ป้าตุ่นชวนเพื่อนสูงวัยมาอัปสกิลดิจิทัลให้ชีวิตง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี

อีกไม่กี่วันจะถึงวันสงกรานต์แล้ว ลูกหลานก็พากันกลับบ้านไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ หอบหิ้วอาหารเจ้าเด็ดติดไม้ติดมือกลับไปฝากผู้สูงวัยที่บ้าน อยากกินอะไรขอให้บอกมา ลูกหลานอย่างเราก็จัดหาของโปรดเสิร์ฟถึงโต๊ะให้ได้ทันที ถูกปากถูกใจกันทั้งบ้านแบบไม่ต้องรอนาน แต่พอกลับมาวันทำงาน ผู้สูงวัยต้องอยู่บ้านคนเดียว ถ้าเกิดอยากจะกินอะไร ซื้ออะไร หรืออยากทำอะไร ก็ต้องคอยให้ลูกหลานในบ้านช่วยจัดการให้ ถ้าวันไหนลูกหลานยุ่งก็ต้องรอกันไป จะสั่งอาหารทานเอง ก็ไม่รู้ต้องกดตรงไหน ทำอย่างไร ดูยุ่งยากไปหมด

วันนี้ ป้าตุ่น-ปรียา อุทัยวัชรานันท์ วัย 79 ปี บาริสต้ารุ่นใหญ่หัวใจดิจิทัลแห่งร้าน “บ้านกาแฟป้าตุ่น” ผู้ไม่เคยหยุดเรียนรู้เทรนด์โซเชียลมีเดีย ที่ล่าสุดกระโดดจากแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ไปสู่ TikTok ถ่ายคลิปวิดีโออวดชาวโซเชียลจนมียอดวิวหลักหมื่น จะชวนเพื่อน ๆ ชาวสูงวัยมาอัปสกิลการใช้เทคโนโลยีให้ชีวิตสบายยิ่งกว่าเดิม ไม่ต้องรอลูกหลานพาไปกินของอร่อย อยากได้อะไรก็กดสั่งซื้อตรงจากมือถือ มีชีวิตที่อิสระด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ลองเปิดใจเรียนรู้แอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น ดูแลตัวเองได้มากขึ้น และอิสระยิ่งขึ้น

โลกหมุนไวแต่ไม่ยากเกินจะเรียนรู้ มาเป็นสูงวัยหัวใจดิจิทัลไปกับป้าตุ่นกันดีกว่า

‘บ้านกาแฟป้าตุ่น’ เป็นร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านสุขุมวิท 101/1 ในวัยเกือบ 80 ปี ที่นี่เป็นจักรวาลทั้งหมดของป้าตุ่น เพราะเป็นทั้งบ้านและร้าน นอกจากจะดูแลร้านกาแฟตั้งแต่ 8 โมงเช้าจนถึง 5 โมงเย็น ก็มีกิจวัตรหลายอย่างที่ป้าตุ่นทำในแต่ละวัน ทั้งถักโครเชต์ ทำกับข้าว ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกาย

“ป้าจะตื่นตีห้า ลุกมาปั่นจักรยานลม เหยียดเท้าเหยียดแขน รำกระบอง พอแปดโมงตรงก็ออกมาดูแลความเรียบร้อยหน้าร้าน วันไหนต้องทำขนมก็จะต้องเตรียมวัตถุดิบไว้ แล้วเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยการทำกาแฟกินเอง ตกบ่ายก็ออกไปรดน้ำผัก เป็นอย่างนี้ทุกวัน”

ป้าตุ่นอาศัยอยู่กรุงเทพฯ มานานกว่า 50 ปี แม้จะคุ้นเคยกับละแวกบ้านเป็นอย่างดี แต่เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ป้าตุ่นพึงพอใจกับการอยู่บ้านมากกว่า

“สมัยก่อน ตอนลูกเด็ก ๆ ป้าออกไปรับ-ส่งไปเรียน ไปว่ายน้ำ ไปทำผม ไปกินข้าวที่สยามประจำนะ แต่ตอนนี้บ้านเมืองเปลี่ยนไปหมด ห้างที่เคยไปเดิน ร้านอาหารที่เคยไปกินก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ตอนนี้ให้ออกไปอีกก็ไม่กล้าแล้ว กลัวหลงทาง ข้างนอกบ้านมีทั้งรถทั้งคนเยอะแยะไปหมด ไปไหนก็ต้องระวังตัว ไม่อยากเดินมากเพราะกลัวล้ม ป้าอายุขนาดนี้แล้ว ถ้าโดนรถชน หรือหกล้มไปกลัวว่าจะกลับมาเดินไม่ได้อีก เราเป็นคนแก่ก็ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน”

ป้าตุ่นเล่าว่าไม่ได้ออกจากบ้านมา 3 ปีแล้ว แต่การไม่ออกจากบ้าน ไม่ได้ทำให้ชีวิตของป้าตุ่นเงียบเหงา เพราะนอกจากเหล่าลูกค้าที่แวะเวียนมาอุดหนุนขนมและกาแฟแล้ว ป้าตุ่นยังมีกิจกรรมในการท่องโลกโซเชียลและแชร์กิจวัตรประจำวันแสนน่ารักผ่านสื่อออนไลน์ในช่องทางต่าง ๆ จนตอนนี้มีเพื่อนในโลกออนไลน์อยู่หลายพันคน

และล่าสุด ป้าตุ่นก็หัดเรียนรู้การใช้แอปพลิเคชันสั่งอาหารอย่าง foodpanda ที่นอกจากจะพบว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่กังวล แถมยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุอย่างป้าตุ่นด้วย

“พอมาลองใช้แอปฯ foodpanda แล้วก็พบว่ามันไม่ยากเลยนะ ลองทำครั้งเดียวก็ทำเองได้เลย อาหารมีแบ่งไว้ให้เลือกตั้งหลายหมวดหมู่ ทั้งเมนูเส้น สลัด ซูชิ เบอร์เกอร์ อาหารจานเดียว หรือผลไม้สดแบบพร้อมทานก็มี ไม่ชวนสับสน ตัวหนังสือก็โต รูปอาหารก็ใหญ่ดี ปกติหลานชอบสั่งพิซซ่ามากินกัน อย่างใน foodpanda นี้มีพิซซ่าให้เลือกตั้งหลายร้าน โปรฯ 1 แถม 1 ก็มีตลอด ป้าชอบที่มีรีวิวให้ดูด้วย ยิ่งร้านไหนคนรีวิวเยอะ แสดงว่าขายดี น่าจะอร่อย

“ป้ามีร้านส้มตำประจำแถวบ้านเหมือนกัน บางวันก็นึกอยากกินนะ แต่ถ้าลูกชายไม่อยู่ ก็ไม่มีใครไปซื้อให้ ต่อให้อยากกินแค่ไหนป้าก็ไม่เคยเดินออกไปซื้อเลย เพราะอากาศก็ไม่ดี รถก็เยอะ แต่พอลองกดเข้าไปดูในแอปฯ เราก็เจอร้านนั้นจริง ๆ ราคาก็ไม่ได้แพง เรากินคนเดียว ไม่ได้สั่งเยอะเขาก็มาส่งให้

“หรือวันไหนจะซื้อของสดทำกับข้าว ป้าจะให้ลูกชายไปซื้อของกินของใช้ที่ห้างประจำแถวบ้านนี่แหละ แต่มาเจอร้านเขาใน foodpanda ด้วยเหมือนกัน มีสินค้าเหมือนที่ร้านเลย อันไหนหาไม่เจอก็พิมพ์ค้นหาลงไป หอม กระเทียม ถั่วฝักยาว เห็ดนี่มีหมด ราคาก็ไม่แพง อย่างตอนนี้เราเจอร้านประจำแล้ว ก็กดสั่งซ้ำได้เลย คราวหน้าก็ไม่ต้องกดหาใหม่” ป้าตุ่นเอ่ยปากว่า

“ต่อไปป้าอยากจะส่งของหรืออยากจะกินอะไรก็ไม่ต้องคอยพึ่งลูกชายแล้ว เราจะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน”

นอกจากบริการสั่งอาหารดิลิเวอรีและซื้อของออนไลน์แล้ว อีกบริการที่ป้าตุ่นเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับป้าตุ่นคือ บริการรับ-ส่งของ

“ตอนนี้ ป้ารับออร์เดอร์ขนมทางออนไลน์ด้วย เวลาลูกชายจะออกไปส่งขนมให้ เขาก็ต้องวางแผนไปทำอย่างอื่นด้วย ไม่งั้นไม่คุ้มออกจากบ้าน ยิ่งตอนนี้ เรามีแผนจะทำกิมจิกับผัดหมี่ซั่วขายเพิ่ม ของที่ต้องส่งก็จะเยอะไปอีก ถ้ามีบริการรับ-ส่งของอย่าง pandago ก็น่าจะสะดวกขึ้น ไม่ต้องให้ลูกชายหอบข้าวของออกไปส่ง ระยะเวลามารับของก็ไม่นานเกินไป บางทียังไม่ทันแพ็คของเสร็จเขาก็มารอรับหน้าร้านแล้ว”

ประโยชน์จากการเปิดรับเทคโนโลยีทำให้ป้าตุ่นอยากจะชวนเพื่อน ๆ ให้มาเปิดใจ ลองเรียนรู้การใช้งานที่แม้อาจจะยากในตอนเริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป

“เพื่อนป้าหลายคนก็เป็นผู้สูงวัยทั้งนั้นนะ ส่วนมากอยู่บ้านคนเดียว อยากกินอะไรก็ต้องรอลูกหลานเลิกงานกลับมา แต่พอเขามาลองใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์แบบนี้กัน เขาก็บอกว่ามันสบาย ไม่ต้องออกไปข้างนอก ราคาไม่แพงด้วย ป้าเข้าใจว่าผู้สูงวัยหลายคนไม่กล้าใช้ กลัวกดผิด กลัวโดนเรียกเก็บเงิน กลัวมิจฉาชีพมาหลอก จริง ๆ แล้วมันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น กดตรงไหนผิด ก็ยกเลิกได้ตลอด ช่วงแรกลูกหลานอาจต้องสอนใช้นิดหน่อย ครั้งต่อไปก็ทำเองได้แล้ว ไม่ได้ยากเกินไปที่ผู้สูงวัยจะเรียนรู้ ขอให้เปิดใจ มันทำให้ผู้สูงวัยอย่างเราดูแลตัวเองได้ดีมากขึ้น แล้วชีวิตเราจะเป็นอิสระขึ้นได้จริง ๆ”

ดาวน์โหลดแอปฯ foodpanda ได้ที่
IOS: กดที่นี่ และ Android: กดที่นี่

Credits

Author

  • มนุษย์ต่างวัย

    Authorพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในมุมที่สนุก สร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทุกวัย

ถึงจะต่างวัยแต่ก็
อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ