ฟาร์มยูทูปเบอร์ ‘กรองกาญจน์ เพชรแอน’ สุขเลือกได้ในสังคมสูงวัย เมื่อบ้านฉันอยู่หลังภูเขาไฟฟูจิ

“ทำงานมาเหนื่อยๆ แค่ได้นั่งมองยอดภูเขาไฟฟูจิ ก็มีพลังและสดชื่นเลย”

ถ้าถามว่าความสุขคืออะไร คำตอบคงแตกต่างตามประสบการณ์ เงื่อนไข และเป้าหมายชีวิต แต่ความสุขของ อันจัง-กรองกาญจน์ เพชรแอน ฟังดูเรียบง่ายกว่าที่คิด

อันจัง คือสาวไทยที่ลาออกจากงานแล้วไปตะลุยโครงการ WWOOF Japan (World Wide Opportunities on Organic Farms) หรือโครงการอาสาสมัครในฟาร์มญี่ปุ่นเมื่อ 7 ปีก่อน ตอนนี้เธอปักหลักเป็นเกษตรกร แม่บ้าน พนักงานเซเว่นในอำเภอฟูจิโนะมิยะ จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น พ่วงตำแหน่งยูทูปเบอร์เจ้าของช่อง อันจัง Channel และเฟซบุ๊กเพจ อันจัง Channel บ้านฉันอยู่หลังเขาฟูจิ

คลิปอันจังตามคุณยายข้างบ้านไปเก็บเกาลัด พาเดินป่าชมยอดฟูจิซัง How To ปลูกผักไทยในญี่ปุ่น สอนทำลูกพลับตากแห้ง อันจังรีวิวบ้านในชนบทญี่ปุ่น และอีกมากมาย นับเป็นเรื่องเล่าอุ่นๆ เรียบง่าย จริงใจ และตรงไปตรงมา กลายเป็นเสน่ห์พาเราเพลินไปกับชนบทญี่ปุ่นในมุมที่ไม่ค่อยได้เห็น ฟังดูเป็นชีวิตที่น่าอิจฉา แต่ตลอดการพูดคุยกับอันจังทำให้รู้สึกว่า ชีวิตนั้นมีสารพัดแง่มุม มีวันที่หัวใจพองโตและวันที่เงียบเหงา มีวันทุกข์สลับกับวันสุขเป็นธรรมดา เพราะมันคือธรรมชาติของชีวิตนั่นเอง

มนุษย์ต่างวัยชวนคุณเดินทางสู่ชนบทของญี่ปุ่น สำรวจความเป็นรัฐสวัสดิการ เคล็ดลับอายุยืนจากการทำงานตลอดชีวิต และการไม่หยุดเดินของผู้สูงวัยชาวญี่ปุ่น ซึมซับวิถีชีวิตของชาวไทยในสังคมสูงวัยใกล้ภูเขาไฟฟูจิ ที่ซึ่งเธอได้เรียนรู้แนวคิดสู่ความสุขแห่งชีวิตอันยืนยาว ที่ตั้งอยู่บนวัฏจักรของธรรมชาติที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล ซึ่งความเคารพในธรรมชาติย้อนคืนกลับมาเป็นความเคารพตัวเอง

เมื่อบ้านฉันอยู่หลังเขา (ฟูจิ)

เพราะไม่ได้เกิดและเติบโตญี่ปุ่น อาจเป็นเหตุผลให้ อันจัง ที่เพิ่งย้ายมาอยู่ในบ้านหลังเขาหลงใหลภูเขาไฟฟูจิ

นอกจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เพราะทิวทัศน์งดงาม ความเป็นปริศนา และเป็นศูนย์รวมความศรัทธามาแต่โบราณ ฟูจิซังยังเป็นภูเขาที่สูงสุดในญี่ปุ่นมีทะเลสาบทั้ง 5 ล้อมรอบ แม้จะเป็นภูเขาลูกเดียวกันแต่เรามักเห็นภาพฟูจิซังในหลากหลายอารมณ์

“จากแปลงปลูกผักเราจะเห็นภูเขาไฟฟูจิ เลยสังเกตเห็นว่าแต่ละวันเค้าไม่เหมือนกัน นอกจากบรรยากาศในแต่ละจุดที่ต่างกัน แสงเช้ากับแสงเย็นก็เห็นต่างกัน แต่ละฤดูก็ต่างกัน อย่างช่วงหน้าหนาวพระอาทิตย์อยู่ทิศตะวันออกทั้งวัน ตกเย็นสาดมาเป็นสีแดงทั่วทั้งภูเขา มองทีไรก็หลงรักภูเขาไฟฟูจิ ไม่เบื่อเลยสักวัน”

อันจังเล่าถึงความสุขของชีวิตหลังเขาที่ได้เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ “ถ้าสังเกตดีๆ กลุ่มเมฆบนยอดฟูจิซังถึงคล้ายแต่ก็ไม่ซ้ำกัน คนแถวนี้เรียก ‘ฟูจิพยากรณ์’ ถ้าเป็นรูปร่างร่มเดี๋ยวฝนตกแน่ๆ คนที่นี่ชอบดูฟ้าฝนคาดการณ์อากาศกันเอง บางวันเป็นกลมๆ น่ารัก บางวันเป็นชั้นๆ เรียงขึ้นไป แปลกดีเลยถ่ายรูปเก็บไว้แล้วไปลงในกลุ่มชมรมคนรักมวลเมฆ ปรากฏว่าคนชอบเยอะมากเพราะไม่ค่อยได้เห็นมุมนี้ บางวันฟูจิก็มีเมฆบางวันก็ไม่มี บางวันภูเขาอยู่ตรงหน้าแต่เรามองไม่เห็นเป็นแค่ฝ้าขาวๆ”

ช่วงเวลาของฟูจิซังในช่วงฤดูร้อน ที่เดือนนึงอาจเห็นแค่ครั้งสองครั้ง อาจเพราะญี่ปุ่นความชื้นสูงพอเจอความร้อนเมฆหมอกเยอะ “ฟูจิจะสวยที่สุดในหน้าหนาวค่ะ ถ้าตั้งใจมาชมก็แนะนำช่วงตุลา-พฤษภา แต่ก็ขึ้นอยู่กับดวงในแต่ละวันด้วย”

แม้ฟูจิซังจะเป็นหมุดหมายยอดฮิตของผู้พิชิตทั่วโลก และในแต่ละปีมีนักปีนเขากว่าสองแสนคนขึ้นไปสัมผัสความมหัศจรรย์และพลังความงามบนยอดเขา แต่นักสังเกตการณ์อย่างอันจังพบว่า ชาวเมืองฟูจิโนะมิยะเองกลับไม่ค่อยให้ความสนใจไปเยือนสักเท่าไหร่ ยกเว้นเข้าร่วมงานเทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นในศาลเจ้าใหญ่ของภูเขาไฟฟูจิ ร่วมชมการจุดดอกไม้ไฟบนเขาในช่วงฤดูร้อน และชมขบวนแห่ต่างๆ นอกจากนั้นก็ไม่มีท่าทีอะไรพิเศษ ต่างจากนักท่องเที่ยวเมืองอื่นและประเทศอื่นที่หลั่งไหลมาเดินขึ้นเขาไม่ขาดสาย

“เราชอบมองฟูจิซังมาก แต่เวลาคุยกับคนในเมืองเค้าไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ พอเอาไปแชร์ในเฟซบุ๊กคนสนใจเยอะเราก็สนุกเหมือนมีเพื่อนคุย เวลาไปเที่ยวไหนจะคอยเล็งว่ามุมนี้ดีมุมนั้นสวย กลายเป็นว่าชุมชนออนไลน์นี่แหละที่ทำให้เราหายคิดถึงบ้าน”

ขยับตัว ปรับความคิด เพื่อชีวิตที่เลือกเอง

คำว่าคิดถึงบ้านของอันจังทำให้เราสงสัย ในเมื่ออย่างกับอยู่ในหนัง Little Forest ปลูกผัก เก็บผลไม้ ทำอาหารโฮมเมด ได้ไปปีนเขาใกล้บ้าน ชีวิตที่เปลี่ยนผ่านไปตามฤดูกาล ได้ซึมซับความงามของธรรมชาติ แถมรายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคครบครัน ทำไมอันจังยังคิดถึงบ้าน?

“คนญี่ปุ่นในเมืองเค้าไม่ค่อยสนใจกัน อารมณ์ต่างคนต่างอยู่ ผิดกับคนต่างจังหวัดที่มีเวลาเหลือเฟือ ใจดีเป็นมิตร โดยรวมแล้วชนบทญี่ปุ่นก็คล้ายๆ เมืองไทย ต่างกันตรงอยู่กันเงียบกว่ามาก นึกถึงตอนอันจังอยู่นครปฐม ถึงบ้านห่างกันแต่เรามีงานวัดงานแต่งงานบวช เปิดเพลงเสียงดังกินเลี้ยงทุกเทศกาล เราสามารถคุยกับคนละแวกบ้านได้ ขอโทษล่วงหน้าเอาของไปให้ แต่ที่ญี่ปุ่นไม่ได้เลย

“บ้านไหนเปิดเพลงเสียงดังลอดออกจากบ้านถือเป็นการรบกวน ไม่ว่าจะเมืองหรือชนบทห้ามทำเสียงดังเด็ดขาดไม่งั้นอาจถูกแจ้งความ ที่นี่เลยเงียบมาก เช้าเงียบ กลางคืนเงียบ เคยคิดอยากเข้าไปทำงานในเมืองนะ เพราะมีงานให้ทำเยอะกว่า โอกาสมากกว่า แต่สุดท้ายเราชอบชีวิตที่นี่ มีพื้นที่ให้ได้หายใจและปลูกผัก เราไม่ชอบอยู่ในที่ๆ คนพลุกพล่านจนเกินไป ตัดสินใจถูกแล้ว

จะอยู่ที่ไหนคนญี่ปุ่นก็มีลักษณะนิสัยคล้ายกัน อย่างเรื่องการทักทาย ถ้าเคยเจอหน้าพูดคุยกันแล้ว 2 – 3 ครั้ง คนไทยเราจะมีความกันเองคราวหน้าเจอยิ้มให้ทักทาย แต่คนที่นี่เค้าไม่ได้เปิดรับใครง่ายขนาดนั้นไง และเรื่องมารยาทสำคัญมาก ต่อให้สนิทกันแค่ไหนถ้าจะแวะไปหาที่บ้านต้องบอกก่อนล่วงหน้า เราติดนิสัยไทยๆ ไปทำธุระแถวบ้านเพื่อนก็แวะไปหาโดยไม่ได้บอกก่อนกลายเป็นการเสียมารยาท พวกนี้เราต้องขยันเรียนรู้และปรับตัว จนบางครั้งก็รู้สึกเหงา เลยขยันหากิจกรรมทำแทน”

โชคดีของการอยู่ต่างจังหวัดคือ มีพื้นที่ไว้ปลูกผัก ถ้าเลือกอยู่ในเมืองแทบไม่มีโอกาสเลย อันจังกับสามีเช่าบ้านราคาไม่แพงแต่ที่ดินปลูกผักเช่าฟรี ต้องขอบคุณสามีที่ย้ายมาอยู่เมืองนี้ จริงๆ เค้าเป็นคนเกียวโตแต่สนใจเกษตรเลยมาฝึกงานที่ฟูจิโนะมิยะ จากนั้นก็ออกมาทำของตัวเอง

“ที่นี่ถ้าคนสูงวัยมีที่ดินแต่ทำไม่ไหวเขาจะไปแจ้งทางอำเภอไว้ อำเภอทำหน้าที่เป็นตัวกลางหาคนอยากเช่าที่ดินทำเกษตร เขาให้เช่าฟรีไม่เสียเงิน ปลูกอะไรได้ก็เก็บผลผลิตไปโดยที่เจ้าของไม่เข้ามาวุ่นวาย” เราถามว่าแล้วเจ้าของที่จะได้อะไร “เขาไม่อยากปล่อยพื้นที่ให้รกร้าง แค่เราดูแลให้ดีไม่ให้หญ้าขึ้นรก ปลูกผักผลไม้งามๆ เขาก็โอเคแล้ว แต่เป็นธรรมเนียมที่เราจะเอาผักผลไม้ไปขอบคุณเขาาทุกปี” อันจังเล่า

เจแปนฟาร์มเมอร์ วิถีที่ไม่เคยสโลว์ไลฟ์

ชาวญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องใส่ใจรายละเอียดและเข้มงวด ชาวสวนก็เช่นกัน

“เกษตรออแกนิคที่นี่จะมีแบบปรกติกับแบบเข้มงวด สามีของอันจังเป็นแบบเข้มงวด ซีเรียสมาก เขาาไม่ใช้ปุ๋ยคอกเลยเพราะไม่แน่ใจว่าวัวกินอาหารสังเคราะห์หรือเปล่า เขาเลยใช้วิธีพึ่งธรรมชาติเหมือนสมัยโบราณให้มากที่สุด ทำปุ๋ยหมักเองจากเศษพืชเศษหญ้า พอเอามาปลูกผัก ตัวเรากินเข้าไปแล้วมั่นใจในความปลอดภัยเลยอยากให้คนอื่นได้กินเหมือนกัน แต่เราก็เข้าใจว่าผลไม้บางอย่างจำเป็นต้องใช้เคมี เช่น องุ่น ส้ม แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ ไม่งั้นไม่รอด”

แล้วผักไทยพอเอามาปลูกที่ญี่ปุ่นอร่อยกว่าปลูกบ้านเราไหม “ผักไทยบางอย่างปลูกที่ญี่ปุ่นอร่อยกว่าหรือใหญ่กว่า แต่บางชนิดปลูกในไทยอร่อยกว่า อย่างมะเขือเปราะปลูกที่ญี่ปุ่นใหญ่กว่า พริกขี้หนูมาปลูกที่นี่ก็เม็ดเบ้อเริ่ม ผักชีอีกใหญ่มาก หลายคนบอกผักชีปลูกที่ไทยกลิ่นแรงกว่าอร่อยกว่า อันจังว่าก็แล้วแต่คนชอบ”

“แต่ก่อนสามีทำเกษตรปลูกผักขายเต็มตัว อันจังมาเจอเขาเพราะเป็นอาสาสมัครเกษตรนี่แหละ เขาลงทุนไปเยอะ แต่เสียหายหนักเพราะเจอพายุบ่อย เป็นอย่างนี้ติดต่อกันหลายปีสุดท้ายต้องหยุดทำ ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรญี่ปุ่นคือ พายุและอากาศหนาว ยิ่งปลูกแบบออแกนิคเราพึ่งพิงธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ผลผลิตช่วงพายุเข้าแทบเก็บไม่ได้

การปลูกผักในญี่ปุ่นเขาจริงจังเรื่องระยะเวลามาก บนซองจะระบุว่าผักชนิดนี่ปลูกในหน้าหนาวหรือหน้าร้อน ต้องเพาะเมล็ดเดือนไหน เราเคยปลูกช้าไปนิดเดียวปรากฏไม่ได้กิน ผักโตนะแต่พออากาศเปลี่ยนออกลูกไม่ทัน ฤดูกาลเขาชัดเจนแตกต่างจากบ้านเรา หลายๆ เรื่องเขาถึงต้องเป๊ะมาก เพราะผลกระทบมันเยอะ ผักที่อันจังปลูกไม่สำเร็จคือ

แม้ปัญหามากมายแต่ความดีงามของวงการตลาดเกษตรในญี่ปุ่นคือ มีช่องทางปล่อยของเยอะ โดยเฉพาะผ่านทางออนไลน์ เพราะผู้คนนิยมจับจ่ายผ่านช่องทางนี้ แม้บางครั้งผักออแกนิคจะมีตำหนิประปรายก็ยังมีตลาดออนไลน์ที่ขายเฉพาะผักเหล่านี้รองรับ

“เกษตรกรญี่ปุ่นมีช่องทางขายเยอะ เกษตรกรรุ่นใหม่หันมาขายทางออนไลน์และส่งตามร้านอาหารที่ต้องการวัตถุดิบออแกนิคโดยเฉพาะ คนแถวนี้เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงแล้วเล่าให้เราฟังว่า สมัยนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เกษตรกรจะส่งผักผลไม้ให้กับสหกรณ์อย่างเดียว นอกจากเรื่องการกดราคาที่เกษตรกรสูงวัยมักโดน เพราะไม่ถนัดซื้อขายผ่านออนไลน์แล้ว เรื่องการใช้สารเคมีก็เป็นประเด็น เพราะสหกรณ์เป็นคนขายปุ๋ยเคมีเองและไม่ได้คำนึงถึงวิธีการปลูกว่าใช้สารเคมีหรือไม่

“เกษตรกรรุ่นใหม่ๆ ที่ปลูกแบบออแกนิคจึงไม่ใช่ลูกค้าสหกรณ์ พอมีระยะห่างมากๆ คนที่ปลูกแบบออแกนิคและสหกรณ์เลยไม่ถูกกัน คนรุ่นใหม่จึงรวมกลุ่มและช่วยกันหาตลาดเอง และพร้อมมีคนรอซื้อผักผลไม้ปลอดภัยแบบนี้ทั่วประเทศ”

ประเทศที่อยากให้ ‘วัยเกษียณ’ ทำงานเพื่อตัวเอง

“ช่วงบ่ายอันจังเลือกไปทำงานที่เซเว่นวันละห้าชั่วโมง รายได้อาจจะไม่มากนักแต่เราชอบที่ได้เจอคนได้พูดคุย เขาจะจำกันได้ว่าเราเป็นคนไทยที่ทำงานในเซเว่นเลยรู้จักคนทั้งหมู่บ้าน ที่ญี่ปุ่นมีนโยบายเอื้อให้คนทำงาน อย่างบ้านเราถ้าลาออกจากงานเป็นแม่บ้านโอกาสจะหาทำงานพาร์ตไทม์ทำได้น้อยมาก หรือถ้าเกษียณแล้วก็ไม่ค่อยมีคนจ้าง

“แต่ที่ญี่ปุ่นกลับกัน เขาไม่จำกัดอายุ ขอแค่มีความรับผิดชอบทำงานได้ ในแต่ละอำเภอจะมีบริษัทจัดหางาน ส่วนเราผู้สมัครก็ระบุได้ว่าสะดวกทำงานอาทิตย์ละกี่วัน วันละกี่ชั่วโมง เลือกให้ตรงกับการใช้ชีวิตของเรา หลังอายุ 60 ปีเขาก็รับนะ อันจังเคยสมัครโรงงานเบนโตะ (ทำข้าวกล่อง) เจอคนสูงอายุเยอะมาก ทีแรกเราก็ติดทัศนคติว่าทำไมลูกๆ ถึงปล่อยให้พ่อแม่มาทำงานลำบาก ทำไมไม่เลี้ยงดูให้สุขสบาย แต่เปล่าเลยคนญี่ปุ่นได้รับเงินเกษียณจากภาครัฐใช้ทุกเดือน

“เขามาทำงานเพราะอยากทำไม่ปล่อยให้ตัวเองว่าง แถมได้เงินนิดๆ หน่อยๆ มาใช้ชีวิต ด้วยทัศนคติว่าเมื่อลูกโตก็ให้เขาไปใช้ชีวิตของตัวเอง พ่อแม่ก็มีชีวิตของตัวเองเช่นกัน ภาพคนสูงวัยไปทำงาน ขับรถ ไปเที่ยวกันเอง จึงกลายเป็นเรื่องปรกติ นอกจากคนป่วยที่อยู่บ้านเดินไม่ค่อยสะดวกก็มีลูกหรือ Helper เป็นผู้ช่วยจากหน่วยงานรัฐแวะมาดูแลพาไปหาหมอ   แต่ถ้าใครร่างกายแข็งแรงก็ไปทำงานวันละอาจ 3- 4 ชั่วโมง”

สุขภาพยืนยาว เริ่มต้นจากการเดิน

เพราะเป็นรัฐสวัสดิการและมีสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต แม้จะไม่สะดวกสบายเท่าในเมืองแต่ผู้สูงวัยในชนบทก็ยินดีกับชีวิตที่สงบกว่า อากาศดีกว่า พื้นที่เยอะกว่า และการเดินนี่แหละคือเคล็ดลับอายุยืนที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน

“คนสูงวัยที่นี่เดินจากบ้านไปขึ้นรถเมล์ประมาณ 1 กม. สบายๆ ด้วยพื้นที่เป็นหุบเนินก็เหมือนได้ออกกำลังกายทุกวัน ทางเดินถูกออกแบบมาดี ปลอดภัย ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ ที่นี่ไม่มีวินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ก็แพงแต่บัตรผู้สูงวัยลดราคาได้ อันจังทำงานเซเว่นเจอลูกค้าสูงวัยเยอะ เขาเดินจากบ้านมาซื้อของไกลมาก ขากลับถ้าซื้อเยอะก็ให้เราช่วยกดโทรศัพท์เรียกแท็กซี่ให้ แท็กซี่จะมารับที่เซเว่นแล้วไปส่งถึงบ้าน เลยทำให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างสบายใจ”

นอกจากเดินในหมู่บ้าน การเดินขึ้นเขาก็เป็นกิจกรรมยอดฮิตในหมู่ชาวเกษียณ เพราะญี่ปุ่นมีภูเขาเยอะครอบคลุมทุกจังหวัด มีรายละเอียดบยิบย่อยสร้างความมั่นใจให้กับนักเดินเขา

“นักเดินเขามือใหม่หายห่วงเพราะมีหนังสือไกด์บุ๊ค และมีคอร์สเดินเขาสั้นๆ ให้ได้ลอง ส่วนในอินเทอร์เน็ตมีแนะนำการปีนภูเขา ไล่ระดับตั้งแต่ง่ายไปจนยาก ทางขึ้นก็มีป้ายบอกข้อมูลครบ ถึงขั้นคำนวนให้เลยว่าระยะททางนี้ไปถึงจุดนี้ใช้เวลาเท่าไหร่ กี่ชั่วโมง เพื่อให้คนเดินแพลนเวลาได้อย่างปลอดภัย ส่วนทางเดินไม่น่ากลัว ไม่เปลี่ยว ไม่รก ยกเว้นเขาลูกที่เดินยากๆ จะไม่ค่อยมีคนเท่าไหร่

“อย่างฟูจิซังมีทั้งหมด 9 ชั้น อันจังก็เคยไปเดิน มีทั้งแบบขึ้นลงได้ภายในวันเดียวและแบบที่ต้องขึ้นไปพักบนนั้น ปรกติเรามองฟูจิซังข้างล่างแล้ววันหนึ่งได้ขึ้นไปเดินให้ความรู้สึกต่างกันมาก ระหว่างทางเดินขึ้นก็แอบคิดว่า ฉันจะมาลำบากทำไม นั่งมองเฉยๆ ก็ดีอยู่แล้ว แต่พอปีนถึงยอดปุ๊บน้ำตาไหลพรากเพราะเราทำสำเร็จแล้ว ได้เห็นวิวที่มองจากยอดเขาและพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้ามันสวยมาก เติมพลังสุดๆ”

ความสุขของยูทูปเบอร์หลังเขา

“ที่ตัดสินใจทำเพราะอยากได้เงิน” อันจังพูดกลั้วหัวเราะเมื่อเราถามถึงการตัดสินใจมาเป็นยูทูปเบอร์

“แต่ก่อนแชร์เรื่องราวลงในเว็บไซต์พันทิป แล้วมีกูรูแนะนำให้ลองทำคลิปลงยูทูป เราใช้มือถือถ่ายเอง ใช้แอปตัดต่อง่ายๆ เอง ทำอยู่ 2 ปีกว่าถึงจะเริ่มมีคนติดตาม อันจังชอบสำรวจพื้นที่แถวบ้าน ปลูกผัก เข้าสวนเก็บองุ่น เก็บพีช ถนอมอาหารแบบโฮมเมด ก็เก็บภาพบันทึกไว้สนุกๆ ลองผิดลองถูกจนเริ่มจับทางได้ว่าคนไทยที่มาเที่ยวญี่ปุ่นมักไปตามเมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยว

“หลายคนจำภาพญี่ปุ่นเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องและเทคโนโลยีทันสมัย แต่เรากลับรู้สึกว่าต่างจังหวัดบ้านเขามีเสน่ห์มาก อันจังเลยลองเล่าบรรยากาศในชนบทของฟูจิโนะมิยะผ่านคลิปให้คนได้เห็นมุมแปลกๆ ความเป็นสังคมสูงวัยที่ยังกระฉับกระเฉงสุดๆ รวมถึงมุมมองต่อความเป็นรัฐสวัสดิการและค่านิยมบางอย่างของบ้านเขา ที่เอื้อให้การใช้ชีวิตเรียบง่ายนั้นสร้างความสุขได้จริง และเราก็อยากแบ่งปันที่ท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ แม้ไม่ได้ยอดฮิตแต่สวยมาก”

นอกจากได้แชร์เรื่องราวประทับใจ อีกหนึ่งข้อดีของการเป็นยูทูปเบอร์ทำให้เธอหายเหงาเพราะมีเพื่อนใหม่จากทั่วโลก

“ทำช่องยูทูปแล้วรู้สึกใกล้บ้านมากขึ้น พอมีคนมาคอมเม้นต์พูดคุย เรามีความสุขมาก แม้ที่นี่จะเป็นเหมือนบ้านแต่เราก็ยังรู้สึกเหงาเพราะตั้งแต่โควิด- 19 ระบาดก็ไม่ได้กลับไทยเลย เราเลยหากิจกรรมที่มีความสุขทำ สุขที่ได้ปลูกผักและกินผักดีๆ ได้แบ่งปันและพูดคุยกับคนแถวนี้ ถึงแม้อยู่ญี่ปุ่นแต่เราไม่เคยขาดรสชาติอาหารไทย เพราะเราปลูกผักไทยไว้กินเอง ส่วนหน้าหนาวเราก็กินผักกาดขาว หัวไชเท้า กินผักญี่ปุ่นหวานๆ กับน้ำจิ้มสุกี้ไทยอร่อยๆ เดินป่า มองดูภูเขาไฟฟูจิ เท่านี้ชีวิตก็มีความสุขแล้ว”

ขอบคุณภาพจาก :  อันจัง Channel บ้านฉันอยู่หลังเขาฟูจิ

Credits

Author

  • สุธิดา บุบผากลิ่น

    Authorนักเขียน ยืนหนึ่งเรื่องเขียนงานช้า เพราะมัวกินราเมงและเดินป่า หลงรักการฝึกหายใจ สูดกลิ่นชา โยคะ และบำบัด ฟังเหมือนชีวิตแสนเก๋ แต่เปล่าค่ะ ฉันเป็นออฟฟิศซินโดรม

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ