‘ขนมจีนย่าติ๊ก’ แห่งปากช่อง กับชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานกว่าจะมีวันนี้


 

ว่ากันว่าในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ไม่มีใครไม่รู้จัก ‘ร้านขนมจีนย่าติ๊ก’

ขนมจีนร้านนี้ นอกจากเส้นที่เหนียวนุ่ม น้ำยาอร่อยเลิศรสที่มีให้เลือกมากมายถึง 7 อย่าง สิ่งที่เด็ดกว่านั้นคือการแต่งกายที่เต็มไปด้วยสีสันของแม่ค้าเจ้าของร้าน

เหลือง ชมพู เขียว แสด ฟ้า ม่วง คือสีที่ย่าติ๊กวัยแซยิดเลือกแต่งกายให้ตรงกับสีประจำวัน ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าเท่านั้น แต่สิ่งที่เด่นหรามาแต่ไกล คือดอกไม้ที่เธอนำมาประดับบนศีรษะ

ด้วยสีสันและความโดดเด่นของเครื่องแต่งกาย ทำให้ใครที่ผ่านไปผ่านมาริมถนนแถวนั้นต่างก็หันมามองกันเป็นตาเดียว คนขับรถบางคันเอาแต่มองเธอแทนที่จะมองทาง ถึงขนาดที่ว่า เคยขับเสยขึ้นมาบนฟุตปาธแถวหน้าร้านอยู่บ่อยครั้ง

ขนมจีนย่าติ๊กเปิดให้บริการทุกวันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่ 10 โมงเช้าไปจนถึงบ่ายสามโมง แต่เอาเข้าจริงแค่ราวบ่ายสองของทุกอย่างก็หมดเกลี้ยงแล้ว

แม้ทุกวันนี้ ขนมจีนย่าติ๊กจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่รู้ไหมว่ากว่าจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ย่าติ๊กต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย ล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย แม่ค้าขนมจีนวัย 60 ยอมรับว่ามีอยู่หลายช่วงเวลาที่เธอต้องปาดน้ำตาแล้วกัดฟันลุกขึ้นสู้

ชีวิตในวันวานของย่าติ๊กที่ผ่านร้อนหนาวมานาน ไม่ได้มีเพียงสีสันสดใสเหมือนกับชุดแต่งกายที่สวมใส่อยู่ในปัจจุบัน เราชวนคุณเดินทางสู่ปากช่อง เพื่อพูดคุยและเรียนรู้บทเรียนชีวิตหลายเฉดสีของย่าติ๊กไปพร้อมกัน

ล้ม

ย่าติ๊ก’ บุญญารักษ์ พุทธรักษา เป็นคนราชบุรีโดยกำเนิด แต่มาแต่งงานและสร้างครอบครัวอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ย่าติ๊กมีลูกทั้งหมด 3 คน สามีของเธอเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้างและตกแต่งภายใน ขณะที่ตัวเองเป็นแม่บ้านมีหน้าที่เลี้ยงลูกและคอยดูแลพนักงาน ทุกอย่างกำลังไปได้สวย ครอบครัวอบอุ่น ฐานะความเป็นอยู่ก็ถือว่ามีพร้อมทั้งบ้าน รถ และทรัพย์สินที่ดิน

“ตอนเปิดบริษัทใหม่ๆ มีงานเข้ามาเยอะ รายได้ดี อยู่ในช่วงสร้างครอบครัว ทุกอย่างกำลังเป็นไปอย่างที่ต้องการ แต่แล้วช่วงปี 2540 เกิดภาวะฟองสบู่แตก เราเก็บเงินลูกค้าไม่ได้ จากที่เคยมีรายได้ดี สุดท้ายกลายเป็นหนี้หลักล้าน สูญเสียทรัพย์สินทุกอย่าง ทั้งบ้าน ที่ดิน รถอีกสามคัน ถูกยึดเป็นของแบงค์หมด

“จำได้ว่าตอนที่มีหมายศาลมายึดบ้าน เราเองยังไม่รู้เลยว่าจะพาครอบครัวทั้งหมดไปอยู่ที่ไหน ก็นั่งคุยหาทางออกกับสามี สามีบอกว่าให้กลับปากช่องเพราะยังมีบ้านแม่อยู่ที่นั่นพออาศัยอยู่ได้ ชีวิตเราขณะนั้นไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากมายนัก เลยตัดสินใจย้ายครอบครัวไปเริ่มต้นใหม่ที่ปากช่อง”

แม้เวลาจะผ่านมาร่วม 20 กว่าปีแล้ว แต่ย่าติ๊กยังจำความรู้สึกในช่วงเวลานั้นได้ดี โดยเฉพาะตอนที่ต้องเก็บของทุกชิ้นออกจากบ้าน เธอเก็บของไปร้องไห้ไป เสียใจที่ไม่อาจรักษาทรัพย์สินที่มีอยู่ไว้ให้ครอบครัวได้ ทำให้ครอบครัวและลูกๆ ต้องลำบาก

“เราทั้ง 5 คนไม่มีอะไรเหลือเลย หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ยังดีที่มีบ้านแม่สามีที่ปากช่องให้ได้อยู่อาศัย”

แม่ค้าขนมจีนวัย 60 พูดด้วยเสียงสั่นเครือพร้อมกับยกมือขึ้นปาดหยดน้ำตา เมื่อนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเมื่อ 24 ปีก่อน

ขึ้นชื่อว่าชีวิต ไม่มีใครที่ไม่เคยล้ม ย่าติ๊กเองก็ไม่ต่างอะไรจากคนอื่น

เธอล้ม…แต่สิ่งที่ดีที่สุดหลังจากนั้นคือ เธอพยายามที่จะลุกขึ้นมา

ลุก

หลังจากย้ายมาอยู่ปากช่องได้สักพัก ย่าติ๊กก็พยายามลุกขึ้นสู้ชีวิตด้วยการหารายได้เข้าสู่ครอบครัว

“พอมาอยู่ปากช่อง สามีก็กลับไปทำงานบริษัทเก่าที่เคยเป็นพนักงาน ด้วยความที่เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างตกแต่งภายใน ทำให้สามีต้องออกไปทำงานตามต่างจังหวัด ส่วนเราก็อยู่บ้านกับลูกๆ และแม่สามี

“บ้านที่ปากช่องอยู่ติดถนนและใกล้โรงเรียน เราคิดว่าน่าจะลองทำอะไรขายดู   ก็ลงเอยที่น้ำแข็งเกล็ดหิมะ แม่สามีลงทุนซื้อเครื่องปั่นให้สองพันกว่าบาท จำได้ว่าขายวันแรก ได้เงินสดมาสี่ร้อยบาท ดีใจน้ำตาไหลเลย เพราะเป็นเงินที่เราหาได้เองครั้งแรก ในยามที่ครอบครัวต้องเจอวิกฤตและความยากลำบาก

“หลังจากนั้นก็พยายามขยับขยายมีน้ำปั่น กาแฟ โอวัลติน ไข่กระทะ มาม่าใส่ไข่ จากนั้นเริ่มทำข้าวเหนียวหมูและอาหารตามสั่งตอนกลางวัน กำไรที่ได้ในแต่ละเดือนอาจไม่ได้มากมายเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็พออยู่ได้ไม่ทุกข์ร้อน”

หลังจากเริ่มปรับตัวกับชีวิตใหม่ได้ ย่าติ๊กก็ขยับขยายไปขายของที่ตลาด แทนที่จะขายแค่หน้าบ้านอย่างเดียว แรกๆ เธอรับเฉาก๊วยมาขาย ก่อนที่ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นทำกับข้าวใส่ถาดไปวางแทน

สถานการณ์ทุกอย่างเหมือนจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่แล้วก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่ออยู่ๆ ย่าติ๊กกลายมาเป็นหนี้นอกระบบทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนกู้เงิน เพราะไปเซ็นเป็นผู้ค้ำประกันให้แม่ค้าในตลาดนัด ต่อมาเขาหนี ย่าติ๊กจึงต้องรับผิดชอบแทน

เงินหลักแสนคือสิ่งที่ย่าติ๊กต้องรับผิดชอบ คุณแม่ลูกสามพยายามเต็มที่ๆ จะหาเงิน รวมทั้งนำเงินที่พอมีอยู่มาปลดหนี้ให้หมด แต่ด้วยดอกเบี้ยที่มากถึงร้อยละ 20 ต่อวัน ไม่ว่าจะจ่ายไปเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมดเสียที สุดท้ายเธอแบกรับภาระและความอับอายไม่ไหวต้องหนีไปอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ

“เจ้าหนี้ส่งคนมาทวงบ่อยๆ เราไม่อยากให้คนรอบข้างต้องมาเดือดร้อนเลยตัดสินใจหนีไปอยู่กับหลานที่บางบอน ต่อมาได้งานเป็นแม่บ้าน ทำอยู่สองปี จนกระทั่งแม่สามีป่วยจึงต้องกลับมาดูแลที่ปากช่อง จนกระทั่งแม่เสียชีวิต เมื่อไม่มีแม่ก็ไม่มีคนอยู่บ้าน เพราะสามียังต้องทำงานต่างจังหวัด ลูกคนโตเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ส่วนอีกสองคนก็อยู่บ้านที่ราชบุรี เราเลยต้องกลับมาอยู่บ้านหลังนี้ที่ปากช่อง”

ย่าติ๊กในวัย 53 ปี จึงต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง หลังจากเจอสายลมแห่งโชคชะตาเหวี่ยงเธอไปมาอยู่พักใหญ่ คำถามเดิมๆ เหมือนครั้งแรกที่มาอยู่ปากช่องวนเวียนอยู่ในหัว

‘เราจะเริ่มต้นทำอะไรดี’

“คิดอยู่สักพัก สุดท้ายก็เลือกขายสิ่งที่ตัวเองชอบ ถ้ามีข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง และขนมจีน เราจะเลือกกินขนมจีน โดยเฉพาะน้ำยาป่าที่ชอบมากเป็นพิเศษ เลยคิดว่าขายขนมจีนนี่แหละ สรุปคือมาจากความชอบล้วนๆ ยังไม่รู้ว่าจะขายได้หรือเปล่า” ย่าติ๊กเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“ส่วนชื่อร้านที่ตั้งว่าขนมจีนย่าติ๊กก็มาจากญาติทางแฟนเขามีลูก แล้วเด็กน้อยเรียกเราว่าย่าติ๊ก เลยเอามาเป็นชื่อร้านเสียเลย”

แม้ยังไม่รู้ว่าขนมจีนจะขายได้หรือไม่ แต่อย่างน้อยย่าติ๊กก็ได้เริ่มทำสิ่งที่ตัวเองรัก อยู่ท่ามกลางสิ่งที่ตัวเองชอบ เธอพยุงตัวเองลุกขึ้นอีกครั้งและกำลังจะเริ่มออกเดิน

ก้าวเดิน

“ด้วยความที่ยังไม่รู้ว่าจะขายดีไหม เราจึงเริ่มต้นตั้งน้ำยาแค่สองหม้อ น้ำยาแกงไก่และน้ำยาป่าที่ตัวเองชอบ ตอนนั้นทำใส่หม้อเบอร์สามสิบสองและหม้อดินเล็กๆ ขายจานละสามสิบบาท ซึ่งก็ถือว่าเป็นราคาที่สูงพอสมควรสำหรับร้านที่ตั้งรถเข็นขายในต่างจังหวัด แต่ด้วยเพราะต้นทุนเราค่อนข้างสูง เลยต้องขายราคาสูงหน่อย”

เมื่อถึงวันเปิดร้าน กลับกลายเป็นว่ามีลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสายเพียงแค่ 3 ชั่วโมงทุกอย่างในร้านก็หมดเกลี้ยง จนต่อมาต้องใช้หม้อเบอร์ใหญ่ขึ้นและเพิ่มน้ำยากะทิปลาช่อนเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเมนู

“เปิดขายเก้าโมงเช้าไม่ถึงเที่ยงก็หมด ขนาดมีแค่สองโต๊ะให้นั่ง แต่คนก็มากินตลอด โดยมากเขาจะซื้อกลับบ้าน ต่อมาลูกค้าก็ถามว่ามีน้ำยากะทิแล้วไม่มีน้ำยาหวานเหรอ ตอนแรกเราทำไม่เป็น เลยไปถามป้าที่ราชบุรีบ้านเกิด เพราะร้านเขามีน้ำยาแบบหวานขาย เราก็นำสิ่งที่เขาอธิบายแล้วกลับมาประยุกต์ในแบบตัวเอง แรกๆ ลูกค้าบอกว่าหวานไป เราก็ปรับลงมาจนพอดี”

หลังจากนั้น ย่าติ๊กก็เพิ่มเมนูที่ 5 คือน้ำยาไตปลา ที่ใช้พริกแกงใต้แท้ๆ จากจังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งที่ขึ้นชื่อการทำแกงไตปลาและมีขนมจีนเส้นสดที่อร่อยสุดๆ

“พอมีน้ำยาทางใต้ ลูกค้าก็ถามอีกว่ามีทางใต้แล้วไม่มีทางเหนือหรือ เราถือว่าลูกค้าเป็นเหมือนครูที่คอยติ ชม กระตุ้น และก็ผลักดันให้ทำในสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อลูกค้าบอกมาแบบนี้เราเลยไปหาลูกสะใภ้ของเพื่อนที่เคยทำขนมจีนน้ำเงี้ยวให้เรากิน รสชาติอร่อยมาก เคล็ดลับอยู่ที่พริกแกงจากบ้านเกิดเขาที่เชียงราย เราเลยใช้พริกแกงจากที่นั่นทำขนมจีนน้ำเงี้ยว

“เมื่อมีของภาคเหนือ ภาคใต้แล้ว เราก็อยากให้มีน้ำยาของทางภาคอีสานด้วย เลยเกิดเป็นน้ำยาหม้อปลาร้าปลาดุกสูตรเพื่อนคนอีสานข้างบ้านสมัยอยู่กรุงเทพฯ”

เมื่อขนมจีนในร้านมีน้ำยาให้เลือกหลากหลายชนิด แถมวัตถุดิบที่ใช้ยังเต็มไปด้วยคุณภาพและความเข้มข้น ลูกค้าก็ยิ่งแห่กันมาแน่นร้าน ย่าติ๊กต้องเปลี่ยนมาใช้หม้อเบอร์สี่สิบห้า ขณะเดียวกันก็มุ่งทำแพ็คเกจจิ้งให้ดูดี มีความสวยงาม ไม่ได้ใส่ถุงธรรมดาเหมือนร้านทั่วไป

“ขนมจีนเจ้าโปรดของเรา คือขนมจีนขยุ้มที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และขนมจีนบางกอก ที่นอกจากรสชาติจะอร่อยแล้ว ยังมีสิ่งที่เรารู้สึกประทับใจอื่นๆ ด้วย อย่างขนมจีนขยุ้ม เราจำได้ว่าเจ้าของร้านสวยมาก ขนาดแก่กว่าเราแต่เขาดูดีมาก คอยยิ้มต้อนรับลูกค้าทำให้ร้านดูมีเสน่ห์ ขณะที่ขนมจีนบางกอก เวลาสั่งกลับบ้าน กินเสร็จเราไม่กล้าทิ้งกล่องเลย เขาทำแพคเกจจิ้งดีมาก ขนมจีนดูดีมีราคา

“เราตั้งใจเลยว่าถ้าวันหนึ่งมีร้านขนมจีนเป็นของตัวเอง ฉันจะต้องสวยและแพคเกจจิ้งก็ต้องดูดีด้วย”

สำเร็จ

ย่าติ๊กสั่งทำแพคเกจจิ้งเป็นกล่องอย่างดีจากกรุงเทพฯ มาใช้ที่ปากช่อง แม้ต้นทุนและค่าขนส่งจะสูง แต่ก็ได้ใจลูกค้าไปเต็มๆ คนจำนวนไม่น้อยรู้จักร้านขนมจีนย่าติ๊กจากกล่องใส่ขนมจีนกลับบ้านที่เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร

“บางคนเรียกร้านเราว่าขนมจีนไฮโซนะ เพราะเขาเห็นกล่องดูดี เป็นระเบียบเรียบร้อย ต่างจากร้านทั่วไปในเวลานั้นที่ใส่ถุงธรรมดา คือกล่องขนมจีนของเราถือเดินโชว์ได้”

หลังจากตั้งรถเข็นขายไปได้ราว 6 ปี ย่าติ๊กก็ขยับขยายกิจการด้วยการรีโนเวทบ้านของตัวเองใหม่ ทำเป็นร้านขนมจีนที่กว้างขวางต้อนรับลูกค้าได้มากกว่าเดิม เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศไม่ได้ดังแต่เฉพาะแค่ในปากช่องเท่านั้น

และแน่นอนจุดขายที่โดดเด่นอีกอย่างของร้านขนมจีนย่าติ๊ก คือการแต่งกายที่สวย แซ่บ และเต็มไปด้วยสีสันของเจ้าของร้าน

“เราเป็นคนชอบแต่งตัวให้มีสีสันอยู่แล้ว เป็นความสุข ยิ่งมีคนชมยิ่งแฮปปี้ เราใส่ชุดเป็นสีตามวันมาตั้งแต่ตอนเปิดร้านแรกๆ แล้ว เพียงแต่ไม่ใช่ชุดไทยแบบทุกวันนี้ วันจันทร์ชุดสีเหลือง วันอังคารชุดสีชมพู วันพุธชุดสีเขียว ขาดแค่ชุดสีแดงเพราะร้านหยุดวันอาทิตย์

“ครั้งหนึ่งช่วงวันสงกรานต์ เราใส่ชุดไทย ใส่ผ้าถุงทำบุญที่บ้านแล้วมีแต่คนชมว่าสวย ด้วยความบ้ายอเลยหาซื้อชุดไทยมาใส่ ซื้อเก็บไว้เรื่อยๆ จนเต็มตู้ไปหมด ส่วนดอกไม้เริ่มมาจากผมตกลงมาปรกหน้า เราเลยให้เด็กไปซื้อกิ๊บติดผม ปรากฏว่าเด็กไปซื้อมาแบบเป็นโบว์มีดอกไม้ดอกใหญ่ พอใส่ไปปรากฏว่ามันเด่นมาก ลูกค้าชื่นชอบกันใหญ่ เลยรู้สึกว่ามีดอกเดียวไม่ได้แล้ว จึงติดเพิ่มเป็นสองดอก สามดอก จนตอนนี้แทบจะเป็นสวนนงนุชแล้ว” ย่าติ๊กเล่าพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

ทุกวันย่าติ๊กจะเปิดร้านตั้งแต่ 10 โมง ไม่เกินบ่ายสองครึ่ง ทุกอย่างก็หมดเกลี้ยง แต่หากวันไหนขายดีๆ แค่เที่ยงกว่าก็ไม่เหลืออะไรให้กินแล้ว

“เราตื่นมาทำน้ำยาขนมจีนตั้งแต่ตีสาม ใช้เวลากว่าเจ็ดชั่วโมง ของทุกอย่างทำใหม่แบบวันต่อวัน ไม่มีเก็บไว้ขายใหม่ เพราะฉะนั้นทุกวันต้องขายให้หมด ซึ่งต้องขอบคุณลูกค้าทุกๆ คนอย่างมากที่ทำให้เรามีวันนี้”

ปัจจุบันย่าติ๊กยืนยันว่าชีวิตในวัย 60 ของเธอนั้นมีความสุขมาก แม้จะเป็นมีโรคประจำตัวอย่างความดันโลหิตสูง แต่เธอก็รู้สึกดีที่ได้ตื่นขึ้นมาทำในสิ่งที่รักที่ทุกวัน

“ชีวิตของเรามันล้มลุกคลุกคลานมานาน เจอความเจ็บปวดมาก็ไม่น้อย แต่วันนี้เราคิดว่าเราเจอสิ่งที่มีความสุขและอยู่กับมันได้นานๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยังไง เราจะตื่นเช้าลุกขึ้นมาทำขนมจีนให้ลูกค้ากิน แค่นี้ชีวิตมีความสุขจนไม่อยากทำงานอย่างอื่นอีกเลย”

4 บทเรียนธุรกิจของย่าติ๊ก จากชีวิตคลุกคลานจนสำเร็จในวัย 60

01 เริ่มต้นธุรกิจจากก้าวเล็กๆ ไม่ต้องใช้ทุนตั้งต้นเยอะ ทำจนเริ่มจับทางลูกค้าได้ จึงค่อยขยายให้ใหญ่ขึ้น

02 ลูกค้าเปรียบเสมือนครู ที่คอยผลักดันให้ทำในสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม รับฟังลูกค้าเพื่อนำมาปรุงปรัง พัฒนาธุรกิจ

03 ใส่ใจกับทุกขั้นตอนการผลิต ใช้วัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพ เพื่อให้ลูกค้าได้ลิ้มรสอาหารอร่อยที่ดีที่สุด

04 หาจุดขายที่ทำให้ธุรกิจโดดเด่น ทั้งการตกแต่งร้าน แพคเกจจิ้ง และความสดใสของแม่ค้า ล้วนสำคัญกับความประทับใจของลูกค้า

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ