ใบเตย – รพิดา อัชชะกิจ สำหรับเรา ‘สโตรก’ คือโรคพิสูจน์ความเป็นมนุษย์

เรื่องราวของสาวสวยวัย 40 ที่ดูแลแม่วัย 74 ซึ่งป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือ ‘สโตรก’ แน่นอนว่าโรคดังกล่าวไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้คนที่ตัวเองรักเป็นกันทั้งนั้น แต่ในเมื่อชีวิตไม่มีใครเลือกได้ สุดท้ายเธอจึงต้องยอมรับและอยู่กับมัน

ท่ามกลางโรคร้ายที่ทำให้ผู้หญิงที่เคยแข็งแรง กระฉับกระเฉง แคล่วคล่องว่องไวคนหนึ่งกลายเป็นผู้ทุพพลภาพเดินเหินไม่ได้ ต้องนั่งอยู่บนวีลแชร์และสื่อสารแทบจะไม่เป็นคำพูด ผู้หญิงอีกคนกำลังทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้เธอได้มีชีวิตทุกลมหายใจต่อจากนี้อย่างดีที่สุด

“สำหรับเรา ‘สโตรก’ คือโรคพิสูจน์ความเป็นมนุษย์” ผู้เป็นลูกสาวบอกเอาไว้อย่างนั้นก่อนจะผูกเชือกรองเท้าและพาแม่ของเธอซึ่งอยู่บนวีลแชร์ออกไปวิ่งด้วยกัน

ใช่…สองแม่ลูกกำลังอยู่ในงานวิ่งการกุศลแห่งหนึ่ง คนหนึ่งวิ่งด้วยเท้า อีกคนหนึ่งวิ่งด้วยใจ แต่ทั้งคู่ต่างมีเส้นชัยอยู่ที่จุดเดียวกัน

นั่นคือการมีชีวิตอยู่เพื่ออีกคน

ก่อนปีใหม่

ต้นเดือนธันวาคม 2558 ใบเตย-รพิดา อัชชะกิจ กำลังอยู่บนจุด start ในงานวิ่งมาเก๊ามาราธอนที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊าซึ่งเป็นงานวิ่งที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

เส้นชัยของเธอทอดรออยู่อีก 21 กิโลเมตรข้างหน้า นี่เป็นครั้งแรกที่ใบเตยลงวิ่งในระยะฮาล์ฟมาราธอน หลังจากที่ก่อนหน้านี้เธอวิ่งแต่ระยะ Fun Run 5 กิโลเมตร และมินิมาราธอน 10 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนเหตุผลที่เธอเลือกมาวิ่งไกลถึงที่นี่ก็เพราะว่าต้องการพาแม่มาเที่ยวด้วยกันสองคนเหมือนเช่นทุกปี

“ปกติเราจะวางแผนกับแม่ทุกปีอยู่แล้วว่าปลายปีจะเก็บเงินไปเที่ยวกันสองคน จากนั้นก็จะหาจองตั๋วโปรโมชั่นราคาถูกในการเดินทาง เราสองคนทำอย่างนี้ประจำ ความจริงก็อยากพาพ่อมาด้วยเหมือนกันแต่พ่อชอบเที่ยวแบบเป็นทัวร์ จะไม่ชอบลุยๆ แบบพวกเรา เรากับแม่ก็เลยจะวางแผนมาเที่ยวกันสองคนอย่างนี้ทุกปี

“เรากับแม่สนิทกันมาก อาจเพราะเราเป็นลูกสาวคนเดียวแล้วก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน ทำให้มีความเข้าใจกันมาก แต่แม่จะเลี้ยงเราไม่เหมือนลูกผู้หญิง ไม่ประคบประหงมมาก เน้นให้เราดูแลตัวเองได้ แม่เคยบอกว่าถ้าเราโตแล้วไม่ต้องมาเลี้ยงเขาก็ได้ แค่อย่าสร้างภาระให้เขาก็พอ

“แม่ย้ำเสมอว่าเราสองคนจะไม่เป็นภาระซึ่งกันและกัน”

ลลิตา อัชชะกิจ ยืนส่งเสียงเชียร์และรอลูกสาวอยู่ที่เส้นชัย แม้ตัวเลขชีวิตในขณะนั้นกำลังจะขึ้นต้นด้วยเลข 7 แต่เธอก็ยังดูแข็งแรงคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง ผิดกับคนวัยเดียวกัน

“ถึงแม้ในตอนนั้นจะอายุเข้า 70 แล้ว แต่แม่ยังดูเก๋ ด้วยความที่เป็นดีเจมาก่อนทำให้เขาเป็นคนค่อนข้างทันสมัย และดูเป็นคนคล่องแคล่ว ว่องไวอยู่ตลอดเวลา แม่ดูไม่แก่แล้วก็ดูแข็งแรง เป็นคนที่ยังดูสนุกกับชีวิตที่สำคัญเขาเป็นคนพักผ่อนเพียงพอ อาหารที่เขาทานก็ดี ไม่หวาน มัน เค็ม และถึงแม้เขาจะไม่ออกกำลังกายแต่เขาก็ตื่นตัวไม่อยู่นิ่ง คือดูแล้วไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายอะไรแบบเฉียบพลัน”

หลังพิชิต 21 กิโลเมตรแรกในชีวิตได้สำเร็จ ใบเตยก็พาแม่ของเธอช็อปปิ้งด้วยกันที่มาเก๊าก่อนจะบินกลับเมืองไทยในอีก 4 วันถัดมา

ลมหนาวในเดือนสุดท้ายของปีเป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนน่าจะกำลังมีความสุข เนื่องจากอีกไม่นานก็จะถึงวันขึ้นปีใหม่ สองแม่ลูกแห่งตระกูลอัชชะกิจก็เช่นกันทั้งคู่รวมถึงผู้เป็นพ่อนัดหมายกันว่าจะไปกินข้าวกันในวันแรกของปี 2559

“จำได้ว่าวันที่ 30 ธันวาคม เรายังโทรศัพท์ไปคุยกับแม่อยู่เลย แม่ยังบอกเลยว่าปีนี้คงไม่สวดมนต์ข้ามปีเหมือนที่ผ่านๆ มา ก็เลยตกลงกันว่าจะพาพ่อกับแม่ไปทานข้าวนอกบ้านกันพร้อมหน้าครอบครัว”

อาหารมื้อพิเศษพร้อมหน้าทุกคนในครอบครัวน่าจะเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีไม่น้อย

บรรยากาศแห่งความสุขกำลังมาถึงในไม่ช้า…แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้เกิดขึ้น

ของขวัญปีใหม่ที่ไม่ต้องการ

1 มกราคม 2559 โทรศัพท์ของใบเตยดังขึ้นในเวลาราวบ่ายโมง พ่อของเธอซึ่งอยู่ปลายสายโทรมาบอกว่า แม่ไม่สบาย ขณะนี้อยู่ที่โรงพยาบาล และหมอวินิจฉัยว่าอาจจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือที่ผู้คนทั่วไปเริ่มรู้จักและเรียกกันว่า ‘สโตรก’

“เราไม่เคยรู้จักโรคนี้มาก่อน ก็เลยเปิดดูข้อมูลในโทรศัพท์ว่าโรคนี้คือโรคอะไร มีอาการเป็นอย่างไร พอได้รู้ว่ามันคือโรคที่เกิดจากความดันที่สูงมากจนทำให้เส้นเลือดในสมองเกิดภาวะตีบ แตก หรือตัน ซึ่งผู้ป่วยมีโอกาสที่จะเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือไม่ก็นอนเป็นผักทำอะไรไม่ได้ จำได้ว่าตอนที่อ่านข้อมูลนี่เราขนลุกตลอดทาง ภาวนาขออย่าให้แม่เป็นเหมือนสิ่งที่เราอ่าน”

คำภาวนาของสาวสวยไม่เป็นผล พระเจ้าได้มอบของขวัญปีใหม่ที่ไม่ต้องการให้กับใบเตย แม่ของเธอมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบในตำแหน่งแกนสมอง ซึ่งเป็นจุดที่ละเอียดอ่อน ส่งผลให้สูญเสียการควบคุม ไม่สามารถเดิน พูด กลืน และกินได้เหมือนปกติ

“หมอบอกว่าตำแหน่งที่แม่เป็นค่อนข้างละเอียดอ่อน ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ ทำได้แค่ให้ยาสลายลิ่มเลือด แล้วหมอก็ตอบไม่ได้ว่าสุดท้ายแม่จะกลับมาได้แค่ไหน แต่ที่แน่ๆ เลยต่อจากนี้ไปแม่จะต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด”

ท่ามกลางความมืดมิดใบเตยพยายามมองหาแสงสว่างในชีวิตด้วยการเดินไปข้างหน้าและยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น

“ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตมันเกิดขึ้นเร็วมาก จนเราไม่มีเวลาแม้แต่จะร้องไห้ ตอนนั้นเมื่อรู้ว่ายังไงก็เลี่ยงไม่ได้แม่ต้องเป็นสโตรก ต้องพิการแน่ๆ แล้ว เราบอกกับตัวเองเลยว่าเป็นก็เป็นวะ แต่จะทำยังไงให้ทุกอย่างมันดีที่สุดหลังจากวันนี้ จากนั้นเราก็มานั่งคิดว่าเราต้องเตรียมอะไรบ้าง”

ในขณะที่กำลังนึกไปถึงสิ่งที่ต้องพบเจอในอนาคต อยู่ๆ ใบเตยก็หวนนึกไปถึงคำพูดประโยคหนึ่งที่แม่เคยย้ำกับเธอไว้

‘เราสองคนจะไม่เป็นภาระซึ่งกันและกัน’

“เรานึกไปถึงประโยคนี้ แล้วก็กุมมือแม่ขึ้นมาบอกกับเขาว่า แม่ไม่ได้เป็นภาระของหนูนะ ไม่ว่าใครจะคิดหรือมองว่ายังไง ขอให้รู้ไว้ว่าสิ่งที่แม่เป็นอยู่ แม่กำลังให้หนู ให้หนูได้มีโอกาสตอบแทนแม่ ให้หนูได้มีโอกาสเป็นลูกที่ดี และแม่กำลังให้หนูได้เป็นคนเต็มคนจริงๆ”

เมื่อพูดเสร็จใบเตยกุมมือแม่เธอเอาไว้อย่างนั้น

หลังจากปีใหม่วันนั้น สองแม่ลูกก็ไม่เคยอยู่ห่างกันอีกเลย

บนความเปลี่ยนแปลง

จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้วที่ใบเตยดูแลแม่ที่เป็นสโตรกอยู่ไม่เคยห่าง หญิงสาววัย 40 ยอมรับว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบ้านช่องห้องหอ การงาน ไปจนถึงการใช้ชีวิต

“หลังจากแม่เป็นสโตรก สิ่งที่เราทำการปรับเปลี่ยนก่อนเลยก็คือเรื่องของตัวบ้าน เราปรับบ้านใหม่แทบทั้งหมด เราทุบบันไดหน้าบ้านแล้วทำเป็นทางลาด เพื่อให้วีลแชร์จะได้เข้าได้สะดวก ในห้องน้ำนอกจากทำทางลาดด้วยแล้ว เราก็ทุบอ่างล้างมือพร้อมกับเอาที่กั้นอาบน้ำทิ้งให้เป็นพื้นโล่ง เพื่อจะได้ย้ายแม่ลงมานั่งเก้าอี้อาบน้ำของผู้ป่วยได้ นอกจากนั้นในเรื่องของเตียงเราก็ต้องเปลี่ยนเป็นเตียงที่มีการปรับระดับได้ เนื่องจากถ้าเอาแต่นอนอย่างเดียวปอดแม่จะไม่แข็งแรง”

ไม่ใช่แค่เรื่องของที่อยู่อาศัยที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อแม่ทั้งหมด หากแต่ใบเตยยังตัดสินใจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตด้วยการลาออกจากงานประจำ รวมถึงลดการเสพติดของกินของใช้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นความสุขในชีวิต

“เมื่อก่อนเราทำงานประจำเป็นเซลล์ขายรถ แล้วก็จ้างพี่เลี้ยงมาดูแม่ แต่พอทำงานไปเรารู้สึกไม่ดีเลย มันเครียดมากเพราะเรารู้สึกว่า เราต้องพยายามดันยอดขายรถให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะให้ได้เงินเยอะๆ มารักษาดูแลแม่ ขณะที่ตอนทำงานอยู่ เราก็เป็นห่วงแม่ตลอดเวลา แม่เขาจะมีความสุขไหมที่คนดูแลเขาเป็นใครก็ไม่รู้ แล้วพี่เลี้ยงเขาเอาอะไรให้แม่กิน เขาทำอะไรกับแม่บ้าง สุดท้ายกลายเป็นว่ามันไม่ดีสักทาง งานเราก็ทำได้ไม่ดี ขณะที่แม่ก็ไม่ได้รับการดูแลที่ดีที่สุด จริงอยู่ที่เงินก็จำเป็น แต่ถ้ามีเยอะมากแล้วทั้งชีวิตกับแม่ชีวิตเราไม่ได้รับสิ่งที่ดีจริงๆ มันจะกลายเป็นว่าเราทำหน้าที่เป็นเครื่องจักรในการหาเงินมากกว่าที่จะทำหน้าที่ดูแลแม่ สุดท้ายเราก็เลยลาออกแล้วเลือกที่จะทำงานอิสระที่สามารถดูแลแม่ไปด้วยพร้อมกันได้ รายได้อาจจะลดลงบ้างแต่ทั้งแม่และเราต่างก็มีความสุขมากขึ้น

“เราก็แค่จัดการการใช้จ่ายเงินใหม่ อะไรที่สิ้นเปลืองอย่างเช่นเมื่อก่อนเคยซื้อของ หรือดื่มกาแฟแพงๆ แก้วละเป็นร้อย วันละ 2-3 แก้ว เราก็เลิกหมดทุกอย่าง คอนโดฯที่ผ่อนอยู่เราก็ตัดสินใจขาย แล้วก็มาอยู่กับแม่ หรืออย่างถ้าเราอยากพาแม่ไปดูหนัง หรืออยากพาแม่ไปเที่ยวต่างประเทศเพื่อให้เขารู้สึกมีความสุข เราก็จะเข้าไปชิงโชคลุ้นตั๋วรางวัล ถ้าไม่ได้ก็ไม่ซีเรียส ไม่เป็นไร เราก็ใช้ชีวิตดูแลเขา แล้วก็มีความสุขตามอัตภาพของเราสองคน”

ทุกวันนี้ใบเตยดูแลแม่วัย 74 ปีของเธออย่างดี ตั้งแต่ปลุกตื่นนอน ป้อนข้าว อาบน้ำ พาไปเที่ยว กายภาพบำบัด ฝึกออกเสียง วัดความดัน ควบคุมอาหาร ไปจนถึงคอยตรวจสอบค่าน้ำตาลไม่ให้สูงเกินไป นอกจากนี้หากมีเวลาว่างหรือโอกาสเอื้ออำนวย หญิงสาวก็จะพาแม่ลงแข่งขันวิ่งมินิมาราธอน โดยเธอจะออกวิ่งพร้อมกับเข็นวีลแชร์ของผู้เป็นแม่ไปด้วยกัน

“เราไม่ใช่แค่ดูแล แต่ต้องพยายามทำให้แม่แข็งแรงขึ้นด้วย จริงอยู่ว่าอาจกลับมาเป็นปกติไม่ได้ แต่เราจะทำอย่างไรให้ในท่ามกลางความไม่สมบูรณ์นี้ เขามีความสุขและมีคุณภาพให้มากที่สุด เราฝึกแม่ใหม่หมดเหมือนกับเขาเป็นเด็กอีกครั้ง ซื้อโต๊ะแบบเรียน ก ไก่ ข ไข่มาเลย เพื่อให้หัดอ่านออกเสียง ขณะเดียวกันก็ทำกายภาพบำบัดอยู่ตลอด ฝึกให้เขาลองสัมผัส ลองเคลื่อนไหว แล้วก็พูดคุยกับเขาบ่อยๆ

“โดยส่วนตัว เราเองมีความเชื่อว่ามนุษย์คือสัตว์สังคม เราเชื่อว่าเขาจะเรียนรู้จากการออกไปพบเจอผู้คน ทุกครั้งที่เราไปวิ่ง หากดูแล้วมีงานไหนที่บรรยากาศดีๆ เหมาะกับแม่ เราก็จะพาแม่ไปวิ่งด้วยกัน เราเข็นไป แม่ก็ชมวิวข้างทางไป ระหว่างทางก็จะคอยมีคนส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจตลอดทาง ซึ่งเขาก็รับรู้ได้และรู้สึกมีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

จากคนที่เคลื่อนไหวและสื่อสารอะไรไม่ได้ พูดได้ว่าแทบจะมีสภาพไม่ต่างจากผัก ปัจจุบันหญิงวัย 74 ปีมีพัฒนาการที่น่าพึงพอใจ สามารถที่จะสื่อสารออกมาเป็นคำได้ รวมทั้งสามารถเคลื่อนไหวร่างกายซีกซ้ายได้เกือบจะเท่าปกติ

“ทุกวันนี้แม่สามารถนั่งเองได้ ใช้มือซ้ายหยิบจับของเอง เตะขาซ้ายได้เอง แต่อาจจะยังพูดสื่อสารเป็นประโยคยาวๆ ไม่ได้ ได้แต่เป็นคำๆ ที่แม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าเราฝึกและดูแลเขาหรอก แต่เป็นเพราะตัวแม่เองไม่ยอมแพ้ด้วย เขาฝึกฝน พยายามที่จะเป็นคนที่แข็งแรงขึ้นอยู่ทุกๆ วัน

“ตั้งแต่วันที่ล้มป่วยไม่มีวันไหนเลยที่แม่จะอยู่เฉยๆ ไม่ยอมพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น การต่อสู้กับตัวเองของแม่ทำให้ลูกอย่างเรา อยากที่จะอยู่ข้างๆ เขา แล้วร่วมต่อสู้เผชิญหน้ากับปัญหาไปด้วยกัน”

สโตรกทำร้ายแม่ได้ก็แต่เพียงความสมบูรณ์ของร่างกาย หากแต่ไม่ได้ทำให้ความแข็งแกร่งของหัวใจลดน้อยลงไปแม้แต่นิดเดียว

สโตรกไม่ใช่โรคของคนแก่

ทุกครั้งที่พาแม่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ใบเตยได้พบกับความจริงข้อหนึ่งว่าแท้จริงแล้วสโตรกไม่ใช่โรคของคนแก่อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ

“ตอนแรกเราก็มีความเข้าใจว่าสโตรกน่าจะมีแต่ผู้สูงอายุหรือวัยกลางคนที่จะเป็นเท่านั้น แต่พอไปโรงพยาบาลถึงได้เห็นว่ามีคนหนุ่มสาวที่เป็นสโตรกอยู่ไม่น้อยเลย จำได้ว่าทุกครั้งที่พาแม่ไปหาหมอ เรายิ่งพบผู้ป่วยที่เป็นสโตรกอายุน้อยลงๆ บางคนเป็นผู้ป่วยหน้าใหม่ อายุเพียงแค่ 20-30 ปี บางคนยังเป็นเด็กมหาลัย บางคนเพิ่งเข้าสู้วัยทำงานไม่กี่ปี ขณะที่บางคนยังเป็นเด็กเล็กอายุแค่ไม่กี่ขวบ”

ความจริงที่เห็นตรงหน้าทุกครั้งที่มาโรงพยาบาลทำให้ใบเตยเกิดความสงสัย วันหนึ่งเมื่อมีโอกาสเธอจึงเดินตรงเข้าไปถามคุณหมอ ก่อนจะได้คำตอบที่ได้ทั้งความรู้และเป็นที่น่ากังวลใจอยู่ในคราวเดียวกัน

“คุณหมอที่ทำการรักษาคุณแม่บอกว่าสโตรกไม่ใช่โรคที่เป็นเฉพาะคนแก่ ปัจจุบันมีหนุ่มสาวหลายคนเป็นสโตรกกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Young Stroke สโตรกนั้นยังสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม นั่นทำให้เด็กเล็กๆ บางคนก็มีสิทธิที่จะเป็นสโตรกได้

“สาเหตุที่ทำให้คนเป็นสโตรกเกิดจาก การบาลานซ์ชีวิตที่ไม่ดี ซึ่งก็อาจมาจากการทานอาหารที่ทำร้ายร่างกาย การพักผ่อนไม่เพียงพอ การไม่ออกกำลังกาย รวมทั้งที่สำคัญเลยคือความเครียดความกังวล ซึ่งจะส่งผลให้ความดันขึ้นสูงจนทำให้เกิดการแตก ตีบ ตันของเส้นเลือดในสมองได้ ซึ่งแน่นอนว่าคนในสมัยนี้ก็เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเป็นสโตรกตั้งแต่อายุยังน้อย”

เมื่อได้รับรู้ข้อมูลใบเตยพยายามที่จะใช้ชีวิตโดยไม่พาตัวเองไปอยู่ในปัจจัยเสี่ยง เธอทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมองโลกในแง่ดี

“เราพยายามไม่สร้างเหตุปัจจัยขึ้นมา เพราะถ้าเราเป็นอะไรไปอีกคน มันไม่ได้จบที่เราคนเดียว แต่แม่เราจะโดนผลกระทบไปด้วย เราถึงต้องทำตัวเองให้แข็งแรง ที่เราออกวิ่งทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะได้ดูแลแม่ต่อไปนานๆ

“ทั้งแม่และเราต่างมีชีวิตอยู่เพื่อกันและกัน”

Credits

Author

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ