‘บ้านน้ำพริกข้าวสวย’ ร้านของสองแม่-ลูกที่เริ่มต้นด้วยความต่าง แต่ลงท้ายทุกอย่างก็ออกมาอร่อยและลงตัว

“แม่ไม่ไหวแล้ว อาจจะไม่ได้อยู่กับทรายนานๆ แล้วนะ”

เสียงอันแหบพร่าของ ‘แม่อี๊ด’ – สุนันทา พงษ์เจริญ ที่โทรหาลูกสาวของเธอเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ขณะนั้นเป็นเวลาตี สี่ กว่า นี่เป็นอีกคืนที่หญิงวัยเกือบ 70 นอนไม่หลับ เธอเป็นกังวลครุ่นคิดไปต่างๆ นานา จนโรคหัวใจที่เป็นอยู่อาการกำเริบขึ้นอีกครั้ง ไม่นับโรคอื่นที่เป็นอยู่ด้วยอย่างหอบหืด ไทรอยด์ ความดัน และเบาหวาน จนทำให้คิดไปได้ว่า บางทีนี่อาจเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่เธอจะได้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้

แม่อี๊ดไม่ได้กลัวความตาย สิ่งเดียวที่หญิงสูงวัยชาวจันทบุรีเป็นกังวลในเวลานั้นก็คือ หากไม่มีใครรับช่วงสานต่อ ‘น้ำพริก’ ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติที่เธอรักษามาอย่างดีต่อเนื่องจากบรรพบุรุษ ก็อาจตายไปพร้อมกันกับเธอ

เพราะเป็นคนทำน้ำพริกอร่อย เธอจึงขายน้ำพริกมาตั้งแต่ก่อนลูกสาวคนเดียวจะเกิด น้ำพริกของแม่อี๊ดเป็นสูตรโบราณยาวนานกว่าร้อยปีที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ หากว่าวันใดที่เธอไม่อยู่แล้ว เธอก็หวังว่าลูกสาวจะมารับช่วงสูตรและสานงานต่อไป

อย่างไรก็ตาม ลูกสาวกลับมีมุมมองที่แตกต่างไป ในเวลานั้น ‘ทราย’ – สิริลักษณ์ พงษ์เจริญ ลูกสาวของแม่อี๊ด ไม่ได้เห็นค่าในทรัพย์สมบัติชิ้นนี้ของแม่เท่าใดนัก หน้าที่การงานของเธอกำลังไปได้ดี ในปีนี้หากเธอยอมอดทนที่จะยังไม่กลับบ้านมาอยู่กับแม่ งานที่ทำอยู่น่าจะทำกำไรได้ร่วม 3-4 ล้านบาท เมื่อถึงเวลานั้นค่อยกลับมา ครอบครัวก็น่าจะมั่นคงขึ้นและไม่ช้าเกินไปสำหรับการตัดสินใจ

แต่ตัวทรายเอง ก็อยู่ใน ภาวะที่ครุ่นคิดหนักไม่ต่างกัน เธอไม่ได้อยากจะมารับไม้ต่อจากใคร ไม่ได้อยากขายน้ำพริก ยังอยากที่จะทำงานของตัวเองต่อ

เพียงแต่ชีวิตของแม่ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจรอคอยได้

มองมุมแม่

มนุษย์ทุกคนหากได้เจอสิ่งที่รักก็มักจะทำได้ดี สำหรับแม่อี๊ดแล้ว สิ่งนั้นก็คือการทำอาหารนั่นเอง

แม่อี๊ดเปิดร้านขายอาหารมาตั้งแต่ยังสาว ร้านของเธอมีทั้งข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ชา-กาแฟโบราณ แต่เมนูเด็ดสุดในร้านที่ไม่มีอะไรเกิน คือน้ำพริกกว่า 20 ชนิด ที่ใครมาร้านเป็นต้องสั่งแทบทุกโต๊ะ

น้ำพริกของแม่อี๊ดเป็นสูตรโบราณที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นตา-ยายของเธอ น้ำพริกเหล่านี้คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงแม่อี๊ดให้มีการงานและเงินทองมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเหมือนของขวัญและทรัพย์สมบัติที่บรรพบุรุษส่งต่อมาถึงเธอ

ทุกๆ เช้าราวตี สี่ตีห้า แม่อี๊ดจะตื่นมาทำน้ำพริกและข้าวแกงด้วยความใส่ใจ เธอทำอาหารทุกอย่างด้วยตัวเอง พอช่วงสายก็ทำก๋วยเตี๋ยวขายต่อเนื่องกันไป หลังปิดร้านก็เตรียมวัตถุดิบสำหรับขายในวันถัดไป ชีวิตหมุนวนอยู่เช่นนี้จนส่งผลให้แทบไม่มีเวลาพักผ่อน

“ตอนสาวๆ ยังเปิดร้านอยู่ที่บ้านเกิดที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ขายดีมาก โดยเฉพาะน้ำพริก ใครมาก็สั่ง ช่วงนั้นหาเงินได้เยอะ อะไรที่คนอื่นมีเรามีหมด เรียกได้ว่าไม่ได้ด้อยกว่าใคร แต่ขณะเดียวกันเราก็เหนื่อย ทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อน จนเงินที่หามาได้ก็เริ่มหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล”

แม่อี๊ดเริ่มมีอาการของโรคหัวใจตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง 30 ปัจจุบันแม่อี๊ดอายุ 69 ปี นั่นหมายความว่าเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ที่แม่อี๊ดต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคนี้

“นอกจากโรคหัวใจ เรายังเป็นโรคอื่นอีกหลายโรค ทั้งความดันโลหิต เบาหวาน ไทรอยด์ หอบหืด จนตอนหลังต้องลดจำนวนอาหารที่ทำลง เหลือแค่น้ำพริกและอาหารไม่กี่อย่าง พอตกบ่ายก็หาบน้ำพริกไปขายที่ตลาดต่อ เอาใส่อ่างวางขาย ใครมาซื้อก็ตักใส่ถุงให้เขา น้ำพริกนี่ยังไงเราก็ทิ้งไม่ได้เพราะเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษให้มา ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 8 คน มีแค่เราคนเดียวที่สืบทอดการทำน้ำพริกต่อจากคนรุ่นก่อน ถ้าเราไม่ทำก็หมดคนสืบทอด

“พอเราแก่ตัวลง มีแต่โรครุมเร้า เราก็ไม่อยากให้มันตายไปพร้อมกับเรา อยากให้ลูกเขามารับช่วงต่อ”

แม่อี๊ดพยายามรบเร้าลูกสาวอยู่หลายครั้งหลายครา แต่จนแล้วจนรอดลูกสาวก็ยังไม่มีทีท่าว่าอยากจะนำทรัพย์สมบัติและภูมิปัญญาที่มีอยู่ไปต่อยอดให้งอกเงยขึ้นจากเดิม หญิงสาวกลับมาทำธุรกิจเปิดร้านเกมและอินเทอร์เน็ตที่บ้านเกิดอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจขายน้ำผลไม้ส่งออกต่างประเทศร่วมกับบริษัทต่างชาติที่หัวหิน

แต่เพราะลูกสาวมีความคิดคนละอย่างและมองต่างกันคนละมุม จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าบางทีน้ำพริกของแม่อี๊ดที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนอาจถึงคราวสิ้นสุดลงแล้วจริงๆ

มองมุมลูก

แม้จะเคยช่วยงานด้วยการเป็นลูกมือบ้างในบางครั้ง แต่ทรายรู้ตัวว่าเธอไม่ได้ชื่นชอบการทำอาหารเหมือนกับแม่

หญิงวัย 43 เรียนจบด้านครูมา ทว่าไม่เคยคิดจะทำงานตามสาขาที่เรียน เธอชื่นชอบศิลปะ รักสวยรักงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่แม่ไม่ได้ให้ความสนใจเลย

ทรายฝันอยากเป็นนักออกแบบ แต่หนี้สินของทางบ้านทำให้เธอต้องทำงานหาเงินให้ได้มากที่สุดเพื่อปลดเปลื้องภาระให้กับครอบครัว แม่อี๊ดพยายามโน้มน้าวให้ทรายมาต่อยอดน้ำพริกที่มีอยู่ด้วยกัน แต่ทรายกลับเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง

“เราเห็นแม่เหนื่อยกับการทำน้ำพริกมาตั้งแต่เด็ก ยิ่งเห็นก็ยิ่งไม่เข้าใจว่าแม่จะเหนื่อยทำไมนักหนา ทำไมไม่ทำอะไรที่เหนื่อยน้อยกว่านี้แล้วได้เงินคุ้มกว่านี้ ยิ่งพอโตมาบ้านเราเริ่มมีปัญหาหนี้สิน พอแม่มาบอกให้เราไปทำน้ำพริกด้วยกัน เรายิ่งไม่เห็นด้วย ก็บอกแม่ไปทุกครั้งว่าไม่ทำ ไม่ชอบ ยังไงก็ไม่เอา ยังเคยบอกให้แม่เลิกทำน้ำพริกไปเลยด้วยซ้ำเพราะห่วงเรื่องสุขภาพของเขา คือเราเข้าใจแต่เฉพาะในมุมของเรา แต่เราไม่เข้าใจว่าเขาทำด้วยใจรักและมีความสุข ถ้าเกิดหยุดทำจริงๆ เขาจะเหงาและยิ่งเครียด สุขภาพอาจจะแย่ลงกว่าเดิมก็ได้”

ทรายเลือกทำธุรกิจขายน้ำผลไม้ส่งออกต่างประเทศ แม้จะมีรายได้ดี ได้ค่าตอบแทนเดือนละร่วมแสนบาท ทำให้มีเงินปลดหนี้ที่บ้าน รวมทั้งค่อยๆ สร้างความมั่นคงในชีวิต แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือความจำเป็นที่ต้องปล่อยให้แม่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว นานๆ ทีเธอจึงจะได้กลับบ้านสักครั้ง

“ตอนทำงานอยู่ที่หัวหิน สี่ เดือนเราถึงจะกลับมาบ้านครั้งหนึ่ง ซึ่งทุกครั้งที่กลับมาแม่ก็จะบอกให้เรามาต่อยอดพัฒนาน้ำพริกของเขา แต่เราก็ปฏิเสธเหมือนเดิมทุกครั้ง ยิ่งช่วงนั้นธุรกิจที่ทำอยู่กำลังไปได้ดี เรายิ่งคิดว่าขอทำเงินให้ได้มากที่สุดก่อน ถามว่าห่วงแม่ไหม ยอมรับว่าห่วงมาก แต่ชีวิตบางครั้งมันต้องเลือก ซึ่งตอนนั้นเราเลือกที่จะทำงานของเราก่อนแล้วก็อาศัยจ้างคนคอยดูแลแม่ พาแม่ไปโรงพยาบาลแทน”

ทรายตั้งใจว่าจะทำงานอยู่ที่หัวหินจนมีเงินเก็บสักก้อนหนึ่งก่อนจึงค่อยกลับมาอยู่กับแม่ แล้วหาอะไรทำที่บ้านเกิด เรื่องการเอาน้ำพริกของแม่มาต่อยอดยังไม่ได้อยู่ในความคิดของเธอ กระทั่งวันหนึ่งที่เธอกลับมาบ้านในวันหยุด ความรู้สึกก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป

“ตอนนั้นแม่อยากทำให้เราเห็นว่าน้ำพริกของเขาขายดี ขายได้ และดีกว่างานที่เราทำอยู่ นอกจากขายหน้าร้านแล้ว เขาก็ห่อน้ำพริกใส่ถุงทำเป็นบรรจุภัณฑ์ไปวางขายตามร้านอาหารต่างๆ ในจันทบุรี ด้วยความที่เขาไม่มีหัวทางศิลปะ บรรจุภัณฑ์ของเขาเลยดูไม่สวย สติกเกอร์ยังติดเบี้ยวเลย

“เราเอาไปเสนอด้วยกันสองคนแม่-ลูก แต่ไม่มีร้านไหนรับเลย แถมบางร้านยังไล่เราเหมือนหมูเหมือนหมา จำได้ว่าเรากับแม่เดินข้ามถนนมาแล้วก็ยืนร้องไห้ด้วยกัน นึกถึงว่าถ้าไม่เอา พูดกันดีๆ ก็ได้ ทำไมต้องไล่ด้วย จนมีลุงที่เป็นญาติกันผ่านมาเห็น เขาก็ให้กำลังใจ บอกว่าน้ำพริกของแม่เราอร่อย แล้วในจันทบุรีก็ยังไม่มีใครที่ทำน้ำพริกโฮมเมดจริงจัง ลุงแนะนำว่าไม่ต้องไปวางขายที่อื่นหรอก ทำร้านของเรานี่แหละ แต่ทำให้มันจริงจัง ทำให้มันดีๆ ไปเลย

“ให้คนเขารู้ว่าถ้าจะมากินน้ำพริกที่เมืองจันท์ต้องมาที่ร้านเราเท่านั้น”

ความเจ็บปวดจากการโดนไล่ตะเพิดและคำพูดที่ให้แง่คิดของลุงทำให้หญิงสาวเริ่มคิดที่จะกลับมาสานต่อกิจการของแม่ หากแต่ในเวลานั้นเธอยังเก็บเงินได้ไม่มากเท่าที่ตั้งใจไว้ รถที่ใช้อยู่ก็ยังผ่อนไม่หมด หากอดทนทำงานต่อไปก่อนอีกสักปีน่าจะดีกว่า เนื่องจากพอคาดการณ์ได้ว่าธุรกิจที่ทำอยู่น่าจะทำกำไรได้ราว 3-4 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เธอมีเงินเก็บร่วม 2 ล้าน และกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้แบบสบายๆ

หากแต่ทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นอย่างที่หญิงสาววางแผนไว้ เมื่อวันหนึ่งโทรศัพท์จากแม่ดังขึ้นในตอนตี สี่ เศษๆ และเป็นสายที่ทำให้เธอต้องเลือกระหว่างความมั่นคงในชีวิตกับการกลับไปอยู่เคียงข้างแม่

“แม่พูดเหมือนกับว่าจะไม่อยู่กับเราแล้ว ตอนนั้นฟังแล้วก็ตกใจ แต่อีกใจหนึ่งก็เสียดาย เพราะถ้าทำต่ออีกปี เราน่าจะมีเงินเก็บก้อนใหญ่และหมดหนี้พอดี แต่สุดท้ายเราคิดว่าถ้าต้องเลือกระหว่างแม่กับเงิน เราเลือกแม่

“เพราะต่อให้เรามีเงินมากกว่านี้แต่ถ้าแม่ไม่อยู่แล้ว เราก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ได้มาไปใช้กับใคร”

หลังวางสายจากแม่ในเช้ามืดวันนั้น ทรายตัดสินใจขับรถกลับจันทบุรีทันที

จากนั้นไม่กี่ปีน้ำพริกของแม่อี๊ดก็เป็นที่รู้จักไปทั่วเมืองไทย

มองมุมใหม่และต่อยอดไปด้วยกัน

หลังกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่จันทบุรี ทรายก็เดินหน้าต่อยอดธุรกิจน้ำพริกของแม่อย่างเต็มตัว

“เราบอกแม่เลยว่า ถ้าจะให้หนูช่วยทำ ก็ต้องทำแบบที่หนูชอบ อย่างแรกคือร้านต้องสวย ถ้าทำร้านแบบเดิม หน้าร้านเก่าๆ ใช้โต๊ะสังกะสี ดูซอมซ่อแบบนี้ หนูไม่เอา เราเลยจัดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างใหม่หมด ทำให้ดูสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย”

ทรายตั้งชื่อร้านของเธอและแม่ว่า ‘บ้านน้ำพริกข้าวสวย’ โดยหลังจากปรับปรุงร้านจนดูดีแล้ว เธอหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการเรียนเสริมเรื่องการตลาดออนไลน์ เพื่อนำความรู้มาใช้ในการโปรโมตร้านผ่านโซเชียลมีเดีย

“ขึ้นชื่อว่าน้ำพริกแล้ว สีสันหรือหน้าตามันก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้มันแตกต่าง ให้คนทั่วไปที่อยู่ที่อื่นเขาได้รู้ว่าน้ำพริกและอาหารของร้านเราอร่อยจริง รวมทั้งไม่ใส่สารกันบูดด้วย ถ้าเราจะมานั่งบอกลูกค้าที่มาร้านทีละคนๆ มันก็เหนื่อย แต่ถ้าเราจัดแต่งใส่จาน จัดเป็นชุดให้ดูสวยน่ากิน ทำคอนเทนต์ให้โดนๆ มันจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายและรวดเร็วกว่า

“ยกตัวอย่างเช่น เราทำคอนเทนต์ขึ้นมาว่า ‘รักใครให้น้ำพริก’ คือถ้ามากินข้าวที่ร้านเราแล้วนึกถึงใครก็ชวนให้ซื้อน้ำพริกไปฝากคนนั้น โดยที่เราเป็นนางแบบเอง หรืออย่างต่อมาเราทำน้ำพริกเป็นชุด ในชุดมีน้ำพริก 4 อย่าง ให้ชื่อชุดว่า ‘กินข้าวกินปลา’ แล้วก็จัดวางให้สวย ถ่ายรูปแล้วอั ปลงโซเชียล ฯ กลายเป็นว่าทุกวันนี้เป็นเมนูขายดีของร้านไปแล้ว ที่สำคัญ การทำน้ำพริกเป็นชุดทำให้ลูกค้าหลายคนไม่ได้แค่นั่งกินที่ร้านอย่างเดียว แต่ยังซื้อน้ำพริกติดไม้ติดมือกลับไปด้วย เพราะในน้ำพริก 4 อย่างที่สั่ง อย่างน้อยก็ต้องมีสักอย่างที่เขาชอบ ซึ่งเขาก็จะซื้อกลับไปต่างหาก”

ลูกสาวคนเก่งนำเอาความรักในงานศิลปะของตัวเองมาประยุกต์เข้ากับฝีมือการทำน้ำพริกที่แสนอร่อยของแม่ได้อย่างลงตัว ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายด้วยการนำน้ำพริกโฮมเมดเข้าสู่โลกโซเชียล ฯ จนเข้าตาสื่อต่างๆ มากมาย ส่งผลให้มีลูกค้ามาอุดหนุนอย่างเนืองแน่น ถึงขนาดที่บางวันยืนต่อแถวกันจนล้นออกมาหน้าร้าน

เมื่อจำนวนลูกค้ามีแต่จะมากขึ้นทุกวัน แม่อี๊ดและทรายจึงตัดสินใจขยายกิจการด้วยการย้ายจากคูหาเล็กๆ มาเปิดร้านใหม่ที่มีขนาดกว้างขวางและสวยงามกว่าเดิมในตัวเมือง รวมถึงยังคงคุณภาพในเรื่องของรสชาติจนทำให้บ้านน้ำพริกข้าวสวยกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเช็กอินยอดนิยมของจันทบุรี

  มองด้วยใจ ไม่ใช่มองแค่ตัวเงิน

ปัจจุบัน บ้านน้ำพริกข้าวสวยถือเป็นร้านอาหารไทยโบราณชื่อดังของจังหวัด มีน้ำพริกทั้งสูตรเดิมและสูตรใหม่ที่พัฒนาขึ้นรวมแล้วกว่า 30 ชนิด และอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของจันทบุรีเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมูต้มชะมวง ไก่ต้มกระวาน หรือเส้นจันท์ผัดปู น้ำพริกไข่ปู ไปจนถึงเครื่องดื่มรสชาติชื่นใจอย่างน้ำส้มมะปี๊ด

ทุกๆ วันแม่อี๊ดและทรายจะตื่นมาเปิดร้านของทั้งคู่ โดยแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน แม่อี๊ดซึ่งยืนหนึ่งในเรื่องฝีมือการทำน้ำพริกจะดูแลในส่วนการผลิต คอยทำน้ำพริกในแต่ละวัน ส่วนทราย ลูกสาวอัธยาศัยดีและมีหัวศิลปะ จะดูแลในส่วนงานบริการหน้าร้าน รับออร์เดอร์ และดูแลด้านการตลาด

“เราสองคนจะแบ่งหน้าที่กันเพราะต่างคนต่างมีความถนัดกันคนละอย่าง เราจะคอยจัดการงานหน้าร้าน ดูแลออร์เดอร์ ดูแลพนักงาน ดูแลให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย จัดแต่งอาหารให้สวยงาม ดูน่ากิน ส่วนแม่ด้วยความที่เขารักและมีความสุขกับการทำอาหาร ฝีมือการทำน้ำพริกไม่เคยตก แม่ก็จะดูแลงานในครัวและทำน้ำพริกเองทุกวัน ถามว่าเราทำน้ำพริกได้ไหม เราก็ทำได้ เพราะแม่เคยฝึกให้เราทำมาก่อน เพียงแต่การแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคนจะดีกว่า”

ถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ที่ทรายตัดสินใจหันหลังให้กับงานที่เคยคิดว่ามั่นคงเพื่อกลับมาอยู่กับแม่และทำให้ความฝันของผู้หญิงที่เธอรักที่สุดในชีวิตเป็นจริง ขณะที่ตัวเธอเองก็ได้รับรู้และเข้าใจแม่ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งหากไม่ตัดสินใจขับรถกลับบ้านมาในวันนั้น วันนี้เธอคงจะเป็นคนที่เข้าใจทุกอย่างจากมุมมองของตัวเองเท่านั้น

“พอได้อยู่ใกล้ๆ แม่ ได้เห็นเขาทำน้ำพริก ทำสิ่งที่เขารักทุกวัน เราเข้าใจเลยว่าทำไมแม่ถึงยอมเหนื่อย ทำไมแม่ถึงอยากให้เรากลับมาต่อยอด เพราะเวลาเราทุ่มเทใส่หัวใจลงไปในการทำอะไรสักอย่าง แล้วมีคนเห็นคุณค่า มันอิ่มอกอิ่มใจนะ เหมือนเวลาที่เราได้เห็นลูกค้ามากินอาหาร กินน้ำพริกที่ร้านของเราแล้วเขาชอบ เขาบอกว่าอร่อย แค่นี้เราก็มีความสุขมากกว่าได้รางวัลใดๆ เสียอีก

“เพราะอย่างนี้น้ำพริกของแม่จึงกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นเหมือนทรัพย์สมบัติที่เขาอยากให้เรากลับมาต่อยอด ไม่อยากให้มันสูญหายไปไหน

“พอมาถึงวันนี้เราเองก็ได้รับรู้และเข้าใจแล้วว่า น้ำพริกของแม่เป็นทรัพย์สมบัติที่ประเมินค่าไม่ได้”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ