เมื่อสภาวะไร้ตัวตนที่ลูกชายเรียนรู้จากผืนป่า ช่วยเยียวยาโรคซึมเศร้าของแม่

เรื่องราวของครอบครัว ‘เก่งสูงเนิน’ ที่พ่อและลูกชายเป็นนักเดินป่า ขณะที่แม่เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ความเจ็บปวดที่เห็นแม่ของตัวเองจมอยู่กับความทนทุกข์ ทำให้ลูกชายอย่าง ‘เต้ย’ – ปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน พยายามหาหนทางให้แม่หายดีหรืออย่างน้อยก็มีอาการที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

จากคนที่ไม่เข้าใจการรับมือกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เมื่อเต้ยได้อยู่ใกล้ชิดแม่มากขึ้น ได้นั่งคุยกับจิตแพทย์ผู้ให้การรักษาแม่แบบตัวต่อตัว เขาและพ่อ รวมทั้งญาติๆ จึงได้เรียนรู้และทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น ก่อนที่สุดท้ายจะเรียนรู้ว่าคำตอบที่ตามหาเพื่อให้อาการซึมเศร้าของแม่ดีขึ้นนั้นไม่ได้อยู่ในตำราแพทย์เล่มใดๆ

แต่เป็นคำตอบที่ลูกชายนักเดินป่าค้นพบใต้ร่มเงาธรรมชาติอย่าง ‘สภาวะไร้ตัวตน’ ที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายและจิตใจจดจ่ออยู่กับเสียงใบไม้ไหว เสียงสายน้ำและสายลม จนลืมความเครียด ความทุกข์ใดๆ ก็ตามที่อยู่ในชีวิตไปชั่วขณะหนึ่ง

เต้ยนำสภาวะไร้ตัวตนมาประยุกต์กับสิ่งที่แม่ชอบ นั่นคือการเพาะเลี้ยงแคคตัส เกิดเป็นโรงเรือนเล็กๆ ที่กลายเป็นพื้นที่ที่แม่ได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ชอบได้โดยไม่มีอะไรมารบกวน การอยู่กับสภาวะไร้ตัวตนในโรงเรือนแคคตัสส่งผลให้อาการโรคซึมเศร้าของแม่ค่อยๆ ทุเลาลง ส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ

“คงต้องขอบคุณธรรมชาติและคำตอบจากผืนป่า ที่ช่วยเยียวยาให้ชีวิตแม่ดีขึ้นกว่าเดิม” เต้ยบอกเราแบบนั้น

โรคซึมเศร้าของแม่

เต้ย คือลูกชายคนเดียวของ ฤทธิชัย และ ประนอม เก่งสูงเนิน เจ้าของบริษัททัวร์และนำเที่ยวแห่งอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

กิจการของบ้านเก่งสูงเนินมุ่งไปที่การท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เน้นเดินป่า ดูนก ถ่ายภาพสัตว์ป่า

โดยมีฤทธิชัยผู้เป็นพ่อและลูกชายอย่างเต้ย รวมทั้งญาติๆ ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์คอยนำเที่ยวและอธิบายให้ความรู้ ขณะที่ประนอมผู้เป็นแม่มีหน้าที่ดูแลที่พัก อาหาร และบัญชีการเงิน

พื้นฐานนิสัยของแม่ประนอมเป็นคนจริงจังและไม่ปล่อยวางกับอะไรง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก แม้แต่เรื่องเดือดร้อนของคนอื่นก็เก็บมาเป็นความทุกข์ร้อนของตัวเอง กลายเป็นความเครียดสะสม และนำไปสู่โรคซึมเศร้าในที่สุด

เต้ยอธิบายถึงโรคซึมเศร้าของแม่ว่า “เกิดจากหลายเหตุปัจจัยประกอบกัน อย่างแรกน่าจะมาจากความเครียดสะสมเรื่องงานที่ทำต่อเนื่องมาเป็นเวลายี่สิบกว่าปี เพราะแม่ทำงานเบื้องหลัง คอยจัดการตัวเลขทุกอย่างของบริษัท แม่ไม่ใช่คนทำกิจกรรมเยอะเหมือนพ่อกับผม ความเครียดเรื่องงานทำให้แม่นอนหลับยาก ต้องใช้ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ใช้ติดต่อกันมานานจนตอนหลังไม่ใช้ไม่ได้

“อีกอย่างพื้นฐานของแม่เป็นคนไม่ปล่อยวาง มีอะไรก็จะเก็บไว้ แบกไว้ทุกอย่าง มีครั้งหนึ่งเราขับรถไปด้วยกันแล้วมีใครก็ไม่รู้ประสบอุบัติเหตุอยู่ข้างทาง แม่ก็เก็บมาคิดว่า ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดกับตัวเองหรือคนในครอบครัวเราจะเป็นยังไง หรือบางทีคนในออฟฟิศมีเรื่องเดือดร้อน แม่ไปช่วยแต่สุดท้ายเขายังไม่ดีขึ้น แม่ก็จะเก็บเอามาเครียดมากกว่าคนที่เป็นเจ้าของเรื่องเสียอีก

“แม่เป็นคนที่รักและเป็นห่วงคนอื่นมาก ห่วงจนเป็นทุกข์จนลืมรักตัวเอง เวลามีอะไรเกิดขึ้นก็จะโทษตัวเองอยู่เสมอ จนในที่สุดเมื่อพฤติกรรมทุกอย่างที่ว่ามาค่อยๆ สะสมมากขึ้น แม่ก็กลายเป็นโรคซึมเศร้า”

อาการของโรคซึมเศร้าที่หญิงวัย 57 เป็นอยู่ ไม่ใช่แค่การนั่งเหม่อลอยหรือร้องไห้ ยามที่ความรู้สึกตกไปอยู่ในหลุมดำ แต่บ่อยครั้งที่เธอพยายามปลิดชีพตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรลงไป

“มีไม่ต่ำกว่าห้าครั้งที่ผมต้องเอาเชือกออกจากคอแม่ บางครั้งเขาทำไปโดยไม่รู้ตัว เพราะรู้สึกว่าตัวเองแย่ โทษตัวเองว่าไม่ดีพอ จนกระทั่งสภาพจิตใจดำดิ่งถึงขีดสุด หรือที่เรียกกันว่าสภาวะตกหลุมดำ มันหนักหนาถึงขนาดที่เขาจะฆ่าตัวตายได้เลย ตอนนั้นแม้ผมอยากทำอะไรสักอย่าง หาทางออกยังไงก็ได้ที่จะช่วยให้แม่ดีขึ้น แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าต้องทำอะไร”

ไม่มีลูกคนไหนหรอกที่อยากเห็นแม่ของตัวเองจมอยู่กับความทนทุกข์และซึมเศร้า เต้ยเองก็เช่นกัน เขาอยากให้แม่หายดีหรืออย่างน้อยก็มีอาการที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพียงแต่ในวินาทีนั้นเขาเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

ด้วยความไม่รู้นี่เอง ทำให้เขาแก้ปัญหาที่เป็นอยู่แบบผิดทาง

ความหวังดีที่แม่ไม่ต้องการ

หลังเรียนจบด้านบริหารการท่องเที่ยวจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อราว 4-5 ปีก่อน บัณฑิตจบใหม่อย่างเต้ยก็ค้นหาตัวเองด้วยการลองไปหางานทำที่กรุงเทพฯ แต่ทำอยู่ได้ไม่กี่เดือนก็ต้องกลับมาดูแลแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้า

“ผมจบใหม่ก็อยากหาประสบการณ์ ค้นหาตัวเองว่าเราชอบอะไร เพราะแม้เราจะเข้าป่าดูนก ดูสัตว์ตั้งแต่เด็กก็จริง แต่เป็นการทำตามพ่อ ไม่ได้สนใจอะไรจริงจัง คิดแค่ว่าบรรยากาศเย็นดี ไม่ร้อน บางครั้งเฉอะแฉะ ทากเยอะ สนุกดีที่ได้เห็นสัตว์ต่างๆ แต่ไม่ได้สนใจอะไรเชิงลึก เลยคิดว่าลองไปหาประสบการณ์ดู เผื่อจะได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร จนได้งานเป็นที่ปรึกษา คอยแนะนำดูแลอุปกรณ์กล้องให้ลูกค้าของ Nikon แต่ทำได้ไม่นานก็มีเหตุให้ต้องกลับมาดูแลแม่ เพราะผมรู้สึกได้ถึงอาการของแม่ที่เริ่มทรุดลง

“ความจริงพ่อกับแม่ไม่ได้บังคับหรือคาดหวังว่าผมจะต้องกลับมา แต่เป็นตัวเราเองที่อยากกลับ เพราะแม่เริ่มมีอาการวูบบ่อย และก่อนหน้านั้นผมก็ไม่ได้ใส่ใจแม่เท่าที่ควร ปล่อยให้พ่อกับญาติๆ ดูแลมาตลอด”

เต้ยจึงตัดสินใจกลับมาบ้านและทำงานเป็นมัคคุเทศก์ในกิจการท่องเที่ยวของครอบครัว พร้อมดูแลแม่ไปด้วย ในวินาทีนั้นชายหนุ่มรู้แค่ว่าแม่เป็นโรคซึมเศร้า แต่ไม่ได้มีความรู้หรือความสนใจอะไรกับโรคดังกล่าวแม้แต่น้อย ซ้ำยังมองว่าไม่น่าจะเป็นโรคที่รักษาหรือแก้ปัญหาได้ยาก

“ผมรู้แค่ว่าแม่เป็นโรคซึมเศร้า แต่ไม่ได้รู้ลึกซึ้งอะไร ยังบอกแม่เลยว่าถ้าแม่เศร้าก็ยิ้ม ก็หัวเราะสิ จะไปยากอะไร ซึ่งมันเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอะไรแม้แต่น้อย นอกจากจะไม่ทำให้แม่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้แย่ลงอีก

“เวลาผู้ป่วยซึมเศร้าอยู่ในสภาวะที่จิตใจย่ำแย่หรือตกหลุมดำ เขาต้องการแค่คนที่รับฟังอย่างจริงใจจริงๆ แต่นอกจากผมจะไม่รับฟังอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ยังเอาชุดความคิดของตัวเองไปยัดเยียดให้เขาอีก บางทีก็ไปบังคับว่าแม่ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้สิ สิ่งที่ผมพูดไปคือคำพูดจากเด็กที่ผ่านโลกมาไม่กี่ปี ชีวิตผมเองยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้เลย

“กลายเป็นว่าเราพยายามแก้ปัญหาให้แม่ แต่ดันเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง สุดท้ายกลายเป็นว่ายิ่งบังคับ ยิ่งชี้แนะ แม่ยิ่งเครียดกว่าเดิม”

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป เต้ยได้อยู่ใกล้ชิดแม่มากขึ้น ได้นั่งคุยกับจิตแพทย์ผู้ให้การรักษาแม่แบบตัวต่อตัว เขาและพ่อ รวมทั้งญาติๆ จึงได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งที่แม่เป็นอยู่มากขึ้น

“ผมและทุกคนในบ้านได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจสิ่งที่แม่เป็น รวมทั้งหลีกเลี่ยงไม่ไปทำอะไรที่เป็นการกระตุ้นให้แม่กลับเข้าสู่สภาวะจิตใจย่ำแย่อีก เรารับฟัง ไม่เอาความคิดตัวเองไปยัดเยียด หรือพูดสิ่งที่อาจทำให้แม่คิดมาก ขณะที่หมอเองก็ปรับยาจนสมดุลกับอาการของแม่มากขึ้น”

หากการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าของแม่คือคำถามข้อใหญ่ที่เต้ยและคนในครอบครัวพยายามช่วยกันหาทางออก ก็นับว่าทุกคนเริ่มเดินมาถูกทางแล้ว ไม่มีคำตอบใดที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว หากแต่หลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปผสมผสานกันเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุด

ทว่ายังมีคำตอบอยู่อีกข้อหนึ่งที่เต้ยได้ค้นพบและนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อรักษาและเยียวยาโรคซึมเศร้าที่แม่เป็นอยู่

เขานิยามมันว่า ‘สภาวะไร้ตัวตน’ และค้นพบมันได้ในผืนป่า

สภาวะไร้ตัวตนในผืนป่า

บ่อยครั้งเวลาเต้ยเดินทางเข้าไปในป่า เขาจะเจอกับสิ่งที่นิยามขึ้นเองว่า ‘สภาวะไร้ตัวตน’

“เวลาเข้าป่า ผมมักประสบกับห้วงอารมณ์ที่ตั้งชื่อว่าสภาวะไร้ตัวตน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่ใต้ร่มเงาของผืนป่า ได้สัมผัสธรรมชาติ ฟังเสียงลม เสียงน้ำ เสียงใบไม้ หรืออะไรก็ตามตรงหน้าอย่างมีสมาธิ จนลืมว่าเราเป็นใคร ความจดจ่อนั้นทำให้ลืมความเครียด ความทุกข์ใดๆ ก็ตามที่อยู่ในชีวิตไปชั่วขณะหนึ่ง ผมเลยคิดถึงแม่ คิดว่าสภาวะนี้น่าจะส่งผลดีต่อเขา”

อย่างไรก็ตาม เต้ยรู้ว่าแม่ไม่ใช่คนเข้าป่า การจะให้ฟังเสียงลม เสียงนก เสียงน้ำ จนจิตใจนิ่งเกิดสมาธิ กระทั่งหลงลืมความทุกข์ในชีวิตอย่างเขาคงไม่ใช่คำตอบ แต่การเลือกนำเอาสภาวะดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่แม่ชอบและสนใจ น่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า

ในช่วงเวลาดังกล่าว แม่ประนอมสนใจอยากเพาะเลี้ยงแคคตัส ผู้เป็นลูกอย่างเต้ยจึงเอาคำตอบที่ได้จากการเข้าป่ามาประยุกต์เข้ากับการเลี้ยงแคคตัสของแม่

“ปกติแม่เป็นคนไม่ค่อยสนใจอะไรเป็นพิเศษ แต่ช่วงนั้นเขาสนใจแคคตัสพอดี ประจวบเหมาะกับมีคนรู้จักในกลุ่มดูนกที่มีสวนแคตตัสอยู่ ผมเลยพาแม่ไปเที่ยวชม กลับมาจากสวนแคคตัสครั้งนั้น ผมก็ตัดสินใจสร้างโรงเรือนแคคตัสให้แม่เลย”

โรงเรือนแคคตัสที่เต้ยสร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรง แม้ขนาดของมันไม่ได้ใหญ่โตอะไร แต่ก็มากพอที่จะทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งก้าวขึ้นจากหลุมดำที่เคยอยู่มานาน

โรงเรือนแคคตัสของแม่

ในวัย 28 ปี เต้ยตัดสินใจนำเงินเก็บที่พอมีอยู่สร้างโรงเรือนแคคตัสเล็กๆ ให้แม่ ทั้งที่จะว่าไปสถานภาพทางการเงินของที่บ้านในช่วงนั้นจะไม่ค่อยสู้ดีนัก

“เวลานั้นเป็นช่วงที่โควิด -19 กำลังระบาด ยอดนักท่องเที่ยวของบริษัทเราเป็นศูนย์ เนื่องจากลูกค้าแทบทั้งหมดล้วนเป็นชาวต่างชาติ พอเขาไม่สามารถเดินทางมาในประเทศเราได้ ทุกอย่างก็จบ รายได้แทบไม่มีเข้ามา แต่เราคิดว่าเรื่องเงินทองต่อให้ลำบากยังไงเดี๋ยวก็หาใหม่ได้ ชีวิตและเรื่องของแม่สำคัญกว่า

“โรงเรือนแคคตัสเป็นสิ่งที่เหมาะกับแม่มาก เพราะแม่จะได้อยู่กับสิ่งที่เขาชอบโดยไม่มีอะไรมารบกวน สามารถใช้สมาธิกับแคคตัสตรงหน้าได้อย่างเต็มที่ ทำให้แม่ค่อยๆ ห่างจากภาวะซึมเศร้าที่เคยเป็น”

โรงเรือนแคคตัสของแม่ถูกสร้างขึ้นด้วยเงินประมาณ 20,000 บาท แทบทั้งวันแม่ประนอมจะขลุกอยู่ในโรงเรือนแห่งนี้ ผสมเกสรบ้าง รดน้ำบ้าง เพาะเมล็ดแคคตัสบ้าง บางวันหากว่างจากการทำงาน เต้ยก็จะมาอยู่ด้วยกัน ช่วยแม่ดูแลแคคตัส กลายเป็นกิจกรรมที่ทำได้ทั้งแม่ทั้งลูก

“การสร้างโรงเรือนทำให้แม่มีสติและสมาธิมากขึ้น อยู่กับสิ่งตรงหน้าได้นานขึ้น ไม่คิดไปถึงเรื่องอื่นที่ไม่ควรคิด เชื่อไหมว่าบางวันสามทุ่มแล้ว แม่ยังนั่งเพาะเมล็ดอยู่เลย”

การอยู่กับสภาวะไร้ตัวตนในโรงเรือนแคคตัส ส่งผลให้อาการโรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่ค่อยๆ ทุเลาเบาบางลง และส่งสัญญาณที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

แม่ประนอมเริ่มเก็บเรื่องราวต่างๆ ที่บั่นทอนจิตใจมาคิดน้อยลง ปล่อยวางได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถลดจำนวนโดสของยานอนหลับและยาคลายเครียดที่เคยใช้เป็นประจำลงได้ และในบางวันก็ไม่ต้องใช้ยาเลย

“ถามว่าตอนนี้แม่หายขาดจากโรคซึมเศร้าไหม คำตอบคือไม่ได้หายขาดหรอก แม่ยังคงเป็นอยู่ และโรคซึมเศร้าก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ทุกวันนี้เขาอยู่กับมันได้ดีขึ้น และไม่มีปัจจัยอะไรที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวขึ้นมาอีก คงต้องขอบคุณธรรมชาติและคำตอบจากผืนป่าที่ช่วยเยียวยาให้ชีวิตแม่ดีขึ้นกว่าเดิม”

Credits

Authors

  • ปองธรรม สุทธิสาคร

    Author & Photographerเป็นคนเขียนหนังสือ ที่หลงใหลในวรรณกรรมน้อยกว่ากีฬา และภรรยาของตนเอง ยามว่างหากไม่ใช้เวลาไปกับการนั่งคุยกับคน ก็มักหมดเวลาไปกับการนั่งดูบาส ดูบอล และละครน้ำเน่า นักเขียนวัยหลักสี่คนนี้ยืนยันว่าตนเองคือนักอุทิศเวลาให้กับความขี้เกียจ เนื่องจากเขามีความเชื่อว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นชีวิตที่ขี้เกียจได้

  • บริภัทร บุญสวัสดิ์

    Cameramanหลงใหลผลลัพท์ในรอยยิ้มหวานเจี๊ยบจริงใจที่ส่งคืนกลับมา :)

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ