงาน และได้ใช้ชีวิตกับพ่ออีกครั้ง

“เราตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบหางานทำได้ เราจะพาพ่อมาอยู่ด้วย”

พรรณอรเรียนจบ 4 ปีตามที่ตั้งใจไว้ และได้งานทำทันที โดยเป็นประสานงานแผนกการตลาดให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง หลังเงินเดือนก้อนแรกออกได้ไม่นาน บัณฑิตจบใหม่ตัดสินใจเช่าบ้านทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นในย่านชานเมือง ก่อนเดินทางกลับลพบุรีเพื่อไปรับพ่อมาอยู่ด้วยกัน


มนุษย์ต่างวัย

การได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับพ่ออีกครั้งน่าจะเป็นชีวิตที่มีความสุข ทว่าในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่พรรณอรคิดไว้

“ช่วงแรกๆ ที่มาอยู่ด้วยกันก็มีความสุขดีแต่พอเริ่มอยู่ไปสัก 2-3 เดือน ก็เริ่มทะเลาะกัน เนื่องจากมีหลายเรื่องที่เราเห็นไม่ตรงกัน พอเห็นไม่ตรงกันก็เถียงกัน พอเถียงกันมากๆ เข้าก็ต่างคนต่างเงียบไม่คุยกัน

“คือส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าที่เราอยู่กับเขาเมื่อก่อน มันไม่เหมือนกับในตอนนี้ เมื่อก่อนเรายังเด็ก แต่ตอนนี้เราโตแล้วเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราก็มีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้นหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เห็นด้วยจากที่ไม่เคยเถียงเราก็เถียงเขา”

ลูกสาวอายุ 25 ส่วนพ่ออายุ 67 ช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างกันถึง 42 ปี ทำให้โลกของสองพ่อลูกไม่มีทางจะเหมือนกันไปได้ เมื่อคนหนึ่งอยู่ในวัยทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว ขณะที่คนหนึ่งตบเท้าก้าวเข้าสู่วัยชราอย่างเต็มตัว

“อย่างเรื่องของกินก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราทะเลาะกันบ่อย คือพ่อเขาจะเป็นคนจู้จี้เรื่องอาหารการกินมาก เขาจะมีความเชื่อฝังหัวว่าพวกอาหารหมักดอง กึ่งสุกกึ่งดิบ คืออาหารไม่ดีไม่มีประโยชน์ แล้วเราเป็นคนชอบกินอาหารพวกนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นส้มตำปูปลาร้า หอยดอง กุ้งเต้น ฯลฯ เขาก็จะมาคอยบ่น พูดกรอกหูเราว่ากินทำไมอาหารไม่มีประโยชน์ หรืออย่างเขาเป็นโรคเก๊าท์ กินไก่ไม่ได้ เขาก็จะห้ามเราไม่ให้กินไก่ไปด้วย เวลาเรากินส้มตำไก่ย่างก็จะบอกว่ากินทำไมของไม่ดี เราทนไม่ไหวก็เถียงเขากลับไป บอกพ่อไม่ต้องยุ่ง หนูจะกินอะไรมันก็เรื่องของหนู เขาก็บอกว่าเดี๋ยวเป็นโรคแบบเขาขึ้นมาแล้วจะรู้สึก

“นอกจากเรื่องของกินแล้วเรื่องที่พ่อชอบดื่มเหล้าก็เป็นอีกเรื่องที่ทะเลาะกันบ่อย คือพ่อเขาชอบดื่มเหล้า ดื่มแล้วบางทีก็เสียการเสียงานลุกไปขายปาท่องโก๋ไม่ไหว เราก็พูดกับเขาจนเหนื่อย จนตอนหลังก็เบื่อที่จะพูด เราเงียบ เขาก็เงียบ”

นอกจากเรื่องสุราและอาหาร เรื่องการซื้อของใช้เข้าบ้านก็เป็นปัญหาที่ขัดแย้งกัน เมื่อผู้เป็นลูกปรารถนาดีซื้อโทรทัศน์จอแบน   40   นิ้ว หวังให้ผู้เป็นพ่อนั่งดูให้สบายตา แต่ผู้เป็นพ่อกลับบอกว่าจะซื้อมาทำไมทีวีจอตู้เครื่องเก่าก็ยังดูได้

“เราซื้อทีวีเครื่องใหม่ให้ เขาบอกจะซื้อมาทำไมเยอะแยะ บ้านก็ไม่ใช่บ้านเรา ทีวีเครื่องเก่าก็ยังใช้ได้ เราคิดในใจว่าสมัยนี้มีบ้านไหนเขาดูทีวีจอตู้กัน มีแต่พ่อเรานี่แหละ ภาพล้มทีก็ลุกไปเอามือตีข้างทีวีที คือในมุมเราเราก็หวังดีอยากให้เขาได้ดูทีวีใหม่ๆ ส่วนในมุมของพ่อเขาจะอยู่กับอะไรที่เป็นของเก่าๆ ที่เขาเคยใช้ ซึ่งสุดท้ายเมื่อเขาได้ลองดูทีวีของใหม่แล้วรู้สึกว่ามันสบายตากว่าจริงๆ ก็กลายเป็นว่าเขายกทีวีดั้งเดิมของเขาไปให้รถรับซื้อของเก่าด้วยตัวเอง”

เมื่อลูกสาววัยเบญจเพสต้องการสร้างและเปลี่ยนแปลงชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีกว่าแต่ผู้เป็นพ่อวัยเกือบ 70 พึงพอใจและคุ้นชินที่จะอยู่ในโลกใบเดิมก็ยิ่งเป็นการยากที่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข หากทั้งสองฝ่ายไม่ลองที่จะพยายามทำความเข้าใจและปรับตัวเข้าหากัน

“เราเคยตั้งคำถามกับตัวเองในตอนที่ทะเลาะกันบ่อยๆ ว่าสุดท้ายการที่เราเอาพ่อมาอยู่ด้วยจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก ถ้ามันเป็นเรื่องถูกแล้วทำไมเราถึงทะเลาะกัน ไม่พูดกัน จากนั้นเราก็พยายามมองไปในตัวเขา ก็พบว่าการที่พ่อต้องยอมทิ้งชีวิตความเป็นอยู่ ยอมทิ้งสังคมเพื่อนฝูงเพื่อมาอยู่ด้วยกันกับเรา เขาเองต้องปรับตัวไม่น้อยเลย แล้วตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาไม่ว่าเขาจะจู้จี้ขี้บ่นยังไง แต่เขาก็ไม่เคยบ่นเลยว่าคิดถึงที่เก่าที่เขาเคยอยู่ เวลาที่ใครถามเรื่องความเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนข้างบ้าน หรือลูกค้าปาท่องโก๋ พ่อจะหัวเราะแล้วบอกว่าอยู่กับลูกมีความสุขที่สุดแล้ว นั่นทำให้เราคิดได้ว่าถ้าจะมีใครที่ต้องยอมหรือปรับตัวเข้าหาอีกฝ่ายหนึ่งก่อน คนคนนั้นก็ควรจะเป็นเรา แล้วอีกอย่างด้วยวัยและอะไรหลายๆ อย่างเราน่าจะปรับตัวเองได้ง่ายกว่าคนแก่อย่างพ่อที่จะให้ปรับเปลี่ยนอะไรในตอนนี้ก็คงจะยากแล้ว”

พรรณอรปรับทัศนคติและความคิดของตัวเองใหม่ในหลายๆ เรื่อง จากที่เคยมองว่าพ่อเอาแต่ดื่มเหล้าจนตื่นมาขายของไม่ไหว ก็คิดเสียว่านั่นคือกิจกรรมที่มีขึ้นมาให้พ่อได้ทำเพื่อความเพลิดเพลิน ทั้งที่จะว่าไปด้วยอายุพ่อของเธอไม่จำเป็นต้องมาทำงานหารายได้แล้วด้วยซ้ำ ส่วนในเรื่องอื่นๆ เธอก็พยายามมองผ่านและไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ ขณะที่เจริญผู้เป็นพ่อเองเมื่อเห็นว่าลูกสาวปรับตัวดีขึ้น เขาเองก็เปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการพยายามเลิกเหล้าและดื่มให้น้อยลง

“ตอนนี้เราดื่มเหล้าน้อยลงแล้ว และพยายามที่จะเลิกให้ได้ เหตุผลที่ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้มีอะไรหรอก เราอยากให้ลูกสาวดีใจ รวมทั้งเราจะได้มีชีวิตอยู่กับเขาไปนานๆ” 

เวลาเป็นสิ่งที่ไม่ควรรอ

ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกันในครอบครัวยุคปัจจุบัน การรับพ่อจากต่างจังหวัดมาอยู่ด้วยทั้งๆ ที่เพิ่งเรียนจบของพรรณอรเป็นสิ่งที่พบเจอได้ไม่บ่อยนัก

มีคนมากมายที่อยู่ในวัยสร้างเนื้อสร้างตัวเลือกที่จะไม่อยู่กับครอบครัวด้วยเหตุผลที่ต่างกัน บางคนอยากใช้ชีวิตอย่างอิสระ บางคนอยากสร้างฐานะให้มั่นคงก่อน บางคนการต้องทำงานไปด้วยและดูแลพ่อแม่ไปด้วยพร้อมกันเป็นชีวิตที่เหนื่อยเกินไป ฯลฯ ด้วยเหตุนี้การอยู่ห่างกันจึงน่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า

“ก็มีบางคนบอกเราเหมือนกันว่าเอาพ่อมาอยู่ด้วยตอนนี้มันไม่เวิร์คหรอก บางคนบอกว่าสร้างเนื้อสร้างตัว มีบ้านมีรถก่อน ถึงเวลานั้นค่อยรับมาอยู่ด้วยก็ได้ คือเราเข้าใจนะว่าโจทย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเขาอาจจะมีญาติพี่น้องคอยดูแลเขาก็ไม่จำเป็นต้องพาพ่อแม่มาอยู่ด้วย แค่ทำงานส่งเงินกลับไปให้ก็พอ แต่สำหรับเราคำว่าครอบครัวมันมีกันแค่สองคนจริงๆ เพราะฉะนั้นเราจะปล่อยให้เขาอยู่คนเดียวไม่ได้

“อีกอย่างที่เราไม่รอที่จะสร้างตัวให้ได้ก่อน เราอยากบอกว่าเวลามันไม่คอยใคร อย่าลืมว่าพ่อเรา 67 แล้ว เวลาของเขามันเหลือน้อยลงทุกวัน สมมติเราใช้เวลา 10 ปีในการสร้างฐานะ รอให้มีบ้านมีรถ ถึงวันนั้นเขาก็เกือบ80 แล้ว เขาจะยังอยู่กับเราหรือเปล่า ถ้ายังอยู่จะอยู่ด้วยกันได้อีกกี่ปี เมื่อคิดแบบนี้เราเลือกดูแลเขา ใช้เวลาที่เหลืออยู่กับเขาตั้งแต่ตอนนี้ ดีกว่าเมื่อเขาไปแล้วเรามานั่งเสียใจทีหลังว่ายังไม่ได้ทำอย่างนั้นให้ ยังไม่ได้ทำอย่างนี้ให้ ถึงตอนนั้นมันไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว ซึ่งสำหรับเราถ้าเกิดพ่อเป็นอะไรไปตอนนี้จริงๆ เราก็อาจจะเสียใจที่ต้องจากกัน เพราะเรามีความผูกพัน แต่เราจะไม่เสียใจกับตัวเอง ไม่มานั่งโทษตัวเองแน่นอน เพราะเราได้ทำทุกอย่างให้เขาอย่างเต็มที่แล้วในช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน”

หญิงสาววัยเบญจเพสบอกกล่าวด้วยแววตามุ่งมั่นก่อนทิ้งท้ายว่าสิ่งที่เธอทำนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ายกย่องหรือชื่นชมอะไร

“เราไม่รู้สึกว่าเราวิเศษไปกว่าใคร แล้วสิ่งที่เราทำให้พ่อก็ไม่ได้น่ายกย่องไปกว่าคนอื่น คนแต่ละคนมีโจทย์ในชีวิตและความคิดไม่เหมือนกัน เราก็แค่ทำทุกอย่างตามเงื่อนไขชีวิตของเรา แล้วเราก็ไม่ได้ทำเพราะว่าต้องการจะเป็นลูกกตัญญูหรืออะไร

“สำหรับเราสิ่งที่ทำให้พ่อไม่ใช่เรื่องของความกตัญญู แต่เป็นเรื่องของการสร้างความทรงจำดีๆ ในช่วงที่เราได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ