‘เหนียวห่อกล้วยยายศรี’ ขนมแห่งความสุขที่เริ่มต้นจากความเหงา

ขอบคุณทุกคนที่ซื้อและอุดหนุนข้าวต้มมัด (เหนียวห่อกล้วย) ของยาย ทำให้ยายรู้สึกมีคุณค่าในบั้นปลายของชีวิตยาย อีกความรู้สึกคือยายภูมิใจที่ได้นำเอาภูมิปัญญาของแม่ยายในการทำขนมไทยโบราณมาสืบทอดให้คนรุ่นหลัง คือพวกคุณๆ ได้กิน ยายทำขายตั้งแต่ห่อละ 25 สตางค์ ยังมีอีกหลายขนมที่ยายทำเป็นและรับรองความสะอาดและอร่อย

ขอบคุณจากใจยายศรี

ข้อความในจดหมายของ ‘ยายศรี’ – บุญศรี นางนวล วัย 74 ปี แม่ค้าขายข้าวต้มมัดในนครศรีธรรมราช หรือที่คนปักษ์ใต้นิยมเรียกกันว่า ‘เหนียวห่อกล้วย’ ที่ส่งไปให้ลูกค้าทุกคนที่อุดหนุน บ่งบอกได้ถึงความซาบซึ้งใจของคนเขียนที่ขนมฝีมือเธอยังมีผู้คนให้การต้อนรับและสนับสนุน

ลูกค้าเหนียวห่อกล้วยของยายศรีไม่ได้มีแค่คนข้างบ้าน คนเมืองคอนด้วยกัน หรือลูกค้าจากจังหวัดใกล้เคียง แต่ยังมีลูกค้าจากกรุงเทพฯ และจากจังหวัดไกลๆ รวมถึงลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศอีกด้วย

เรื่องชวนหาคำตอบก็คือ เหตุใดข้าวต้มมัดที่ดูเป็นขนมธรรมดาๆ ถึงมียอดขายไปไกลถึงในยุโรป

เหตุเกิดจากความเหงา

แม้จะเป็นคนอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช โดยกำเนิด แต่ยายศรีไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ อยู่นานนับสิบปี

“ลูกสาวเขาเปิดร้านข้าวแกงอยู่ที่นั่น ก็เลยไปช่วยทำอาหาร ทำขนม แล้วก็คอยดูแลคอยจัดการร้าน ทุกวันเราตื่นตั้งแต่ตี 4 มาทำกับข้าว ขายหมดบ่ายๆ เย็นๆ ก็เก็บร้าน เตรียมของ 2 ทุ่ม ก็เข้านอน ชีวิตวนอยู่แบบนี้ แต่เราก็สนุก เพราะได้ทำงาน ได้ทำอาหาร ทำขนมที่เรารัก ได้ความภูมิใจด้วย เพราะเงินที่ได้ก็มาจากการทำงานของเรา

“จนมาช่วง 2 ปีหลัง เราเริ่มมีปัญหาสุขภาพตามวัย ลูกหลานเขาก็อยากให้พัก เลยกลับมาอยู่บ้านที่นครศรีธรรมราช” ยายศรีอธิบายถึงเหตุผลที่ย้ายกลับมาบ้านเกิด

ความที่เคยทำงานมาตลอด การต้องกลับมาอยู่บ้านในวัยต้น 70 ทำให้ยายศรีทั้งเบื่อและเหงา ยายศรียังคงตื่นนอนตอนตี 4 และเข้านอนตอน 2 ทุ่มเหมือนเดิม แต่ในระหว่างวันยายศรีแทบไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากนั่ง นอน กิน แล้วก็ดูทีวี

“ตอนกลับมาอยู่บ้านแรกๆ ก็รู้สึกสบายดีที่ได้พัก แต่พออยู่ไปนานๆ ก็เริ่มเหงาเพราะมันไม่มีอะไรทำ เราเคยทำงาน ไม่เคยอยู่นิ่ง พอต้องมานั่งดูทีวีอยู่เฉยๆ ไม่ได้ไปไหนก็เบื่อ แล้วเปิดทีวีไปก็เจอแต่ข่าวโควิด-19 ยิ่งดูก็ยิ่งเห็นว่ามันติดกันง่าย กับคนแก่นี่ยิ่งตายได้ง่ายเลย เราก็ยิ่งกังวล” ยายศรีเล่าถึงช่วงแรกๆ ที่กลับมายังบ้านเกิด หลังจากไปอยู่ที่บางสะพานมานานกว่าทศวรรษ

เสาวนีย์ คงกำเนิด หลานสาวแท้ๆ ของยายศรี เคยอยู่กรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาเปิดโรงเรียนสอนศิลปะและภาษาอังกฤษที่นครศรีธรรมราชบ้านเกิด โดยสาววัย 33 ปีคนนี้ เรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะเลือกเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เอกการตลาด ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เสาวนีย์เล่าว่า “ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราก็เจอผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องปิดโรงเรียน ทำให้เราเองก็ไม่มีอะไรทำเหมือนกัน พอเจอยายทุกวันก็สังเกตว่าเขาดูเหงาแล้วก็เครียด เวลาลูกหลานจะออกไปไหน ยายก็จะโวยวาย ไม่อยากให้ออกจากบ้าน เพราะกลัวว่าจะติดโควิด แล้วตัวยายเองก็ไม่อยากออกไปไหน ชวนไปไหนก็ไม่ไป เราเลยคิดว่าถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ดีแน่ ต้องหาอะไรสักอย่างให้ยายทำ”

หลังจากคิดอยู่ว่าจะหากิจกรรมอะไรให้ยายทำเพื่อขับไล่ความเหงา ในที่สุดหลานสาวอย่างเสาวนีย์ก็หาคำตอบได้สำเร็จ

“เรานึกถึงตอนเด็กๆ เวลามีงานทำบุญสารทเดือน 10 ซึ่งเป็นงานบุญประจำปีของนครศรีธรรมราช ยายจะทำขนมหลายๆ อย่างไปร่วมทำบุญ หนึ่งในขนมที่ยายทำอร่อยมากๆ ก็คือข้าวต้มมัดหรือเหนียวห่อกล้วยซึ่งรสชาติจะไม่เหมือนที่อื่น จำได้ว่าตอนทำงานอยู่กรุงเทพฯ ยังเคยให้ยายทำแล้วส่งขึ้นไปให้กิน แบ่งให้คนอื่นกินก็บอกอร่อยกันทุกคน”

หญิงสาววัย 33 เดินเข้าไปบอกยายวัย 74 ด้วยคำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ว่า

“ยาย… เรามาทำเหนียวห่อกล้วยกัน”

ขนมธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

เหนียวห่อกล้วยของยายศรีไม่เหมือนกับข้าวต้มมัดเจ้าอื่นๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ ไปจนถึงขั้นตอนการทำ

ยายศรีเล่าถึงความแตกต่างที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นทางว่า “วัตถุดิบเราจะแตกต่างจากเหนียวห่อกล้วยทั่วไป ของคนอื่นเขาจะใช้ข้าวเหนียวสุกกับกล้วยดิบ แต่ของเราจะกลับกัน เราใช้ข้าวเหนียวดิบกับกล้วยสุก ขณะที่ในขั้นตอนการนึ่ง เราใช้เวลานึ่งนานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง ที่ใช้ข้าวเหนียวดิบและต้องนึ่งนานขนาดนี้ก็เพื่อเป็นการถนอมอาหารไปในตัว ทำให้เหนียวห่อกล้วยของเราอยู่ได้นานโดยไม่ต้องใช้สารกันบูด ส่งไปต่างจังหวัด ต่างประเทศ หรือที่ไกลๆ แล้วไม่มีปัญหา”

สูตรเหนียวห่อกล้วยของยายศรีเป็นสูตรโบราณที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยรุ่นแม่ของยาย โดยขั้นตอนจะเริ่มจากการนำข้าวเหนียวดิบมาล้างอย่างน้อย 6-7 รอบ เนื่องจากข้าวในปัจจุบันมีสารเคมีปนเปื้อนอยู่มาก จากนั้นเคี่ยวกะทิ รอจนความร้อนเริ่มระอุแต่ไม่ถึงกับเดือด แล้วค่อยเทข้าวเหนียวลงไปผัด ผัดประมาณ 5 นาที จึงจะใส่ถั่วดำที่ต้มไว้แล้ว ปิดไฟ แล้วเอางาดำคั่วโรยเพื่อเพิ่มความหอม จากนั้นนำกล้วยและข้าวเหนียวมาห่อใบตองแล้วถึงจะนำไปนึ่ง นับรวมเวลาที่ใช้ตั้งแต่กระบวนการแรกถึงกระบวนการสุดท้ายแล้วร่วม 10 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นถ้าเริ่ม 9 โมงเช้า กว่าจะเสร็จก็ปาไปทุ่มกว่า ไม่มีเวลามานั่งๆ นอนๆ ดูทีวีอีกต่อไป

“เหนียวห่อกล้วยของเราเมื่อกัดเข้าไปจะได้รสชาติความมันและเค็มนิดๆ จากตัวข้าวที่ผัดกับกะทิ พอกัดลงไปถึงกล้วยจะได้ความหวานจากตัวกล้วยสุกมาตัด หากใช้กล้วยดิบ รสจะออกฝาด ไม่หวานหอม แล้วเมื่อเคี้ยวไป ของเราจะได้ทั้งรสหวาน มัน และเค็มนิดๆ กำลังดี อยู่ในคำเดียวกัน” ยายศรีอธิบายรสชาติเหนียวห่อกล้วยของตัวเองอย่างละเอียด ก่อนจะเล่าต่ออีกว่า “พอได้ทำเหนียวห่อกล้วยก็รู้สึกว่าได้ความสุขกลับมา เหมือนเราได้ออกกำลัง ได้ทำงาน ไม่ต้องนั่งเหงา แถมต่อมายังได้เงินด้วย”

หลังจากกลับมาทำเหนียวห่อกล้วยสำเร็จในครั้งแรก หลานสาวก็เอามาโพสต์ลงเฟซบุ๊ก โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องการทำเป็นธุรกิจแต่อย่างใด

“เราโพสต์ประมาณว่าเหนียวห่อกล้วยสูตรโบราณตั้งแต่สมัยทวด เมื่อก่อนจะได้กินปีละครั้งตอนงานบุญสารทเดือน 10 แต่กลายเป็นว่ามีแต่คนเข้ามาคอมเมนต์ว่ามีขายไหม ทำมาส่งหน่อย เราเลยให้ยายทำเพิ่มเพื่อส่งใกล้ๆ แล้วก็พายายนั่งรถออกไปนอกบ้านด้วย แต่ว่าไม่ลงจากรถเนื่องจากอยู่ในช่วงโควิด-19 พอเป็นอย่างนี้ยายเขาก็ยิ่งสนุก มีกำลังใจที่มีคนกินเหนียวห่อกล้วยของเขา เงินที่ได้มาเราก็เอาให้ยาย”

ด้วยความอร่อยที่ไม่ซ้ำใคร ทำให้เริ่มเกิดเสียงเล่าลือปากต่อปาก จากออร์เดอร์สัปดาห์ละ 10-20 คู่ เริ่มขยับไปที่ 50 คู่ ก่อนจะเพิ่มเป็น 100 คู่ จนไปถึง 200 คู่ ทั้งยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงง่ายๆ

“จากที่ไม่ได้ตั้งใจจะขาย สุดท้ายกลายเป็นออร์เดอร์เริ่มมากขึ้น เราเห็นว่าถ้าปล่อยแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ดูแล้วยายน่าจะไม่ไหวแน่ แต่จะให้ยายหยุดทำแล้วกลับไปนั่งๆ นอนๆ อยู่กับบ้านก็ไม่ดีอีก สุดท้ายเราเลยตกลงกับยายว่าต้องแบ่งหน้าที่กัน”

เพราะเรียนด้านการตลาดมาโดยตรง หลานสาวจึงตกลงว่าเธอจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายขายให้เอง ขณะที่ยายศรีมีหน้าที่ทำเหนียวห่อกล้วย จัดการงานครัวเพียงอย่างเดียว

เมื่อยายหลานแท็กทีมและแบ่งหน้าที่กันแล้ว จากออร์เดอร์สัปดาห์ละ 200 คู่ ก็เพิ่มเป็น 3,000 คู่

หลานออนไลน์ ยายเข้าครัว

เหนียวห่อกล้วยยายศรีราคาคู่ละ 15 บาท สำหรับขนมสูตรโบราณที่ครบทั้งคุณภาพและความอร่อย รวมถึงหากินไม่ได้ง่ายๆ ตัวเลขนี้ต้องถือว่าถูกเหมือนแทบจะได้เปล่า

ในช่วงโควิด-19 เหล่าคนมีชื่อเสียงหลายคนออกมาช่วยเหลือสังคมด้วยการทำสิ่งต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือการรับรีวิวและช่วยโปรโมตสินค้าของคนทั่วไป ซึ่งเสาวนีย์ก็จัดการส่งไปให้คนดังหลายคน อย่างเช่น ‘เอ’ – ศุภชัย ศรีวิจิตร ผู้จัดการดาราชื่อดัง , ‘น้าเน็ก’ – เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา , ติ๊ก กลิ่นสี เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้กินแล้วทุกคนต่างก็ชอบใจและรีวิวสินค้าให้ ยอดขายจึงพุ่งพรวดขึ้นทันที

“คนมีชื่อเสียงหลายคนที่พอได้กินเขาก็รีวิวให้ อย่าง พี่เอ ศุภชัย ซึ่งเป็นคนนครศรีธรรมราชเหมือนกัน เราส่งให้เขาแล้วก็บอกว่า ถ้าชอบ หนูรบกวนฝากรีวิวให้ด้วยนะคะ พอเขารีวิวก็เท่ากับว่าสินค้าของเราไปถึงผู้คนจำนวนมาก เนื่องจากเขามีคนติดตามเยอะ ออร์เดอร์จากอาทิตย์ละ 200 คู่ ก็พุ่งขึ้นไปที่อาทิตย์ละ 3,000 คู่”

เสาวนีย์ใช้ทักษะทางการตลาดในการโปรโมตและรับออร์เดอร์ทางโซเชียลฯ เป็นหลัก ทำให้นอกจากจะได้ยอดขายเพิ่มแล้ว กลุ่มลูกค้ายังหลากหลายขึ้น มีทั้งจากทุกภาคไปจนถึงลูกค้าจากต่างประเทศ ทั้งในเอเชียด้วยกันอย่างเมียนมา สิงคโปร์ เกาหลี และในยุโรป เสาวนีย์บอกว่าออร์เดอร์ที่ไกลสุดน่าจะเป็นลูกค้าจากสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเวลาส่งไปต่างประเทศนั้นต้องเอาเหนียวห่อกล้วยแช่ฟรีซแล้วส่งไปทางเครื่องบิน

“ข้อดีของการขายของทางโซเชียลฯ คือลูกค้าจะไม่ได้อยู่แค่รอบบ้านเรา แต่มีผู้คนจากหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องช่องทางการขายก็คือการรักษามาตรฐาน ทั้งด้านรสชาติและการผลิต พูดง่ายๆ คือรสชาติของเราต้องไม่ตก รวมถึงการผลิตต้องสม่ำเสมอ ตรงตามออร์เดอร์จากลูกค้า ตรงนี้เราแก้ปัญหาด้วยการจ้างทีมงานในการผลิตเพิ่มอีก 10 กว่าคนมาช่วยงานยาย แล้วให้ยายคอยควบคุมมาตรฐาน

“เราแบ่งหน้าที่กันชัดเจนและเชื่อใจว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองได้ อย่างในเรื่องการผลิต เราเชื่อว่าด้วยความพิถีพิถันและความตั้งใจของยาย ไม่มีทางที่รสชาติจะไม่อร่อย หรือสินค้าจะไม่ดี ขณะเดียวกันในเรื่องการขาย เรื่องเงิน ยายก็ไว้ใจให้เราดูแลจัดการได้เลย ตรงนี้ทำให้เราสองคนสามารถทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่”

ทั้งหมดคือเคล็ดลับความสำเร็จของเหนียวห่อกล้วยยายศรี ข้าวต้มมัดที่อร่อย ขายดี และเชื่อมร้อยคนสองวัยเอาไว้ด้วยกัน

เหนียวห่อกล้วยกับแก๊งผู้ช่วยพันปี

เมื่อยอดสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น ยายศรีจึงไม่สามารถทำเหนียวห่อกล้วยคนเดียวได้ ต้องมีกลุ่มผู้ช่วยมาแบ่งเบาภาระในการทำงาน ซึ่งทั้งหมดก็คือบรรดาเพื่อนบ้านวัยไล่ๆ กัน

หลานสาวเล่าถึงที่มาของไอเดียนี้ว่า “เราคิดว่าขนาดยายเราอยู่เฉยๆ เขายังเหงา ยังเบื่อ ผู้สูงอายุคนอื่นก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน พอดียายเองก็ต้องการผู้ช่วย ก็เลยชวนบรรดาผู้สูงอายุในหมู่บ้านมาช่วยกันทำเหนียวห่อกล้วย โดยทำงานกันอาทิตย์ละ 4 วัน ตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันพุธ ส่วนวันพฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ ให้เป็นวันหยุด”

บรรดาผู้ช่วยของยายศรีมีประมาณ 10 กว่าคน อายุรวมกันแล้วมากกว่า 1,000 ปี แต่อายุไม่ใช่ปัญหา เพราะงานทำเหนียวห่อกล้วยไม่ถือว่าหนักเกินทำไหว ทำให้นอกจากจะมีงานทำแก้เหงาแล้ว ทุกคนยังได้รับค่าตอบแทนสูงถึงวันละ 300-400 บาท ซึ่งถือว่าเป็นรายได้ที่ไม่น้อยเลย

“ทุกคนจะมาที่โรงครัวกันตั้งแต่ 6 โมงเช้า เอากับข้าวติดมือจากบ้านมาคนละอย่างสองอย่าง แล้วมากินข้าวเช้า ข้าวกลางวันด้วยกัน ถึงเวลาทำงานก็ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ บางทีก็มีแซวมีแหย่กันบ้าง หรือไม่ก็พูดกันเรื่องอดีตเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว คุยกันไปก็หัวเราะกันไป กลายเป็นว่าทุกคนสนุก เหมือนได้มาเจอเพื่อนๆ ไม่ต้องนั่งเหงาอยู่กับบ้าน แถมยังมีรายได้อีกด้วย

“บางคนนั่งทำงานเหลาก้านไม้กวาดอยู่กับบ้านได้วันละ 50 บาท แต่มาทำเหนียวห่อกล้วยได้วันละ 300-400 บาท ทุกคนมีความสุข เราเองพอเห็นแบบนี้ก็พลอยมีความสุขไปด้วย มันเหมือนกับว่าเหนียวห่อกล้วยของยายเป็นมากกว่าขนม แต่เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนมามีความสุขร่วมกัน” ฝ่ายการตลาดเล่าถึงบรรยากาศของแผนกโรงครัว

จากที่คิดว่าจะหาอะไรให้ยายทำแก้เหงา มาวันนี้เหนียวห่อกล้วยยายศรีกลายเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งเรื่องราวดีๆ หลายอย่าง

หนึ่งในนั้นก็คือสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘ความสุข’

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บุญทวีกาญน์ แอ่นปัญญา

    Cameramanเดินให้ช้าลงสักหน่อย ค่อยๆ มองเห็นความสวยงามข้างทาง

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ