The Power of 2 Gens ถอดรหัสแนวคิดการสร้างสรรค์ธุรกิจจนประสบความสำเร็จ จากการผสานพลังของคนต่างวัย

ทุกความเป็นไปได้ใหม่ ๆในชีวิต บางครั้งเป็นจริงได้เพราะเกิดขึ้นจากการหลอมรวมจุดแข็งของผู้คนที่มีจุดหมายเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยไหน เราก็อาจจะเป็นจิ๊กซอว์ความสำเร็จ หุ้นส่วนทางธุรกิจ หรือแม้แต่ผู้ร่วมขบวนการในการขับเคลื่อนสังคมของกันและกัน

โพสต์นี้มนุษย์ต่างวัยชวนมาถอดรหัสแนวคิดการรวมพลังของคน 2 เจนฯ ในการสร้างสรรค์ธุรกิจจนประสบความสำเร็จ กลายเป็นพลังที่นำพาไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ในชีวิต ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ครอบครัวตัวเอง แต่ยังรวมถึงครอบครัวคนอื่น และเชื่อมโยงไปถึงชุมชน จากวงเสวนา The Power of 2 Gens : พลังของคนต่างวัยที่จะขับเคลื่อนโลกไปด้วยกัน บนเวที Main Stage ในงาน มนุษย์ต่างวัย Talk 2023 “Out of the Box Aging” 

จากเรื่องราวของ 3 Speakers อิสระ ชูภักดี – Founder & CEO ‘KORKOK’ Gen Y ที่ลุกขึ้นมาปั้นเสื่อกกจันทบูรให้กลายเป็นกระเป๋าแฟชั่น ต่อลมหายใจให้อาชีพการทำเสื่อกกจันทบูรที่ใกล้จะเหลือเพียงแค่ “คนรุ่นสุดท้าย” ให้ยืนยาวต่อไป 

ระเบียบ โพธิ์ชัย – ผู้ก่อตั้ง ‘Rabeab Jewelry’ เด็กสาว Gen Z ที่ลุกขึ้นมากอบกู้ธุรกิจจิวเวลรี่ของครอบครัวด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม มาสู่การสร้างแบรนด์บนช่องทางออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ จนธุรกิจครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้

เสาวนีย์ คงกำเนิด – ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘เหนียวห่อกล้วยยายศรี’ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความห่วงใยของหลานสาวที่มีต่อคุณยาย จึงชวนกันมาทำขนมคลายเหงา กระทั่งขยายกลายเป็นธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุในชุมชน 

อิส-อิสระ ชูภักดี เป็น Founder & CEO ‘KORKOK’ หรือ ‘กอกก’ แบรนด์ที่ยกระดับเสื่อกกจันทบูรณสู่การเป็นกระเป๋าแฟชั่นที่ใคร ๆ ก็อยากถือ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เจิดจรัส ไม่ลืมถิ่น” ผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนไอเดียของคนรุ่นใหม่ ผสมผสานกับภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนได้ชัดเจนที่สุด ด้วยความตั้งใจที่ว่า อยากจะช่วยต่อลมหายใจให้กับอาชีพการทำเสื่อกกจันทบูรที่ใกล้จะเหลือเพียงแค่ “คนรุ่นสุดท้าย” ทำ 

จุดเริ่มต้นธุรกิจ แบรนด์ ‘กอกก’

เริ่มต้นมาจากเสียงสะท้อนใจของเพื่อนในชุมชนเดียวกันที่มาเล่าว่า “ถ้าหมดรุ่นแม่คงไม่มีใครทำเสื่อกกลายเฉพาะนี้ได้อีก

จากเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ไม่ได้สนใจอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้าน เพราะค่าตอบแทนน้อย แม้จะเป็นคนจันทบุรีโดยกำเนิด คลุกคลีมาในหมู่บ้านที่ทำเสื่อกกจันทบูรณมาตั้งแต่เด็ก แต่คำพูดนั้นก็ทำให้อิสฉุกคิดได้ว่า ถ้าคนทำไม่อยู่แล้ว ภูมิปัญญาเหล่านี้ก็จะหายไปด้วย ซึ่งมัน ‘น่าเสียดาย’ และมองว่าเป็นผลกระทบในวงกว้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อิสอยากที่จะเข้ามาช่วยสานต่อให้การทำเสื่อกกจันทบูรณยังคงมีอยู่ต่อไป

อิสมีความเชื่อว่า การอนุรักษ์ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งยังคงอยู่ต่อไป ไม่ใช่การที่เรานำมันไปเก็บไว้ในตู้โชว์ แต่การอนุรักษ์ที่ดีที่สุดคือการนำเอามาใช้งานอย่างรู้คุณค่าให้มากที่สุด

ดังนั้นธงในการทำงานตั้งแต่เริ่มคือ เอาของที่มีอยู่เดิม ดีอยู่แล้ว มาพัฒนาคุณภาพให้เข้ากับยุคสมัย เปลี่ยนจากเสื่อกกธรรมดา มาเป็นกระเป๋าจากเสื่อกก และทำให้เป็นสินค้าที่ใช้งานได้จริง 

อิสใช้เวลาทุ่มเทเรียนรู้ทุกกระบวนขั้นตอนในการผลิตกกจนเป็นเสื่อ จนกระทั่งสามารถออกแบบกระเป๋าเสื่อ ผสมกับวัตถุดิบอื่น อย่างเช่น หนัง จนสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของงานหัตถกรรมพื้นบ้านให้กลายเป็นสินค้าแฟชั่นที่เก๋ เท่ ทันสมัย สามารถขายได้ในราคาที่สูง จนปัจจุบันแบรนด์ “กอกก” ออกสู่ตลาดมาแล้ว 4 คอลเลคชั่น ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงอนุรักษ์อาชีพเก่าแก่ของชาวจันทบุรีไว้ 

แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ สิ่งที่ยากที่สุดคือ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ 

บทเรียนจากการทำธุรกิจที่รวมพลังของคน 2 เจนฯ ของแบรนด์ ‘กอกก’

“ถ้าเราอยากจะขับเคลื่อน หรือสร้างความเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าเราต้องดูโลกก่อนว่าตอนนี้มันไปถึงไหนแล้ว แต่การจะเข้าไปบอกให้คนในชุมชนที่เขาทำอาชีพนี้มาสิบยี่สิบปีเปลี่ยนตาม ความจริงแล้วเขาไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที แล้วสิ่งที่เราเจอคือ เขามีกำแพง

“สิ่งที่เราทำคือ ปรับตัว ลดอีโก้ ให้ความเคารพในสิ่งที่เขาทำ และเข้าใจให้ได้ว่าบางสิ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันที เช่น การให้เขาสร้างงานสักชิ้นหนึ่งให้เราแล้วไปบอกเขาว่าให้ทอลายนี้ เขาทำไม่ได้ ต้องเข้าใจว่า ถ้าเขามีทักษะด้านที่เขาทอเก่ง เราต้องให้เขาทอในลายที่ถนัด แล้วค่อย ๆ พยายามเอาความเป็นไปได้ของตลาดมาผสมกับสิ่งที่เขามีอยู่ 

“คำพูดของเราที่บอกกับเขาว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง มันอาจฟังดูเหมือนเรากำลังขายฝัน แต่สุดท้ายถ้าสิ่งที่เราพูดมันเกิดเป็นรูปธรรมจริง ๆ สร้างคุณค่าให้เขาได้จริง ๆ กำแพงที่เขามีก็จะค่อย ๆ ทลายลง สุดท้ายเขาจะค่อย ๆ ยอมรับและเริ่มที่จะปรับตัวไปกับเรา จากที่เคยหยิบสีตามความเคยชิน หยิบเส้นทอตามที่ถนัดมือ เขาก็เริ่มปรับการหยิบเส้นที่ดี มีคุณภาพ ใส่ใจเลือกสี เพราะเห็นแล้วว่าการที่เขาเองก็ยอมเปลี่ยนมันทำให้เราได้กระเป๋าที่สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น เขาก็ได้ภูมิใจว่า เขามีร่วมในการสร้างแบรนด์ มีส่วนร่วมในกระเป๋าทุกใบ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือความอดทน จริงใจ และเสมอต้นเสมอปลาย เริ่มต้นเข้าไปด้วยความตั้งใจอย่างไร ในวันที่ประสบความสำเร็จต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องเติบโตไปพร้อมกัน 

“สุดท้ายแล้วแม้จะเป็นแค่คนตัวเล็ก ๆ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้ เพราะการทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีทุนสูง แค่เข้าใจในศักยภาพของตัวเอง รู้คุณค่าของสิ่งที่เรามี เริ่มต้นจากคนเล็ก ๆ ชุมชนเล็ก ๆ หรือคนที่พร้อมที่จะเดินไปกับเรา แล้วลงมือทำด้วยความจริงใจ ก็มีโอกาสสำเร็จได้”

‘เหนียวห่อกล้วยยายศรี’ คือธุรกิจที่เกิดจากความเหงาของยาย ต่อยอดสู่การส่งขายทั่วประเทศ ที่ไม่เพียงแต่สร้างรายได้และคุณค่าของชีวิตในวัยหลังเกษียณ แต่ยังมีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชน ให้สามารถมีรายได้ขึ้นมาอีกครั้ง 

โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากไอเดียของ บัว-สาวนีย์ คงกำเนิด หลานสาวแท้ ๆ ของยายศรี ในช่วงที่เจอกับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งตอนนั้น บัวต้องปิดโรงเรียนสอนศิลปะและภาษาอังกฤษ ทำให้ไม่มีอะไรทำ พอเจอยายทุกวันก็สังเกตว่าเขาดูเหงาแล้วก็เครียด วัน ๆ อยู่แต่กับหน้าจอทีวี ชวนไปไหนก็ไม่ไป บัวเลยคิดว่าถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ดีแน่ ต้องหาอะไรสักอย่างให้ยายทำ จึงชวนยายมาทำเหนียวห่อกล้วยกินกันในบ้าน ซึ่งเป็นสูตรที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นทวด เริ่มจากซื้อข้าวเหนียวมา 1 กิโลฯ กล้วยหนึ่งหวี กะทิ 1 กิโลฯ แล้วสองยายหลานก็ช่วยกันทำแต่ใครจะคิดว่าจากเหนียวห่อกล้วยธรมมดา ๆ วันนี้จะกลายมาเป็น เหนียวห่อกล้วยเปลี่ยนชีวิต 

“วันนั้นเรารู้สึกว่ามันสนุกมาก พอมันขึ้นมาจากเตา มันอร่อยที่สุดในชีวิตที่เคยกินมาเลย เราต้องแชร์เรื่องนี้ออกไป เราเลยถ่ายรูปลงในเฟซบุ๊ก แล้วเขียนแคปชันว่า ได้กินแล้วนะ เหนียวห่อกล้วยยายศรีที่ไม่ได้กินมาหลายปีมาก แล้วมันอร่อยจริง ๆ พอเราโพสต์ลงไป ก็มีเพื่อน ๆ ทักมาว่าอยากกินด้วย

“หลังจากวันนั้นข้าว 1 กิโลฯ ไม่พอแล้ว เราเริ่มรับออเดอร์ เพิ่มปริมาณในการทำเหนียวห่อกล้วยเพื่อขาย ด้วยความที่เราเรียนศิลปะมา จึงเขียนการ์ดขอบคุณลูกค้าแนบไปพร้อมขนมด้วย ตอนนั้นเขียนว่า ‘ขอบคุณเธอนะที่อุดหนุนฉันกับยายฉัน ยายฉันออกจากทีวีแล้ว’ แล้วทุกคนก็แชร์เรื่องนี้เป็นวงกว้าง วันต่อมา ออเดอร์ก็เริ่มเยอะขึ้น จากข้าว 1 กิโลฯ กลายเป็น 5 กิโลฯ 10 กิโลฯ แล้วเราก็รู้สึกว่าทำกันสองคนไม่ไหวแล้วเลยให้ยายชักชวนเพื่อนออกมาทำเหนียวห่อกล้วยด้วยกัน ช่วงแรก ๆ ไม่มีใครมาเลย แต่ยายก็พยายามโน้มน้าวว่าให้มาช่วยกันทำ ยายจะสอนให้ หลังจากวันนั้นเราก็ขับรถตระเวนไปรับยาย ๆ มารวมแก๊งกัน 

การเริ่มต้นธุรกิจของคนสองวัย เริ่มจากเหตุอะไรก็ได้ แต่มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือ ‘ความสุข’

“ภาพของผู้สูงอายุมารวมกันอายุกว่าพันปี แต่เขาเป็นแรงงานผู้สูงอายุที่ขยัน มีความรับผิดชอบ ตีสี่ออกมาทำงานกันแล้ว เรายังไม่ตื่นเลย หาที่ไหนได้ แล้วทุกคนก็จะทำกับข้าวกันมาแชร์กัน กลายเป็นสังคมที่ดีมาก เรารู้สึกว่า เขามีความสุข แล้วเราก็คิดว่าจะต้องทำอะไรก็ได้ที่มันจะพัฒนาเหนียวห่อกล้วยยายศรีไปให้ไกลกว่าเดิม ให้อยู่ได้แบบยั่งยืน เพราะว่ายายเรามีความสุข ผู้สูงอายุในชุมชนเราก็มีความสุขจากการทำตรงนี้ เราอยากเห็นภาพนี้ไปนาน ๆ”

แม้ว่าจะต้องเจอกับอุปสรรคอยู่เสมอ แต่สำหรับบัว ‘ทัศนคติที่ดี’ คือแรงขับสำคัญ

“ช่วงที่ธุรกิจขาลง เพราะโควิดซาลง คนเริ่มออกจากบ้าน หากินข้างนอกได้ ไม่ได้อยากสั่งออนไลน์แล้ว เราเจอปัญหาว่าจะไปไม่รอด จากข้าว 100 กิโลฯ ต่อวันเหลือไม่ถึง 10 กิโลฯ ถามตัวเองว่า จะหยุดดีไหม เพราะพอคนเยอะขึ้น เรื่องเยอะ เราทำกันสองคนก็สนุกดีอยู่แล้ว แต่พอนึกย้อนไป เรารู้สึกว่า ชุมชนเรามีรายได้ เพราะวัตถุดิบทุกอย่างตั้งแต่กล้วย ใบตอง เชือกกล้วย เราซื้อมาจากชุมชน เริ่มต้นทุกอย่างจากชุมชน เรารู้สึกว่า นอกจากครอบครัวเราแล้วมันเป็นเครือข่าย เหมือนใยแมงมุม ไม่ใช่แค่เราได้ แต่ครอบครัวคนอื่นก็ได้ด้วย ชุมชนก็ได้ด้วย 

“สุดท้ายบทเรียนที่เราได้คือ ไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ทำแล้วต้องเจอปัญหาแน่นอน แต่เราไม่ได้โฟกัสที่ปัญหา เรามีธงในใจว่า ความรู้สึกแรกที่เราทำ เราทำเพราะอะไร เราทำเพราะยายเรามีความสุข ดังนั้นปัญหาที่เข้ามาเราจะคิดเสมอว่ามันเป็นความท้าทายที่เราต้องแก้เกม แก้เกมยังไงให้มันยั่งยืนตลอดรอดฝั่ง 

“สิ่งที่เราทำคือ เราต้องทำให้ทุกคนมีงานทำก่อน ต้องแก้ให้เขาเข้าเวรสลับวันกัน และจากเดิมที่ขายแค่ในออนไลน์ก็ทำเป็นหน้าร้าน เป็นคาเฟ่เล็ก ๆ ให้คนมากินได้ มาเจอยาย ๆ ตัวจริง มีพื้นที่ให้เวิร์กชอป ศึกษาดูงาน เป็นทางออกให้กับธุรกิจยังคงอยู่ รอยยิ้มยังคงอยู่

“หลายครอบครัวลูกหลานไปทำงานต่างจังหวัด พอทุกคนเห็นว่าพ่อแม่มาทำงานกับยายศรีก็รู้สึกสบายใจ ดีใจ และมาขอบคุณเราที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ส่วนผู้สูงอายุเราเห็นเลยว่า เขาแค่ต้องการทำในสิ่งที่เขาจะมีประโยชน์ ชีวิตมีคุณค่าในบั้นปลาย ไม่ใช่ไม้ใกล้ฝั่งรอวันจากไป เขามาทำงานไม่ได้หวังเงิน แค่ได้พิสูจน์ตัวเองเล็ก ๆ ว่าเขายังห่อขนมให้คนที่เยอรมันกินได้ เวลามีคนซื้อไปกินแล้วรีวิวว่าขนมอร่อยมาก อวยพรขอให้ยาย ๆ สุขภาพแข็งแรง ให้อยู่ทำขนมให้กินอีกนาน ๆ เราก็จะเอามาเล่าให้ฟัง แล้วยาย ๆ ก็จะพูดคำว่า สาธุ พร้อมกัน

“สุดท้ายไม่ว่าเราจะเจอกับปัญหาอะไรมา แต่เพราะเรื่องราวดี ๆ ในใจที่เยอะมาก แรงขับข้างหลังไม่ใช่แค่เรารักในครอบครัวเรา แต่เรารักชุมชนด้วย เราปักธงแล้วว่าจะทำ ดังนั้นเราจะต้องมีวิธี มีหนทางไปต่อเรื่อย ๆ”

ปัจจุบันเหนียวห่อกล้วยยายศรีเดินทางไปทั่วโลก บัวไม่ลืมที่จะหยิบเรื่องราวการเติบโตมาเล่าให้ยาย ๆ ฟัง 

ใครจะคิดว่าธุรกิจเหนียวห่อกล้วยยายศรีที่เกิดจากความรักของหลานที่มีต่อยาย และข้าว 1 กิโลฯ จะกลายมาเป็นธุรกิจชุมชนที่ไม่ได้เติบโตแค่ในแง่ของกำไร แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คุณยายศรี และผู้สูงอายุในชุมชนมีรายได้ มีรอยยิ้ม และแข็งแรง

บัวทิ้งทายว่า “กว่าจะมาเป็นเหนียวห่อกล้วยวันนี้เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ไม่ได้ใช้เงินทุนอะไรเยอะ เริ่มจากครอบครัวเรา มันจะต้องมีกับข้าวสักอย่างหนึ่งที่แม่เราทำอร่อย ซึ่งพลังของคนเจนฯ เราช่วยตะโกนออกไปได้ว่า แกงส้มของแม่ฉันอร่อยที่สุด แล้วมันจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์เมื่อเรากับแม่รวมพลังกัน”

ระเบียบ โพธิ์ชัย ผู้ก่อตั้ง ‘Rabeab Jewelry’ เธอคือเด็กสาว Gen Z ที่ลุกขึ้นมา กอบกู้ธุรกิจจิวเวลรีของครอบครัวด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม มาสู่การสร้างแบรนด์ในสื่อโซเชียล ช่วยให้ธุรกิจครอบครัวเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยความสามารถและความถนัดแบบคนวัยเธอ

จากวิกฤตสู่จุดเริ่มต้นภารกิจกอบกู้ธุรกิจครอบครัว 

ระเบียบเล่าว่า เธอเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานโพธิ์ชัย จิวเวลรี่ ที่เปิดมาแล้ว กว่า 20 ปี แต่ต้องมาเผชิญกับสิ่งที่คาดไม่ถึง เมื่อการแข่งขันสูงทำให้ธุรกิจครอบครัวเริ่มไปต่อไม่ไหว และนำมาสู่จุดที่ต้องแบกรับหนี้กว่า 300 ล้านบาท แต่เพราะอาชีพทำจิวเวลรีคืองานที่พ่อกับแม่ทำมาทั้งชีวิต เป็นทั้งความรักและจิตวิญญาณทั้งหมดของครอบครัว จึงเป็นหตุผลให้ระเบียบพยายามหาวิธีที่จะมาช่วยกอบกู้ธุรกิจครอบครัว 

“ระเบียบพยายามช่วยที่บ้านมาหลายครั้งแล้ว มากกว่า 10 ครั้งกับการทำงานบนโซเชียลมีเดีย แต่ TikTok ทำให้คนรู้จักระเบียบมากขึ้น เป็นครั้งที่ 10 พอดีที่เกือบจะถอดใจแล้วแต่มันกลับประสบความสำเร็จ จากตอนแรกที่โพสต์รูปลงเฟซบุ๊กไม่มีคนดูเลย จนมาทำคอนเทนต์ผ่าน TikTok และกลายเป็นไวรัลมากขึ้น” 

สิ่งที่ระเบียบทำคือ ใช้ความสามารถและความถนัดแบบคนเจนฯ ใหม่ สร้างตัวตนผ่านช่อง rabeab.official บน TikTok เพื่อบอกเล่าเรื่องราวจิวเวลรีที่มีชีวิตและความหมาย และความชำนาญของพ่อกับแม่ในการทำจิวเวลรี่

“เรานำเอาความรู้เรื่องโซเชียลมีเดีย มาผสมกับความรู้ของคนรุ่นพ่อแม่ และอาศัยความคลุกคลี ตอนนั้นพ่อแม่ไม่รู้จักแพลตฟอร์มนี้เลย แม่ไม่ค่อยเข้าใจว่าเราจะทำอะไร เขามีประสบการณ์มาเยอะมาก เกร็ดความรู้เขาแน่นมาก พอเราเอามาพูดใน TikTok เขาจะรู้สึกว่าเขาก็พูดเกร็ดความรู้ธรรมดาของเขาไม่ได้น่าสนใจอะไรเลย แต่กับคนนอก พอเขาได้ฟังมันเหมือนเป็นความรู้ใหม่ของเขา มันว้าวมาก พ่อแม่ก็ตกใจว่า อยู่มากับอาชีพนี้จะ 30 ปีแต่เขาไม่ได้รู้สึกเลยว่ามันพิเศษอย่างที่คนอื่นมอง

“พอเราทำคอนเทนต์พาทัวร์โรงงานซึ่งมีแบบจิวเวลรีหมื่นกว่าแบบ มันตื่นตาตื่นใจสำหรับคนอื่นมาก ๆ แต่ชั้นนั้นไม่มีใครยุ่งมามากกว่าสองปีแล้ว ทำให้เห็นว่าพอเราเอาสายตาของคนรุ่นใหม่ไปมอง มองปุ๊บมันไม่ธรรมดา มันมหัศจรรย์มาก

“แบรนด์ระเบียบจะมีการทำงานสองแบบคือ สั่งทำพิเศษ และในรายผลิตของตัวเอง ส่วนมากลูกค้าที่เข้ามาสนใจคือคนที่ต้องการสั่งทำพิเศษ เพราะทุกครั้งที่ทำเครื่องประดับออกมาแต่ละชิ้น ระเบียบจะเล่าเรื่องราวของงานชิ้นนั้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นลง TikTok ทำให้กลายเป็นจุดที่ทำให้คนสนใจ เวลาลูกค้าเข้ามาจะต้องเข้ามาคุยเรื่องสตอรี่กับระเบียบก่อน จึงจะสามารถสร้างงานขึ้นมาได้หนึ่งชิ้นที่พิเศษ ไม่เหมือนใคร มีเรื่องราวของตัวเอง

ปัจจุบัน rabeab.official มีผู้ติดตามในสื่อโซเชียลมีเดียกว่า 360,000 คน แม้วันนี้ระเบียบอาจจะยังไม่สามารถล้างหนี้สินของครอบครัวได้ทั้งหมด แต่การตัดสินใจกลับมาช่วยรักษาธุรกิจครอบครัวในวันนี้ก็เท่ากับได้รักษาใจพ่อแม่และพี่ ๆ ช่างในโรงงานไปด้วย

“เมื่อเริ่มมีกระแสเยอะขึ้น เราเห็นความเปลี่ยนแปลงเลยว่า คุณพ่อแต่งตัวหล่อขึ้นทุกวัน แล้วแอบไปสมัคร TikTok เพื่อดูคนที่มาคอมเมนต์ พอเขาเห็นคอมเมนต์ดี ๆ ก็ดีใจ พี่ช่างในโรงงานทุกคนสมัคร TikTok เพื่ออ่านคอมเมนต์และดูสิ่งที่เราทำ

“จากตอนแรกที่เกือบจะปิดโรงงาน การที่เรามาทำช่วยฟื้นธุรกิจได้จริง ๆ ตอนนี้ออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งทำต้องรอสองเดือนเลยเพราะเต็มทั้งหมด แล้วพี่ช่างทำงานทุกวัน มีความสุขที่ยังคงได้ใช้ฝีมือของตัวเอง 

“พ่อแม่ภูมิใจในตัวระเบียบมาก ๆ เพราะสิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่ผสานความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่ยังทำให้ธุรกิจมันไปต่อได้

“สุดท้ายระเบียบอยากจะบอกว่า เวลาที่เราเริ่มอะไร ให้เริ่มจากเล็ก ๆ ก่อน โฟกัสตรงวิธีการนำเสนอ พยายามสื่อสารในสิ่งที่เราเห็น แต่อย่าเร่งมาก จะได้ทำได้นาน ๆ และมีความสุข สิ่งสำคัญคือการที่คนสองเจนฯ ทำธุรกิจด้วยกัน เมื่อก่อนเราอาจจะคิดว่า เราต้องไปช่วยผู้ใหญ่ แต่วันนี้สองเจนฯ ช่วยกันในด้านที่ตัวเองถนัดก็ประสบความสำเร็จได้”

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ