‘พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริก ยุ้นพันธ์’ ของครูเกษียณวัย 63 ปี ไทม์แมชชีนย้อนวัยเด็กแห่งเดียวในอยุธยา

“หลังจากที่ได้ของเล่นชิ้นแรก ชิ้นที่สอง ชิ้นที่สามก็ตามมาเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็มีของเล่นเป็นแสนชิ้นจนไม่มีพื้นที่ในบ้านให้เก็บ”

มนุษย์ต่างวัยพามาทำความรู้จักกับ ศาสตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ วัย 63 ปี อดีตข้าราชการครู สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก นักวาดภาพนิทานเยาวชน ผู้ก่อตั้ง ‘พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น เกริก ยุ้นพันธ์’ ที่เก็บสะสมตุ๊กตาและของเล่นเด็กมานานกว่า 40 ปี จนตอนนี้มีมากถึง 250,000 ชิ้น

ตุ๊กตาเซรามิกรูปเด็กผู้หญิง ของสะสมชิ้นแรกที่จุดประกายความหลงใหลในของเล่นให้กับชายวัย 63 ปี และเปลี่ยนเขา จากอาจารย์สอนหนังสือ ให้กลายมาเป็นนักสะสมที่มองเห็นคุณค่าและความสำคัญในของเล่น ที่มีตั้งแต่ตุ๊กตาดินเผาสมัยอยุธยา โมเดลซิมป์สัน รถของเล่นจากสังกะสี โมเดลชาร์ลี บราวน์ ไดโนเสาร์ตัวสีเขียว ไปจนถึงของเล่นอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ที่ผ่านการสะสมนับตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยเกษียณ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนและกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ของเล่นในที่สุด

‘พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริก ยุ้นพันธ์’ คือพื้นที่รวบรวมความทรงจำที่ชวนให้หวนคิดถึงความหลังในวัยเด็ก เป็นแหล่งสะสมของเล่นและเครื่องใช้สมัยโบราณทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น ตุ๊กตาชาวนาดินเผา โมเดลอุลตร้าแมน ลูกปะคำ แก้วอียิปป์โบราณ และอื่นๆ อายุกว่าร้อยปีที่หลายคนอาจจะเคยเห็นและไม่เคยเห็น เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวในอยุธยา ที่ใครๆ ไม่พลาดที่จะแวะชม

มนุษย์ต่างวัยได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมเยือน พร้อมพูดคุยถึงที่มาของแรงบันดาลใจนี้ กับ ศาตราจารย์เกริก ยุ้นพันธ์ วัย 63 ปี

“ตอนเด็กๆ ผมชอบเล่นสวมบทบาทเป็นครูสอนนักเรียน ตัวผมจะเป็นครูส่วนน้องก็จะเป็นนักเรียน แล้วก็ชอบทำท่าถือไม้สอนเด็กนักเรียนไปตามประสาเด็ก ทุกครั้งที่กลับมาจากโรงเรียนก็จะสอนน้องทำการบ้าน ชอบทำอะไรที่มีความเป็นผู้นำ จนในที่สุดก็รู้แล้วว่า ความฝันเดียวของผมคืออยากเป็นครู

“สาขาที่เลือกเรียนคือ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก เพราะชอบในงานศิลปะ การเขียนนิทาน การเล่านิทานให้เด็กฟัง ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเหมือนสะพานทอดให้ผมได้รับโอกาสที่ใหญ่ในชีวิต ซึ่งทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กับโลกของเด็ก

“ด้วยสิ่งที่รักและงานที่ทำมันเดินคู่กันไปเป็นเส้นขนาน มันอยู่ในวงจรเดียวกัน ผมจึงเริ่มสนใจงานของเล่นเด็ก อยากที่จะสะสมของเล่นเด็ก เมื่อรู้ใจตัวเองก็ลงมือทำตามเป้าหมายที่วาดไว้โดยไม่มีคำว่าลังเล จากที่เป็นครู เป็นนักวาดภาพนิทานเยาวชน ตอนนี้จึงกลายมาเป็นนักสะสมของเล่นอย่างเต็มตัว”


พิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยของเล่นอันน่าตื่นตาตื่นใจ โมเดลอุลตร้าแมนตัวใหญ่กว่าคนจริง อันปังแมนตุ๊กตาหนุ่มน้อยแก้มแดงที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่ โมเดลโดราเอมอนหลากอิริยาบท อีกทั้งตุ๊กตานางรำ ที่มองดูแล้วชวนให้ขนหัวลุก

ของเล่นที่เล่ามาเป็นส่วนหนึ่งในของเล่นที่อาจารย์เกริกสะสมมากว่าครึ่งชีวิต ถามอาจารย์เกริกว่า ของเล่นมากมายขนาดนี้จำหมดได้อย่างไร อาจารย์บอก จำไม่ได้ทุกชิ้นหรอก แต่มีอยู่หนึ่งชิ้นที่อาจารย์จำฝังใจ มันเป็นของสะสมชิ้นแรก ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนมันก็ยังคงอยู่ในความทรงจำเสมอ

ตุ๊กตาเด็กผู้หญิงที่ส่วนหัวและขาเป็นเซรามิก ช่วงตัวเป็นผ้าที่ยัดไส้ด้วยขี้เลื่อย เชื่อมต่อกันด้วยการใช้ด้ายเย็บผ่านช่องวงกลมเล็กๆ รอบหัวเซรามิก อายุราวๆ 150 ปี คือของเล่นชิ้นแรกที่อาจารย์เกริกเริ่มเก็บสะสม อาจารย์เล่าว่า ตุ๊กตาตัวแรกถือได้ว่าเป็นของเล่นยุคบุกเบิกในการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลยก็ว่าได้

“ในช่วงที่เรียนปริญญาตรี สมัยนั้นของเล่นราคาถูกมาก เพิ่งเริ่มเก็บสะสมของเล่นแล้วดันไปเจอเจ้าตุ๊กตาเซเรามิกตัวนี้ มองไปมองมารู้สึกได้เลยว่ามันต้องเป็นของเล่นเก่าแก่แน่ๆ เลย เพราะด้วยหน้าตาและรูปแบบการผสมผสานระหว่างเซรามิกกับผ้า ทำให้ผมรู้สึกถูกใจมาก เป็นการออกแบบที่ดูแปลกดี พอถามถึงราคา คนขายบอก 50 บาท ก็เลยซื้อมาเก็บไว้

“หลังจากที่ได้ของเล่นชิ้นแรก ชิ้นที่สอง ชิ้นที่สามก็ตามมาเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีก็มีของเล่นเป็นแสนชิ้นจนไม่มีพื้นที่ในบ้านให้เก็บ ของเล่นบางชิ้นที่ได้มาในตอนนั้นมีราคาแค่หลักหน่วยไปจนถึงหลักร้อย แต่ตอนนี้ราคาขยับไปถึงหลักพัน หลักหมื่นแล้ว เราไม่ได้มีเกณฑ์ในการเลือกซื้อว่าจะต้องเป็นของเก่า มีประวัติมาช้านาน แค่เจอรูปแบบที่ถูกใจ ราคาโดนใจ เราก็ซื้อมาสะสมไว้ เพราะรู้สึกว่าของเล่นทุกชิ้นมันมีคุณค่าในตัวของมัน

“ตอนนี้มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่ชื่นชอบ นั่นก็คือ เจ้าตุ๊กตาเด็กน้อยที่กำลังใช้เจ้าหมูสีเหลืองเป็นตัวขับเคลื่อนพาหนะนี่แหละ ช่วงนี้กำลังอินกับตุ๊กตาสังกะสี รู้สึกว่ามันถึกทน ถ้ารักษาดีๆ ก็ยังอยู่ได้อีกนาน อย่างตัวนี้มีอายุราวๆ ร้อยกว่าปี ยังเคลื่อนที่ได้นะ ยังไม่พัง ความชอบนี้ขึ้นอยู่ในแต่ละช่วง ช่วงไหนที่ชอบตัวไหนเป็นพิเศษก็จะหยิบมาเก็บไว้ดูส่วนตัว”

ย้อนกลับไปสมัยที่อาจารย์เกริกยังเป็นอาจารย์สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก เขาเขียนนิทานมาแล้วกว่า 200 เล่ม ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น เขาคืออดีตนักเรียนปริญญาตรีที่มีฝีมือด้านการวาดภาพ และมีโอกาสได้ลงแข่งขันการประกวดภาพหนังสือประกอบสำหรับเด็ก จนคว้ารางวัลนอมา (NOMA) ในปีพ.ศ. 2525

ซึ่ง NOMA (Noma Concours for Picture Book Illustrations) คือ รางวัลการแข่งขันนักวาดภาพประกอบ นักออกแบบกราฟิก และศิลปินที่กำลังมาแรงในเอเชีย เพื่อนำเสนอผลงานจูงใจให้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยผลงานของอาจารย์ได้นำไปจัดแสดงในนิทรรศการต่างๆ เช่น ห้องสมุดวรรณกรรมเด็กนานาชาติในอุเอโนะ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

“ช่วงที่ผมเรียนปริญญาตรีได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลนอมา (NOMA) นิทานเรื่องชาวนาไทย ประเภทภาพหนังสือประกอบสำหรับเด็ก ได้ไปญี่ปุ่น ตอนที่ไปญี่ปุ่นอายุผมยังน้อย เขาเลยให้ไปเรียนภาพประกอบหนังสือวิทยาศาสตร์ขององค์การยูเนสโก เป็นเวลา 3 เดือน การไปญี่ปุ่นครั้งนั้น ผมได้เห็นพิพิธภัณฑ์ของเล่นสังกะสีที่เมืองฮาโกเน่ รู้สึกชอบเลยเกิดไอเดียที่อยากจะสะสมของเล่นเด็ก เพราะของเล่นนั้นพัฒนาทุกๆ ด้านเกี่ยวกับเด็ก แม้กระทั่งความคิดสร้างสรรค์ เราเห็นว่าบ้านเราไม่มีพิพิธภัณฑ์ของเล่น คิดไปคิดมาทำพิพิธภัณฑ์ของเล่นที่ประเทศไทยดีกว่า”


“ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 จนถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2565 ผมยังเก็บสะสมของเล่นอยู่เหมือนเดิม ไม่เคยหยุด ไม่ว่าจะเป็นของเล่นเก่า ของเล่นใหม่ แต่ต้องราคาไม่แพง แหล่งที่ซื้อประจำก็คือตลาดคลองถม คืนวันเสาร์ แถวๆ กรุงเทพ สวนจตุจักร ประมาณนี้ เพราะเมื่อตอนเป็นครูสอนอยู่ที่สวนกุหลาบ เพื่อนครูด้วยกันพาไปเดินคลองถม เดินไปเห็นปุ๊บรู้เลยมันคือสถานที่ที่ควรมาซื้อของเล่นไปสะสมเพื่อการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์

“สมัยก่อนของเล่นราคาถูกมาก 50-70 สตางค์ เพราะว่าคนยังไม่ค่อยให้ความสนใจเกี่ยวกับการเก็บสะสมของเล่นสักเท่าไร เราไปเดินตามร้านในกรุงเทพที่เขาขายของเล่นโดยเฉพาะ มีมากมายเลือกซื้อได้เลย ของเล่นเก่าๆ ที่ขายไม่ออก เขาก็จะเอามาลดราคา เดี๋ยวนี้เด็กยุคหลังๆ หันมาเล่นรถบังคับ เล่นรถใส่ถ่านแล้ว ของเล่นยุคเก่าก็ถูกมองข้าม เราก็เลยได้มาในราคาที่ถูกแสนถูก

“แต่ช่วงที่เก็บสะสมแรกๆ เคยเล่าความฝันให้ร้านขายของเล่นหลายๆ ร้านฟังว่า จะนำของเล่นมาทำพิพิธภัณฑ์ เขามองหน้าแล้วก็หาว่าเราบ้า หลังจากไตร่ตรองดีแล้ว เลยเลือกที่จะปรึกษาครอบครัวเท่านั้น ซึ่งคำตอบที่ได้กลับมาก็คือความเป็นห่วง เพราะการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจ และใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทุกคนจึงมองว่ามันเป็นไปไม่ได้”

“การทำพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมาไม่ใช่แค่อยากนึกสนุกอยากทำก็ทำ แต่ทุกอย่างที่ผมทำ ผมทำด้วยความตั้งใจพยายามศึกษาทุกๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง เพราะหากเราหลงใหลที่จะทำสิ่งใดแล้ว ก็ต้องรู้จักให้จริง และรู้จักวางแผน จนเกิดความชำนาญ เพื่อที่จะได้สามารถถ่ายทอดให้คนที่สนใจอยากเข้ามาศึกษาได้มีความรู้กลับไปจริงๆ

“อย่างทุกวันนี้ เวลาดูตุ๊กตาหรือเครื่องใช้โบราณ เพียงแค่ได้มองหรือสัมผัสก็สามารถรู้เส้นไทม์ไลน์ได้ว่าอยู่ในยุคใด คือเรารู้ได้จากประสบการณ์ที่เราศึกษามา

“อีกหนึ่งสิ่งสำคัญเลยคือ สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ การได้มาตั้งอยู่ที่อยุธยาไม่ใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างได้ผ่านกระบวนการคิดและประเมินมาแล้วว่า สถานที่แห่งนี้เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์มากที่สุด

“ในต่างประเทศจะชอบทำพิพิธภัณฑ์ชุมชน พิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์เล็กๆ หรือพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในดวงใจ อยุธยาเป็นเมืองเที่ยว เป็นเมืองไหว้พระ เป็นโบราณสถาน มีอุทยานประวัติศาสตร์ที่มีทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยละชาวต่างชาติแวะเวียนมากันอย่างพลุกพล่าน ผมจึงเลือกอยุธยาเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เชื่อมโยงกับคนที่อยากมาเที่ยวชมดินแดนประวัติศาสตร์

“แต่บางสิ่งบางอย่างเรานึกอยากจะทำ ใช่ว่าจะทำได้เลย ทุกอย่างต้องมีการวางแผน ศึกษาเรียนรู้ทุกกระบวนการอย่างละเอียด ค่อยๆ ก้าวช้าๆ แต่ความผิดพลาดน้อย ดีกว่ารีบเดินแล้วพลาดตลอดทาง เพราะสุดท้ายทุกคนก็ถึงเส้นชัยอยู่ดี

“ทุกวันนี้ที่ผมทำ ผมไม่ได้คาดหวังเรื่องเงินทอง แค่อยากให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าของของเล่นที่เป็นเหมือนโมเดลชีวิตของเรา พาเราย้อนกลับไปในวัยเด็กที่มันมีความสุข ดังนั้นการเปิดพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้นมา ถือว่าประสบความสำเร็จเลยทีเดียว ตลอดหลายปีผมได้เห็นรอยยิ้มของคนที่เดินเข้าชม เห็นบางคนยืนจ้องมองของเล่นนั้นแล้วอมยิ้มอยู่นาน มันก็อยู่ในจุดที่เราพึงพอใจมากแล้ว ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องมีคนมาสานต่อ แต่ผมแค่อยากจะดูแลสถานที่ที่เป็นเหมือนความทรงจำของใครหลายคงตรงนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นลมหายใจ”

พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น เกริก ยุ้นพันธ์ แหล่งรวมความทรงจำที่นอกจากจะมีของเล่นละลานตาให้เลือกชมแล้ว ยังมีข้าวของเครื่องใช้โบราณ ที่มีอายุไม่ต่ำกว่าร้อยปี ไม่ว่าจะเป็นตะเกียงไฟ วิทยุทรานซิสเตอร์ โทรทัศน์จอแก้ว เครื่องมุกฉลุเปลือกหอย ขวดยาไทยโบราณ และเครื่องครัวนาๆ ชนิด ที่มีอายุกว่าร้อยปี ให้ได้ชมกัน รวมถึงมีของเล่นจัดจำหน่ายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ให้เลือกซื้อไปฝากลูกหลานที่บ้าน

ที่ตั้ง :  ตำบลท่าวาสุกรี  อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เปิด วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา  09.00 – 16.00 น. หยุดทุกวันจันทร์ แต่หากวันจันทร์เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์และวันหยุดราชการจะเปิดทำการเป็นปกติ
ค่าเข้าชม : เด็ก 20 บาท ผู้ใหญ่ 50 บาท และชาวต่างชาติ 100 บาท 

Credits

Authors

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ