ขนมครกโบราณ ขนมหวานที่ช่วยปลดหนี้หลักล้านและมอบชีวิตใหม่ให้ลุงเปี๊ยกกับป้าน้อย

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในยุคที่ทองคำหนัก 1 บาท ยังราคาเพียง 4,000 บาท การมีหนี้สินมากถึง 5 ล้านบาทของสองสามี-ภรรยาคู่หนึ่งถือเป็นความทุกข์ยากที่แทบมองไม่เห็นทางออก ทั้งคู่พยายามขายทุกอย่างในชีวิตเท่าที่ขายได้ แต่ก็ยังไม่สามารถลดหนี้ให้พ้นหลักล้านได้อยู่ดี

ท่ามกลางวิกฤตครั้งใหญ่สุดในชีวิต ทั้งสองคนตัดสินใจหันมาขายขนมครกเพื่อเป็นทางรอด โดยใช้สูตรของที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

“เราหวังแค่ว่าจะขายเพื่อประคองชีวิตให้รอดไปแบบวันต่อวัน แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะกลายเป็นว่าขนมครกทำให้เราปลดหนี้ทั้งหมดได้

“ขนมครกทำให้ครอบครัวของเราลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง”

ทางเลือกของทางรอด

ก่อนตัดสินใจมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายขนมครก ลุงเปี๊ยก-สุขุม จินตบุบผา วัย 74 ปี และ ป้าน้อย-สมพร จินตบุบผา ภรรยาวัย 70 ปี เคยประกอบธุรกิจทำทองและจิวเวลรี่มาก่อน

ช่วงที่ธุรกิจไปได้ดี ทั้งคู่มีครบทุกอย่างที่อยากมี ไม่ว่าจะเป็นบ้านหลังใหญ่หรือรถเบนซ์คันหรู แต่เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงขาลง ชีวิตที่เคยมั่งมีก็กลับเต็มไปด้วยหนี้สินจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

“ที่บ้านเราประกอบธุรกิจทำทองมาก่อน หลังๆ เราทำด้วย แล้วหลังจากนั้นก็ทำจิวเวลรี่ในเวลาต่อมา เวลาลูกค้าซึ่งโดยมากจะเป็นร้านใหญ่ๆ สั่งสินค้ามา เราก็ต้องลงทุนไปก่อน อย่างเช่นเขาสั่งแหวนทองมา 60 วง เราก็ต้องลงทุนซื้อทองหนักเป็นร้อยบาท คิดเป็นเงินประมาณครึ่งล้าน เพื่อมาทำแหวนส่งให้เขา ในยุคที่ธุรกิจยังดีมันก็ไม่มีปัญหา ลูกค้าเขาจ่ายเงินให้เราได้เลย แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี กว่าเขาจะจ่ายเงินเราได้ก็บางครั้งก็ต้องรอถึง 3 เดือน หรือบางทีนานกว่านั้นก็มี”

ด้วยลักษณะการทำงานที่เป็นแบบนี้ เมื่อมีลูกค้ารายใหม่สั่งมา ลุงเปี๊ยกจึงต้องไปกู้เงินคนอื่นเพื่อเอามาลงทุน เพราะไม่ได้มีเงินหมุนเวียนมากนัก พอกู้มากเข้าก็มีดอกเบี้ย เงินลูกค้าเก่าก็เก็บไม่ได้ บางเจ้าก็หนีหายไปเสียเฉยๆ

“จากที่เราเคยมีทุกอย่าง ธุรกิจก็ล้ม เป็นหนี้เป็นสิน ต้องขายบ้าน ขายรถเพื่อเอาเงินใช้หนี้”

วันที่ลุงเปี๊ยกและป้าน้อยตัดสินใจเลิกทำธุรกิจ ทั้งสองมีหนี้สินร่วม 5 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบเป็นมูลค่าของเงินในยุคนี้ก็น่าจะเทียบได้กับเงินหลายสิบล้าน

แม้จะขายบ้าน รถเบนซ์ รถเฟียต และทรัพย์สมบัติที่พอขายได้แทบทั้งหมด แต่หนี้สินก็ยังเป็นเงิน 7 หลักเหมือนเดิม

ในขณะนั้นลูกชายคนแรกของลุงเปี๊ยกกับป้าน้อยยังอายุเพียงไม่กี่ขวบ ในวันที่ทั้งคู่ไม่รู้จะหาทางออกให้ชีวิตได้อย่างไร ป้าน้อยกลับนึกไปถึงช่วงเวลาแสนสุขในวัยเด็กที่คุณยายของเธอเคยทำขนมครกให้กิน ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวัยรุ่นที่เคยเป็นลูกมือช่วยคุณยายขายขนมครก

“ขนมครกของคุณยายอร่อยมาก ด้วยความที่ป้าเองเคยช่วยคุณยายขายมาก่อน เราเลยรู้สูตร รู้วัตถุดิบ รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ทุกอย่างว่ามีอะไรบ้าง ก็เลยคิดว่าไหนๆ ชีวิตก็ล้มมาถึงขั้นนี้แล้ว เราลองทำขนมครกขายกันดีกว่า เผื่อจะพอฟื้นขึ้นมาได้บ้าง”

คิดแล้วป้าน้อยก็ปรึกษากับคู่ชีวิตของเธอ เมื่อลุงเปี๊ยกเองก็เห็นด้วย ขนมครกป้าน้อยบ้านหม้อก็ถือกำเนิดขึ้นหลังจากวันนั้น

 

สูตรเก่าเล่าใหม่

ขนมครกของคุณยายที่ป้าน้อยนำมาต่อยอดเป็นสูตรโบราณที่ทำกันมากว่า 100 ปี วิธีการทำไปจนถึงอุปกรณ์ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ย้อนเวลากลับไปสู่อดีตทั้งสิ้น ขณะที่วัตถุดิบก็ใช้แต่ของดีมีคุณภาพ

“เราเอาของที่พอจะมีเหลืออยู่ไปขายเพื่อเอาเงินไปซื้ออุปกรณ์ก็คือเตา เต้าขนมครก แล้วก็ฝาปิด ซึ่งเราจะใช้เป็นฝาดินเล็กๆ ปิดขนมครกแต่ละฝา ไม่ได้ใช้ฝาปิดใหญ่ที่เป็นเหมือนฝาโอ่งแล้วครอบไปทั้งเต้าอันเดียวแบบที่ทั่วไปเขาใช้กัน อุปกรณ์ทุกอย่างที่ว่าทำจากดิน ซึ่งเราไปหาซื้อถึงที่นนทบุรี

“ที่นั่นเราได้เจอกับคุณประถม เครือเพ่ง อดีตเพชฌฆาตแห่งเรือนจำกลางบางขวาง ตอนนั้นบ้านเขาทำพวกเตาดินและอุปกรณ์ที่ทำจากดินขาย ซึ่งสูตรของเขาคือการนำดินจาก 3 จังหวัดมาเหยียบให้เข้ากันแล้วจึงนำไปขึ้นรูป เราซื้ออุปกรณ์จากที่นี่เพราะดูแล้วว่าเป็นของดี ตอนหลังเมื่อคุณประถมเลิกกิจการไปแล้วก็ยังแนะนำแหล่งผลิตเจ้าอื่นที่มีคุณภาพใกล้เคียงกันให้ ทำให้เราได้ของดีของคุณภาพดีมาใช้ทำขนมครกตลอด”

วิธีทำขนมครกสูตรคุณยายของป้าน้อยเริ่มตั้งแต่การทำแป้งเอง โดยนำข้าวสารมาแช่ผสมข้าวสุก ใส่มะพร้าวลงไปนิด ก่อนจะโม่แป้ง

“ส่วนตัวกะทิก็ทำเองเหมือนกัน เราใช้มะพร้าวแก่จากแม่กลองกับดำเนินสะดวก เนื่องจากเป็นแหล่งที่มี 2 น้ำ คือน้ำเค็มกับน้ำกร่อยมารวมกัน ทำให้มะพร้าวของทั้งสองแหล่งนี้ให้ทั้งความหอมและมีรสชาติกำลังดี

“อีกสิ่งที่ไม่เหมือนกับขนมครกเจ้าอื่นๆ ก็คือเราจะใช้ชันเช็ดเต้าขนมครกแทนการหยอดน้ำมัน ชันที่เราใช้นี้เป็นยางไม้จากต้นจิก เป็นของดั้งเดิมที่ช่วยให้ขนมครกที่ทำเสร็จแล้วหอมมากขึ้น”

ลุงเปี๊ยกและป้าน้อยเริ่มขายขนมครกอยู่ที่บ้านหม้อในช่วงปี พ.ศ 2523 – 2524 หรือราว 40 ปีที่แล้ว โดยเริ่มขายจากราคากล่องละ 5 บาท แต่ละกล่องมี 9 คู่

อย่างไรก็ตาม แม้ขนมครกของทั้งคู่จะหอมอร่อย แต่ในช่วงแรกลูกค้ายังไม่ค่อยสนใจ แถมตัวพ่อค้าแม่ค้าเองก็นั่งขายเงียบๆ เพราะยังอายที่วันหนึ่งเคยทำทองขายแล้วต้องมานั่งแคะขนมครกขายแทน

“ในช่วงแรกลุงกล้าพูดเลยว่าเราอาย เวลานั่งขายนี่ไม่กล้ามองหน้าใครเลย เรายังมีความรู้สึกผิดหวัง แล้วก็ยังจมไม่ลง เราเคยขายทอง เคยขับเบนซ์ ขับเฟียต แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งต้องมาแคะขนมครก เราเลยได้แต่นั่งขายเงียบๆ ไม่กล้าแม้แต่จะมองหน้าลูกค้า เพราะเราไม่รู้ว่าเขาคิดกับเรายังไง ไม่รู้ว่าเขาจะดูถูกเราหรือเปล่า แล้วเราก็นั่งขายในซอยหน้าบ้าน ไม่กล้าไปขายตรงที่มีคนเยอะๆ ช่วงแรกเลยขายไม่ค่อยดี”

200 บาทต่อวันคือยอดขายของลุงเปี๊ยกและป้าน้อยในช่วงแรก เป็นรายได้ที่ไม่ต้องนึกไปถึงเรื่องใช้หนี้ เพราะเอาแค่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องในแต่ละเดือนก็ยังไม่ง่าย

“มีเจ้าหนี้อยู่รายหนึ่งเขามาทวงหนี้เราแล้วพูดว่า ‘มึงขายได้แค่วันละ 200 บาทแล้วมึงจะมีปัญญาเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้กู’ ลุงฟังแล้วเจ็บปวดมาก เราไม่ได้ร้องไห้ออกมาแต่น้ำตามันตกใน ยอมรับว่าที่เขาพูดมันก็มีส่วนถูก แต่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจริงๆ”

เจ้าหนี้บางรายเห็นว่าลุงเปี๊ยกและป้าน้อยไม่ได้หนีหายไปไหน รวมทั้งยังตกระกำลำบาก ก็ยกหนี้ให้แบบไม่คิดเอาคืนด้วยใจเมตตา ทว่าหนี้รวมหลักล้านก็ยังไม่หายไปไหนอยู่ดี นอกเหนือจากการปลดหนี้แล้ว ทั้งสองสามีภรรยามองว่าหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อนาคตข้างหน้าสำหรับครอบครัวคงยากที่จะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เมื่อคิดแบบนั้น ทั้งคู่จึงตัดสินใจว่าต้องพยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ขนมครกของพวกเขาขายดีขึ้น

“เราต้องทำให้ขนมครกของเราเป็นที่รู้จักและลูกค้าเห็นแล้วเชื่อถือได้ว่าอร่อยจริง”

ลุงเปี๊ยกและป้าน้อยคิดอยู่นาน ก่อนที่สุดท้ายจะเปิดสมุดหน้าเหลือง หาเบอร์โทรศัพท์ และต่อสายไปหาชายคนหนึ่ง

ขนมครกขึ้นห้าง

“เราติดต่อไปหา ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ หวังว่าจะขอป้ายเชลล์ชวนชิมจากท่าน เพราะในเวลานั้นร้านต่างๆ ไม่ว่าจะขายของคาวหรือของหวาน หากได้รับป้ายเชลล์ชวนชิมของท่านมาติดไว้ที่ร้าน ร้านนั้นจะขายดิบขายดีเพราะได้รับการการันตีจากสุดยอดนักชิมและกูรูด้านอาหารแล้วว่าของกินร้านนี้อร่อยจริง”

แม้ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ จะเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาศิลปะการแสดง ด้านดนตรีไทยสากล-ขับร้อง แต่ในอีกด้าน ท่านยังเป็นนักเขียน นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ มีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะนักชิมและจัดลำดับความอร่อยของอาหารในชื่อ ‘เชลล์ชวนชิม’

ลุงเปี๊ยกและป้าน้อยได้คุยกับเลขาฯ ของ ม.ร.ว. ถนัดศรี แจ้งความประสงค์ไปว่าอยากให้ท่านได้ชิมขนมครกสูตรโบราณของตัวเอง

“เลขาฯ ของท่านพูดกับเราด้วยความสุภาพ บอกว่าขอโทษจริงๆ ไม่อยากให้มาเพราะเกรงว่าจะเสียเที่ยว เนื่องจากมีร้านอาหารหลายเจ้าติดต่อท่านมาเป็นจำนวนมากจนท่านต้องปฏิเสธไปหลายราย เราก็พยายามอธิบายว่าขนมครกของเราไม่เหมือนเจ้าอื่นเพราะเป็นแบบโบราณ ตอนนั้นท่านคงอยู่ด้วยพอดี ท่านเลยถามเลขาฯ เลขาฯ ก็อธิบาย ท่านฟังแล้วก็บอกว่าน่าสนใจ ให้ลองนัดเข้ามาดู”

ในวันนัดหมายลุงเปี๊ยกและป้าน้อยเหลือเงินติดตัวรวมกันเพียง 250 บาท ทั้งสองตัดสินใจเช่ารถกะป๊อ เพื่อขนอุปกรณ์และเครื่องมือทำขนมครกทั้งหมดจากบ้านไปยังย่านสุทธิสาร เมื่อหักค่ารถไป-กลับ 150 บาท ทั้งคู่จึงเหลือเงินทั้งหมดเพียงแค่ร้อยเดียวเท่านั้น

“ท่านจัดรายการวิทยุชื่อรายการครอบจักรวาลอยู่ที่ย่านสุทธิสาร ไปถึงไม่นานท่านก็ให้เลขาฯ มาบอกว่าเริ่มได้เลย ลุงกับป้าก็จัดการตั้งเตาแล้วก็ใส่จานขนาดใหญ่ร่วม 15 – 16 นิ้ว ไปให้ท่าน พอท่านชิมเสร็จก็เรียกเข้าไปพบแล้วถามว่าจะเอายังไง ลุงก็บอกว่าอยากจะขอป้ายเชลล์ชวนชิมเพื่อเวลาขายอยู่ที่บ้านจะได้ขายดี

“ท่านก็บอกว่าอร่อยแบบนี้ไปขายที่มาบุญครองเลยดีกว่า แล้วท่านก็ให้คนจัดการพาเราขึ้นไปขายบนห้าง จำได้ว่าตอนนั้นเป็นปี พ.ศ. 2528 ห้างมาบุญครองเพิ่งเปิดใหม่ๆ เป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดห้างหนึ่งของประเทศไทยในเวลานั้น”

บนห้างมาบุญครองมีร้านอาหารและร้านขายของกินอยู่เกินร้อย ด้วยตัวเลือกที่มากขนาดนี้ ลุงเปี๊ยกและป้าน้อยจึงคาดการณ์กันเองว่า ขนมครกของพวกเขาคงไม่น่าจะขายดีกว่าเดิมสักเท่าไหร่นัก ทว่าทุกอย่างกลับตรงกันข้ามกับที่คิด เพราะนับตั้งแต่เริ่มจุดเตาในวันแรกที่ขาย ของทุกอย่างก็หมดเกลี้ยงภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ

“พอเริ่มจุดเตาเท่านั้นแหละ คนมารุมกันหน้าร้าน 20 – 30 คน ลูกค้าบางคนทะเลาะกันเพราะไม่รู้ว่าใครมาก่อนมาหลัง เราหยอดแป้ง แคะขนมครกไม่ได้พักเลย จนกระทั่งผ่านไปชั่วโมงกว่าก็ขายหมด

“ก่อนจะมาลุงยังคุยกับป้าว่า มีร้านตั้งเยอะ เขาคงไม่มาซื้อของเราร้านเดียวหรอก เตรียมแป้งกับกะทิไปอย่างละหม้อเดียวก็พอ กลายเป็นว่าวันต่อมาต้องจ้างคนให้นั่งรถมาส่งแป้งกับกะทิที่ห้างอีกวันละ 2 – 3 เที่ยว แล้วเป็นอย่างนี้แทบทุกวัน ขายดีมาก เราขายขนมครกจนกระทั่งสามารถปลดหนี้และฟื้นตัวได้ ซึ่งตรงนี้ต้องกราบขอบพระคุณ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ท่านมีพระคุณกับเราสองคนมากจริงๆ”

จากเดิมที่เคยขายได้วันละ 200 บาท เมื่อมาขายที่ห้างมาบุญครอง ตัวเลขยอดเลขก็กระโดดไปเป็น 70,000 บาทใน 15 วัน จนทำให้ลุงเปี๊ยกและป้าน้อยปลดหนี้หลักล้านได้หมดภายใน 5 ปีหลังจากที่ขนมครกของทั้งคู่ได้ขึ้นห้าง

“ตอนหลังพอมีห้างสรรพสินค้าเปิดใหม่ เขาก็มาติดต่อให้เราไปขาย เราเลยขยายไปอีก 3 สาขา ทั้งที่โรบินสันสีลม เมโทรประตูน้ำ เวลโก้หัวหมาก แต่ทั้ง 3 สาขาก็ไม่ได้ขายดีเหมือนที่มาบุญครอง แล้วค่าเช่าก็แพง ตอนหลังเราก็เลยค่อยๆ ปิดไป ประกอบกับที่มาบุญครองเราหมดสัญญาเช่าพอดี แล้วเขาจะให้ย้ายไปขายตรงฝั่งโตคิวแทน ซึ่งขณะนั้นก็เริ่มมีห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ เปิดเพิ่มขึ้นหลายแห่ง คนก็กระจายกันออกไป ไม่ได้เดินที่ใดที่หนึ่งมากเหมือนก่อน อีกอย่างลุงเองก็รู้สึกว่าร่างกายไม่ไหวด้วย กลับมาถึงบ้านแล้วสลบทุกวัน หนี้เราก็หมดแล้ว พอสร้างตัวได้แล้ว ก็เลยคิดว่ากลับมาขายที่บ้านหม้อดีกว่า

“หลังจากปี 2533 เราเลยกลับมาขายที่บ้านหม้อเหมือนเดิมจนถึงทุกวันนี้”

แม้จะกลับมาขายขนมครกตรงที่เดิม แต่การกลับมาคราวนี้มีหลายอย่างที่เปลี่ยนไป ที่ชัดเจนที่สุดก็คือรายได้ของทั้งคู่ไม่ได้อยู่ที่ 200 บาทต่อวันเหมือนกับเมื่อตอนเริ่มขายอีกต่อไปแล้ว

รสชาติที่ลงตัวของขนมครกและชีวิต

ทุกวันนี้ ลุงเปี๊ยกและป้าน้อยตั้งชื่อขนมครกของเขาว่า ‘ขนมครกเชลล์ชวนชิมคุณน้อยบ้านหม้อ’ โดยหลังจากกลับมาขายที่เดิมอีกครั้ง ความอร่อยของขนมครกแห่งย่านบ้านหม้อเจ้านี้ก็ได้รับการเล่าลือกันไปแบบปากต่อปาก

ลูกค้าขนมครกของลุงเปี๊ยกและป้าน้อยหลากหลายขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังเริ่มกระจายไปยังกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงในหลายๆ วงการ ไม่ว่าจะเป็นพลเอกชาติชาย และท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีและภริยา , ประเสริฐ สมะลาภา อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร , แคล้ว ธนิกุล อดีตนายกสมาคมมวยสากลสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และ เขาทราย แกแล็กซี นักมวยแชมเปี้ยนโลกชื่อดัง หรือจะเป็นฝั่งนักแสดงอย่าง เพ็ญพักตร์ ศิริกุล , ตอง-ภัครมัย โปตระนันท์ และคนในวงการบันเทิงอีกหลายคนก็เป็นลูกค้าขนมครกเจ้านี้เช่นกัน

“พอกลับมาขายที่บ้้านหม้อหลังจากไปขายที่มาบุญครองมาแล้ว ลูกค้าตอบรับดีมาก หลายๆ ท่านที่มีชื่อเสียงก็เริ่มมากินกัน อย่างท่านผู้หญิงบุญเรือน ท่านน่ารักมาก มาช่วยแคะขนมครกใส่ถาดเองเลยด้วย หรืออย่างคุณประเสริฐ สมะลาภา รายนี้ก็มาอุดหนุนแล้วก็นั่งมองเราสองคนอยู่นาน เสร็จแล้วก็พูดว่าชีวิตไม่ต้องรวยมากมายก็ได้ แค่นี้ก็มีความสุขได้แล้ว เราคิดตามแล้วก็รู้สึกว่าที่ท่านพูดนั้นจริงมากๆ”

ปัจจุบัน ลุงเปี๊ยกและป้าน้อยเปิดขายขนมครกตั้งแต่ 6 โมงเย็นไปจนถึง 4 ทุ่ม โดยก่อนหน้านั้นเวลา 9 โมงครึ่งถึงบ่าย 3 โมง จะขายข้าวแกงอยู่ที่ร้านซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก สองสามีภรรยาสูงวัยบอกว่าชีวิตในปัจจุบันของทั้งคู่สุขสบายดี มีบ้านที่ซื้อด้วยเงินสดเป็นจำนวน 2 หลังอยู่ในกรุงเทพฯ หลังหนึ่งและต่างจังหวัดอีกหลัง ขณะเดียวกันครอบครัวก็มั่นคง ลูกๆ ทั้ง 4 คนล้วนแล้วแต่เติบโตและมีงานทำกันหมดแล้ว

“ชีวิตของลุงกับป้าทุกวันนี้ต้องบอกว่าลงตัวแล้ว เรามีบ้าน มีงานทำ มีรายได้พออยู่พอกิน ที่สำคัญ เราไม่มีหนี้สิน ไม่มีปัญหาสุขภาพ ต้องบอกว่าเป็นคนละเรื่องกันเลยกับชีวิตตอนที่ล้มจากการทำธุรกิจ

“ไม่น่าเชื่อเหมือนกันนะว่า ขนมครกโบราณฝาเล็กๆ จะพาเราสองคนมาถึงวันนี้”

วันที่ลุงเปี๊ยกกับป้าน้อยพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นวันที่ชีวิตได้พบเจอสิ่งดีๆ และมีความสุขทุกๆ วัน

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • พงศกร บุญภู่

    Photographerช่างภาพเชียงราย ที่หลงรักในทะเล ธรรมชาติ และเสียงเพลง สื่อสารภาพทางแววตาที่บ่งบอกถึงความรู้สึก

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ