“วิกฤตแค่ไหน แต่ชีวิตต้องไปต่อ” การต่อสู้ของครอบครัว ‘ธนาภิวงศ์’ เจ้าของร้าน ‘แม่ หมูสะเต๊ะ’

ครอบครัว ‘ธนาภิวงศ์’ เป็นเจ้าของร้าน ‘แม่หมูสะเต๊ะ’ ธุรกิจหมูๆ (สะเต๊ะ) ที่กว่าจะมาถึงปัจจุบัน ไม่ได้หมูอย่างที่คิด เพราะวิกฤตครั้งนั้นเกือบทำให้ครอบครัวต้องพบจุดจบ

หลังเหตุที่ทำให้ต้องแยกทางกับพ่อด้วยปัญหาครอบครัว แม่จุ๋ม-ธนัตถญา ธนาภิวงศ์ เป็นหัวหน้าครอบครัวและแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินให้ได้มากๆ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของลูกสาว เจน – สมิทธานันท์ ธนาภิวงศ์ ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และลูกชายที่ตั้งใจอยากเป็นนักบิน

แม่จุ๋มมีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำสวน เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง มีที่ดินกว่า 30 ไร่ เป็นเจ้าของอสังหาฯ เป็นนักซื้อขายทองแท่ง และทำการงานอื่นๆ อีกมากมายที่นำมาซึ่งรายได้ที่หวังจะเก็บไว้เป็นสมบัติของลูกๆ

วันหนึ่งเงินกว่า 20 ล้านที่เป็นหัวใจหล่อเลี้ยงครอบครัว ถูกนำไปลงทุนโดยเพื่อนที่แม่จุ๋มรู้จักและไว้ใจ จนเป็นเหตุให้ทองแท่งที่สะสม รวมถึงธุรกิจอสังหาฯ ทั้งหมดหายวับไปกับตา โลกทั้งโลกของเธอและลูกๆ มืดลง วินาทีสิ้นหวังมีคำถามดังขึ้น ‘จะมีชีวิตต่อไปทำไม’

วันที่ครอบครัวมืดมน

แม่เลี้ยงเดี่ยวหัวหน้าครอบครัวคนนี้ไม่เคยรู้ว่าตัวเองเกิดมาเพื่ออะไรหรืออยากมีชีวิตอยู่ไปทำไม แต่เป้าหมายหนึ่งเดียวของเธอคือ ‘ลูกๆ’ เพราะอยากหาเงินให้ลูกๆ ได้เรียน ได้มีชีวิตที่ดี ไม่อยากให้ต้องมาลำบากเหมือนชีวิตของตัวเอง

“เวลานั้นมืดไปหมด คิดวนๆ ทำไมตัวเราทำให้ทุกอย่างเลวร้ายได้แบบนี้ เพราะความโง่ของตัวเรา ทำให้อนาคตลูกๆ พัง มันใช้ชีวิตต่อยากมาก จนรู้สึกว่าจบชีวิตตรงนี้มันง่ายกว่า” แม่จุ๋มทบทวนความรู้สึกสูญเสียให้ฟังอีกครั้ง

ในขณะที่แม่จุ๋มกำลังถอดใจ แต่ลูกๆ ของเธอยังไม่ยอมแพ้ ลูกสาวที่เห็นแม่เศร้าตัดสินใจว่า จะต้องทำให้ครอบครัวกลับมาสู้กันใหม่

“น้องเจนเดินลงมาจากห้อง และบอกว่า หนูจะสู้ต่อ เราตายไม่ได้หรอก ต้องพาคนที่โกงเราเข้าคุกให้ได้ เราเป็นแม่ ได้ยินลูกพูดแบบนี้ เราตัดสินใจว่าต้องสู้”
ทั้งครอบครัวตัดสินใจลุกขึ้นใหม่อีกครั้งพร้อมกำลังใจจากกันและกัน เจนบอกว่า “ แม้จะเรียนอย่างเดียวและยังไม่เคยทำงาน แต่การได้อยู่กับแม่ที่ทำงานหนักให้เห็นมาตลอด ก็พอจะรู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป หนูมั่นใจว่าต้องทำได้แน่ๆ”

ฉันมีไอดอลเป็นแม่

เจนมุมานะหาทางออกของครอบครัวต่อไป เธอเริ่มต้นศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับวงการค้าขายในโลกออนไลน์ ฟังพอดแคสต์ ดูยูทูป เล่นเฟซบุ๊ก และหาหนังสือเกี่ยวกับการตลาดมาอ่าน เพื่อใช้ความรู้จากสื่อและเครื่องมือของยุคสมัยที่ตัวเองคุ้นเคย เพื่อสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ 

“ความกล้าของหนูมาจากแม่ทั้งนั้นเลย เห็นแม่มาตั้งแต่เด็ก แม่เป็นเจ้าแม่กวนอิมพันมือหรือเปล่า ถึงทำงานได้เยอะหลายอย่างขนาดนี้ ทั้งดูแลลูก พาไปเรียน ทำกับข้าว ทำงานบ้าน ภูมิใจที่แม่เป็นผู้หญิงคนเดียวที่เก่งและคูลมากๆ เป็นผู้หญิงทันสมัย โคตรจะแกร่ง เลี้ยงดูตัวเองได้ หนูอยากเป็นแบบแม่ แม่ฉันทำได้ ฉันเองก็ต้องทำได้สิ”

ทั้งสามคนฮึดสู้อีกครั้ง ร่วมกันคิด ลงแรงหาทางออก คอยสนับสนุนความรู้สึกของกันและกัน เมื่อดิ้นรนไปจนถึงเวลา ก็ค้นพบทางออกของปัญหา นั่นคือเมนูในความทรงจำของครอบครัว อย่าง ‘หมูสะเต๊ะ’

เจนเล่าว่าเดิมทีแม่ของเธอเคยมีธุรกิจเล็กๆ เป็นร้านขายหมูสะเต๊ะ เมื่อครอบครัวมีธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น หมูสะเต๊ะจึงกลายเป็นเมนูอร่อยๆ ที่ทำกินกันในครอบครัว ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเจนเลยปิ๊งไอเดียสานต่อธุรกิจนี้ ในวันที่ได้ลิ้มรสหมูสะเต๊ะของแม่อีกครั้ง

แม่จุ๋มว่า “หมูสะเต๊ะไม่ได้อยู่ในหัวเราเลย พอเขาบอกว่าทำหมูสะเต๊ะขายมั้ย คิดในใจว่า จะพอกินเหรอ (หัวเราะ)   เราเคยจับแต่เงินหมื่นเงินแสน มาจับของไม้ละ 5 บาท 3 บาท ลูกๆ จะอยู่กันรอดมั้ย ถามลูกอีกครั้งว่า คิดดีแล้วใช่มั้ยที่จะทำหมูสะเต๊ะ

“น้องเจนบอกว่า หมูสเต๊ะที่แม่ทำมันอร่อย เราต้องทำมันได้ เดี๋ยวหนูจะทำมันให้ดีกว่าที่แม่คิด เขาบอกแบบนี้”

ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ

“ต่อให้ท้อมากขนาดไหน หรือต่อให้ต้องล้ม ถ้าเราหันไปมองคนข้างหลังแล้วเขาล้มเหมือนกัน ก็คงรู้สึกแย่ที่เห็นเขานั่งจมอยู่แบบนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราพาตัวเองขึ้นมาได้ เราก็คงดึงครอบครัวขึ้นมาได้เหมือนกัน” เจนบอกเล่าความเชื่อที่มีในวันนั้น

ร้าน ‘แม่ หมูสะเต๊ะ’ จึงเริ่มต้นขึ้น เป็นหมูสะเต๊ะรสมือแม่ ที่มีลูกสาวบริหารจัดการเรื่องธุรกิจและการตลาดทั้งออนไลน์และหน้าร้าน ส่วนลูกชายเป็นเบื้องหลังคอยดูแลความเรียบร้อยทุกอย่างของธุรกิจนี้ กลายเป็นร้านขายหมูสะเต๊ะที่เกิดจากการร่วมมือกันของทุกคนในครอบครัว

เจนวัย 22 สรุปบทเรียนที่ได้จากวิกฤตใหญ่ของชีวิตให้ฟังว่า “มันเป็นบททดสอบและเหมือนเป็นโอกาสที่ทำให้หนูเก่งขึ้นเร็วมากๆ ยืนด้วยลำแข้งที่แข็งแกร่งและหนักแน่นกว่าเดิม มันไม่ใช่ชีวิตวัยรุ่นที่สบายๆ เป็นชีวิตวัยรุ่นที่หนักเอาเรื่องเหมือนกัน แต่ก็ยังถือว่าเป็นชีวิตวัยรุ่นที่ดี โชคดีที่วิกฤตทำให้เก่งและได้อดทนมากขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นความโชคร้ายถ้ามันจะเกิดเรื่องแบบนี้กับคนอื่น”

ส่วนแม่จุ๋มก็บอกเล่าถึงสิ่งที่ได้รับมาจากวิกฤตครั้งสำคัญของชีวิตว่า

“หมูสะเต๊ะแทน 20 ล้านที่หายไปไม่ได้ เพราะมันไม้ละ 5 บาทแต่หมูสะเต๊ะทำให้เห็นความรักใคร่กลมเกลียวที่มีในครอบครัว หมูสะเต๊ะของเราไม่ได้มียอดขายปังมากมาย แต่เราก็พออยู่ได้ เป็นค่าเทอมลูก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าข้าว เป็นทุกๆ ค่าใช้จ่ายของเรา จากชีวิตเมื่อก่อนนี้ เราอาจจะกินหรูอยู่สบาย แต่วันนี้เท่าที่มีก็พอแล้ว เพราะเราได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับความสุข

“ทั้งชีวิต เราหาแต่เงิน เงิน เงิน แต่สิ่งที่เราภูมิใจมันไม่ใช่เงิน เราภูมิใจที่ลูกเราเป็นคนดี ลูกเรามองเห็นคนอื่นในด้านดีมากกว่าด้านลบ ลูกมองทุกอย่างเป็นสิ่งสวยงาม ไม่เอาความทุกข์มาทำลายตัวเอง แต่เอามาเป็นกำลังใจให้ลุกขึ้นสู้ เราภูมิใจในตัวลูกมาก

ตั้งแต่วันที่ถูกโกงเงินไป จนถึงวันที่ครอบครัว ‘ธนาภิวงศ์’ ได้กลับมาสร้างชีวิตครั้งใหม่ด้วยการเป็นเจ้าของร้าน ‘แม่หมูสะเต๊ะ’ สิ่งสำคัญประการหนึ่ง เป็นเหมือนที่ลูกสาวของครอบครัวนี้นิยามเอาไว้ว่า

“ครอบครัวเป็นความสัมพันธ์ที่ห่วงใยกัน ซึ่งทำให้กันและกันดีขึ้นไปเรื่อยๆ”

Credits

Author

  • วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

    Authorนักเขียนและผู้ผลิตสารคดีอิสระ หลงใหลความสัมพันธ์ระหว่างเวลา ความทรงจำ และประวัติศาสตร์ สนใจความแตกต่างของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ